xs
xsm
sm
md
lg

พระธัมมชโย : สนิมเกิดจากเหล็กกินเหล็ก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

นานมาแล้ว ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะชื่อ กลแก้ทุกข์ ซึ่งเขียนโดย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ และตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนอันตรายของอาณาจักรกอไผ่ ซึ่งสรุปใจความได้ว่า

วันหนึ่งต้นไผ่ได้ประชุมหารือกันว่าอะไรคืออันตรายที่น่ากลัวที่สุดของอาณาจักรกอไผ่ ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางระหว่างไผ่หนุ่มสาว และไผ่วัยกลางๆ บ้างก็ว่าไฟ บ้างก็ว่าลม บ้างก็ว่าน้ำ คืออันตรายที่น่ากลัวของกอไผ่ และในขณะที่การถกเถียงเป็นไปอย่างดุเดือด จริงจัง ทั้งมีแนวโน้มว่าจะยุติลงได้ยาก ต้นไผ่วัยชราได้เอ่ยขึ้นด้วยเสียงแหบแห้งว่า หยุดฟังทางนี้ และสรุปแบบฟันธงว่าอันตรายที่แท้จริงของอาณาจักรกอไผ่ก็คือ ต้มไผ่ที่มนุษย์นำไปทำด้ามมีด และนำมาตัดต้นไผ่นั่นเอง นี่คือเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอไว้เป็นคติสอนใจ

จากนัยแห่งข้อเขียนข้างต้น ท่านผู้อ่านคงจะมองเห็นชัดเจนว่า ศัตรูที่แท้จริงและเป็นอันตรายยากแก่การป้องกันก็คือ พวกเดียวกับที่ถูกฝ่ายอื่นนำไปเป็นเครื่องมือในการทำลายความมั่นคง และความสามัคคีของกลุ่มเพื่อให้องค์กรเกิดความอ่อนแอ ง่ายต่อการบุกเข้าทำลายในโอกาสต่อไป

ด้วยเหตุนี้จึงมีสุภาษิตไทยบทหนึ่งได้มีการพูดถึง และนำมาอ้างอิงบ่อยๆ เมื่อมีการพูดถึงเหตุแห่งการล่มสลายของกลุ่มหรือองค์กร

สุภาษิตบทที่ว่านี้ก็คือ “สนิมเกิดจากเหล็กและกินเหล็ก”

ถ้าพิจารณาเกี่ยวกับความหมายทั้งนัยแห่งอันตรายของกอไผ่ และสนิมเหล็กน่าจะได้รับอิทธิพลจากพุทธพจน์ซึ่งตรัสตอบพระกิมพิละ ผู้ได้ทูลถามพระพุทธองค์เกี่ยวกับเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วที่ว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษาไม่เคารพ ไม่ยำเกรงกันและกันนี้แล กิมพิละเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์หมายถึงศัตรูอันเกิดจากพุทธบริษัท 4 ซึ่งเปรียบได้กับต้นไผ่ที่นำไปทำด้ามมีด และสนิมอันเกิดจากเหล็กและกัดกินทำให้เหล็กผุกร่อนได้

เวลานี้พุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยกำลังผุกร่อน เนื่องจากภิกษุซึ่งเป็น 1 ใน 4 เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตศรัทธารวยแล้วรวยเล่าจากการมีพฤติกรรมล่วงละเมิดพระวินัย และกลายเป็นข่าวดังในด้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่เสพยา เมาสุรา แต่งกายเป็นคฤหัสถ์เที่ยวเตร่ไปจนถึงโกงเงิน เสพเมถุน และอวดอุตริมนุสธรรม จะเห็นได้จากกรณีของยันตระ ภาวนาพุทโธ และล่าสุดคือพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย

ในบรรดาภิกษุผู้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิกฤตศรัทธาทำศาสนาเสื่อม ถ้าดูจากพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นข่าวพระธัมมชโยน่าจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิกฤตศรัทธา ทำพุทธศาสนาเสื่อมมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้อนุมานในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. จากพฤติกรรมที่ปรากฏตามข่าวอนุมานได้ว่า พระธัมมชโยเข้าข่ายต้องอนุวาทาธิกรณ์คือ มีพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชโจทย์ฟ้องว่าต้องอาบัติปาราชิกในกรณีของการนำที่ดินของวัดมาเป็นของตน และในกรณีการสอนขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

แต่ก็ดื้อแพ่งไม่ยอมรับผิดโดยอ้างว่าได้คืนทรัพย์สินให้แก่วัดแล้ว และอ้างว่าได้มีการถอนฟ้องในคดีนี้แล้วจึงไม่มีความผิด ทั้งๆ ที่ถ้าพิจารณาตามนัยแห่งพระวินัยการยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ถ้าเป็นทรัพย์เคลื่อนที่ได้ในทันทีที่ทรัพย์ถูกนำไปหนึ่งเท่าตัว เช่น ถ้าพระขโมยวัวในทันทีที่จูงวัวไปรอยเท้าหลังเหยียบรอยเท้าหน้าก็ขาดจากความเป็นพระ และถ้าเป็นทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่นที่ดิน ถ้ากรรมสิทธิ์ตกเป็นของพระก็ต้องอาบัติปาราชิกทันที และพระที่ต้องปาราชิกแล้วจะบวชเป็นพระอีกไม่ได้ตลอดชีวิต และถ้าอยู่ต่อไปโดยไม่สึกก็เท่ากับคฤหัสถ์แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ซึ่งก็เท่ากับผิดกฎหมายอาญา มาตรา 208

2. นอกเหนือจากมีพฤติกรรมตามข้อ 1 แล้ว พระธัมมชโยได้ตกเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อปรากฏว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ในฐานะที่ได้รับเช็ค 8 ฉบับเป็นเงิน 300 กว่าล้านบาทจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร

จากพฤติกรรมนี้จึงเข้าข่ายต้องอนุวาทาธิกรณ์คือการโจทย์ฟ้องด้วยศีลวิบัติ ความเสียหายเกี่ยวกับศีล อาจารวิบัติความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ ทิฏฐิวิบัติความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น และอาชีววิบัติความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ปรากฏตามข่าวในขณะนี้ ทางองค์กรปกครองสงฆ์คือมหาเถรสมาคมมิได้เคลื่อนไหวใดๆ อย่างเต็มรูปธรรมในการระงับอธิกรณ์ของพระธัมมชโย ทั้งในด้านวินัย และในด้านปกครองตาม พ.ร.บ.สงฆ์ในหมวด 4 ที่ว่าด้วยนิคหกรรม และการสละสมณเพศ มาตรา 25 และ 26

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีบุคคลจากหลายฝ่ายเกิดข้อกังขาในกรณีของพระธัมมชโย จะทำให้พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเสื่อม อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของภิกษุตามนัยที่ตรัสแก่พระกิมพิละหรือไม่ และที่ยิ่งกว่านี้ องค์กรสงฆ์ที่ไม่ทำหน้าที่จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย 152 เนื่องจากเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 45 และ 46 หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น