xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาคลองด่าน ขอรัฐอย่าเพิ่งจ่ายค่าโง่ “วิชา” แนะรอศาล แก้ กม.เรียกเงินเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสวนาคลองด่าน พร้อมใจวอนรัฐอย่าเพิ่งจ่ายค่าโง่ “วิชา” แนะรอศาลตัดสินก่อน 3 คดี ปลดล็อกปัญหาเพิกถอนมติ ครม.เดิม เจรจาชะลอจ่าย เสนอใช้หลักนิติเศรษฐศาสตร์ แก้ กม.เรียกคืนค่าเสียหาย บ.เอกชน ติดสัญญาณคนโกงกันหนี “นวลน้อย” เสนองัด 9 ปมโกง ระงับค่าโง่ก่อนศาลตัดสิน ตัวแทนชาวบ้านพ้อสู้ 17 ปียังไม่เห็นความหวัง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ตัวอย่างนวัตกรรมโกง แนะสังคมกดดันแทนพึ่งแต่ กม.

วันนี้ (17 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานเสวนา “คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ร่วมอภิปราย ได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่าควรมีการศึกษาอีกครั้งว่าจะต้องเสียเงินดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เนื่องจากยังมีเหตุผลที่จะต้อง 3 รอศาลตัดสินในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิด และความรับผิดทางละเมิดทางปกครองรวมถึงกรณีการฉ้อโกง แต่ถ้าคิดว่าต้องจ่ายไปก่อนเพราะกลัวเสียดอกเบี้ยก็เท่ากับคิดแบบไม่บูรณาการเนื่องจากการโกงก็เป็นโกงอย่างบูรณาการ ดังนั้น การปราบโกงก็ต้องทำแบบบูรณาการด้วย นอกจากนี้คดีนี้บริษัทเอกชนยังถูกฟ้องร้องในคดีนี้อยู่ด้วย

นายวิชายังแนะนำรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ว่า กระบวนการยังไม่จบสิ้นสิ่งที่รัฐบาลตกลงเป็นเรื่องมติ ครม.ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรใช้มติ ครม.มาแก้ไขว่าจะจ่ายหรือไม่ เพราะมติ ครม.สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากเห็นว่าของเดิมบกพร่อง แต่การตั้งกรรมการขึ้นมาในขณะนี้เหมือนการหลบเลี่ยงปัญหาจึงอยากให้เอาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจริงๆ เข้ามาดูแลว่าใครทำให้รัฐเสียเปรียบเอกชนด้วยการเปิดช่องให้มีอนุญาโตตุลาการว่าทำไมไม่มีการแก้ไขหรือยับยั้งตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่นำไปเจรจาในการจ่ายเงินชดเชยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงยังไม่มีคำตัดสิน อีกทั้งคดีที่บริษัทถูกกรมควบคุมมลพิษฟ้องก็ควรรอศาลฎีกาตัดสินก่อน จึงนำสิ่งเหล่านี้มาต่อรองเพื่อหยุดยั้งความเสียหายโดยเฉพาะปมเรื่องท่อที่มีการเปลี่ยนทิศทางจนทำให้เหลือบริษัทประมูลรายเดียว เนื่องจากทุกฝ่ายได้ประโยชน์แต่ประชาชนเสียประโยชน์ และคิดว่าควรมีกระบวนการเรียกค่าเสียหายในเชิงสังคมกับบริษัทเอกชนที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ซึ่งบางประเทศรัฐได้เงินคืนกระทั่งบริษัทล้มละลายด้วยการแก้ไขกฎหมายให้ตรงกับหลักเกณฑ์การต่อต้านทุจริตในหลักนิติเศรษฐศาสตร์คือความคุ้มค่าที่ต้องจ่ายคืนในการบ่อนทำลายรัฐ

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การปล่อยตัวชั่วคราวคนที่ทุจริตควรมีการติดเครื่องสัญญาณเพื่อควบคุมไม่ให้หลบหนีและทำให้กระบวนการใช้กฎหมายดำเนินการได้อย่างจริงจัง จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่เช่นนั้นรัฐล้มเหลว

ด้านนางนวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าคลองด่านเป็นการโกงแบบคลาสสิกซึ่งตนได้ศึกษาเรื่องนี้ในขณะนั้นก็บอกว่ามีการโกง 100% มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่คดีถูกพักไปชั่วคราวเพราะการทำงานของ ป.ป.ช.สะดุด โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2539 การทุจริตในครั้งแรกถึง 9 เรื่อง คือ 1. การจัดจ้างผู้ดำเนินโครงการ เพราะการประมูลเหลือรายเดียวทั้งที่วงเงินสูงถึง 1 หมื่น 3 พันล้านบาท ก่อนจะเพิ่มเป็น 2 หมื่น 3 พันล้านบาท 2. ความไม่โปร่งใสในการจัดหาที่ดิน 3. มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการถือหุ้นไขว้ระหว่างผู้ดำเนินการกับเจ้าของที่ดิก่อนขายให้รัฐ เดิมจำนองตีราคา 2 แสน แต่ขายให้รัฐถึงไร่ละ 1 ล้านบาท การใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ 500-600 ไร่ แต่รัฐกลับซื้อพื้นที่ว่างไว้ทำให้เสียประโยชน์ 4. ผลกระทบต่อชุมชนไม่มีใครทราบ 5 มีการออกเอกสารปลอมตั้งแต่ระดับ อบต.

