xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมธัมมชโย : เหตุอันควรปฏิรูปองค์กรสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธจะรู้สึกหดหู่รายวัน เมื่อได้อ่านได้ฟังหรือได้เห็นข่าวจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งสื่อไอที เพราะท่านจะได้อ่าน ฟัง และได้เห็นข่าวภิกษุ สามเณรดื่มสุรา เสพยาเสพติด ปลอมตัวเที่ยวสถานบันเทิงเริงรมย์กับสีกา และล่าสุดก็ข่าวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจรจนถึงขั้นถูกออกหมายจับ แต่ไม่ยอมเข้ามอบตัวและรอการเข้าจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ

ยิ่งกว่านี้ ก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวข้างต้น พระธัมมชโยก็เคยถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิกมาแล้ว ตามนัยแห่งพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ทั้งยังถูกฟ้องดำเนินคดีต้องขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว แต่ก็หลุดรอดมาได้โดยอาศัยอำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และเป็นเหตุให้อัยการถอนฟ้องด้วยอ้างได้คืนที่ดินให้แก่วัดแล้ว

จากพฤติกรรมของภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของพระธัมมชโย ถือได้ว่าพระพุทธศาสนาในประเทศซึ่งเคยรุ่งเรืองเป็นแบบอย่างที่ดีของนิกายเถรวาท บัดนี้ตกต่ำจนถึงขั้นเรียกได้ว่าเสื่อมโทรม และจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข โดยที่ฝ่ายอาณาจักรต้องเข้ามาร่วมมือกับฝ่ายศาสนจักรทำการปฏิรูปองค์กรปกครองสงฆ์คือ มหาเถรสมาคมหรือ มส. และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปกครองคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ.

ทั้ง มส. และ พศ.มีอำนาจและหน้าที่ทำอะไร ทำไมต้องปรับปรุง และจะปรับปรุงอย่างไร มหาเถรสมาคมหรือ มส.ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 12 รูปเป็นกรรมการ (มาตรา 12 พ.ร.บ.สงฆ์ 2505) โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

3. ควบคุม และส่งเสริมศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์การเผยแผ่ การสาธารณูปการและการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น (มาตรา 15 พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505)

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ.เป็นส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ดังต่อไปนี้

1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2. รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการ และการบริหารงานการปกครองสงฆ์

3. เสนอแนวทางกำหนดนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา

4. ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถาน และศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา

5. ดูแล รักษา และจัดการวัดร้าง และศาสนสมบัติกลาง

6. พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา

7. ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม

8. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

เมื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นวงการสงฆ์ไทยดังกล่าวข้างต้น มาตรวจสอบกับอำนาจหน้าที่ของ มส. และ พศ.แล้วบอกได้ว่า ถ้าสององค์กรนี้ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะไม่เกิดปัญหาขึ้นมากมายขนาดนี้ ถึงแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อยาวนาน ดังเช่นกรณีของพระธัมมชโย ซึ่งเป็นข่าวรายวันอยู่ในขณะนี้ แต่การที่ มส. และ พศ.จะแก้ปัญหาความซึ่งเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ จะต้องใช้กระบวนการแก้ปัญหาตามแนวทางพระวินัย นำหน้ากระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้จะต้องยึดหลักการทางพระวินัยที่เรียกว่า อธิกรณ์เปรียบได้กับกระบวนการพิจารณาตัดสินคดีความในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่ 7 ประการคือ

1. สัมมุขาวินัย ได้แก่การระงับต่อหน้า 2. สติวินัย ได้แก่การระงับด้วยการยกให้เป็นผู้มีสติ 3. อมูฬหวินัย ได้แก่การระงับด้วยยกให้ว่าเป็นบ้า 4. ปฏิญญาตกรณะ ได้แก่การระงับด้วยคำสารภาพของผู้ถูกฟ้อง 5. เยภุยยสิกา ได้แก่ระงับด้วยถือเสียงข้างมาก 6. ตัสสปาปิยสิกา ได้แก่การระงับด้วยการลงโทษ 7. ติณวัตถารกะ ได้แก่ระงับด้วยการให้เลิกแล้วต่อกัน

ส่วนอธิกรณ์เปรียบได้กับคดีความ อันเกิดจากมีผู้กระทำผิดในทางพระวินัยมี 4 ประเภท และแต่ละประเภทมีวิธีการระงับหรือตัดสินความแตกต่างกันออกไปดังนี้

1. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ระงับหรือตัดสินได้โดยใช้สัมมุขาวินัย และการถือเสียงข้างมาก

2. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทย์ฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ คือความเสียหายเกี่ยวกับศีล อาจารวิบัติคือความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ ทิฏฐิวิบัติ คือความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น และอาชีววิบัติ คือความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ ระงับด้วย 4 วิธีคือ 1. สัมมุขาวินัย 2. สติวินัย 3. อมูฬหวินัย 4. ตัสสปาปิยสิกา

3. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติต่างๆ ระงับด้วย 3 วิธีคือ 1. สัมมุขาวินัย 2. ปฏิญญาตกรณะ 3. ติณวัตถารกะ

4. กิจจาธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์จะต้องทำที่เป็นสังฆกรรม ระงับด้วยสัมมุขาวินัยประการเดียว

สำหรับกรณีของพระธัมมชโย ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชจนถึงข้อกล่าวหาของดีเอสไอ รวมถึงพฤติกรรมตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว อนุมานได้ว่าต้องอนุวาทาธิกรณ์คือถูกโจทย์ฟ้องด้วยศีลวิบัติในกรณีของการยักยอกที่ดินของวัดมาเป็นของตน และข้อกล่าวหาของดีเอสไอในคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน และรับของโจรเพียงแค่ประการเดียวนี้ก็เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ไม่ต้องพูดถึงอาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ และอาชีววิบัติ ก็เพียงพอแล้วที่ มส.ดำเนินการตั้งคณะวินัยธรณ์ขึ้นมาสอบสวน และเมื่อสอบแล้วพบว่ามีความผิดก็ให้สึกออกไปตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505

หลังจากที่ทางฝ่ายสงฆ์ดำเนินการแล้ว ทางฝ่ายบ้านเมืองจะได้ดำเนินการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพียงแค่นี้ก็ทำให้ปัญหาของพระธัมมชโยจบลงได้ด้วยดี แต่ มส.ไม่ทำด้วยเหตุนี้ถึงเวลาที่ มส.จะต้องปฏิรูปตัวเอง และถ้าไม่ดำเนินการก็ควรอย่างยิ่งที่ทางฝ่ายบ้านเมืองจะได้เข้ามาหาความร่วมมือภิกษุสงฆ์ผู้ที่มีศักยภาพในการดำเนินการจัดการปฏิรูปทั้ง มส. และ พศ.ไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะช่วยให้พุทธศาสนาในประเทศไทย ยังคงก้าวไปในฐานะเป็นศูนย์กลางของเถรวาทต่อไปได้อีกนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น