xs
xsm
sm
md
lg

ยุคสัมผัสจอ

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

คราใดที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้าน หลังจากสวัสดีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ตามมารยาทอันดีงามแล้ว ทุกคนก็หามุมเหมาะๆ ส่วนตัว แล้วก็... “จอจ้อจอ” ตามอัธยาศัยชนิดไม่รู้สึกเบื่อ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรือพวกเขาจะเป็น “ไอทีฟีเวอร์” ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังยุคใหม่ชนิดหนึ่ง

ยุคใหม่หรือยุคปัจจุบันมีชื่อเรียกกันต่างๆ นานา เช่น ยุคโลกไร้พรมแดน ยุคไซเบอร์ ยุคไอที ยุคอินเทอร์เน็ต ยุคข้อมูลข่าวสาร ยุคดิจิตอล ฯลฯ

ผมก็มีชื่อเรียกกับเขาเหมือนกัน คือ... “ยุคสัมผัสจอ” จอจ้อจอกันทั้งวันทั้งคืน ในช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นักรบภาคสนามทุกคนต่างก็ผ่าน “นักรบหน้าจอ” มาด้วยกันทั้งนั้น พวกนี้เขาใจถึงใจ จึงเข้าใจกันง่ายๆ (ไม่ต้องเสียงบประมาณ)

อย่าเครียดอย่ากังวลนักเลย ท่านผู้นำ ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย ประชาชนพลเมืองไม่ได้ชั่วช้าอะไรนักหรอก มันเป็นวิวัฒนาการ และเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลก

ถึงยังไง ผู้ถูกปกครองก็ยังเป็นคนของผู้ปกครองอยู่ดี คนไหนดีเราก็ส่งเสริม คนไหนไม่ดีเราก็ลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เป็นไปตามพุทธภาษิตที่ว่า... “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ-พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม”

พึงมองเห็นคนมีปัญญาที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขู่เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ พึงคบคนที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้นแหละ เมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ดี ไม่ดีเสียเลย”

ปราชญ์นาม เจ โดนัลด์ วอลเตอร์ กล่าวว่า “ความเป็นผู้นำ คือการมีโอกาสรับใช้ผู้อื่น ไม่ใช่เสียงแตรที่ป่าวประกาศความสำคัญของตัวเอง”

ท่านผู้นำทั้งหลาย ท่านผู้มีอำนาจทั้งปวง โอกาสทองมาสนองท่านแล้ว รีบทำงานรับใช้สังคมประเทศชาติเถิด เกียรติยศและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์เช่นนี้ มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ “เอาความไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมออกไป เอาความถูกต้องชอบธรรม กลับคืนมาให้ประชาชนคนทั้งชาติ” ด้วยความกล้าหาญเช่นนี้เท่านั้น ท่านจะได้รับเสียงปรบมือจากบัณฑิตและมวลคนดีทั้งหลาย (ไม่มีใครอยากได้คำชมจากคนพาลหรอก นอกเสียจากเขาไม่รู้คนพาลเป็นอย่างไร หรือไม่ก็อาจเป็นพวกเดียวกันกับพาลาชน)

ยุคสัมผัสจอ เป็นยุคที่มีหลายมิติ คุณจะมัวเป็น “กำแพง” ไม่ได้ คุณจะต้องเป็น “ประตู” การตรวจสอบคนชั่ว คนโกงบ้านกินเมืองจะง่ายขึ้น แพร่หลาย และรวดเร็ว แค่คลิก มือสัมผัส มือแตะ มือจิ้ม มือกด สิ่งเท็จ สิ่งจริง ก็จะออกมาเต็มจอเต็มตาของคุณ คุณก็...จอจ้อจอ ฟินๆ ชิลๆ

คำว่า “สัมผัส” มีทั้งตามกระแส และไม่ตามกระแส เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว “ตถตา-เช่นนั้นเอง”

