xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมของธัมมชโย : เหตุอันควรแก่การทำสังคายนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า สังคายนาหมายถึงการชำระพระธรรมวินัย โดยการกำจัดสิ่งแปลกปลอมให้หมดไป และจัดระเบียบพระธรรมวินัยใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และนำไปปฏิบัติ

ด้วยเหตุนี้ การทำสังคายนาแต่ละครั้งจึงเกิดจากมีเหตุอ้างหรือที่เรียกว่า การปรารภเหตุอันมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสดาทั้งในแง่ลบ และแง่บวก ดังจะเห็นได้จากการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3 เป็นการปรารภเหตุอันมีผลทางลบต่อพระธรรมวินัย ซึ่งจะนำมาเสนอโดยสังเขปดังนี้

ครั้งที่ 1 เกิดจากภิกษุชื่อ สุภัททะ กล่าวจาบจ้วงพระศาสดาเมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายร้องไห้ เมื่อรู้ข่าวว่าพระพุทธองค์ปรินิพพาน โดยการกล่าวว่า “อย่าร้องไห้เพราะต่อแต่นี้ไป จะทำอะไรได้ตามใจ แล้วไม่มีใครมาคอยชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร” พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของสุภัททะภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์แล้ว ชวนให้ทำสังคายนา

ครั้งที่ 2 ภิกษุพวกวัชชีบุตร ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนทางพระวินัย 10 ประการ เช่นถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อไว้ฉันได้ ดวงตะวันเลยเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้วควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น พระยสกากัณฑกบุตร ปรารภเหตุนี้ จึงได้ชักชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความผิดนี้

ครั้งที่ 3 พวกเดียรถีย์หรือนักบวชศาสนาอื่นปลอมมาบวชแล้ว แสดงลัทธิและความเห็นของคนว่าเป็นพระพุทธศาสดา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยได้แล้วจึงทำสังคายนา

ส่วนเหตุอ้างในการทำสังคายนาจากครั้งที่ 4-9 เป็นไปในทางบวกคือ ต้องการให้พระพุทธศาสดามั่นคง และเผยแพร่กว้างออกไป จึงได้มีการทำสังคายนาด้วยการชำระคัมภีร์ และมีการแต่งคัมภีร์อธิบายขยายความคำสอนให้ง่ายขึ้น เช่น มีการแต่งคัมภีร์อธิบายขยายความบาลีหรือที่เรียกว่า อรรถกถา เป็นต้น

ด้วยการทำสังคายนาทั้ง 9 ครั้งนี้เอง พระพุทธศาสดาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกายเถรวาทจึงสามารถปกป้องรักษาพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในส่วนของพระธรรม และพระวินัย

แต่วันนี้พระพุทธศาสดานิกายเถรวาทในประเทศไทยเสื่อมถอย และมีแนวโน้มว่าจะถึงขั้นพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะค่อยอันตรธานไป เนื่องจากถูกบิดเบือนและนำความคิดเห็นของปัจเจกชนเข้ามาสอนแทน โดยอ้างว่ามาจากพระไตรปิฎก จะเห็นได้ชัดเจนถ้าย้อนไปดูพฤติกรรมของภิกษุในรอบหลายปีที่ผ่านมา ก็จะได้เห็นรูปแบบที่ว่านี้เริ่มตั้งแต่การนำเที่ยวนรก สวรรค์เรื่อยมาถึงพระยันตระ ภาวนาภิกขุ เณรคำ พระเกษม และสุดท้ายที่กำลังเป็นข่าวใหญ่โตทำลายศรัทธาพระพุทธศาสนาโดยรวมก็คือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

พระธัมมชโยทำอะไรจึงกลายเป็นข่าวในทางลบต่อวงการพระพุทธศาสนา และจะแก้ไขอย่างไร

เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่มิได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับวงการสงฆ์มาแต่ต้น รวมไปถึงพุทธศาสนิกชนซึ่งยึดถือคติที่ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ คือชีจะเลวก็เรื่องของชี เถรจะดีก็เรื่องของเถร คนทั่วไปไม่เกี่ยวข้อง

ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเรื่องนี้มาเสนอพอเป็นสังเขปดังนี้

1. พระธัมมชโยมีชื่อเดิมว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นวัดสายปฏิบัติโดยมีหลวงพ่อสดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และเป็นแม่แบบในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกาย คือกายอันเกิดจากการเข้าถึงธรรม อันเป็นการเกิดครั้งที่ 2 ของพระพุทธเจ้าหลังจากการเกิดครั้งแรกด้วยรูปกายเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ

2. พระธัมมชโยได้แยกตัวเองออกไปตั้งสำนักปฏิบัติในนามวัดพระธรรมกายในเขตจังหวัดปทุมธานี และได้นำแนวทางการตลาดมาใช้ในการดึงดูดศรัทธา ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีคนเข้าวัดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนชั้นกลาง และอยู่ในวัยศึกษาอยากรู้ อยากเห็น และอยากเป็น

3. เมื่อมีผู้นับถือมาก จะด้วยการหลงตนเองในลักษณะที่เรียกตามศัพท์ของผู้ปฏิบัติที่ขาดสติกำกับว่า สัญญาวิปลาสหรือขาดสติด้วยคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษได้บรรลุธรรมหรืออย่างไรเหลือที่จะคาดเดา พระธัมมชโยได้มีการสอนผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์หลายประการเช่น นิพพานเป็นอัตตาจึงสามารถไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ) และที่น่าจะเป็นการทำลายหลักคำสอนก็คือ การสอนว่าถวายเงินมากได้บุญมาก และมีโอกาสได้ไปสวรรค์มากกว่าผู้ถวายเงินน้อย ทำให้คนหลงเชื่อและแข่งกันบริจาค เพื่อหวังได้บุญซึ่งขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์ที่ระบุไว้ชัดว่า การทำทานจะได้บุญมากก็ต่อเมื่อประกอบด้วยองค์ 3 คือ 1. ผู้รับทานหรือปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล 2. ผู้ถวายทานหรือทายกมีศรัทธา 3. วัตถุทานหรือสิ่งที่ทำมาถวายเป็นของบริสุทธิ์คือได้มาโดยชอบธรรม มิได้ลักขโมยหรือโกงใครเขามา เป็นต้น

4. ในปี พ.ศ. 2542 พระธัมมชโยได้ถูกโจทย์ว่าเป็นปาราชิก โดยมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเกี่ยวกับเรื่องนี้รองรับชัดเจนในเรื่องของการยักยอกที่จัดมาเป็นของตน และการบิดเบือนพระธรรมวินัย

แต่พระธัมมชโยดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติตามพระลิขิต จึงได้มีเรื่องฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม แต่ในปี 2549 อัยการได้ถอนฟ้องเรื่องนี้ และทางฝ่ายปกครองสงฆ์ได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาสให้ทั้งต่อมาได้มีการเสนอเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นด้วย

5. แต่กฎแห่งกรรมก็ติดตามให้ผลเมื่อข่าวการโกงในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และปรากฏตามหลักฐานเอกสารว่า ธัมมชโยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับเงินบริจาคเป็นเช็ค 8 ฉบับเป็นเงิน 300 กว่าล้านบาท รวมไปถึงวัดธรรมกายพระลูกวัด และมูลนิธิมงคลเศรษฐีด้วย จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ในขณะนี้

ประกอบกับในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการปฏิรูป และพระพุทธศาสนาก็อยู่ในภาวะที่จะต้องปฏิรูปด้วย จึงน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ถือโอกาสนี้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยอาศัยเหตุอ้างคือพฤติกรรมของธัมมชโยที่ต้องอนุวาทาธิกรณ์คือการโจทย์ฟ้องด้วยศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ และอาชีววิบัติเป็นเหตุปรากฏในการชำระเสี้ยนหนามพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปประเทศด้านอื่น โดยยึดแนวทางการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เป็นโมเดลคือจัดการพระนอกรีตให้หมดไป และทำสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญงอกงามสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น