xs
xsm
sm
md
lg

วัดเวฬุวันสร้าง “เรือยอด” อนุรักษ์วัฒนธรรม จชต. พร้อมร่วมประเพณีชักพระเมืองยะลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - “วัดเวฬุวัน” จ.ยะลา สร้าง “เรือยอด” เอกลักษณ์ประจำพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีขนาดความสูงถึง 14 เมตร พร้อมเข้าร่วมในงานประเพณีลากพระที่ทางเทศบาลนครยะลาจัดขึ้น ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ สืบสานประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา

วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประกอบสร้างเรือพระ ของวัดเวฬุวัน อ.เมือง จ.ยะลา พระปลัดวิศาล วิสารโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน พร้อมด้วยสามเณร และช่างฝีมือ ได้ช่วยกันเร่งติดลายที่เรือพระ พร้อมประกอบตัวเรือ เพื่อที่จะเตรียมไปใช้ในงานลากพระ ที่ทางเทศบาลนครยะลา จัดขึ้นในวันที่ 9 ต.ค. 57 ซึ่งเป็นประเพณีที่กระทำติดต่อกันมาทุกปีในพื้นที่

พระปลัดวิศาล วิสารโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน เปิดเผยว่า สำหรับเรือพระที่ทางวัดเวฬุวันสร้างขึ้นในปีนี้ เรียกว่า “เรือยอด” เพราะเรือยอดเป็นประเพณีวัฒนธรรมของภาคใต้ ถ้าเป็นเรือโฟมก็จะเป็นของทางจังหวัดสงขลา เรือยอดส่วนมากจะเป็นของในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกิจกรรมในทุกปีก็จะนำเรือพระไปแห่รอบเมือง ก่อนที่จะไปจอดที่ศูนย์เยาวชน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญ และร่วมสมโภชเรือพระ

ซึ่งพี่น้องชาวไทยพุทธในพื้นที่ก็เข้ามาร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคักทุกปี การที่ทางวัดเวฬุวัน ทำเรือยอด เนื่องจากต้องการอนุรักษ์เอาไว้ ไม่อยากให้สูญหาย รวมทั้งการแกะลายต่างๆ ที่จะต้องใช้ฝีมือละเอียด ไม่ว่าจะเป็นลายดอกบัว หรือลายต่างๆ ที่เป็นลายแบบดั้งเดิมทั้งหมด ที่มีครูบาอาจารย์สอนมา และก็ได้มีการถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลังทุกรุ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์เอาไว้ด้วย แต่ปัจจุบันช่างที่ทำค่อนข้างหายากไม่มีใครเรียนกัน นายช่างที่มาทำเรือก็จะพยายามสอนให้แก่ชาวบ้าน หรือสามเณร ที่มาช่วยกันทำเรือ

“ปัจจุบันในพื้นที่มีการทำเรือที่เป็นเรือยอดประมาณ 10 กว่าวัด ส่วนเรือยอด ของวัดเวฬุวันแห่งนี้ ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปี และในปีนี้ก็หวังว่าจะได้รับรางวัลอีกครั้ง โดยเรือยอดของทางวัดปีนี้มีจุดเด่นคือ สีสันที่สวยงาม และความสูงของยอด ที่สูงถึง 14 เมตร จึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยพุทธ เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 ต.ค.ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลาด้วย” พระปลัดวิศาล กล่าว

สำหรับประเพณีชักพระ บางท้องถิ่นเรียกว่า “ประเพณีลากพระ” เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยสันนิษฐานว่า ได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย มีพุทธตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงผนวชได้ 7 พรรษา และ พรรษาที่ 7 นั้น ได้เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ยามเช้าของแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์

ในการนี้ พุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ซึ่งรอคอยพระพุทธองค์มาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ครั้นทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ จึงได้รับเสด็จและได้นำภัตตาหารคาวหวานไปถวายด้วย ผู้ไปทีหลังนั่งไกล ไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารด้วยตัวเองได้ จึงใช้ใบไม้ห่ออาหาร และส่งผ่านชุมชนต่อๆ กันไป เพื่อขอความอนุเคราะห์ต่อผู้นั่งใกล้ๆ ถวายแทน บุญประเพณีลากพระ จึงมีขนมต้ม หรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ต้ม” เป็นขนมประจำประเพณีทำด้วยข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไม้อ่อนๆ เช่น ใบจาก ใบลาน ใบตาล ใบมะพร้าว หรือ ใบกะพ้อ เป็นต้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น