สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
จิตตนคร นครหลวงของโลก
จะว่าถึงจิตตนครตามพระพุทธภาษิตว่า “พึงกั้นจิตที่มีอุปมาด้วยนคร” จิตตนครเป็นนครที่แลไม่เห็นด้วยตา น่าจะคล้ายกับเมืองลับแล แต่ก็ไม่ถึงกับลี้ลับจนติดต่อไม่ได้เสียเลย จิตตนครมีทางติดต่อกับโลกแห่งวัตถุได้ ทั้งมีการติดต่อกันอยู่เสมอ น่าจะไม่ต่างกับเมืองไทยที่ติดต่อกับเมืองต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ จิตตนครเป็นเมืองที่ไม่สงบนัก ต้องทำสงครามอยู่เสมอ เพราะมีโจรผู้ร้ายข้าศึกศัตรูอันจำต้องป้องกันปราบปรามโดยไม่อาจประมาทได้ คล้ายกับเมืองทั่วๆไป
จิตตนครเป็นนครหลวงของโลก เป็นแหล่งเกิดแห่งสุข ทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม สมบัติ วิบัติแห่งโลกทั้งสิ้น จะกล่าวว่า จิตตนครเป็นแหล่งเกิดแห่งนรก สวรรค์ นิพพาน ทุกอย่างก็น่าจะไม่เกินไป แต่จิตตนครเป็นนครหลวงลับแล มองไม่เห็นด้วยตาอยู่นั่นเอง จะว่าตั้งอยู่ในแดนสวรรค์วิมานชั้นใดชั้นหนึ่งก็ไม่ใช่ เพราะตั้งอยู่ในเมืองมนุษย์นี้เอง แต่เป็นที่ซึ่งคนทั้งปวงไม่ค่อยจะสนใจไปเที่ยวดูชม ที่เรียกว่าไปทัศนาจร
คนทั้งปวงสนใจไปเที่ยวดูชมเมืองที่เห็นด้วยตาฟังได้ด้วยหูมากกว่า แม้จะไกลสักเท่าไรก็พยายามไป พยายามไปในโลกนี้รอบแล้ว ก็พยายามไปในโลกอื่น ดังที่พยายามไปดวงจันทร์กันมาแล้ว น่าจะพยายามไปดูจิตตนคร ซึ่งเป็นนครหลวงอันแท้จริงของโลก หรือของทุกๆคน
ถึงจะเป็นนครลับแล ไม่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ ก็อาจไปดูได้ด้วยตาใจ และจิตตนครนี้อยู่ไม่ไกล อยู่ใกล้ที่สุด เพราะตั้งอยู่ในจิตของทุกคนนี้แหละ เพียงทำความสงบจิตดูจิตของตน ก็จะเห็นจิตตนครรางๆ ซึ่งอาจยังไม่เห็นว่า จะเป็นนครที่น่าดูตรงไหน เพราะเมื่อดูก็จะพบแต่ความคิดที่ฟุ้งซ่านกับอารมณ์คือเรื่องต่างๆ จนไม่อยากจะดู สู้ดูโทรทัศน์หรือไปเที่ยวดูอะไรต่ออะไรไม่ได้ มานั่งดูจิตใจของตนเองไม่น่าจะสนุกที่ตรงไหน
เปรียบจิตตนครกับเมืองลับแลได้ก็เห็นจะตรงที่ว่ากันว่า เมืองลับแลนั้น คนที่เคยพลัดเข้าไปพบ ได้เห็นภูมิประเทศบ้านเรือนและผู้คนหญิงชายสวยงามน่าดูน่าชม กลับออกมาแล้วก็จำทางกลับไปอีกไม่ได้ แต่ก็ได้เที่ยวบอกเล่าใครๆ ถึงความสวยงามน่าดูน่าชมในเมืองลับแลนั้น และชี้บอกสถานที่ตั้งได้เพียงคร่าวๆ
บรรดาผู้ที่อยากเห็นเมืองลับแลก็พากันเดินทาง แต่ก็ไม่ได้พบเมืองที่ว่าสวยงามเหลือเกินนั้น พบแต่ทุ่งหญ้าป่าเขาที่ไม่น่าชมอย่างไร ซ้ำยังรุงรังตาเสียอีกด้วย นั่นก็เพราะบุคคลเหล่านั้น ยังไม่พบทางเดินเข้าสู่เมืองลับแลให้ถูกต้อง จึงยังไม่ได้ชมความงามวิจิตรของเมืองลับแล
การจะไปชมจิตตนครก็เช่นกัน ถ้ายังเดินทางไปไม่ถึงจิตตนคร ก็ย่อมจะยังไม่ได้ชมความงามอย่างวิจิตรพิสดารของจิตตนคร จะได้พบแต่ความวุ่นวายฟุ้งซ่านของอารมณ์ยุ่งๆทั้งหลาย ที่ไม่น่าดูไม่น่าชม แต่กลับน่าเบื่อหน่ายเสียด้วยซ้ำ แต่จิตตนครจริงๆ นั้นไม่เป็นเช่นนั้น
จิตตนครจริงๆ มีความพิสดารน่าดูน่าชม ท่านผู้เข้าถึงนครนั้นแล้วย่อมกล่าวเช่นนี้ ย่อมชักชวนแนะนำให้ใครๆทั้งหลายพยายามไปให้ถึงจิตตนคร โดยไปตามทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้บอกไว้แล้ว ด้วยวิธีที่ตรัสสอนไว้แล้วเช่นกัน
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายด้วยความตั้งใจจริง นับได้ว่าได้เริ่มก้าวเข้าสู่ทางที่จะนำไปถึงจิตตนครได้แล้ว แม้มีความตั้งใจจริงพยายามตลอดไป ก็ย่อมจะเดินไปได้ถึงจุดหมายปลายทางถึงจิตตนคร ได้เห็นความวิจิตรพิสดารของนครนั้นด้วยตนเอง
ลักษณะจิตตนคร
อันลักษณะแห่งจิตตนครนั้น ก็เช่นเดียวกับนครโบราณทั้งหลาย กล่าวคือ มีป้อมปราการ มีประตู ๖ ประตู มีถนน ๔ แพร่ง มีนครสามีคือเจ้าเมือง
