xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล้างบาง “สสส.” แค่ปัดกวาดหรืออิทธิพล “บ.เหล้า-บุหรี่” คำตอบอยู่ “บอร์ดชุดใหม่” ของ “คสช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คำสั่งฟ้าผ่าเขย่าวงการสาธารณสุขอีกระลอก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557ปลดคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) จำนวน 7 คน

เมื่อดูจากรายชื่อแล้ว ล้วนแต่เป็นคนที่มีรายชื่ออยู่ในมูลนิธิที่เข้ามาขอรับทุนทั้งสิ้น!!

โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ซึ่งเป็นรองประธานกองทุน สสส.คนที่สองนั้น ยังเป็นกรรมการในมูลนิธิมิตรภาพบำบัด มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิ 14 ตุลา และมูลนิธิสร้างสุขไทย โดยงบที่มูลนิธิทั้ง 6 ได้รับไปตั้งแต่ปี 2550-2557 รวมแล้วเป็นเงินกว่า 165ล้านบาท

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกรรมการมูลนิธิวิถีสุข รับงบจาก สสส.ปี 2550-2557 ถึง 631 ล้านบาท

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการพัฒนาชุมชน เป็นกรรมการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รับงบจาก สสส.ปี2550-2557 รวมกว่า 122 ล้านบาท

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการด้านการสื่อสารมวลชน เป็นกรรมการมูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย รับงบจาก สสส.ปี 2550-2557 รวมกว่า 10 ล้านบาท
นายสมพร ใช้บางยาง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการกีฬา เป็นกรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ รับงบ สสส.ปี 2550-2557 รวม 285ล้านบาท

รศ.ประภาภัทร นิยม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านศิลปะวัฒนธรรม เป็นกรรมการสถาบันอาศรมศิลป์ รับงบ สสส.ปี 2550-2557 รวม 98 ล้านบาท

นายวิเชียร พงศธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการบริหาร เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม รวม 136 ล้านบาท

เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่จะล้างบางกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีงบประมาณมหาศาล และไม่ต้องผ่านระบบงบประมาณปกติ อย่าง “สสส.”

โดยก่อนหน้านั้น “บิ๊กตู่”ได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.)เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. ซึ่งผลการตรวจสอบที่รายงานต่อนายกฯ นั้น พบว่า การใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน มีการเบิกจ่ายให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ก็ส่งหนังสือถึงนายกฯ เนื่องจากพบผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผู้ที่มีตำแหน่งในมูลนิธิที่เข้ามาขอรับทุน เป็นกรรมการในกองทุนเสียเอง จึงเสนอว่า อาจจะต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ.สสส. ให้ผู้ที่จะเป็นกรรมการกองทุนต้องไม่มีความเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาดกับหน่วยงานที่ขอรับทุนจัดทำโครงการ

หลังจากนั้นนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาเคลียร์การใช้งบประมาณของ สสส.ให้ถูกต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุน สสส.และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.สสส. ซึ่งมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีความเห็นสรุปว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและธรรมาภิบาลของ สสส. เป็นเรื่องหลักที่ต้องมีการแก้ไข

จากข้อเสนอดังกล่าว นพ.ปิยะสกล จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุดคือ คณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มี นพ.เสรี เป็นประธานเช่นเดิม โดยได้ข้อสรุปว่าต้องมีการปรับปรุงระเบียบของ สสส.จำนวน 26 ฉบับ และได้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าไปยังที่ประชุมบอร์ด สสส. ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธาน โดยบอร์ด สสส.ได้เห็นชอบให้แก้ระเบียบตามนั้น

โดยกรณี“การมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการ” ให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2553และจรรยาบรรณคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดไม่ให้คณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กรรมการบริหารแผนฯ กรรมการประเมินผลฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เสนอขอรับทุน อาทิ เป็นกรรมการ ผู้บริหารองค์กรที่รับทุนจาก สสส. ยกเว้นเป็นองค์กรภาครัฐ เช่น มีตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เป็นต้น โดยมีข้อสรุปว่า ให้เวลาคณะกรรมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบภายใน90 วัน ​หลังจากมีการแก้ระเบียบแล้วเสร็จ

แต่จากการมีคำสั่งปลดกรรมการ สสส.ทั้ง 7 คน ทำให้เกิดความกังขาขึ้นว่าเหตุใด ต้องมีคำสั่งนี้ออกมา เพราะ สสส.ก็อยู่ในช่วงกำลังจัดระเบียบ กวาดทิ้งความไม่ชัดเจนต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไขระเบียบ และอยู่ในช่วงที่กรรมการที่มีตำแหน่งทับซ้อนกำลังตัดสินใจเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งกรรมการหลายคนก็ตั้งใจที่จะลาออกอยู่ก่อนแล้ว โดย นพ.วิชัย ระบุว่า ไม่ทราบถึงเหตุผลในการปลด แต่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีการปลดบอร์ด ซึ่ง สสส.ได้มีการชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ระเบียบต่าง ๆ และมีการแก้ไขในประเด็นที่ คตร. ให้มีการแก้ไขแล้ว จึงไม่ทราบว่าทำไมต้องมีการปลด

