xs
xsm
sm
md
lg

กดพุทธบริษัท 4 : ผู้รักษาและผู้ทำลายศาสนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระภิกษุชื่อว่า กิมพิละ ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ยืน เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดาในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละ! เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

เมื่อพระกิมพิละได้ทูลถามถึงเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน หลังจากที่ตถาคตได้ปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์จึงได้ตรัสตอบโดยนัยตรงกันข้ามกับคำถามแรกว่า “ดูก่อนกิมพิละ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงในกันและกันนี้แล กิมพิละเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

พุทธพจน์ทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น ได้มีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 275 และผู้เขียนได้นำพุทธพจน์บทนี้เสนอท่านผู้ร่วมมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่มิได้อธิบายขยายความในเชิงลึกในแต่ละประเด็น

ดังนั้น จึงได้นำเสนออีกครั้งและในครั้งนี้จะอธิบายในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันตามนัยแห่งพุทธพจน์ทั้งสองบทนี้ โดยจะเริ่มจากความหมายหน้าที่ และอาการที่ไม่เคารพในพระศาสนา เป็นต้น

ภิกษุเป็นคำสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีจะเรียกว่าภิกขุความตามตัวอักษรทั้งสองคำนี้หมายถึง ผู้ขอคือเลี้ยงชีพด้วยการขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ภิกษุเป็นนักบวชในพุทธศาสนาถือศีล 227 ข้อ นุ่งเหลืองห่มเหลืองโกนผม โกนหนวดมีจีวรเพียง 3 ผืนในยุคแรกๆ ภายหลังได้มีพุทธานุญาตให้มีจีวรเกินกว่า 3 ผืนได้เรียกว่า อติเรกจีวร

ภิกษุณีได้แก่นักบวชเพศหญิง มีความหมายตามตัวอักษรว่าเป็นผู้ขอในทำนองเดียวกับภิกษุนุ่งเหลือง ห่มเหลือง ในทำนองเดียวกันกับภิกษุถือศีล 311 ข้อ และจะต้องอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย โดยอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ก่อนแล้วมาอุปสมบทในฝ่ายภิกษุสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง

อุบาสกโดยความหมายตามตัวอักษรหมายถึงผู้เข้าใกล้หรือเข้าถึงพระรัตนตรัย ถือศีล 8 เป็นประจำ

อุบาสิกามีความหมายตามตัวอักษร เช่นเดียวกับอุบาสกแต่เป็นเพศหญิง และถือศีลเท่ากับอุบาสิกคือ 8 ข้อ

ส่วนประชาชนคนทั่วๆ ไปที่มิได้เป็นนักบวช มิได้เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็สามารถรักษาศีล 5 เป็นสาธุชนคนดีของสังคมได้

สำหรับประเด็นที่ว่า บุคคล 4 ประเภทข้างต้นมีบทบาทหน้าที่ในการรักษามิให้พระสัทธรรมสูญหายไปได้อย่างไรนั้น คำตอบปรากฏชัดเจนจากพุทธดำรัสที่ทรงตอบพระกิมพิละ เพียงแต่ว่าเป็นหลักการกว้างและอาจเป็นสิ่งยาก แต่การเข้าใจสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำสอนในทางพุทธศาสนา เช่น ในประเด็นที่ว่าเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพในพระศาสนานั้น อาการไม่เคารพคือการแสดงอาการอย่างไร

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ถ้าพิจารณาจากคำสอนที่เกี่ยวข้อง ก็จะเห็นได้จากการไม่บัญญัติสิ่งที่พระองค์มิได้บัญญัติ และไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ได้บัญญัติไว้ แต่มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้จากสิ่งที่พระองค์ได้บัญญัติไว้ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็จะได้เชื่อว่าเคารพในพระศาสดา ส่วนการเคารพก็มีนัยตรงกันข้ามคือหมั่นศึกษาสิ่งที่พระองค์ได้สอนไว้ แล้วนำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พูดง่ายๆ ก็คือการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชานั่นเอง

ส่วนประเด็นที่ว่าไม่เคารพยำเกรงกันและกันอย่างไร จึงจะเข้าข่ายทำลายพระสัทธรรมนั้น ขอให้ย้อนไปดูพระวินัยบัญญัติหลายข้อที่สอนให้พุทธบริษัทเคารพแก่กันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภิกษุที่ทรงสอนให้เคารพกันตามอายุพรรษาคือ ผู้ที่เข้ามาบวชก่อนหลังภิกษุที่บวชภายหลังต้องให้ความเคารพผู้ที่มาบวชก่อน โดยไม่นำชาติกำเนิด อายุจากการเกิดมาเป็นเกณฑ์ เป็นต้น

เกี่ยวกับประเด็นเคารพยำเกรงกันและกันนี้ ได้กำหนดไว้ชัดเจนในวินัยว่าภิกษุกับภิกษุ ภิกษุกับภิกษุณีควรจะแสดงความเคารพกันอย่างไร เช่น บัญญัติให้ภิกษุณีทำความเคารพแก่ภิกษุ แม้จะมีอายุพรรษาน้อยกว่าอันเป็นการวางกฎเกณฑ์ระหว่างภิกษุกับภิกษุณีไว้อย่างเป็นระบบเป็นระเบียบ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองสงฆ์

แต่วันนี้ เวลานี้ การปกครองสงฆ์ได้มีพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้พระวินัยที่มีอยู่เดิมได้รับผลกระทบในทางอ้อมบ้าง เช่น ในกรณีที่ผู้มีอายุพรรษาน้อย แต่ยศถาบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ทางการปกครองสูงกว่า ถูกผู้มีพรรษาแก่กว่าตักเตือนอาจได้รับการปฏิเสธหรือเพิกเฉย หรือที่ร้ายกว่านี้อาจถูกกลั่นแกล้งด้วยการใช้อำนาจทางการปกครองที่เหนือกว่ารังแกก็เกิดขึ้นได้ และถ้าเกิดขึ้นก็จะได้เชื่อว่าไม่เคารพพระธรรมวินัย ข้อที่ว่าให้เคารพกันตามอายุพรรษา และมีก็เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ในยุคที่สังคมถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม และปัจเจกนิยมการที่ใครในสังคมมีพฤติกรรมทำนองนี้ก็เข้าข่ายไม่เคารพในศาสนาคือพระธรรมวินัย ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่มีอยู่

“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดีที่เรา (ตถาคต) แสดงแล้วบัญญัติแล้ว ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงล้มไป

จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ผู้ใดไม่เคารพในธรรมวินัย ผู้นั้นก็ไม่เคารพพระศาสดา และผู้ที่ไม่เคารพธรรมวินัยเยี่ยงนี้เองคือผู้ทำลายพระศาสนา

ในทางกลับกัน ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยคือผู้ที่ปกป้อง และช่วยให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาวออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น