xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระสังฆราชทิ้งมรดกธรรม เตือนสติคนไทยยึดสัมมาสติดับ “นองเลือด” !(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระอนิลมาน ไขปริศนา นิพพานมีตัวตนหรือไม่? ชี้ 2,600 ปีที่ผ่านมา “ไม่มี” แค่ดับกิเลสได้ก็นิพพานได้ ขณะที่พุทธศาสนาในยุคทุนนิยมปัจจุบัน “นิพพาน” มีตัวตน เงินซื้อสวรรค์และนิพพานได้ หวั่นพุทธศาสนากลายเป็น Money marketing ต้องทำการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมาย แนะคนไทยยึดคำสอนสมเด็จพระสังฆราช นรก-สวรรค์ ไม่มี จะสุขหรือทุกข์อยู่ที่การกระทำของตัวเอง พร้อมยกจดหมายคณะสงฆ์ 2516 เตือนสติคนไทยท่ามกลางการเมืองร้อนแรงในเวลานี้ ควรยึดสัมมาสติหรือความระลึกชอบ หยุดยั้งแตกแยกลดความรุนแรงและเหตุนองเลือดได้

ทีม Special scoop ได้นำเสนอ ‘พระอนิลมาน แนะคนไทยลด โลภะ สู่หนทางดับทุกข์ ชี้เงินซื้อบุญ (สวรรค์) ไม่ได้ !ตอนที่ 1 ไปแล้ว และในตอน 2 (ตอบจบ) พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร ให้คำแนะนำในการปฎิบัติตัวของพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันที่อยู่ในโลกของทุนนิยม ซึ่งพุทธศาสนิกชนต่างต้องการความรวดเร็ว สะดวก ศาสนาจึงมีการปรับตัวตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือบรรดาพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแล้วต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน

อีกทั้งการตีความหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แตกต่างกัน จึงทำให้แนวทางในการปฏิบัติของพระสงฆ์แตกต่างกันไป อย่างในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีธรรมยุติกนิกายขึ้นมา ที่เน้นปฏิบัติตามหลักคำสอนตามพระบาลีที่มี ขณะที่ของเดิมอย่างมหานิกายเน้นปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

อนัตตาหรืออัตตา

ขณะเดียวกันในยุคปัจจุบันก็ยังมีการตีความหลักธรรมคำสอนที่ต่างไปจากเดิมอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น คำว่า “นิพพาน” หากยึดตามหลักทางพุทธศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติกันมา หนทางการไปสู่นิพพาน หลักก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือความเปลี่ยนแปลง ทุกขังคือความทนอยู่ไม่ได้หรือความทุกข์ อนัตตาคือความไม่มีตัวตน ข้อถกเถียงกันในเรื่องของเรื่องดังกล่าว มีบางสำนักที่ตีความว่า ท้ายที่สุดเมื่อเราปฏิบัติได้ทั้งอนิจจัง ทุกขังแล้ว สุดท้ายก็คืออัตตา หมายความว่ายังมีตัวตนอยู่

เมื่อตีความแตกต่างกันว่าอนัตตาเป็นอัตตา ที่แปลว่ามีตัวตนแล้ว วิถีในการปฏิบัติจึงมีความแตกต่างกัน มีเรื่องของสวรรค์ วิมานหรือชาติหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการทำบุญจึงมุ่งกระทำไปเพื่อให้ได้ไปสวรรค์หรือนำไปสู่ชาติหน้า รวมถึงเรื่องของนิพพาน

“นิพพานในรูปแบบเดิม คือการดับกิเลส คือดับโลภ โกรธ หลง เมื่อทำได้ก็จะจบอยู่ตรงนี้ ตอนนี้เราก็นิพพานได้ เป็นนิพพานชั่วคราว จึงเถียงกันว่าใครถูก ก็หาข้อยุติไม่ได้ เรื่องนี้ในด้านของมหาเถรสมาคมก็หาข้อสรุปไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจทางวินัยที่จะไปบอกว่าใครแปลผิดหรือถูก”