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วผู้ถูกคำสั่งย้ายหรือปลดตามมาตรา 44 จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทุจริต แต่การมีตำแหน่งทับซ้อนในหน่วยงานให้ทุนและขอรับทุน ก็ยังไม่มีการออกมาพูดสักครั้งว่าเป็นเรื่องของการทุจริต ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า การปลดนั้นไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไป เพียงแต่ว่าถ้ายังอยู่ตรงนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงต้องออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้ไม่ขัดขวางการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังถือเป็นการให้โอกาสผู้ที่อยู่ในรายชื่อได้มีการเตรียมตัว เตรียมหลักฐานข้อมูลด้วย

งานนี้หลายฝ่ายจึงมองว่า อาจเป็นความพยายามที่จะล้ม สสส. ซึ่งมีบริษัทเหล้าและบุหรี่อยู่เบื้องหลังหรือไม่ โดยเฟซบุ๊กของมูลนิธิชีววิถีหรือBiothai ระบุว่า ให้จับตาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ โดยคาดว่าจะมาจากภาคเอกชนหรือบุคคลที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล้า บุหรี่ และกลุ่มแพทย์พาณิชย์ยอมรับ โดยกังวลว่า สสส.ในยุคของ คสช.จะไม่สามารถเดินหน้าผลักดันกฎหมาย มาตรการ และโครงการที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเหล้า บุหรี่ได้ เกิดการตัดงบภาคประชาสังคม และ สสส.กลายเป็นหน่วยงานในกำกับของราชการและกลุ่มทุนที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐโดยสมบูรณ์

สอดคล้องกับ นพ.วิชัย ที่ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่า มีกระบวนการล้มล้าง สสส.เพราะชนวนเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ การร่าง พ.ร.บ.เหล้า และบุหรี่ ทั้งที่โครงการ สสส.หลายอย่าง ที่ผ่านมาเกิดผลลัพธ์ที่ดี มีข้อมูลชัดเจน ขบวนการนี้มีบริษัทเหล้า บุหรี่ต่างชาติอยู่เบื้องหลังเพราะมองว่ากองทุน สสส.เป็นศัตรูที่จะขัดผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม มองว่าอนาคตของ สสส.หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าอำนาจรัฐที่จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างบริษัทบุหรี่ เหล้า กับผลประโยชน์ของประชาชนว่าจะเอนเอียงไปในทิศทางใด

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) กล่าวว่า การปลดบอร์ด สสส. ไม่ได้มีมูลเหตุจากบริษัทเหล้า หรือ บุหรี่อย่างที่พูดกันแน่นอน แต่สาเหตุหลักมาจากการอนุมัติงบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบพบหลักฐานชัดเจน ซึ่งตนเชื่อว่าโครงการของ สสส.เป็นโครงการที่ดี ไม่มีใครปฏิเสธ แต่หลายโครงการที่ดีของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้โครงการดีแต่ก็มีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นได้

ปฏิบัติการปลดบอร์ด สสส.ในครั้งนี้ จะมีอิทธิพลกลุ่มทุนเหล้า บุหรี่อยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่นั้น คงต้องดูกันยาวๆ โดยเฉพาะการเลือกกรรมการ สสส.ใหม่ ซึ่งขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเตรียมจับตาการสรรหาบอร์ดใหม่อย่างใกล้ชิด

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาการนั่งเป็นกรรมการหลายหน่วยงาน ซึ่งมีความทับซ้อนกันอยู่นั้น ถึงเวลาที่ต้องสะสาง ซึ่งเรื่องนี้ประเด็นสำคัญอาจเป็นเพราะตัวกฎหมายที่เขียนไม่รัดกุม ขณะที่คนทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพในอดีตมีจำนวนน้อย ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จึงถูกเชิญมาเป็นกรรมการกองทุน ขณะเดียวกันก็ยังถูกเชิญไปเป็นกรรมการมูลนิธิ หน่วยงานต่างๆ ที่จะมาขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมสุขภาพด้วย หากมีการแก้ระเบียบให้ชัดเจนก็สามารถแก้ปัญหาได้

และไม่เพียงแต่ สสส.หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่องค์กรตระกูล ส.อื่นๆ ด้วย ถึงเวลาที่ต้องยกเครื่องปฏิรูปเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่สลับสับเปลี่ยนแต่กลุ่มก๊วนคนหน้าเดิมๆ ต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เสียที

เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเป็นการตัดทางหรือตัดโอกาส “คนดี” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคม เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ เครือข่ายต่างๆ มากมาย และมีความสามารถมากพอ ที่พร้อมจะเข้ามาสานต่อขับเคลื่อนงานเหล่านี้…เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น