“ความเป็นเช่นนั้น” หรือ “ตถตา” ท่านอาจารย์พุทธทาส ภิกขุ สอนว่า...ตถตา คือความที่ ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่ง หรือเกิดดับกันไป ถ้าเป็นวิสังขาร ก็ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดดับ

สัมผัสหรือผัสสะ คือ ความกระทบ หรือความประจานกันแห่งอายตนะภายใน (อินทรีย์ 6) อายตนะภายนอก (อารมณ์ 6) และวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ 6) มี 6 ประการ ได้แก่

1. จักขุสัมผัส หรือความกระทบทางตา คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง รูปก็สักแต่ว่ารูป

2. โสตสัมผัส หรือความกระทบทางหู คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง เสียงก็สักแต่ว่าเสียง

3. ฆานสัมผัส หรือความกระทบทางจมูก คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น

4. ชิวหาสัมผัส หรือความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง รสก็สักแต่ว่ารส

5. กายสัมผัส หรือความกระทบทางกาย คือ กาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ

6. มโนสัมผัส หรือความกระทบทางใจ คือ ใจ+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ = ถ้าปล่อยวาง ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์

สัมผัสทั้งหกนี้ ถ้าไม่ปล่อยวาง มันก็เป็นโลก หรือโลโกหมายถึงความมืด ถ้าปล่อยวาง มันก็ไม่เป็นโลก หรืออโลโก หมายถึงแสงสว่าง การปฏิบัติธรรม-ทำให้เราบรรลุถึงแสงสว่าง ที่อยู่เหนือความมืดของโลก

สัมผัสหรือผัสสะ ตามที่ยกมา 6 อย่างนั้น มันคือหลักธรรมสำคัญที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ใครจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น มันก็มีอยู่อย่างนั้น คือมีอยู่กับตัวเรา และนอกตัวเรา เมื่อของสามอย่าง (อายตนะภายใน, อายตนะภายนอก, วิญญาณ) มากระทบกัน ถ้าไม่รู้จักปล่อยวาง มันก็ทุกข์ ถ้ารู้จักปล่อยวาง มันก็ไม่ทุกข์

ส่วนบรรดาจอต่างๆ เช่น จอทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ฯลฯ มันเป็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สมควรเรียกยุคนี้ว่า “ยุคสัมผัสจอ” ที่ผู้คนเสมือนเป็นโรค “จอจ้อจอ” เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นของใหม่ที่งอกออกไปจากของเก่า ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็จะทุกข์หนักยิ่งกว่าเก่า ขนาดปล่อยวางธรรมดา เอาไม่อยู่หรอก จะบอกให้

เรื่องเล่าจากพิจิตรไลน์มา คุณยายเกษียณอยู่บ้านเฉยๆ อยากจะจอจ้อจอบ้างวานคุณหลานช่วนสอน หลานก็สอนให้ด้วยดี แต่ยายจำไม่ค่อยได้ ถามหลานบ่อยๆ หลานชักเบื่อ เลยดุยายว่า “สอนไม่รู้จักจำ ของง่ายๆ ก็ทำไม่ได้ ไม่สอนแล้วรำคาญ” ยายเมื่อเห็นหลานเบี่ยงเบน ก็เกิดน้ำโห สวนกลับ “ไอ้หลานเนรคุณ แค่นี้บ่น แกกับฉันขาดกัน ไม่เรียนแล้ว ไม่เล่นแล้ว ไอ้จอจ้อจอ”

โถ...จอจ้อจอ มีพิษร้ายแรงปานนั้นเชียวหรือ? ใจเย็นๆ คุณยาย หลานก็คือหลาน ไม่ใช่แมวนะยาย

สืบต่อทุกสิ่ง อยากรู้อยากเห็นอะไรในโลกนี้ สัมผัสจอจัดให้ ระวังดีๆ พวกคนไม่ดี แต่ทำตัวเหมือนคนดี สัมผัสจอจะแฉให้ แฉทีมิใช่รู้กันแคบๆ เฉพาะบ้านนี้เมืองนี้ แต่รู้เห็นกันไปทั่วโลก “สัมผัสจอ” จะกลายเป็น “นักตรวจสอบขั้นเทพ” ที่ทรงพลังและมีอิทธิพลที่สุดในโลก ปิดได้-เปิดได้ ปิดสิบ-อาจเปิดแสน

