เอ็นจีโอจับตาคำสั่งหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ปลด 7 ผู้ทรงคุณวุฒิสายประชาสังคมใน “บอร์ด สสส.” หวั่นนับหนึ่งลอยแพภาคประชาสังคม เปิดทาง “กลุ่มประชารัฐ” เกรงรัฐให้ความสำคัญเน้นเฉพาะ “กลุ่มข้าราชการ” และ “กลุ่มทุน” ปิดฉากบทบาท สสส. ต่อขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่มีบทบาทในสังคมมายาวนาน 15 ปีเต็ม ชี้ระวัง! กลุ่มทุนเหล้า บุหรี่ อาหาร หรือแพทย์พาณิชย์ มีบทบาทเพิ่ม “หมอวิชัย-เอ็นนู” คาดปมนั่งมูลนิธิฯ รับเงินช่วยเหลือจาก สสส.ทำ คสช.เข้าใจผิด
วันนี้ (6 ม.ค.) ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 หนึ่งในนั้นมีการปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) 7 คน
มีรายงานว่า ในเฟซบุ๊กของมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) หนึ่งในเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความในนามของ BIOTHAI มีใจความว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ปลดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.7 คนออกจากตำแหน่ง โดยกรรมการผู้ทรงคุณวฒิที่ถูกปลดออกทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคม เช่น นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน นายสงกรานต์ ภาคโชคดี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายสมพร ใช้บางยาง รองศาสตราจารย์ประภัทร นิยม รวมทั้งนายวิเชียร พงศธร ซึ่งเป็นภาคเอกชน
การปลดคณะกรรมการภาคประชาสังคมออกจาก สสส. ตอกย้ำว่ารัฐบาลทหารไม่ต้องการภาคประชาสังคม/ภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทในการ “ปฏิรูป” แต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งกรรมการ “ประชารัฐ” ซึ่งมีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยเฉพาะ “ข้าราชการ” และ “กลุ่มทุน” เท่านั้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศ นี่เป็นการปิดฉากบทบาทของ สสส.ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่มีบทบาทในสังคมมายาวนาน 15 ปีเต็ม”
พร้อมกับการโพสต์รูปภาพมีข้อความว่า“ ใช้มาตรา 44 ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน จุดจบ สสส.” พร้อมไปกับข้อความอธิบายว่า โครงสร้างคณะกรรมการตามกฎหมาย มี กรรมการภาครัฐ 11 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน กรรมการเลขานุการ 1 คน และข้อความว่า จับตาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ คาดว่าจะมาจากภาคเอกชนหรือบุคคลที่อุตสาหกรรมเหล้า บุหรี่ และกลุ่มแพทย์พาณิชย์ “ยอมรับ”
“ โฉมหน้าใหม่ของ สสส.ในยุค คสช./อนาคต”
- การผลักดันกฎหมาย/มาตรการ/โครงการที่กระทบกับกลุ่มทุนเหล้า บุหรี่ อาหาร หรือแพทย์พาณิชย์ จะทำไม่ได้
- ตัดการสนับสนุนงบประมาณภาคประชาสังคม
- สสส.จะกลายเป็นหน่วยงานในกำกับของราชการและกลุ่มทุนที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐโดยสมบูรณ์
มีรายงานว่า เอ็นจีโอกลุ่มนี้เคยตั้งข้อสังเกตว่ากรณีรัฐบาลเพิ่งประกาศรายชื่อคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่เรียกว่า “ประชารัฐ” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้โดยมีคณะกรรมการในการขับเคลื่อนรวม 12 ชุด มีจำนวนกรรมการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 200 คน โดยในจำนวนนั้นมาจากภาคเอกชนถึง 73% และหากรวมกรรมการจากภาคเอกชนและภาครัฐแล้วจะมีสัดส่วนรวมกันถึง 95% โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ไทยเบฟ เข้าไปมีบทบาทในกรรมการชุดต่างๆ เกือบทุกชุด
“เครือเจริญโภคภัณฑ์” ซึ่งถูกสังคมจับตาในฐานะกลุ่มทุนผูกขาดในระบบเกษตรและอาหาร และทำธุรกิจครอบคลุมสาขาต่างๆอย่างกว้างขวาง มีตัวแทนในคณะกรรมการทุกชุดที่รัฐบาลนี้แต่งตั้งขึ้นครบทั้ง 12 คณะ โดยมีถึง 4 คณะ คือ 1) คณะกรรมการด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ 2) ด้านการส่งเสริมการส่งออกและด้านการลงทุนในต่างประเทศ 3) ด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และ4) ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ มีตัวแทนจากเครือบริษัทนี้เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการถึงคณะละ 2 คน
“สังคมกำลังสงสัยว่าวาทกรรม “ประชารัฐ” นอกจากเป็นวาทกรรมกลวงเปล่าที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ตามที่ประกาศแล้ว ยังอาจก่อผลในทางตรงกันข้ามมากขึ้นด้วย”เพจดังกล่าวระบุไว้
ด้าน นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองประธาน สสส.คนที่ 2 กล่าวยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่ตนถูกปลด แต่คาดคะเนจากรายชื่อ 7 คณะกรรมการที่ถูกปลดล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งหมด 9 คน ที่มาจากการสรรหา และแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมายของสสส. ที่ได้จากหลายสาขา
ทั้งนี้ เชื่อว่าการถูกปลดน่าจะมาจากบอร์ดทั้ง 7 คน เคยได้รับเงินจากกองทุน สสส.ในนามของมูลนิธิ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด บุคคลเหล่านี้มีมูลนิธิมาก่อนมานั่งเป็นบอร์ด สสส. ถือว่าไม่ผิดระเบียบและกฎหมายของ สสส.ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบโดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม เป็นประธาน ซึ่งผลตรวจสอบก็ออกมาว่าไม่มีความผิด ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ก็นำไปสู่การแก้ระเบียบของ สสส.20 ฉบับ แล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 58 โดยมีการแก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมการตรวจสอบฯ เสนอมาทั้งหมดโดยเพิ่มกรอบการทำงานให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะนี้รอ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานบอร์ด สสส.ลงนามก็จะมีผลบังคับใช้ทันที
“หลายคนไม่สบายใจถึงขั้นจะลาออก เนื่องจากดูทั้งมูลนิธิและเป็นบอร์ด สสส. ที่ประชุมเคยมีมติให้ตัดสินใจใน 3 เดือน บางคนก็บอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะทำให้เสียชื่อเสียง แต่เมื่อมาเจอคำสั่ง คสช.ก็ถือว่าจบการทำงานเท่านี้ หลังจากนี้บอร์ด สสส.ที่เหลือ 2 คนคือ นางทิชา ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม และนายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ก็คงต้องทำหน้าที่ต่อไป”
อดีตรองประธานบอร์ด สสส.กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ครั้งนี้ยังเปิดช่องให้ สสส.ทำงานซึ่งจะมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 15 มกราคมนี้ คาดว่าจะมีการจะบรรจุวาระสรรหาบอร์ด สสส.ชุดใหม่ คาดว่าภายใน 1 เดือน หรือไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีการกรรมการบอร์ดชุดใหม่มาแทน จากนี้จะต้องจับตาว่ากระบวนการสรรหากรรมการบอร์ด สสส.จะถูกแทรกแซงหรือไม่
ทั้งนี้ หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นั้น ที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา เพิ่งจะมีปัญหาเมื่อไม่นานมานี้ มีการระบุว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน กระทั่งมีขบวนการคิดที่จะล้มเลิก สสส.แต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งเข้าใจว่าขบวนการนี้มีบริษัทเหล้า บุหรี่ต่างชาติ โรงงานยาสูบอยู่เบื้องหลังเพราะมองว่ากองทุน สสส.เป็นศัตรูที่จะขัดผลประโยชน์
“มองว่าอนาคตของ สสส.หลังจากนี้ ก็ต้องดูว่า อำนาจรัฐที่จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างบริษัทบุหรี่ เหล้ากับผลประโยชน์ของประชาชนว่าจะเอนเอียงไปในทิศทางใด” นายแพทย์วิชัยระบุ
ด้านนายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ หนึ่งในกรรมการ สสส.กล่าวว่า เท่าที่เดาน่าจะเป็นเพราะตนเป็นกรรมการในมูลนิธิอื่นๆ อีก 4-5 มูลนิธิ และบางมูลนิธิก็อาจจะเข้าไปรับเงินสนับสนุนจาก สสส.