xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาสมเด็จช่วงต้องทำอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

บ้านเมืองของเราไม่ได้เพียงแต่เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่เกิดความขัดแย้งในหมู่สงฆ์กรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แล้วถ้าจะว่าไปความขัดแย้งทั้งสองเกี่ยวพันกันเสียด้วย

โดยเฉพาะคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งสองฝ่ายนั้นชัดเจนว่าเป็นสองขั้วการเมืองคือฝ่ายนายไพบูลย์ นิติตะวัน กับพระสุวิทย์ วัดอ้อน้อยที่คัดค้านสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับระบอบทักษิณ กับฝ่ายพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสงฆ์สามัคคี และนายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาซึ่งสนับสนุนระบอบทักษิณ

สมเด็จช่วงเป็นอุปัฌาชย์ของธัมมชโยที่อดีตสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตว่า อาบัติปาราชิกแล้ว ธัมมชโยเป็นเจ้าของลัทธิธรรมกายที่บิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา และเป็นแนวร่วมกับระบอบทักษิณ

อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า มหาเถรสมาคมมีมติเสนอให้สมเด็จวัดปากน้ำเป็นสังฆราชไปแล้วตั้งแต่การประชุมวันที่ 5 มกราคม

ไม่แปลกหรอกที่มหาเถรสมาคมจะเสนอสมเด็จวัดปากน้ำ เพราะพ.ร.บ.สงฆ์ 2505 แก้ไข 2535 เขียนไว้อย่างนั้น ว่าต้องเสนอสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ

เพราะอย่างที่รู้กันคือ มาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ แก้ไข 2535 เขียนไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ทีนี้ขั้นตอนต่อไปก็คือ นายกรัฐมนตรี ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดว่า “ผมบอกแล้วว่าให้ไปแก้กันให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ผมก็เสนอชื่อให้ไม่ได้ และต้องดูเวลาที่เหมาะ”

ตอนที่พูดพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่รู้ว่ามหาเถรสมาคมมีมติแล้วว่าจะเสนอสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นเป็นสังฆราช

แต่จากความขัดแย้งในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชขึ้น ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่นายกฯ น่าจะยื้อระยะเวลาไปได้ระยะหนึ่ง เพราะโดยประเพณีปฏิบัติเรื่องที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องชัดเจนกระจ่างไม่มีความขัดแย้ง ส่วนกิจกรรมในทางสงฆ์ก็มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชอยู่แล้ว

และพ.ร.บ.สงฆ์กำหนดเพียงขั้นตอนเอาไว้ แต่ไม่ได้กำหนดเวลา

แต่ที่นายกฯ พูดไว้ด้วยก็คือ “ต้องดูเวลาที่เหมาะ” ซึ่งผมตีความนัยว่า นายกฯ รู้ว่า ไม่ใช่ว่าจะยื้อออกไปเท่าไหร่ก็ได้ เหมือนจะรู้ว่าวันหนึ่งต้องถึงเวลา

ส่วนที่นายไพบูลย์ อ้างว่า การเสนอชื่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขั้นตอนนี้นายกฯ ต้องเป็นผู้ตั้งและส่งรายชื่อให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้น มหาเถรสมาคมเป็นผู้เสนอชื่อให้นายกฯ พิจารณา ซึ่งผิดกระบวนการนั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นเพราะไม่ว่าจะกลับหัวกลับหางอย่างไร ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเสนอสมเด็จวัดปากน้ำเพราะพ.ร.บ.สงฆ์มาตรา 7 แก้ไข 2535 ล็อกไว้อย่างนั้น ว่าต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ “ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์”

ถ้าเราจะย้อนไปดูก่อนการแก้ไขพ.ร.บ.สงฆ์ในปี 2535 คือ พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 เดิม กฎหมายเขียนไว้ว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะ “ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา” ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

จะเห็นว่า พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 เดิมก็ดิ้นไปอย่างอื่นไม่ได้คือใครที่ “พรรษา” สูงกว่าคนนั้นได้เป็นพระสังฆราชถ้าตำแหน่งว่างลง แต่เมื่อแก้ไข 2535 ใครที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จ” ก่อน คนนั้นได้เป็นพระสังฆราช

