xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จำคุกอดีตบิ๊ก คพ.เพิ่มน้ำหนักไม่จ่ายค่าโง่คลองด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ให้รัฐบาลจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ่ายค่างวดงาน อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลสั่งยกเลิกโครงการ เมื่อปี 2546 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 9 พันกว่าล้านบาท ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หรือ โครงการคลองด่าน ก็มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย ให้รัฐบาลชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวออกไปก่อน

นั่นเพราะยังมีคดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ฟ้องคดีบริษัทเอกชน 19 รายในโครงการนี้ และคดียังอยู่ที่ศาลฎีกา หากจ่ายเงินออกไปแล้วปรากฏว่าศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษชนะคดี จะไม่สามารถทวงเงินคืนได้

อย่างไรก็ตาม วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติของบประมาณกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินงบประมาณปี 2559 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปชำระหนี้ให้ผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยจะแบ่งจ่าย 3 งวด เริ่มตั้งแต่งวดที่ 1 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 9,836 ล้านบาท

มติ ครม.ดังกล่าว ทำให้นางดาวัลย์ จันทรหัสดี อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบจ่ายเงินค่าเสียหาย เพราะรัฐบาลกลัวหรือเอกชนกลัวกรณีโกงสัญญาที่ดินหรือไม่ จึงเกิดการล็อบบี้ หากรัฐจริงจังกับการต่อสู้คดีก็มีแนวโน้มว่าจะชนะ คดีนี้นักการเมืองอาวุโสทุกคนรับรู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร

ทั้งนี้ หากดูรายชื่อ 6 บริษัท ที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี อันประกอบด้วย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ก็คงพอจะเดาได้ไม่ยากว่า มีนักการเมืองอาวุโสคนไหนมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้บ้าง และนี่อาจจะทำให้รัฐบาลเกิดความเกรงใจ จนต้องรีบจ่ายเงินค่าโง่ให้หรือไม่

เสียงคัดค้านการจ่ายค่าโง่คลองด่านมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พูดในงานเสวนา “คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่”เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเสนอว่า ควรมีการศึกษาอีกครั้งว่าจะต้องเสียเงินดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เนื่องจากยังมีเหตุผลที่จะต้องรอศาลตัดสินในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิด และความรับผิดทางละเมิดทางปกครอง รวมถึงกรณีการฉ้อโกง ถ้าคิดว่าต้องจ่ายไปก่อนเพราะกลัวเสียดอกเบี้ยก็เท่ากับคิดแบบไม่บูรณาการ เนื่องจากการโกงก็เป็นโกงอย่างบูรณาการ ดังนั้น การปราบโกงก็ต้องทำแบบบูรณาการ และคดีนี้บริษัทเอกชนยังถูกฟ้องร้องอยู่ด้วย

นายวิชาบอกอีกว่า ในเมื่อกระบวนการยังไม่จบสิ้น สิ่งที่รัฐบาลตกลงเป็นเรื่องมติ ครม.ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรใช้มติ ครม.มาแก้ไขว่าจะจ่ายหรือไม่ เพราะมติ ครม.สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากเห็นว่าของเดิมบกพร่อง อยากให้เอาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจริงๆ เข้ามาดูแลว่าใครทำให้รัฐเสียเปรียบเอกชนด้วยการเปิดช่องให้มีอนุญาโตตุลาการ ทำไมไม่มีการแก้ไขหรือยับยั้งตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่นำไปเจรจาในการจ่ายเงินชดเชยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงยังไม่มีคำตัดสิน อีกทั้งคดีที่บริษัทถูกกรมควบคุมมลพิษฟ้องก็ควรรอศาลฎีกาตัดสินก่อน จึงนำสิ่งเหล่านี้มาต่อรองเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังควรมีกระบวนการเรียกค่าเสียหายในเชิงสังคม จากบริษัทเอกชนที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งบางประเทศรัฐได้เงินคืนจนกระทั่งบริษัทล้มละลาย ด้วยการแก้ไขกฎหมายให้ตรงกับหลักเกณฑ์การต่อต้านทุจริต

ส่วนนางดาวัลย์ กล่าวในงานเดียวกันว่า ถ้ารัฐต้องจ่ายเงินค่าโง่ 9 พันล้าน แล้วคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงที่ดินรัฐชนะ แล้วรัฐไปฟ้องเรียกเงินคืนกว่า 2 หมื่นล้าน ถามว่าแล้วจะเอา 9 พันล้านคืนได้หรือไม่ จึงขอว่าอย่าเพิ่งจ่าย เพราะถ้าคดีในศาลฎีกา 2 ปีแล้วจึงใกล้ที่จะมีผลตัดสิน ดังนั้นควรรอผลการตัดสินก่อน

อย่างไรก็ตาม น้ำเสียงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านกฎหมายของรัฐบาล ดูเหมือนจะยังต้องการจ่ายให้เร็วที่สุด โดยบอกว่า ไม่ทราบว่าจะชะลอไปทำไม เพราะแม้จะมีคดีความอยู่ในชั้นศาลอื่น ก็เป็นคนละส่วนกับที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐชำระค่าเสียหายภายใน 90 วัน ความรับผิดทางอาญาในข้อหาฉ้อโกงนั้นเป็นคนละส่วนกัน จะติดคุกฐานฉ้อโกงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่ามีการติดคุกฐานฉ้อโกงแล้วจะมายกเลิกทางนี้ได้

นายวิษณุอ้างว่า หากจะชะลอการจ่ายออกไปก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปดู เพราะก่อนหน้านี้มีการตกลงกันระหว่างรัฐกับเอกชนในการจ่าย 3 งวดในเวลาที่กำหนด โดยจะไม่คิดดอกเบี้ย หากจะชะลอต้องตกลงกันใหม่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลอาญา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 กรณีทุจริตในโครงการคลองด่าน ก็น่าจะเพิ่มน้ำหนักให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าโง่เกือบ 1 หมื่นล้านบาท ยิ่งขึ้นไปอีก

คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยสรุปว่าเมื่อระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. 38 -28 ก.พ.2546 นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ได้รวบรวมเข้าชื่อซื้อที่ดินจากประชาชนย่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในนาม บริษัท เหมืองแร่ลานทองจำกัด แล้วขายให้กับบริษัทปาล์มบีช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ใช้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทในเครือการก่อสร้างโครงการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคา และเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มูลค่า 22,949,984,020 บาท เหตุเกิดที่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการเกี่ยวพันกัน จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่าชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมลกฎหมายอาญามาตรา 151 อันเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี

คำพิพากษาคดีนี้ น่าจะเป็นบรรทัดฐานในเบื้องต้นได้แล้วว่า มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในโครงการนี้ และสัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกชนจึงไม่สามารถที่จะเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลได้

หากนายวิษณุยังยืนยันว่า คดีนี้เป็นคนละส่วนกัน ก็คงต้องเอาคำพูดของนายวิชาที่ว่า “เป็นการคิดแบบไม่บูรณาการ เมื่อการโกงเป็นการโกงอย่างบูรณาการ การปราบโกงก็ต้องทำแบบบูรณาการ” มาตบหน้านายวิษณุให้ได้สติเสียที



กำลังโหลดความคิดเห็น