ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งแถลงผลงานผ่านพ้นไป ฉายให้เห็นภาพปีหน้า 2559 ว่าชาวประชาจะมีความหวังอะไร ฟังจากน้ำเสียงภารกิจปฏิรูปในทุกด้านยัง เพิ่ง อยู่ในช่วงตั้งไข่ เดินเตาะแตะ รากฐานประชาธิปไตยจะยังไม่เห็นการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ รัฐธรรมนูญไม่มีพิมพ์เขียว ขณะที่ด้านเศรษฐกิจแม้ท่องเที่ยวจะอู้ฟู่ชูโรงแต่ก็ต้องรอการขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์กระตุ้นการลงทุน และหวังใช้พลัง “ประชารัฐ” สามประสาน ราษฎร์-รัฐ-เอกชน ลดขัดแย้ง
จับความจากถ้อยคำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นได้ว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาและเวลาที่เหลืออยู่อีก 1 ปี 6 เดือน เป็นช่วงของการวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ไม่มีอะไรที่บอกได้เป็นรูปธรรมว่าจะยังไง เรื่องประชาธิปไตยที่ผูกอยู่กับการเลือกตั้งและการวางกติกาโดยการทำคลอดรัฐธรรมนูญก็ยังไม่แจ่มชัด โยนให้เป็นเรื่องที่ “แม่น้ำ 5 สาย” จะต้องไปทำไปเชื่อมโยงกัน
“....วันนี้ก็ทำตามการปฏิรูปยุทธศาสตร์ 20 ปี และให้มีการเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจทุกๆ 5 ปีไปจนถึงปี 2579 ทั้งหมด 20 แผน รัฐบาลใหม่เข้ามาหากทำตามแผนนี้ก็จะเกิดความต่อเนื่อง ดูแลคน 70 ล้านคนได้ไม่ใช่ดูแลแค่คนในพรรคหรือตามคะแนนเสียงเลือกตั้ง....”
นั่นคือคำกล่าวตอนหนึ่งในการแถลงผลงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แขวะนักการเมืองพอหอมปากหอมคอ แต่ทว่าการปฏิรูปที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่านั้นก็ยังเป็นเพียงลมๆ อย่างเรื่องที่ว่าทำให้การเมือง 20 ปีข้างหน้าแข็งแรง ก็หามีความชัดเจนไม่ว่าทำอย่างไรจึงจะแข็งแรง
สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทำให้เกิดรัฐประหารนั้น จะล้มหรือสำเร็จหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าขึ้นอยู่กับประชารัฐ “การจะล้มหรือไม่ล้ม จะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อยู่ที่คำว่าประชารัฐ ต้องร่วมมือกันทำงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ข้าราชการ ประชาชน ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ต้องรู้ด้วยกันว่าจะทำอะไร และจะเชื่อมโยงกันอย่างไร"
“.....เหลือเวลาอีก 1 ปี 6 เดือน อยากให้ทุกอย่างมันเดินหน้าไปให้ได้ มีแผนปฏิรูป มีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ มีการเลือกตั้งที่ปลอดภัย ประเทศชาติเข้มแข็ง มีรัฐบาลที่เป็นธรรมาภิบาล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันแถลงผลงาน 25 ธันวาคมที่ผ่านมา
และวาดหวังว่าปีหน้า จะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเดินหน้าร่วมกันต่อไปในอนาคต ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา กระบวนการยุติธรรม กฎหมายและเรื่องที่จะต้องเป็นวาระในการแก้ไข เช่น ไอเคโอ ไอยูยู การทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกป่า การจัดสรรที่ดิน ทั้งหมดต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด ..... ขอให้ปีใหม่เป็นปีแห่งการร่วมมือ เป็นปีแห่งการร่วมรักสามัคคีไม่ขัดแย้ง เป็นปีแห่งการปฏิรูปอย่างแท้จริง เป็นปีแห่งการเริ่มต้นปฏิรูป เหลือเพียงอีก 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นไม่มีโอกาสอีกแล้ว....”