สืบต่อเชื่อมต่อทุกสิ่ง เพียงสัมผัสจอเบาๆ สูเจ้าก็สะท้านสะเทือนไปทั่วแบบไร้ขอบเขต จึงไม่ควรจะปิดประตูสู้กับความมหัศจรรย์ที่เหนือความคาดหมาย แต่ควรรู้เท่าทัน อันไหนเป็นประโยชน์ก็รับเอา อันไหนให้โทษก็ป้องกัน

มีเท็จมีจริง คนพูดเท็จไม่ทำบาปทำชั่วไม่มี คนทุจริตคอร์รัปชันก็พวกนี้แหละ โกงชาติกินเมืองขายชาติก็พวกนี้แหละ เป็นข้าราชการกินเงินเดือนภาษีประชาชน แต่ไปรับใช้นักการเมืองชั่ว ก็ยังลอยนวลอยู่ เล็ดลอดสายตาผู้มีอำนาจไปได้อย่างไร?

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ทำไมคนพูดความจริงมักตายเสมอ? คนไม่พูดความจริงก็ตายเหมือนกัน เรื่องตายเป็นเรื่องจริงแท้ ไม่เคยแปรเปลี่ยน เพียงแต่ใครๆ ก็ยังไม่อยากตาย ทั้งคนดีคนชั่วต่างก็อยากอยู่ไปนานๆ ให้ถึงร้อยปีประมาณนั้น

เรื่องเท็จเรื่องจริงเป็นของคู่โลก เรามันแค่ระดับโลกียะ อาศัยเท็จปนจริง เป็นวิถีชีวิต มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ทราบว่าอยู่ระดับไหน เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ นักการทหาร และอีกหลายๆ นัก มักไปหาหลวงปู่ ชอบถามหลวงปู่เสมอว่า... “การโหกหรือพูดเท็จ มีผลเป็นบาปเท่านั้นหรือ? ไม่มีผลเป็นบุญบ้างเลยหรือ หลวงปู่”

หลวงปู่ ตอบว่า...ในพระคัมภีร์มหากุศโลบาย การโปรดสัตว์ของพระโพธิสัตว์ ได้กล่าวไว้ว่า...

1. ถ้าการโกหกนั้น ได้ทำให้มนุษย์รอดตายแล้ว เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป

2. ถ้าการโกหกนั้น ได้ทำให้สัตว์เดรัจฉานรอดตายแล้ว เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป

3. ถ้าการโกหกนั้น ได้ทำให้คนเขาได้สติจากบาป หยุดการเบียดเบียนชีวิต แลเลือดเนื้อสัตว์ซึ่งกันและกันได้แล้ว เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป

4. ถ้าการโกหกนั้น ได้ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากเดรัจฉานวิชา เข้าถึงสัมมาทิฏฐิปัญญาแล้ว เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป

5. ถ้าการโกหกนั้น ได้ทำให้มนุษย์รู้แจ้งทางมรรคผลนิพพานได้จริงๆ แล้ว สาธุ เป็นมหาบุญกุศลบารมีอันสูงสุดยิ่งแล้ว แล

6. ถ้าการโกหกนั้น ทำให้ชาติบ้านเมืองหายจากวิกฤตได้ คนดีได้ปกครองบ้านเมือง คนชั่วถูกลงโทษ ประชาชนหายโง่ ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสันติสุข มีอิสรภาพ เป็นบุญมากกว่าเป็นบาป (ข้อนี้ผมว่าเอง)