เจ้าเมืองแห่งจิตตนครสถิตอยู่ตรงที่รวมของถนน ๔ แพร่ง และมีนามว่า “วิญญาณ” หรือ “จิตต” มีประชาชนชาติต่างๆ ไปมาหาสู่เมืองนี้ก็มาก พากันอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองนี้ก็มี มาพักอยู่ชั่วคราวก็มี มาเที่ยวทัศนาจรแล้วไปก็มี เพราะประตูเมืองทั้ง ๖ มักจะเปิดอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะปิดก็เมื่อเจ้าเมืองหลับ เมื่อเจ้าเมืองยังไม่หลับก็เปิดประตูรับอยู่เสมอ ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนเพียงไร ถึงจะค่ำมืดก็จุดไฟสว่างไสว ไม่ยอมแพ้ความมืด เหมือนอย่างกรุงเทพมหานครในยามราตรีนั่นเอง
จิตตนครจึงเป็นเมืองที่พร้อมพรั่งด้วยผู้คนและสิ่งต่างๆหลายหลากมากประการ เป็นต้นว่าพรั่งพร้อมไปด้วยรูปหลากหลาย อยากจะดูอะไรก็มักจะมีให้ดู พรั่งพร้อมไปด้วยเสียงหลากหลาย อยากจะฟังอะไรก็มักจะมีให้ฟัง พรั่งพร้อมไปด้วยกลิ่นหลากหลาย อยากจะดม จะลิ้ม หรือจะบริโภครสเช่นไร ถ้าร่างกายไม่เป็นอัมพาต เป็นร่างกายที่สมประกอบอยู่ ก็มักจะสมประสงค์
ทั้งพรั่งพร้อมไปด้วยเรื่องราวต่างๆ สำหรับบำรุงบำเรอใจหลากหลาย ไม่มีหมดสิ้น เมื่อเข้ามาถึงเมืองนี้ จะมีเรื่องเสนอสนองทางใจตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับไปใหม่ ไม่มีเวลาว่างเว้น ดูก็น่าจะเหน็ดเหนื่อย หรือจะกลุ้มใจตาย หรือจะกลุ้มเป็นบ้า เพราะต้องพบเรื่องต่างๆมากมาย ก็เหน็ดเหนื่อยกันจริงอยู่เหมือนกัน แต่เหนื่อยแล้วก็พักก็นอน ที่กลุ้มใจตายหรือที่กลุ้มเป็นบ้าไปก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะจิตตนครมีสิ่งต่างๆพรั่งพร้อม ประชาชนชาติต่างๆ จึงพากันมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก
และจิตตนครนี้แม้จะมีลักษณะเป็นอย่างเมืองโบราณ ก็หาเป็นเมืองโบราณหรือเป็นเมืองล้าสมัยไม่ แต่เป็นเมืองที่ทันสมัย มีไฟฟ้า มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีสิ่งต่างๆ เหมือนอย่างเมืองที่ทันสมัยทั้งหลาย รวมความว่า เมืองในปัจจุบันนี้มีอะไร จิตตนครก็มีสิ่งเหล่านั้นครบถ้วน และอันที่จริงจะมีมากกว่าเมืองอื่นๆ เสียอีก เพราะยังมีสิ่งวิเศษต่างๆ อยู่ในจิตตนครอีกมากที่คนทั่วไปยังไม่รู้ไม่เห็น เว้นไว้แต่พระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลาย
ตามที่พรรณนาถึงความพรั่งพร้อมต่างๆของจิตตนครนี้ น่าจะเห็นว่า จิตตนครเป็นนครที่น่าเป็นสุขสบาย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น คือเป็นสุขสนุกสบายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังเป็นเมืองที่มีทุกข์ร้อนภัยพิบัติอยู่มาก ทั้งโดยเปิดเผย ทั้งโดยซ่อนเร้น อันเกิดจากภัยธรรมชาติก็มี เกิดจากภัยพลเมืองของจิตตนครนั้นก่อขึ้นก็มี ทั้งเจ้าเมืองเองบางคราวก็มีความหลงเข้าใจผิด คบคนผิด ใช้คนผิด ก็ยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนระส่ำระสาย
และจะเป็นดังนี้จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาโปรด นั่นก็คือจนกว่าจะรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไประงับดับความวุ่นวายเดือดร้อนทั้งหลาย ที่ย่อมมีอยู่ประจำจิตตนครทุกแห่ง
อันพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องปราบ เครื่องขับไล่ เครื่องกำจัดบรรดาเหตุแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายของจิตตนครทั้งหลายได้ เราทุกคนเป็นเจ้าของจิตตนครด้วยกันทั้งนั้น เราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปปราบ ไปไล่ ไปกำจัดเหตุแห่งความเดือดร้อนไม่สงบสุขในนครของเรา
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้เป็นเจ้าของจิตตนคร ที่กำลังพยายามจะทำนครของตนให้เป็นนครแห่งความร่มเย็นเป็นสุข แม้ยังมีความเดือดร้อนวุ่นวายบ้าง ก็ไม่มากมายเท่านครของบรรดาผู้ยังไม่สนใจกับการบริหารจิตเสียเลย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)