ทั้งนี้เพราะในเรื่องการตีความทางธรรมะ ไม่ได้อยู่ที่มหาเถรสมาคม แต่อยู่ที่หลักฐานทางวิชาการ และการยอมรับ ถ้ามีคนที่เข้ามาตัดสินในเรื่องนี้พุทธศาสนาก็ไม่แตกต่างกับรัฐวาติกัน ซึ่งของเราไม่มี ตลอดระยะเวลาที่พุทธศาสนาดำเนินมาตลอด 2,600 ปี ที่รอดมาก็เป็นมาอย่างนี้

ดังนั้นผู้ที่มีทุนทางศาสนามากก็อาจจะต้องหาหลักฐานในทางพุทธศาสนาเข้ามารองรับกับการตีความของเขา จึงมีกระบวนการชำระพระไตรปิฎกอยู่ในเวลานี้ เพื่อให้เป็นหลักฐานเข้ามารองรับการตีความดังกล่าว

“ทุนทางศาสนาที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนพระไตรปิฎกให้สอดคล้องกับสิ่งที่นำเสนอทำให้คนหลงไหล หลงเชื่อ ว่าการซื้อบุญมีอยู่จริง ยิ่งทำบุญมากหรือซื้อบุญมากจะยิ่งได้ไปสวรรค์ ไปสู่นิพพานตามแบบของเขา สิ่งนี้อันตรายมาก ถ้าคนไม่เข้าใจสิ่งที่อยู่ในหลักธรรมหรือแก่นของพุทธศาสนาที่เป็นของจริง”

พุทธศาสนายุค ‘Money marketing ‘ เติมเงิน-เติมบุญ

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) บอกว่า จากนี้ไปถ้าพุทธศาสนิกชนที่ชอบในแนวทางนี้ก็จะอยู่ในสังคมของเขา ทำงานมาเพื่อซื้อบุญ เงินที่ได้มาเอาไปไหนไม่รู้ ตอนนี้พระพุทธศาสนาต้องอิงการตลาด มีการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าคิด เป็นพุทธศาสนาในยุคทุนนิยม ทุกอย่างเป็น Money marketing ไปแล้ว

“ที่พูดมานั่นก็พยายามเลี่ยงที่จะบอกว่าถูกหรือผิด เพราะเรายังไม่รู้ว่าอะไรคือมาตรฐาน สิ่งที่พูดก็เป็นการพูดตามหลักพระไตรปิฎกที่เคยศึกษามา ว่าของเดิมเป็นแบบนี้ หรือสิ่งที่เป็นในปัจจุบันแตกต่างไปจากแบบเดิม พูดในแง่วิวัฒนาการทางความคิดให้ทราบเท่านั้น”

โดยข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายของพระพุทธศาสนาคือดับทุกข์ ในพจนานุกรมราชบัณฑิต นิยามคำว่าศาสนาผิดอย่างมหันต์ โดยนิยามว่า หลักความเชื่อว่าด้วยการกำเนิดและสิ้นสุดโลก ความหมายที่สอง หลักความเชื่อว่าด้วยเรื่องบุญและบาป ความหมายที่สาม พิธีกรรมที่เนื่องด้วยความหมายตามนิยามที่ 1 และ 2

แต่พุทธศาสนาสนใจในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ พิธีกรรมที่เราทำทุกวันนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีพิธีกรรมใดที่เก่ากว่า 100 ปี มนุษย์เราเป็นคนสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ตามเจตนารมณ์ที่เราต้องการ เรื่องของความสุขและความทุกข์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอธิบายไว้อย่างนี้ สุขแปลว่าดี ยิ่ง ง่าย ทุกข์แปลว่ายาก ไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความสุขอยู่ที่แค่วิธีมอง

หรือคำว่าสุญญตาต้องพ้นจากคำว่าดีไม่ดี พุทธศาสนาต้องพ้นจากคำว่าบุญและบาป ท่านพูดถึงกระบวนการทางความคิด สิ่งที่พูดถกเถียงต้องนำไปปฎิบัติได้ เราก็จะรู้ผลของมันด้วยตัวของเราเอง