นี่...ไม่ใช่ส่งเสริมให้โกหก การโกหกผิดศีลห้า (ข้อสี่) การโกหกเป็นบาปเป็นความชั่ว พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอนว่า... “อย่าทำชั่ว จงทำดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์” แต่ถ้าเล็งเห็นผลบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นดีกว่า มากกว่า ก็จงเสียสละ ยอมผิดศีลผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งปวงเถิด อย่างนี้เขาเรียกว่า คนมีปัญญาที่เห็นแจ้งในแต่ละภาวะ จะทำอย่างไร จึงจะมีผลดี มิใช่ทำได้อย่างเดียวแบบเถรตรง หรือเถรส่องบาตร

เรื่องเท็จเรื่องจริง มองในมิติที่สูงขึ้นไป โลกนี้เป็นของคู่ (กฎทวินิยม) เช่น ดี-ชั่ว ดำ-ขาว มืด-สว่าง เท็จ-จริง นรก-สวรรค์ โง่-ฉลาด บวก-ลบ ร้อน-เย็น มาร-เทพ ฯลฯ เป็นสุดโต่งของฝ่ายหนึ่งกับสุดโต่งของอีกฝ่ายหนึ่ง

ครูบาฮวงโป ท่านสอนให้ลูกศิษย์ถอนคติทวินิยมเสีย เพราะของคู่มันเป็นมายา เป็นของหลอกลวงให้เราติดกับดัก การปรุงแต่ง ขณะเดียวกันท่านก็ย้ำให้ลูกศิษย์รู้จักการพูดที่ไม่ผิดทางตรรกะอีกด้วย (ตรรกะ คือความคิด ความตรึก คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล)

ผมชอบประตู ไม่ค่อยชอบกำแพง ผมเห็นว่าของคู่อย่างเช่น “เท็จ-จริง” เป็นต้นนี้ มันเหมือนการเล่นฟุตบอล ต้องมีนักบอลกับสนามอย่างบอลโลกนัดเปิดสนาม ระหว่างบราซิล (เจ้าภาพ) กับโครเอเชีย (13 มิ.ย. 2557 เวลา 03.00 น.) คนดูบอลจิตจะตั้งมั่นอยู่กับนักบอล เป็นการทำสมาธิอีกแบบ นักบอลเหมือนคลื่นสนามเหมือนทะเล นักบอลเป็นมายา เป็นของเท็จ สนามเป็นของจริง นักบอลเป็นอาการของสนามเหมือนคลื่นเป็นอาการของทะเล

ดูของคู่อย่างเท็จ-จริง เหมือนอะไรอีกอย่าง คือ เหมือนคลื่นในทะเล เราไปเที่ยวทะเล แต่เราไม่ค่อยเห็นทะเล เราเห็นแต่คลื่นอยู่อย่างนั้น เพราะคลื่นมันอยู่ที่ผิว คลื่นทุกลูกไม่ใช่อะไรเลย นอกจากการขึ้นลงของน้ำทะเล ทะเลขึ้นลงไปตามคลื่นทุกลูก จงลืมคลื่นซะ จำไว้เพียงทะเล เพราะคลื่นไม่มีอยู่จริง ทะเลเท่านั้นที่มีอยู่จริง

แม้เสียงเพลง ก็ให้สิ่งเท็จ สิ่งจริงเราได้...ทะเลหัวใจของเรา (ถูกเป๊ะเลย) แฝงเอารักแอบเข้าไว้ (อันนี้เป็นมายาของเท็จ)... (เพลงทะเลไม่เคยหลับ ของเศรษฐา ดิอิมพอสซิเบิล)

ของคู่มีอยู่จริง ให้คุณให้โทษจริง แต่ไม่จริง ของจริงต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น เช่น “จิตเดิมแท้”

ทุกสิ่งว่างเปล่า นี่เป็นข้อสรุปของทุกสิ่งจริงๆ “สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า” วลีนี้หรือประโยคนี้มันเคาะกะโหลกผมอยู่เสมอ ยามหลับผมต้องตื่นขึ้นมา และยามตื่นผมตื่นยิ่งขึ้น “สุญญตาวิหาร” หรือ “เครื่องอยู่ที่ผมอยากอยู่” (ฝันเพ้อหรือเปล่า?)

