xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงชั้นชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


การเกิดมาเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นผู้โชคดี เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็คือ ศีลห้า และกุศลกรรมบถสิบ เมื่อเกิดแล้ว ก็อยากอยู่ดูโลกนานๆ อย่างคำอวยพรที่ว่า ขอให้อายุยืนหมื่นปี การดำรงอยู่ของแต่ละคน ก็มีช่วงชั้นชีวิตที่แตกต่างกันไป อาจจะเป็นช่วงชั้นสั้นๆ กลางๆ ยาวๆ ก็ได้ ตามที่ตนเองลิขิต

●ช่วงชั้นชีวิต...

ท่านโอโช ครูบาอาจารย์ด้านจิตวิญญาณ บอกว่า...คนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุก 7 ปี ผมเขียนให้ดูชัดๆ เลย 7 14 21 28 35 42 49 56 63 70 77 84 91 98 105 112 119 126...

ช่วงชั้นที่ชีวิตเปลี่ยนแปลง ที่เขียนให้ดูนี้มี 18 ครั้ง จากอายุ 7 ปีถึงอายุ 126 ปี

ว้าว! ใครจะอายุยืนนานปานนั้น?

มันไม่แน่หรอก เพราะโลกคืออนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หมอเฉก ธนะสิริ ปรมาจารย์ด้านรักษาชีวิตให้มีคุณภาพ คือสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว หัวใจเป็นสุข ท่านตั้งเป้าหมายไว้ว่าง...จะอยู่ถึง 120 ปีให้ได้ (ช่วงที่ 17) ขอให้กำลังใจ ขอให้คุณหมอเฉกไปถึงฝั่งฝัน

ที่เขียนช่วงอายุทุก 7 ปีที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น ก็เพื่อจะให้พิจารณาอายุตนเองว่าเมื่อถึงช่วงนั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงจริงตามที่เขากล่าวอ้างหรือไม่?

ขอยกตัวอย่างผมเอง ขณะนี้อายุ 73 ปีอยู่ในช่วงที่ 10 (70-77) สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีอาการหลงๆ ลืมๆ ร่างกายไม่เฟิร์มเหมือนช่วงที่ 9 (63-70) ภายนอกแม้ดูดี พอไปวัดไปวาได้ แต่ภายในเหมือนศูนย์รวมโรค หมอนัดทุก 2 เดือน

ขออนุญาตท่านอาจารย์ระพี สาคริก ปัจจุบันท่านอายุ 93 ปีอยู่ในช่วงที่ 13 (91-98) ท่านสุขภาพแข็งแรงดี ทำกิจกรรมเพื่อสังคมสม่ำเสมอ อ่าน คิด เขียนได้ปกติ ดูความเคลื่อนไหวของท่านได้ในเฟซบุ๊กครับ

การแบ่งช่วงชั้นชีวิตทุก 7 ปีออกจะจำยาก คนจึงนิยมแบบจำง่ายๆ คือทุก 10 ปี เช่น 10 ปี 20 ปี 30 ปี.....จนกระทั่ง 90 ปี 100 ปี เป็นต้น คนไทยเรารู้การแบ่งแบบนี้มาแต่โบราณแล้ว ดังสุภาษิตของชาวเหนือ และชาวอีสาน

สุภาษิตชาวเหนือ...

10 ปี อาบน้ำบ่หนาว

20 ปี แอ่วสาวบ่ก่าย

30 ปี บ่หน่ายสงสาร

40 ปี เยี่ยะการเหมือนฟ้าผ่า

50 ปี สาวน้อยด่าบ่เจ็บใจ๋

60 ปี ไอเหมือนฟานโขก

70 ปี มะโหกเต็มตัว

80 ปี ใคร่หัวเหมือนไห้

90 ปีไข้ก่ต๋ายบ่ไข้ก่ต๋าย

สุภาษิตชาวอีสาน...

10 ปี อาบน้ำบ่หนาว

20 ปี เกี้ยวสาวบ่เบื่อ

30 ปี ตื่นก่อนไก่

40 ปี ไปไฮกลับมาเหยียดขา

50 ปี ไปนากลับมาทอดหนุ่ย

60 ปี เป่าขลุ่ยบ่ดัง

70 ปี ตีระฆังบ่ม่วน

80 ปี หนวกด่วนก่อนหู

90 ปี หมู่ไปยามฮ้องไฮ่

100 ปี ไข้กะตายบ่ไข้กะตาย

การจะมีชีวิตอยู่ในช่วงยาวๆ นั้น ตลอดชีวิตจะต้องรู้จักลิขิตชีวิตตัวเอง นั่นคือการดูแลรักษาสุขภาพกาย-ใจให้แข็งแรง อาศัยทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก (อย่าลืมหมอดีที่สุดคือตัวเอง)

สำหรับแพทย์ทางเลือก หรือวิถีธรรมชาติบำบัด ขอแนะนำหลัก 8 อ.ของหมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน นักวิชาการสาธารณสุข ระดับชำนาญการ รพ.อำนาจเจริญ) มีดังนี้...

1. อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นหลักธรรมนำไปสู่ความสำเร็จ)

2. อารมณ์ (ทำให้จิตสงบ ไม่วิตก ไม่อารมณ์เสีย)

3. อาหาร (กินอาหารที่สมดุล เน้นพืชผักฤทธิ์ร้อน-เย็น ทำสมดุลกับร่างกาย)

4. ออกกำลังกาย (ตามวัย ตามภาวะ อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ตักน้ำ ซักผ้า ทำความสะอาด)

5. อากาศ (อากาศดีๆ บริสุทธิ์แบบชนบท ต้นไม้ ดอกไม้ แบบปลูกลงทุนต่ำ)

6. เอนกาย (ที่นอนแบบง่ายๆ นอนเพียงพอ)

7. เอาพิษออก (ไล่พิษแบบต่างๆ ให้ออกจากร่างกาย)

8. อาชีวะ (จงทำงาน อย่าทำเป็นคนว่างงาน จะเฉาตาย)

ผมขอต่อยอด หมอเขียว สักหนึ่ง อ. เป็น อ. ที่ 9 คือ...

9. อริยสัจสี่ (สิ่งที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เพราะเป็นธรรมอันประเสริฐ เป็นธรรมที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นอริยะ ได้แก่ ทุกข์-ควรกำหนดรู้ สมุทัย-ควรละ นิโรธ-ควรทำให้แจ้ง มรรค-ควรเจริญ)

นี่คือ หัวใจพุทธศาสนา นับถือพุทธ ถ้าไม่สนใจหัวใจ จะให้แปลว่าอะไร?

ช่วงชั้นชีวิต หากปฏิบัติตาม 9 อ.อย่างจริงจัง ชีวิตนี้ไปถึงช่วงปลายๆ ชีวิตนี้ยืนยาว และมีคุณค่าอย่างแน่นอน

ฝากไว้สักนิด มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ควรรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ ง่ายๆ เช่น...ชมรม 70 ชมรม 80 ชมรม 90 เป็นต้น แต่ละชมรมจะมีในวงเล็บต่อท้ายว่า (เพื่อสังสรรค์และวันมายด์) จะทำให้แต่ละช่วงชั้นมีความผ่อนคลาย สบายๆ เป็นรางวัลชีวิต

สำหรับปัจเจกชน จะรวมกลุ่มหรือไม่รวมกลุ่มก็ได้ เขามีความสุขอยู่แล้ว เพราะเขาเห็น “หนึ่งคือหลาย-หลายคือหนึ่ง” ได้ชัดเจน

●นึกคิดกันไป...

การนึกคิดเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต การทำตามความนึกคิดก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตเช่นเดียวกัน คนส่วนมากนึกคิดและกระทำตามผู้อื่น ที่เรียกว่าตามกระแส จะมีคนส่วนน้อยเท่านั้น ที่กล้ากระทำตามความนึกคิดของตัวเอง กล้าสวนกระแส-การนึกคิดและการกระทำของคนส่วนมาก ถ้าเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม

ถ้าไม่ระมัดระวังความนึกคิดให้ดี ความนึกคิดทั้งดีและชั่ว ก็อาจกลายเป็นคุกขังตัวเองได้ทั้งนั้น

“ระวัง” คำง่ายๆ หมายถึง “ใส่ใจโดยไม่ประมาท หรือคอยดู” เป็นคำที่มีค่ามาก หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี สอนว่า “เธอจงระวัง” ดังนี้...

เธอจงระวังความคิดของเธอ
เพราะความคิดของเธอจะทำให้
กลายเป็นความประพฤติของเธอ
เธอจงระวังความประพฤติของเธอ
เพราะความประพฤติของเธอ
จะกลายเป็นความเคยชิน
เธอจงระวังความเคยชินของเธอ
เพราะความเคยชิน
จะกลายเป็นอุปนิสัย
เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ
เพราะอุปนิสัยของเธอ
จะกำหนดชะตากรรมของเธอตลอดชีวิต

คำสอนหลวงพ่อชาบทนี้ เตือนจิตเตือนใจได้ดี ทำให้มีสติ หรือมีความระมัดระวังอยู่ทุกเมื่อ เห็นสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นก็ละ เห็นสิ่งดีเกิดขึ้นก็เจริญ ผู้ผ่านช่วงชั้นชีวิตมายาวนาน ย่อมตระหนักเรื่องนี้ดี

●มีเล็กมีใหญ่...

เรื่องอยากมีอยากเป็น ไม่อยากมีไม่อยากเป็น มันคือความทะยานอยาก หรือ “ตัณหา” ที่พาชีวิตไปสู่ความทุกข์ หรือปัญหาต่างๆ นานา ผู้ที่สอนเรื่องนี้ได้อย่างชัดแจ้ง อีกท่านหนึ่งคือ “หลวงพ่อชา สุภทฺโท” ท่านสอนว่า... “ดูไม้ท่อนนี้ซิ...สั้นหรือยาว? สมมติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้...ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น แต่ถ้าคุณอยากได้ไม้ที่สั้นกว่านี้...ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว หมายความว่า “ตัณหา” ของคุณต่างหากที่ทำให้มีสั้น มียาว มีเล็ก มีใหญ่ มีดี มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา”

“นตฺถิ ตณฺหาสมา นที-แม่น้ำ เสมอด้วยตัณหา ไม่มี” แม่น้ำที่เอ่อล้นไหลหลากหลั่ง สองฟากฝั่งบางครั้งน้ำลดได้ บางครั้งขึ้นบางครั้งลดเหือดแห้งไป ธารตัณหาไหลท่วมใจไม่ลดลง

รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน ไม่รู้จักพอ (ไม่ว่าเป็นใคร) ก่อทุกข์ทุกเวลา เพราะตัณหาคือต้นเหตุ จึงได้เกิดเป็นเปรตในคราบมนุษย์อยู่ทุกวันนี้ น่าสงสาร ที่ตัวเองทำลายตัวเอง เพราะคิดผิด การดำรงชีวิตก็พลอยผิดไปด้วย

ทุกข์เพราะมี พ้นทุกข์ก็เพราะมี หมายความว่า...ทุกข์เพราะมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) พ้นทุกข์เพราะมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)

มิจฉาทิฏฐิ-มีเล็กก็ทุกข์เล็ก มีใหญ่ก็ทุกข์ใหญ่

สัมมาทิฏฐิ-มีเล็กก็สุขเล็ก มีใหญ่ก็สุขใหญ่

เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา คือเรื่องง่ายๆ แต่คิดไม่ออก เช่นนั้นเอง

●มีใช่มีลวง...

สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ถ้ามองอย่างสังขตธรรม ก็มีทั้งสิ่งจริงกับสิ่งเท็จ หรือสิ่งใช่กับสิ่งลวง หากมองอย่างอสัขตธรรม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนมายา ไม่ใช่ของจริง

ลองฟังเรื่องต่อไปนี้...ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่ เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เห็นองค์พระพุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ

หลวงปู่ บอกว่า... “ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง” (พูดเป็นภาษาธรรมก็ว่าจริง แต่ไม่จริง)

(ที่มา : หลวงปู่ฝากไว้-บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

บรรดานักไต่เขาทั้งหลาย ต่างก็ปรารถนาจะไปให้ถึงยอดเขาหิมาลัย คือ เอเวอร์เรสต์ ซึ่งเป็นยอดเขาสูงที่สุดในโลก ใครไปถึงถือว่าบรรลุภาวะความสุดยอดของความสุดยอด ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น คืออยากไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือนิพพาน นั่นแล

มีหลักธรรมข้อหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะถูกกับจริตบางคน มีผลส่งไปถึงเป้าหมายได้ นั่นคือ “อนุตตริยะ 3” เป็นภาวะอันยอดเยี่ยม หรือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ได้แก่...

1. ทัสสนานุตตริยะ คือการเห็นอันเยี่ยม ได้แก่ ปัญญาอันเห็นธรรม หรืออย่างสูงสุด คือเห็นนิพพาน

2. ปฏิปทานุตตริยะ คือการปฏิบัติอันเยี่ยม ได้แก่ การปฏิบัติธรรมที่เห็นแล้ว กล่าวให้ง่ายหมายเอามรรคมีองค์ 8

3. วิมุตตานุตตริยะ คือการพ้นอันเยี่ยม ได้แก่ ความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง หรือนิพพาน

ภาวะอันยอดเยี่ยม หรือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ทั้งสามดังกล่าวมานี้ คือที่สุดแห่งที่สุดของโลกแลจักรวาล ไม่มีอื่นใดยิ่งกว่า

●●●●ช่วงชั้นชีวิต
นึกคิดกันไป
มีเล็กมีใหญ่
มีใช่มีลวง.....

ทุกผู้คน ต่างก็อยากมีชีวิตยืนนานที่สุด 70 ปี 80 ปี 90 ปี 100 ปีนั้น ไม่ทราบว่า อยากมีภาวะอันยอดเยี่ยมด้วยหรือไม่? แต่อย่าลืมว่า ชีวิตที่ยาวนานนั้น หากมัวแต่หลับยืน ไม่ยอมตื่นรู้สักที ก็คงมีค่าสู้ผู้มีอายุน้อยๆ สั้นๆ แต่ตื่นรู้ตลอดเวลาไม่ได้

ชีวิตที่ไร้ค่า ย่อมมิใช่สิ่งอันน่าพึงปรารถนาของหมู่ชนในสังคมอารยะ ที่มีอิสรภาพเป็นเจ้าเรือนอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น