ขณะที่การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชูธงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้าที่จะมีรัฐประหารเกิดขึ้นนั้น ฟังน้ำเสียงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้ว คงได้แต่เฝ้าคอยเฝ้าหวังกันต่อไปตลอดทั้งปีหน้า 2559 และเผลอๆ อาจเป็นชาติหน้าเลยก็ว่าได้
พล.อ.ประวิตร บอกว่า ตำรวจเองขณะนี้เขาก็กำลังปฏิรูป ซึ่งอยู่ในระยะที่ 1 เขากำลังดูว่าจะทำงานเชื่อมโยงกับทางศาล อัยการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้อย่างไร เขากำลังปฏิรูปอยู่ ไม่ใช่เอะอะก็จะปรับโครงสร้าง มันไม่ใช่ แต่จะทำอย่างไรให้ตำรวจเขามีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง มียุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม ในการที่จะดูแลประชาชน หรือสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ย้ำว่าตำรวจกำลังทำอยู่ ไม่ได้อยู่เฉยๆ กำลังปฏิรูปในขั้นที่ 1 เพื่อจะส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
พล.อ.ประวิตร การันตีขนาดนี้แล้วก็คงต้องเชื่อเขาหน่อย โปรดรอคอยการปฏิรูปตำรวจขั้นที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม และต่อๆ ไป แบบสโลว์ไลฟ์ ไม่ต้องรีบร้อนเพราะยังไม่เห็นผลในเร็ววันนี้แน่ๆ และตอนนี้พล.อ.ประวิตร ยังขอให้พากันอยู่เฉยๆ “.... ตอนนี้เป็นเวลาของ คสช. และรัฐบาลที่จะทำงาน เพื่ออนาคตอีก 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็กำลังมองไปข้างหน้า....”
งานด้านการเมือง ด้านความมั่นคง ในปีหน้า 2559 ดูแล้วก็คงเป็นอย่างที่ว่าไว้ข้างต้นคือคืบหน้าไปอย่างช้าๆๆๆ
แต่สำหรับงานด้านสังคม สาธารณสุข เรื่องที่น่าจับตาว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในปี 2559 ก็คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือชื่อเดิมว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักคือ บัตรทอง ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนข้ามปี
เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นพ้องต้องกันว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้จะดีได้รับการยกย่องและเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศ แต่ขณะนี้มีแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของจีดีพี และมาจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจะปล่อยต่อไปไม่ได้ “ประชารัฐ” ต้องมาร่วมคิดร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ใครจะช่วยจ่ายช่วยเติมเงินเข้าระบบ
“ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง ทุกคนบอกว่าถ้าพูดเรื่องให้ประชาชนร่วมจ่ายจะถูกตี แต่ตนต้องยอมให้ถูกตี ถ้าไม่มีใครกล้าที่จะปรับปรุงระบบ จะต้องปล่อยให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเจ๊ง เรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วยต้องเสนอแนวทางมาให้ว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าบอกว่าประชารัฐร่วมกันแล้วไม่ดี ต้องบอกมาว่าที่ดีต้องทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร” นพ.ปิยะสกล อาสาเล่นบทลุยเพื่อเปลี่ยน
โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีข้อโต้แย้งมาโดยตลอดเมื่อมีการเปิดประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย โดยเฉพาะเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสุขภาพ ที่มองว่าเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังประชาชน ขณะที่คณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรฯ ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สธ. เพื่อศึกษาแนวทางจัดสรรงบประมาณและสร้างความยั่งยืนของระบบในระยะยาวตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นห่วงเรื่องงบโครงการเพิ่มขึ้นทุกปี ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
ถ้าจะโยนให้ประชาชนร่วมจ่ายในภาวะเศรษฐกิจซบเซาโงหัวไม่ขึ้นเช่นนี้ คงเกิดเสียงคัดค้านดังกระหึ่มแน่ เพราะถ้ามองไปยังปีหน้า 2559 ยังไม่มีสัญญาณเศรษฐกิจจะกระเตื้องเฟื่องฟูขึ้นมา แม้ว่าราคาพลังงานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตจะลดต่ำลงมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง แต่ทว่าราคาข้าวแกง ข้าวของเครื่องใช้ ค่าโดยสาร กลับยังสูงลอยค้างอยู่เหมือนเมื่อตอนที่ราคาน้ำมันแพงหูดับ
และกล่าวสำหรับเศรษฐกิจปีหน้า คงต้องมองไปยัง 4 ขาสำคัญ คือ การท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนภาครัฐ และอีกขาหนึ่งที่รัฐบาลต้องการอุ้มชูขึ้นมาก็คือ เศรษฐกิจฐานราก
ขาท่องเที่ยวนั้น ปีหน้ายังมีอนาคตรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อจากปีนี้ ซึ่งจากถ้อยแถลงของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ด้านวัฒนธรรม ท่องเที่ยว กีฬา ระบุว่า ปี 2558 การท่องเที่ยว เป็นไปตามเป้าที่คาดไว้
สามารถนำเงินเข้าประเทศได้ถึง 2.2 ล้านล้าน หรือคิดเป็น 11% ของจีดีพี และมากกว่าปีที่แล้ว 23% มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 29.6 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้ว 28%