อย่างคลื่นในทะเล เราทั้งหลายต่างก็เป็นคลื่นเกิดดับๆๆ อยู่นั่นแหละ เมื่อมีลมเป็นเหตุปัจจัย ยามเหตุปัจจัยหมดไป ทะเลไร้คลื่น มันสงบ เย็น ใส ดั่งอะไรมิอาจเปรียบได้ แต่มันคือ “ใจ” หรือ “จิตเดิมแท้” ของเรา ส่วนคลื่นมันเป็น “จิตใหม่เทียม” เกิดทีหลัง “จิตเดิมแท้” มองดูเหมือนสองอย่างที่ต่างกัน มองอีกทีให้ลึกหน่อย จิตเดิมแท้กับจิตใหม่เทียม หรือของเทียมกับของแท้ หรือของแท้กับของจริง มันเป็นสิ่งเดียวกัน

โอ...อนุตตระ “สิ่งหนึ่ง” หรือ “จิตหนึ่ง” เป็นเช่นนี้หนอ

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”

เราทั้งหลายทั้งปวง ลองเป็นอีกอย่าง คือเป็น “ของบัง” บังอะไร บังแสง

“เราทั้งหลาย ก็เหมือนของที่บังแสงสว่าง พอเอาของบังออก แสงก็โพล่งถึงสิ่งที่มันส่องได้ทันที”

ใครรักที่จะเป็นทุกข์ ก็จงเป็นของบัง-สังขารปรุงแต่งต่อไป ใครรักที่จะเป็นสุขพ้นทุกข์ ก็เลิกละเป็นของบัง มาเป็นของว่าง-วิสังขาร หยุดการปรุงแต่ง ตถตา-เช่นนั้นเอง

เรื่องความว่าง ฟังแค่นี้ไม่พอหรอก ต้องฟังระดับปรมาจารย์ เช่น ท่านอาจารย์พุทธทาส ภิกขุ เป็นต้น ท่านกล่าวว่า...

คำว่า “สุญญตา” เป็นภาษาบาลี “สุญญ” แปลว่า “ว่าง” “ตา” แปลว่า “ความ” “สุญญตา” แปลว่า “ความว่าง”

ความว่างในภาษาคน ภาษาคนโง่ที่ไม่เห็นธรรม ไม่ถึงธรรมนั้น มีความหมายว่า ไม่มีอะไรเลย หรือสูญเปล่า ไม่ได้อะไรเลย ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย

ส่วนสุญญตา หรือความว่าง ในภาษาธรรมนั้น มีทุกอย่างทุกประการ มีเท่าไหร่ก็ได้ เว้นแต่ความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือของฉัน ตัวกู หรือของกู

สุญญตา แปลว่า ว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวตนหรือของตน นอกนั้นมีได้หมด อะไรๆ ไม่ถือว่าเป็นตัวฉันหรือของฉัน ตัวกูหรือของกูก็แล้วกัน นี่เป็นความว่างในภาษาธรรม หรือภาษาพระพุทธเจ้า

“ยุคสัมผัสจอ”
สืบต่อทุกสิ่ง
มีเท็จมีจริง
ทุกสิ่งว่างเปล่า”

ขึ้นต้นมีทุกสิ่งทุกอย่าง ตอนสุดท้ายว่างเปล่าทุกอย่างทุกสิ่ง หมายความว่า มีอยู่ แต่ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นตัวฉัน เป็นของฉัน หรือเป็นตัวกู เป็นของกู

คนที่มีตัวตน “อัตตา” มักถามหา นรก สวรรค์ นิพพาน ส่วนคนไม่มีตัวตน (อนัตตา) มักหุบปากเงียบ เพราะไม่มีอะไรถาม ไม่มีอะไรตอบ จะมีบ้างก็เพียง “สุญญตาวิหาร” เป็นเครื่องอยู่เท่านั้นแล

“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย-สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

“สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา-สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน”
กำลังโหลดความคิดเห็น