xs
xsm
sm
md
lg

สงฆ์ประพฤติเสื่อมเสีย : เหตุอันควรปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า สงฆ์ เป็นภาษามคธหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ภาษาบาลี หมายถึงภิกษุหรือภิกษุณี 4 รูปขึ้นไปรวมตัวกันทำสังฆกรรมตามพระวินัยบัญญัติ เช่น การให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา และขอบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น

ส่วนจำนวน 4 รูปขึ้นไปเรียกว่าสงฆ์มาจากไหน และมีที่มาอย่างไรนั้น ผู้เขียนไม่พบหลักฐานที่พอจะนำมาอ้างอิงในทางวิชาการได้

แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานก็พอจะอนุมานได้ว่าน่าจะมาจากคำว่า 4 คู่ 8 บุคคล ซึ่งปรากฏอยู่ในบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณที่ว่า สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และเป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ จัดเป็นคู่ได้ 4 คู่ และถ้านับเป็นรายบุคคลได้ 8 บุคคลคือ

คู่ที่ 1 คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลหมายถึงผู้เข้าถึงกระแสแห่งโลกุตรธรรมแล้ว

คู่ที่ 2 คือ สกทาคามิมรรค สกทาคามิผลหมายถึง ผู้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียว

คู่ที่ 3 คืออนาคามิมรรค อนาคามิผลหมายถึง ผู้ไม่เวียนกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

คู่ที่ 4 คืออรหัตตมรรค อรหัตตผลหมายถึง ผู้บรรลุอรหันตตผลแล้ว

สงฆ์สาวกทั้ง 4 คู่ 8 บุคคลดังกล่าวข้างต้น เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ปราศจากวิบัติ 4 ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องอนุวาทาธิกรณ์หรือถูกโจทย์ฟ้องคือ

1. ศีลวิบัติคือ ความเสียหายเกี่ยวกับศีล

2. อาจารวิบัติคือ ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ

3. ทิฏฐิวิบัติคือ ความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น

4. อาชีววิบัติคือ ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ

ดังนั้น สงฆ์สาวกซึ่งมี 4 คู่ 8 บุคคลนี้จึงเป็นเนื้อนาบุญของโลก

แต่ยังมีสงฆ์อีกประเภทหนึ่งที่ยังเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ยังมิได้บรรลุคุณวิเศษอันใดเป็นเพียงผู้เปลี่ยนเพศ และภาวะจากคฤหัสถ์มาถือเพศบรรพชิต ด้วยการนุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด และถือศีล 227 ข้อสำหรับนักบวชชายหรือที่เรียกว่า ภิกษุ และ 311 ข้อสำหรับนักบวชหญิงหรือที่เรียกว่า ภิกษุณี

สงฆ์สาวกประเภทนี้เรียกว่า สมมติสงฆ์ คือเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเพียงรูปแบบมิได้เป็นโดยคุณธรรม ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งใน 227 ข้อได้ เนื่องจากสติหรือแม้กระทั่งล่วงละเมิดด้วยเจตนาเนื่องจากถูกอกุศลมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลภและโมหะครอบงำ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวพระเสพยาบ้า ดื่มสุราเมรัยไปจนถึงต้องอาบัติหนัก เช่น เสพเมถุน และยักยอกทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งมีให้รู้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่การกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดศีลและขัดต่อพระบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวด 4 มาตรา 25 และ 26

แต่ภิกษุที่ล่วงละเมิดพระวินัย และขัดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ก็ยังอยู่ในสมณเพศได้ ทั้งที่บางรูปยังได้รับการยกย่องจากประชาชน และวงการสงฆ์อีกด้วย และที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่เข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างถ่องแท้ เข้าวัดเพื่อหาที่พึ่งทางใจโดยอาศัยวัตถุ เช่น เพื่อหาวัตถุมงคลบูชาเพื่อหวังให้เกิดลาภผล และรอดพ้นจากภยันตราย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงมุ่งเน้นที่อามิสบูชาคือบูชาด้วยวัตถุโดยการถวายเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังทรัพย์ และกำลังศรัทธาของตน การเข้าวัดในลักษณะนี้เองเป็นเหตุให้พระภิกษุหลายรูปสนองศรัทธาด้วยการตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ดัง ปลุกเสกวัตถุมงคล และลงเลขสักยันต์จนเป็นที่นับถือ และเป็นแหล่งที่มาของลาภสักการะในที่สุดก็ยึดติด และมอมเมาประชาชนด้วยการสอนที่ผิดแผกไปจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าข่ายวิบัติ 4 ครบครัน และเมื่อมีผู้ยื่นโจทย์ฟ้องก็อาศัยเส้นสายการวิ่งเต้นเข้าหาพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีอำนาจในการปกครองสงฆ์เป็นเครื่องปกป้องคุ้มกันให้พ้นผิด

เมื่อวิบัติ 4 เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบก็กลายเป็นสงฆ์พวกพ้อง และดำเนินการใดๆ กับสงฆ์ซึ่งกระทำผิดคิดนอกลู่นอกทางไม่ได้ สุดท้ายก็จำต้องนิ่ง และหันหลังให้กับการแก้ไข และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของความเสื่อมในวงการสงฆ์

2. ในส่วนของสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงฆ์ในฝ่ายปกครองเริ่มตั้งแต่ มส.ลงมาถึงเจ้าคณะตำบลซึ่งเป็นหน่วยย่อยต่ำสุดของฝ่ายปกครองมีอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ล่วงละเมิดพระวินัย จะด้วยเหตุไม่ต้องการจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเนื่องจากอายุมากแล้ว หรือจะด้วยถูกลาภสักการะครอบงำโดยการปรนเปรอ และเอาอกเอาใจจากสงฆ์ผู้ล่วงละเมิดพระวินัยก็แล้วแต่เหลือจะคาดเดา

การไม่ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามพระวินัย และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้เองคือจุดเสื่อมที่แท้จริงของวงการสงฆ์ได้

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ การปฏิรูปถ้าจะให้ได้ผล และแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ก็ควรจะเริ่มจากการบังคับใช้กฎหมายให้เกื้อกูลต่อการรักษาพระวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวด 4 ที่ว่าด้วยนิคหกรรม และการสละสมณเพศได้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็จะแก้ปัญหาพฤติกรรมสงฆ์ที่เป็นอยู่ให้กลับมาอยู่ในพระธรรมวินัยได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น