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคปัญหาด้านการท่องเที่ยวที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วง ก็คือ เรื่องมาตรฐานการบิน ถึงแม้ว่าล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA (เอียซ่า) ได้แจ้งผลการตรวจสอบมาตรฐานสายการบินของประเทศไทย ว่าได้รอดพ้นจากการถูกแบน หรือสั่งห้ามไม่ให้สายการบินของไทยบินเข้าสหภาพยุโรป แต่ปัญหาก่อนหน้านี้ที่สายการบินของไทยได้รับผลกระทบจากการประเมินผลของกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ลดระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจาก Category 1 เป็น Category 2 ยังต้องติดตามแก้ไขต่อไป
ส่วนเรื่องการส่งออกนั้น ต้องบอกว่า ยังโงหัวไม่ขึ้นตลอดทั้งปี มิหนำซ้ำประเทศไทย ยังแก้ปัญหาไม่ตกในกรณีที่สหภาพยุโรป หรืออียู ให้ใบเหลืองไทยจากปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทำให้เสี่ยงต่อการเจอมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากไทยในกลุ่มอียู ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่โดยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าประมงในแต่ละปีประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน การจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking In Persons (TIP) Report) ประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 สหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำสุด คือ Tier 3 เป็นปีที่ 2 จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือทำลายเศรษฐกิจหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และรณรงค์ไม่ให้ประเทศอื่นซื้อสินค้าของประเทศในกลุ่ม Tier 3 ซึ่งหากประเมินมูลค่าความเสียหายจากการกีดกันสินค้าส่งออกของประเทศไทย คาดว่าอาจได้รับความเสียหายประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการประมง อาหารทะเล อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารที่แปรรูปจากอาหารทะเล รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เนื่องจากอาจถูกกล่าวหาว่า สินค้าดังกล่าวมาจากการค้ามนุษย์
กล่าวได้ว่า ทั้งเรื่องมาตรฐานการบิน ใบเหลืองจากอียู และปัญหาค้ามนุษย์ ล้วนเป็นงานหินในปีหน้า 2559 ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไขให้สำเร็จลุล่วง
ส่วนการลงทุนภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีเมกะโปรเจ็กต์ที่เตรียมประมูลในปี 2559 เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งแผนที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลุกเร้าการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการ ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 เพื่อขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มี 3 แผนงานหลัก ประกอบด้วย
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านถนนและราง เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนกับราง รายงาน ครม.วันที่ 20 ตุลาคม 2558 2. แผนปฏิบัติการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 19 + 1 โครงการ ดำเนินการปี 2559-2560 รายงาน ครม.วันที่ 27 ตุลาคม 2558 และ 3. แผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคมปี 2559 ซึ่งจะมี 20 โครงการ และโครงการตามงบประมาณปี 2559 โดยรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558
ตามแผนงานเบื้องต้น มีการปรับตารางมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาทใหม่ เนื่องจากต้องทำการปรับปรุงและทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ตลอดทั้งเส้นทางเพราะข้อมูลบางส่วนไม่ทันสมัย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ส่วนการเตรียมประกวดราคาจะเริ่มทำคู่ขนานไปเช่นการทบทวนแบบ คาดเปิดประกวดราคาในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2559
ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท มีการปรับแนวท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำ และปรับแนวที่ชาวบ้านร้องเรียน โดยจะเสนอ EIA เพิ่มเติม คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ต้นปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.), สายพัทยา-มาบตาพุด 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอประกาศเป็นทางการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยประกวดราคาไปแล้ว
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2558-2559 โดยขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการ มี รมว.กระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในส่วนกระทรวงคมนาคมได้จัดทำ Action Plan ในปี 2559 โดยมีโครงการรวม 20 โครงการ วงเงินกว่า 1.77 ล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง, รถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร เส้นทาง 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,004 ล้านบาท 2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท 3. ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท 4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290 ล้านบาท 5. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท
รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร 1. ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย, แก่งคอย-มาบตาพุด วงเงิน 369,148 ล้านบาท 2. ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงิน 449,473 ล้านบาท 3. ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท 4. ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท
รถไฟฟ้า 4 สาย 1. สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงิน 110,116 ล้านบาท 2. สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 56,690 ล้านบาท 3. สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท 4. สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,157 ล้านบาท 5. สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,003 ล้านบาท
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 49,476 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง A วงเงิน 1,864 ล้านบาท 2. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 วงเงิน 2,031 ล้านบาท
หากแต่ละโครงการสามารถเดินหน้าไปได้ตามแผน ต้องบอกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ธรรมดาจริงๆ แต่อย่างน้อยๆ 14 โครงการจะเร่งการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพีฟาสต์แทร็ก
“เรื่องของรถไฟ จำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะต้องให้เกิดความคุ้มค่า เพราะจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ในการมีข้อสัญญากับทางประเทศจีน สำหรับลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยในปี 2559 ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อเส้นทางทั้งสองเส้นซึ่งตัดในแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตกแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมาย
แต่ที่ลืมไม่ได้และยังเป็นปัญหาใหญ่ก็คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะต้องรอการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ที่ยังดึงดันกันอยู่ในหลายประเด็น
อย่างไรก็ตาม โครงการใหญ่กลุ่มที่จะได้ประโยชน์หลักๆ ก็คือกลุ่มทุนใหญ่ทั้งนั้น ประชาชนตาดำๆ ต้องรอโครงการเศรษฐกิจฐานราก ที่พล.อ.ประยุทธ์ ควง นายสมคิด คิกออฟใหญ่โต และถือฤกษ์ปี 2559 ลุยเต็มสูบ โดยงานนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ที่เป็นหัวหอก ได้ร่างแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็งปี 2559 และแผนงานในการจัดทำงบประมาณปี 2560 เสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว โดยแผนงานที่สำคัญ เช่น
1.การสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจตามบริบทพื้นที่ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชนในมิติต่างๆ 336 ตำบล 2.สนับสนุนกระบวนการสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนพัฒนา/ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงระดับภาคและจังหวัด 1,100 ตำบล 3.บริหารจัดการและพัฒนาระบบการติดตาม เช่น การวิจัยการพัฒนานวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ และ 4.การเชื่อมโยงเครือข่ายและประสานงานการพัฒนา โดย พอช.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีตำบลที่มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนจำนวน 1,100 ตำบล และตำบลรูปธรรมที่มีการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเพื่อสังคมอีก 500 ตำบลทั่วประเทศ
ส่วนแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่จะเริ่มดำเนินงานตามงบประมาณปี 2560 ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากร 2.สนับสนุนรูปธรรมเศรษฐกิจหลักหรือสัมมาชีพชุมชน (ตำบลละ 2 แสนบาท) 3.เชื่อมโยงประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อสังคม 4.สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจตามกลุ่มการผลิตหรือ cluster เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์, ประมงพื้นบ้าน, เกษตรปลอดสารพิษ, กลุ่มยางพารา, เพิ่มพื้นป่า, ตลาดชุมชน, ท่องเที่ยววิถีชุมชน ฯลฯ รวมพื้นที่ตำบลที่จะดำเนินการทั่วประเทศ 1,600 ตำบล
นั่นเป็นแผนงานที่สวยหรู ส่วนจะสามารถดำเนินการได้กี่มากน้อยคงต้องรอติดตามกันต่อไป เพราะเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันหลายส่วนทั้ง รัฐ - ราษฎร์ - เอกชน ตามคอนเซ็ปต์ “ประชารัฐ”
ปี 2559 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตีปี๊บคึกคักรับศักราชใหม่ แต่ประชาชนตาดำๆ ทั่วไปต่างรู้ดีและสัมผัสได้ว่าจะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง