xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายนักวิชาการถก กกต. ชง กรธ.ให้โอกาสแก้ไขก่อนฟัน เพิ่มช่องแสดงออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพล หารือ “สมชัย” ความผิดประชามติเกี่ยวกับการแสดงออก ชี้ กม.ไม่ชัดเจนมีปัญหาตีความ จี้หนุนรณรงค์เสรี ปกป้องตามกรอบ กม. กกต.เตือน เอกสาร 7 เหตุผล ส่อผิด กม. เตรียมเสนอ กรธ.ให้โอกาสแก้ไขก่อนคิดดำเนินคดี หวังลดบรรยากาศตึงเครียด พร้อมเพิ่มช่องทางแสดงความเห็นผ่านทีวี ดึงกลุ่มอาจารย์-นศ.ร่วม ด้านเครือข่ายมีท่าทีพอใจ

วันนี้ (14 ก.ค.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองนำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าพบนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารกิจการงานเลือกตั้ง เพื่อหารือกรณีการกระทำผิดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติและการเพิ่มพื้นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายอนุสรณ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกเสียงประชามติมีความสำคัญในการวางรากฐานสังคมไทย แต่เนื้อหาของร่างมีความซับซ้อนต้องอาศัยการอธิบายเพิ่มเติม แต่ในช่วงที่กำลังจะทำประชามติการวิพากษ์วิจารณ์กลับถูกจำกัด ผู้เห็นต่างถูกจับกุม ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความลักลั่นไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ตีความกฎหมายแตกต่างกัน เช่น กรณีเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เจ้าหน้าที่ใน กทม.ตีความว่าไม่ผิดแต่ที่ อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลับชี้ว่าเอกสารเป็นเท็จไม่สามารถเผยแพร่ได้ หรือมีการพูดว่าการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผิดทั้งคู่ แต่กลับพบว่ากลุ่มที่โน้มน้าวรับร่างรัฐธรรมนูญสามารถใช้กลไกรัฐได้ ไม่พบว่ามีการจับกุม จับกุมเฉพาะกลุ่มที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งมีการดำเนินคดีแล้ว 113 คดี โดย 94 คดี เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าผิดประกาศ คสช. ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายประชามติ จึงขอเรียกร้อง กกต.ให้ส่งเสริมให้มีการรณรงค์ประชามติอย่างเสรี ให้มีการสนับสนุนการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นในพื้นที่สาธารณะ และปกป้องคุ้มครองผู้ที่รณรงค์ตามกรอบกฎหมาย

ด้านนายสมชัยกล่าวว่า กรณีการจับกุมนักศึกษาที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ตนได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โทรศัพท์มาสอบถามโดยตรงว่าเอกสารดังกล่าวไม่ผิด เพราะอยู่ในขั้นตอนที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องให้ความเห็นว่าเนื้อหาในเอกสารมีการบิดเบือนหรือไม่ อีกทั้งจากการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ กกต.ที่บ้านโป่งก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ส่วนตัวเคยยืนยันหลายครั้งแล้วว่าเอกสารดังกล่าวไม่ผิด โดยบ่ายวันนี้ (14 ก.ค.) ก็จะยืนยันความเห็นนี้ในการหารือกับ กรธ. ว่าคนที่มีเอกสารนี้ครอบครองหรือ เผยแพร่ก็ไม่มีความผิด แต่ถ้า กรธ.เห็นว่ามีความผิดก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้ หากจะส่งให้ กกต.ดำเนินการต้องยอมรับเรื่องกระบวนการพิจารณาของ กกต.ที่อาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ และถ้ามีข้อมูลใหม่ตนก็ขอสงวนความเห็นที่เคยบอกไว้ว่าไม่ผิด

ทั้งนี้ ในการหารือกับ กรธ.จะพิจารณาเอกสารหลายฉบับซึ่งรวมถึงเอกสารชื่อ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ส่วนตัวเห็นว่าผิดเพราะมีหลายข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า กรธ.เห็นตรงกันก็จะมีการพิจารณาเรื่องการดำเนินการ โดยกรธ.อาจจะแจ้งความเองหรือส่งเรื่องให้ กกต.ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอว่าควรมีการทำความเข้าใจกับกลุ่มที่จัดทำและเผยแพร่เอกสารเพื่อให้มีการปรับปรุงให้ถูกต้อง เพราะเป็นเด็กก็อาจจะใจร้อนดื้อดึงคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูก โดยไม่สนใจสิ่งที่ถูกต้องแท้จริงคืออะไร จึงอยากให้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้ชี้แนะทางที่ถูกต้องให้เด็ก เพื่อจะได้เคลื่อนไหวอย่างถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย

นายสมชัยยังชี้แจงกรณีที่กลุ่มอาจารย์ระบุว่ามีการดำเนินเกี่ยวกับการทำประชามติแล้ว 113 คดีว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นพบว่า 94 คดีเกี่ยวกับความมั่นคงมีคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายประชามติเพียง 19 คดีเท่านั้น จึงไม่ควรเหมารวมว่าทั้ง 113 คดีเป็นการทำผิดกฎหมายประชามติเพราะเป็นเรื่องที่น่าเกลียด เนื่องจากถ้าทำผิดประกาศ คสช. เช่น ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือหลังมีกฎหมายประชามติก็เป็นการทำผิดอยู่แล้ว จึงอยากขอให้ให้ความเป็นธรรมแก่ กกต.ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนืออำนาจของ กกต. และคสช.กับรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ หากพบว่ามีการกระทำเข้าข่ายทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย รัฐบาลก็ต้องเข้าไปดูแล

“ผมอยากให้เข้าใจ กกต.ด้วย เพราะขณะนี้ขาข้างหนึ่งก็เหมือนกับเข้าไปอยู่ในคุก และไม่ง่ายในการดำเนินการอะไร แรงเสียดทานก็เยอะ ใครที่เข้ามาจะรู้ว่าทำอะไรก็ลำบาก เราพยายามเตือนส่งสัญญาณแต่ก็ถูกมองว่าเป็นการข่มขู่ จริงๆ ไม่ใช่ขู่ แต่เป็นการส่งสัญญาณแบบกัลยาณมิตร ที่ผ่านมาก็มีการกล่าวโทษน้อยมาก ไม่อยากให้บรรยากาศเลวร้ายมากกว่านี้ อยากให้อยู่สบายๆ จึงพยายามผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้มีการพบปะกันเพื่อสร้างความเข้าใจ”

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐนั้น นายสมชัยยืนยันว่า ไม่สามารถรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ หากพบและมีหลักฐานขอให้แจ้งมายัง กกต.เพื่อดำเนินการสั่งย้ายในทันที ขณะเดียวกัน การที่หน่วยงานของรัฐจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการจัดยานพาหนะพาผู้มีสิทธิไปออกเสียงประชามติ แม้มาตรา 62 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติจะกำหนดให้ทำได้แต่ กกต.ได้ให้แนวปฏิบัติว่าจะทำได้สองกรณีเท่านั้น คือ เป็นกรณีที่พื้นที่ออกเสียงมีความยากลำบากในการเดินทางหรือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและต้องขอความเห็นชอบจาก กกต.เขตก่อน

สำหรับกรณีที่ทางเครือข่ายฯต้องการให้เปิดพื้นที่ถกเถียงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากรายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ใน 6 ครั้งที่เหลือก็ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาแสดงความเห็น โดยมีการปรับเนื้อหาและวิทยากรที่จะมาร่วมรายการแบบเป็นธรรมแล้ว ขณะเดียวกันก็กำลังทาบทามสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งจัดรายการครั้งละ 50 นาที จำนวน 10 ครั้ง นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องเรียนฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ ทรัพยากรธรรมชาติ การทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับเขตแดน โดยจะเปิดโอกาสให้ทางเครือข่ายฯ และนักศึกษามีส่วนร่วมในรายการ 40% หรือ 4 ครั้งจากทั้งหมด 10 ครั้ง ส่วนที่เหลือจะเชิญกลุ่มเอ็นจีโออื่นเข้ามาร่วม ซึ่งจะหารือเรื่องดังกล่าวกับ กรธ.หากเห็นตรงกันก็จะมีการบันทึกเทปรายการและออกอากาศได้ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการลงประชามติ โดย กกต.จะไม่เข้าไปเซ็นเซอร์เนื้อหาแต่อย่างใด นอกจากนี้จะมีการจัดพิมพ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่เพิ่มเติมในหนังสือพิมพ์สามฉบับในช่วงโค้งสุดท้ายของการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการหารือครั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองค่อนข้างพอใจคำชี้แจงของนายสมชัย เนื่องจากเห็นว่ามีความชัดเจนในระดับหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น