รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะรัฐบาลควรรับฟังความเห็นทูต เชื่อไร้วาระซ่อนเร้น ยอมรับความจริงสังคมยังไม่กล้าแสดงออกเต็มที่ ด้าน “วัชระ” ชี้ข้อต่างรัฐธรรมนูญ 50 ลั่นไม่รับร่าง ไม่เอา ส.ว. เลือกนายกฯ บอก “ประยุทธ์” เขียนเองยังดีกว่า “มีชัย” ขณะที่ “ราเมศ” จี้ “วิษณุ” เปิดแผนโหวตไม่ผ่านจะใช้ฉบับใด
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) และคณะทูต 22 ชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดกว้างช่วงโค้งสุดท้ายของการทำประชามติ ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรรับฟังข้อคิดเห็นของทูตทั้ง 22 ชาติ เพราะประเทศต่าง ๆ ที่รวมตัวกันแสดงทัศนะนี้ ต่างเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาตลอดและยาวนาน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เนื่องจากความเห็นนี้เป็นเหตุเป็นผลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่น่าจะมีวาระซ่อนเร้น หรือเบื้องหลังแอบแฝง เชื่อว่า เป็นเจตนาที่ดี ทั้งนี้ ตนได้รู้จักทูตหลายท่านเป็นการส่วนตัว บางท่านอยู่ในไทยมายาวนาน ย่อมมีความหวังดีต่อประเทศไทย เพราะฉะนั้นข้อเรียกร้องนี้ รัฐบาล และ คสช. สามารถปฏิบัติได้ เพราะข้อเสนอทุกอย่างไม่มีอะไรที่เกินเลย
นายองอาจ กล่าวว่า ขณะนี้แม้รัฐบาลจะพยายามบอกว่า มีการเปิดกว้างแล้ว แต่ คสช. และรัฐบาลก็ต้องยอมรับความจริง ว่า ในสังคมยังไม่กล้าแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพราะมีประกาศ คสช. และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ยังเป็นเครื่องมือปิดกั้นอยู่ จึงทำให้คนไม่อยากเสี่ยงออกความเห็น เพราะเขาไม่มั่นใจว่า ผู้มีอำนาจจะตีความการกระทำ และการแสดงออกนี้อย่างไรบ้าง ผมจึงมองว่า คสช. ยังไม่เปิดกว้างพอสมควร
ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า ต้องบอกความจริงอีกด้าน เพราะมีแต่คนโฆษณาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีเลิศประเสริฐศรีกว่ารัฐธรรมนูญอื่น ๆ ขอให้ประชาชนพิจารณา และนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาเปรียบเทียบในมาตรา 178 เดิมคือ มาตรา 190 วรรค 2 ที่ระบุว่า หนังสือสัญญาใดมีการเปลี่ยนแปลงสิทธินอกอาณาเขต ต้องออกพระราชบัญญัติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ นายมีชัย เขียนเพิ่มว่า รัฐสภาต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายในใน 60 วันนับจากรับเรื่อง หากไม่เสร็จถือว่าเห็นชอบ เขียนกฎหมายอย่างนี้ทำให้รัฐสภาเป็นตรายางเท่านั้น นอกจากนั้น ในมาตรา 48 ยังไปกำหนดว่าเบี้ยยังชีพคนชราต้องเป็นผู้ยากไร้เท่านั้น แตกต่างจากเดิมมาตรา 53 ใน รธน. ปี 50 ซึ่งกระทบต่อคนชรา 15 ล้านคนทั่วประเทศ และสิทธิในด้านสาธารณสุข ของมาตรา 47 และ 55 ที่กำหนดให้ทุกคนได้รับการบริการจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ นายมีชัย ตัดคำว่า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทิ้งไป ซึ่งจะทำให้มีปัญหากับการใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่โรงพยาบาลอาจให้ผู้ป่วยจ่ายเอง
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญปลอมนั้น นายวัชระ กล่าวว่า ตนเดินทางไปทั่วประเทศ ประชาชนบอกว่าแม้แต่ร่างจริงยังไม่ได้เห็นได้อ่านเลย จะให้ไปลงประชามติอย่างไร ตนจะไปลงประชามติไม่เห็นชอบ และไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง และหากไม่ผ่าน ก็เป็นสิทธิของ คสช. ในการร่างใหม่ ตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรีเขียนเอง ยังดีกว่าร่างของนายมีชัยแน่นอน เพราะขนาดการศึกษาฟรี 15 ปี นายกรัฐมนตรี ยังกล้าใช้มาตรา 44 ในขณะที่ร่างของนายมีชัย เรียนฟรี 12 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ อยากเตือนสติเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย มีอภินิหารอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อไปจะเหมือนกับการโฆษณาจีที 200 ตามที่มีนายหน้าค้าอำนาจออกมาโฆษณาวันละสามเวลา
ด้าน นายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่ทำประชามติว่า ขอให้ คสช. คำนึงถึงความเป็นธรรมของประชาชน และประเทศ ที่ต้องรู้ทิศทางบ้านเมืองว่าจะเดินอย่างไร หลังวันที่ 7 ส.ค. ไม่ควรปิดเป็นความลับ ขอเรียกร้องว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน ว่า ถ้าไม่ผ่านจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด รวมทั้งกรอบเวลาที่จะแก้ไขในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาล ผู้เกี่ยวข้อง เร่งรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็นตัวรัฐธรรมนูญเลย หากใช้วิธีการออกโต้แย้งแบบเดิมกับที่คนเห็นต่าง เวลาเพียงสองสัปดาห์ ไม่ทันที่ให้ประชาชนรับรู้ ก่อนลงประชามติแน่นอน