จะ “ขี้นสวรรค์- ลงนรก” ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเอง

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ชี้ให้เห็นเรื่องของนรก สวรรค์ ว่า ในหนังสือ 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า แต่ทำได้แค่พรรษาที่ 12 สมเด็จพระสังฆราชท่านประชวร ท่านได้กล่าวถึงเรื่องของนรก สวรรค์ไว้ว่า ความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องพุทธศาสตร์ เป็นภูมิศาสตร์ อย่างเช่น สวรรค์ชั้นดุสิต ท่านตีความว่า ใครก็แล้วแต่มีชีวิตอยู่ด้วยความสันโดษเป็นอาจิณ สวรรค์ชั้นพรหมคือผู้ที่ยินดีสร้างผลงานกับของตัวเอง พรหมก็คือพ่อแม่ที่ยินดีกับการเลี้ยงดูลูก ลูกเติบโตสำเร็จ หรือยินดีกับการทำให้ความหวังของคนอื่นมีความสุข ก็คือพ่อแม่

บางครั้งการทำบุญที่มองกันว่าเป็นความสุขทางใจ แท้ที่จริงก็ยังเป็นความหลงอยู่นั่นเอง อย่างเช่นการขอพรจากพระ จริงๆ แล้วพรกับพระมันคำเดียวกัน พระคือคนที่มีพรอยู่ในตัว เราขอพรคือขอความดีความประเสริฐ จริงแล้วความดีความประเสริฐต้องสร้างขึ้นเอง หรือคำว่าธรรมะคุ้มครองก็หมายถึงคุณธรรมของเราคุ้มครองตัวเราเอง

อย่างคำที่พระให้พร อย่าง อายุ วรรณโณ สุขัง พลัง ถ้าอยากมีอายุยืนต้องปฏิบัติตัวดี สมเหตุผลของการมีอายุยืน วรรณะคือผิวพรรณดีเพราะสุขภาพต้องดี ต้องสร้างเหตุของการมีสุขภาพดี สุขะคือการสร้างเหตุผลในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม พละคือกำลังใจและกำลังกาย

ความไม่รู้ภาษาของพวกเราจึงทำให้พาหลงเข้าป่า หากเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็จะพบว่าทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของเราทั้งสิ้น พระมีหน้าที่แค่สอน
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จฯเตือนสติคนไทย-สกัดเหตุนองเลือด

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงขึ้นทุกขณะ เกรงกันว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ และฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณ ทีม special scoop เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน จึงเรียนถามพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ถึงข้อคิดเตือนใจสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้

โดย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) บอกว่ามีมรดกธรรมที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงให้สติไว้แล้วที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ได้ เพราะในช่วงม็อบที่กำลังมี ช่วง 14 ตุลา สมเด็จท่านฯ มีจดหมายจากคณะสงฆ์ โรเนียว (พิมพ์) แจกจ่ายไปที่ชุมนุมเพื่อเตือนสติทุกฝ่ายให้มีสัมมาสติเมื่อ 12 ตุลาคม 2516 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในนั้นพูดชัดเจนดังนี้

“จากคณะสงฆ์ไทย"

สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ อันความระลึกนั้น มักพูดกันเช่นว่า ระลึกถึง คือนึกขึ้นมาได้ถึงบุคคล เหตุการณ์ หรือแม้วัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีความระลึกถึงเป็นไปในทางไม่สงบต่างๆ เพราะก่อให้เกิดภาวะเป็นต้นว่า ความโกรธแค้นขึ้งเคียดจนถึงใช้กำลังประหัตประหารกันให้ย่อยยับลงไป บางทีความระลึกถึงเป็นไปในทางสงบต่างๆ เพราะก่อให้เกิดภาวะ เป็นต้นว่า ความมีมิตรภาพไมตรีจิต ความประนีประนอมผ่อนปรนกันและกัน ความช่วยเหลือกันและกันให้เกิดความสุขความเจริญ ความระลึกถึงอย่างแรกมิใช่เป็นสัมมาสติแต่เป็นมิจฉาสติ ส่วนความระลึกถึงอย่างหลังเป็นสัมมาสติ ความระลึกชอบ ในฐานที่เราทั้งหลาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ต่างก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์โลกชนิดที่มีปัญญาสูงมาโดยกำเนิด ทั้งยังได้รับการศึกษาส่งเสริมปัญญาให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก ก็ควรที่จะมีความระลึกชอบ คือใช้ปัญญาระลึกโดยรอบคอบ ไม่ลุอำนาจหรือดึงดันไปด้วยอำนาจความโกรธ

เป็นเหตุให้พบเหตุผลเป็นเครื่องแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนตัว ทั้งที่เป็นส่วนรวมได้ดียิ่ง ความพบเหตุผลที่ถูกต้องดังนี้และเป็นตัวปัญญา ซึ่งเป็นผลที่มุ่งหมายสำหรับแก้เหตุการณ์ทั้งหลายตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า สัมมาสติและปัญญา ต่างก็ต้องอาศัยกันและกัน

ในที่นี้ยกสัมมาสติขึ้นเป็นประธาน เพราะมุ่งหมายว่าเป็นข้อสำคัญในหน้าที่เตือนใจให้ใช้ปัญญาแทนที่จะใช้อารมณ์และกิเลสแก่กันและกัน ทุกๆ คนต่างก็มีปัญญาอยู่ด้วยกันแล้ว แต่อาจยังเผลอปัญญาไปบ้างเพราะขาดสัมมาสติเท่านั้น ควรระลึกอย่างไรจึงจะเป็นสัมมาสติ และจะระลึกอย่างนั้นได้หรือ

ขอแถลงข้อหลังก่อนว่า ทุกคนระลึกให้เป็นสัมมาสติได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจที่อาจน้อมจิตใจให้คิดไปได้ จึงขอแต่เพียงว่า ขอให้น้อมจิตใจคิดไปในทางสงบเท่านั้น โดยพยายามระงับดับจิตใจเร่าร้อนไม่สงบลงเสีย ดังจะลงแนะแนวคิดดู ที่จะนำไปสู่สัมมาสติ

1. เราทั้งหลายเป็นอะไรกัน ถ้าคิดด้วยความโกรธ ก็จะได้คำตอบว่า เป็นศัตรูกัน โกรธเกลียดกัน ซึ่งจะต้องเอาชนะกันให้ได้แม้ด้วยการใช้กำลังประหัตประหารกัน ถ้าคิดด้วยจิตใจที่สงบก็จะได้คำตอบว่า เราเป็นพี่น้องกัน ร่วมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เดียวกัน หรือแม้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน บรรพบุรุษสตรีของเราเสียสละทุกอย่าง รักษาสถาบันต่างๆ ของชาติไทยไว้ให้แก่เรา

เราทั้งหลายจึงเหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนพ่อแม่ เป็นตา เป็นยาย เป็นปู่ เป็นย่า เป็นน้า เป็นอา ผู้ที่เป็นเด็กกว่าก็เหมือนอย่างเป็นลูกเป็นหลาน ที่เป็นชั้นเดียวกันก็เหมือนอย่างเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน ความระลึกได้อย่างนี้จะทำให้จิตใจอ่อนโยนลง จะทำให้เกิดความคิดที่จะปรองดองกัน สมัครสมานกันขึ้น

2. เราทั้งหลายกำลังจะทำอะไรให้แก่กัน ถ้าตอบด้วยความโกรธก็จะได้คำตอบว่า เราจะต้องไม่ยอมกันเด็ดขาด จะต้องบังคับเอาสิ่งที่เราต้องการ หรือไม่ยอมให้ทุกอย่างตามที่ได้รับการเรียกร้อง แม้ด้วยการใช้กำลัง แต่ถ้าคิดด้วยใจที่สงบ ก็จะมองเห็นว่า เราทั้งหลายต่างก็เป็นญาติกันทั้งหมด มิใช่ใครอื่นที่ไหน ควรที่จะผ่อนปรนกัน