มีคนอ้างเหตุการณ์ในอดีตว่า บ้านเมืองเราเคยว่างเว้นตำแหน่งสังฆราชหลายปี คือในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2396 รัชกาลที่ 4 ไม่ได้แต่งตั้งให้พระสงฆ์องค์ใดดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเลยทำให้ตำแหน่งพระสังฆราชว่างเว้นไป 38 ปีแต่ต้องไม่ลืมว่า ในขณะนั้นยังไม่มีพ.ร.บ.สงฆ์เขียนไว้ชัดอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นพระราชอำนาจ

ถามว่า เมื่อกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า มหาเถรสมาคมต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งก็คือ สมเด็จวัดปากน้ำ แล้วถ้าไม่เอาสมเด็จวัดปากน้ำต้องทำอย่างไร

วรรคที่ 2 ของมาตรา 7 เขียนไว้ดังนี้ ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ก็ต้องทำให้เห็นว่า สมเด็จวัดปากน้ำไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร

คุณสามารถ มังสัง ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาเขียนไว้น่าสนใจ ว่า เมื่อมีข้อกังขาทั้งในทางพระวินัย ในทำนองมีศีลวิบัติในข้อหาการเป็นอุปัชฌาย์บวชให้แก่พระธัมมชโย ในกรณีมีข่าวว่าเป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ หรือเป็นบัณเฑาะก์ให้อุปสมบทไม่ได้ เนื่องจากขาดปริสสมบัติข้อที่ว่า ไม่เป็นชายตามนัยแห่งการถามอันตรายิกธรรมข้อที่ว่า ปุริโสสิคือเจ้าเป็นชายไหม และข้อหาว่าอาจารวิบัติคือ มีการสะสมรถโบราณอันไม่ควรแก่เพศและภาวะของนักบวช ซึ่งควรจะเป็นนักบวชและสันโดษ ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะให้ปัญหานี้หมดไปควรจะได้ดำเนินการระงับอนุวาทาธิกรณ์คือ การโจทย์ฟ้องด้วยศีลวิบัติ และอาจารวิบัติตามนัยแห่งพระวินัยบัญญัติ

ถ้าพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้ได้สมเด็จวัดปากน้ำก็ขาดคุณสมบัติไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ก็ไปใช้มาตรา 7 วรรค 2 คือตั้งผู้อาวุโสรองลงมา

ในทางกลับกัน ถ้าพิสูจน์แล้วว่า สมเด็จวัดปากน้ำเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีทางเลี่ยงกฎหมายเป็นอย่างอื่นนั่นก็คือ ต้องตั้งสมเด็จวัดปากน้ำเป็นสังฆราช ส่วนใครที่ไม่ยอมรับก็ดูจะมีหนทางเดียวก็คือ ไม่ต้องไปเคารพนับถือ

แต่ถามว่าไม่มีหนทางยับยั้งเลยเหรอ คำตอบคือมีครับ นั่นคือพล.อ.ประยุทธ์จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั่นแหละครับจึงลบล้างและยับยั้งได้ แต่จะต้องคิดต่อว่าจะรับมืออย่างไรกับฝ่ายที่สนับสนุนสมเด็จวัดปากน้ำที่ประกาศว่าจะเจอม็อบพระ

หรือถ้าจะยื้อไป ถามว่าประยุทธ์จะอยู่ตลอดไปไหม คำตอบก็คือ เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป หลังเลือกตั้งถ้าเพื่อไทยชนะเขาก็ตั้งสมเด็จวัดปากน้ำแน่ ดังนั้น ถ้าจะยื้อไม่ใช่อำนาจตามมาตรา 44 ก็ต้องทำให้เพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้งด้วย

สรุปประเทศชาติจะไปรอดในทางบ้านเมืองหรือทางสงฆ์ก็อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์จะทำสงครามเอาชนะระบอบทักษิณได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น