xs
xsm
sm
md
lg

พระที่ควรเคารพ : ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและจรณะ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระหรือนักบวชในพระพุทธศาสนามีชื่อเรียกหลากหลาย และแต่ละชื่อต่างก็มีความหมายบ่งบอกถึงคุณสมบัติของนักบวชดังต่อไปนี้

1. ภิกษุ หรือภิกขุ ภิกษุณีหรือภิกขุนีหมายถึงผู้ขอคือเลี้ยงชีพหรือเป็นอยู่ด้วยการเที่ยวบิณฑบาต หรือเที่ยวภิกขาจารหมายถึงการเดินขอรับทานจากผู้ให้ที่มีศรัทธา

2. บรรพชิตหมายถึงผู้เว้นจากพฤติกรรม คือการแสดงออกทางกายและวาจาอันไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศและภาวะของนักบวช เช่น การพูดจา แสดงกิริยาท่าทางเยี่ยงคฤหัสถ์ เป็นต้น

3. สมณะหมายถึงผู้สงบ กาย วาจา และใจ โดยอาศัยศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส อันเป็นเหตุให้กาย วาจา และใจไม่สงบให้ลดลง และหมดไปในที่สุด

โดยนัยแห่งคุณสมบัติของนักบวช ซึ่งเป็นไปตามชื่อแต่ละชื่อดังกล่าวข้างต้น นักบวชในพระพุทธศาสนาจึงเป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ เคารพบูชา และเห็นควรแก่การรับทานในฐานะเป็นเนื้อนาบุญของโลก

อนึ่ง นักบวชในพระพุทธศาสนา ทั้งภิกษุ และภิกษุณี รวมไปถึงสามเณร และสามเณรีเป็นผู้ปกป้องรักษาพระสัทธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า มิให้สูญหายไป โดยการเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งในด้านพยัญชนะ และอรรถะคือทั้งความหมายตามตัวอักษร และความหมายตามเนื้อหา แล้วนำไปปฏิบัติตามแนวสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม จึงจะได้ชื่อว่า เป็นสาวกของตถาคต

แต่วันนี้ และเวลานี้ นักบวชในพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ขัดแย้งและแตกแยกกัน อันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการตีความพระธรรมวินัย และล่าสุดเกิดความขัดแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ว่างลง

อะไรคือมูลเหตุแห่งความขัดแย้ง และจะแก้ไขความขัดแย้งนี้อย่างไร โดยที่จะไม่ทำให้ความขัดแย้งบานปลายจนกลายเป็นเหตุทำลายสังฆมณฑลโดยรวม

ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูกระบวนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ความว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ที่อาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมา และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในขณะนี้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง และที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยผ่านทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักพุทธฯ โดยตรง

แต่จนกระทั่งวันนี้ กระบวนการนำเสนอยังไม่ถึงมือนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีกระแสต่อต้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช โดยผู้ต่อต้านได้อ้างว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากมีข้อครหาหรือตามภาษาพระวินัยพูดได้ต้องอนุวาทาธิกรณ์คือ ถูกโจทย์ว่ากระทำผิด 2 ประการคือ

1. ศีลวิบัติคือ มีความเสียหายด้วยศีล อันเนื่องมาจากไปเกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย ในฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์คือบวชให้พระธัมมชโย ซึ่งกระแสสังคมมีข้อครหาว่ามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ หรือที่พระวินัยเรียกว่า บัณเฑาะก์หรือกะเทยซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้บวช และถ้าไม่รู้ก่อนบวชภายหลังเมื่อรู้แล้วจะต้องให้สึกออกไป ถ้าไม่ดำเนินการผู้เป็นอุปัชฌาย์ต้องอาบัติ และผู้ที่ได้รับการบวชก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นพระ เนื่องจากขาดคุณสมบัติของผู้มาบวชข้อที่ว่า ปุริโสสิ เจ้าเป็นชายไหม

อีกประการหนึ่ง นอกจากมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมอันเป็นวินัยต้องห้ามแล้ว พระธัมมชโยได้มีการบิดเบือนคำสอนเป็นที่ปรากฏโจ่งแจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าพระมหารัชมังคลาจารย์ ในฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ห้ามปรามแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมีข่าวที่เห็นด้วยและสนับสนุนในกิจกรรมที่พระธัมมชโยจัดขึ้น เช่น การเดินธุดงค์ในเมือง เป็นต้น

2. อาจารวิบัติ มีความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ อันเนื่องมาจากเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครองรถเก่าซึ่งมีมูลค่าสูง ไม่เหมาะกับเพศและภาวะของนักบวชที่ควรจะยินดีในสิ่งที่เหมาะกับเพศภาวะของนักบวช ซึ่งเป็นไปตามหลักยถาสารูปสันโดษคือ ยินดีในสิ่งที่เหมาะแก่เพศและภาวะของนักบวชเท่านั้น

จากข้อครหาสองประการดังกล่าวข้างต้น ถ้ายึดถือพระธรรมวินัยก่อนยึดตามเนื้อหาของกฎหมาย การเสนอนามขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ไม่ควรจะเกิดขึ้นจนกว่าจะได้ระงับอธิกรณ์หรือชำระคดีความตามกระบวนการ และวินัยบัญญัติเสียก่อน

ดังนั้น การที่ทางรัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ชะลอไว้ก่อน จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

อีกประการหนึ่ง ที่น่าจะได้นำมาตีความก็คือ ตามนัยแห่งมาตรา 7 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ดังกล่าวข้างต้น ถ้ามีการตีความตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายแล้ว นายกฯ น่าจะเป็นผู้นำนามของสมเด็จพระราชาคณะ ตามนัยแห่งมาตราที่เสนอมหาเถรสมาคม เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ มิใช่มหาเถรสมาคมเริ่มก่อน ดังที่ได้กระทำไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559

ถ้าการตีความดังกล่าวข้างต้นถูกต้อง ก็ยิ่งเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อนจนกว่าทุกอย่างจะถูกต้อง ทั้งในแง่กฎหมายและพระธรรมวินัย
กำลังโหลดความคิดเห็น