สมมติว่า ผ่อนความต้องการของตนบ้าง เหมือนอย่างว่าคนละครึ่งหนึ่ง ทุกฝ่ายต่างได้ต่างเสียด้วยกัน เพราะการดึงดันเอาแต่ใจของตนฝ่ายเดียวนั้นยากที่จะตกลงกันได้ หลักของความสามัคคีประการหนึ่งก็คือ ความรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือเอาใจเราไปใส่ใจเขา แต่จะต้องทำใจให้สงบเสียก่อนจึงจะเกิดความคิดผ่อนปรนประนีประนอมดังกล่าวได้

3. เราทั้งหลายกำลังมุ่งอะไรเพื่ออะไร สิ่งที่มุ่งนั้น ถ้าไม่ขัดกันก็ไม่เกิดปัญหาขัดแย้ง แต่ถ้าขัดกันก็เกิดปัญหาขัดแย้ง แต่ก็ต้องมีจุดที่มุ่งหมายว่าเพื่ออะไร เมื่อมีจุดที่มุ่งหมายเป็นอันเดียวกัน เช่นเพื่อชาติ ก็น่าที่ทุกฝ่ายจะพากันเสียประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อส่วนรวมคือชาติ อันหมายถึงประชาชนทั้งหมดพร้อมทั้งสถาบันทั้งหลายของชาติ ด้วยสันติวิธี พยายามหาทางปฏิบัติโดยสันติที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย ทุกๆ คนย่อมรวมอยู่ในชาติ ต่างเป็นกำลังของชาติดังที่เรียกกันว่า “พลเมือง” จึงต้องรักษาตนเองไว้ให้ดีด้วยกัน

การที่จะมาทำลายกันเองลงไป เท่ากับเป็นการทำลายกำลังของชาตินั้นเอง ทำให้ชาติอ่อนกำลังลง และเราทั้งหลายต่างก็มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นประมุขของชาติ ผู้ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด

ปรากฏว่าพระองค์มีพระราชวิตกห่วงใยเป็นอันมาก มีพระมหากรุณาแผ่ไปอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นเพียงใด ความทุกข์อย่างหนักก็ย่อมจะเกิดขึ้นในพระราชหฤทัยเพียงนั้น จึงน่าที่ทุกๆ ฝ่ายจะรำลึกถึงพระมหากรุณา และปฏิบัติอย่างผ่อนปรนแก้กันด้วยมุ่งประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และรำลึกถึงพระศาสนาซึ่งสอนให้ใช้สัมมาสติ กล่าวได้ว่า ทุกศาสนาย่อมสอนให้ใช้สัมมาสติทั้งนั้น

แนวคิดทั้ง 3 ประการนี้ เป็นแนวคิดที่ขอเสนอแนะแก่ทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายพากันยับยั้ง คิดรำลึก ถึงจะต้องใช้เวลาสักหน่อย ก็ยังดีกว่าการทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลัน พอให้อารมณ์ที่ตึงเครียดผ่อนคลาย พอให้จิตใจสงบและคิดรำลึกตามแนวที่เสนอแนะ หรือแม้แนวอื่นที่จะนำไปสู่ความพบเหตุผลที่ดีกว่าย่อมจะได้สัมมาสติและปัญญา ในอันที่จะแก้ไขผ่อนปรนนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกัน โดยสวัสดี

นับเป็นพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ที่ได้ให้เป็นข้อเตือนใจ ให้สติกับทุกฝ่ายของบ้านเมืองภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานั้น และในขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองก็เริ่มเข้าสู่ภาวะของความเห็นที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การนำเอาบทเรียนในอดีตและข้อคิดเตือนที่สมเด็จพระสังฆราช เคยให้สติไว้ จึงน่าจะเป็นหนทางช่วยให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ทุเลาเบาบางลง โดยเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น