6. ไม่มีการศึกษาอีไอเอ 7. ไม่มีใบอนุญาตกรมโรงงาน มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมแบบฉบับเล็กภายหลังจากก่อสร้างไปแล้ว 50% 8. เอดีบีซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้มีการตั้งกรรมการสอบเพราะขัดนโยบายของเอดีบีเนื่องจากเพิ่มเงิน 1 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีการตั้งโครงการใหม่ ไม่คำนึงถึงเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ประกอบการออกแบบละเลยนโยบายโยกย้ายถิ่นฐาน ไม่วิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม ไม่ให้ประชาชนมีส่วนรวมและไม่ประเมินผลในเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าเป็นโครงการที่ล่อกันเละไปหมด 9. ในการยื่นประมูลโครงการต้องมีผู้เชี่ยวชาญระบบบำบัดน้ำเสีย หลังการตัดสินมีการลาออกจากกลุ่มก่อนเซ็นสัญญาแต่กลับดำเนินการต่อแล้วหาบริษัทอื่นมาแทนในอีกสองปีต่อมา จึงเห็นได้ชัดว่ามีการทำผิดกฎระเบียบมากมาย ที่น่าเสียใจคือรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีองค์กรอิสระตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้นแต่คลองด่านซึ่งทุจริตใหญ่มากเกิดหลังรัฐธรรมนูญผู้มีอำนาจทุจริตทุกขั้นตอน จึงต้องย้อนถามสังคมไทยว่าจะเอาจริงเอาจังกับการป้องกันการทุจริตเมื่อไหร่

ส่วนนางดาวัลย์ จันทร์ดี ตัวแทนชาวบ้านผู้ปกป้องคลองดาน กล่าวว่า 17 ปีที่ต่อสู้กับโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเพราะเป็นการปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะโกงกันได้ขนาดนี้ และเมื่อปี 46 มีการยอมรับว่าทุจริตหลังจากนั้นกลับมีกลไกเตะถ่วงยื้อเวลาจนสำนวนอ่อนลง จะทำอย่างไรให้ไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ในอนาคต ถ้ารัฐต้องจ่ายเงินค่าโง่ 9 พันล้าน แต่ถ้าคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงที่ดินรัฐชนะแล้วบริษัทแพ้รัฐก็ต้องไปฟ้องร้องเงินคืนกว่า 2 หมื่นล้าน ถามว่าแล้วจะเอา 9 พันล้านคืนได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องจัดการข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริต แต่เอกชนกลับได้เงินแล้วเราต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ที่จะต้องเอาเงินของเราในกระเป๋าคนอื่นกลับมาเป็นของตัวเอง หากรัฐเอา 9พันล้านไปให้เอกชน จึงขอว่าอย่าเพิ่งจ่ายเพราะถ้าคดีในศาลฎีกาสองปีแล้วจึงใกล้ที่จะมีผลตัดสินดังนั้นควรรอผลการตัดสินก่อน ทั้งนี้ยืนยันว่าชาวบ้านไม่ต้องการบ่อบำบัดน้ำเสียแต่ขอให้เปลี่ยนเป็นศูนย์วิจัยสัตว์น้ำซึ่งได้บอกถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีชาวบ้านร่วมลงชื่อแล้วกว่าพันคน

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า คลองด่านเป็นกลโกงชาติที่เลวร้ายมาก องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ความสำคัญลำดับต้นๆ จากการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมือง ข้าราชการ เอกชนและนายทุนเข้าไปมีอำนาจรัฐเสียเองทำให้โกงแบบลอยนวล ด้วยการกำหนดนโยบายและบุคลากรที่จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรื่องนี้น่าหวาดกลัวมากสำหรับสังคมไทย ดังนั้น การหยุดยั้งความเสียหายจากโครงการนี้รวมทั้งเงินค่าโง่ว่าจะเอาคืนอย่างไร โดยเห็นว่าที่ดินที่ทำโครงการไปแล้วจะต้องทำให้เกิดประโยชน์ไม่ให้สูญเปล่าให้ชาวบ้านดำรงชีวิตใช้ประโยชน์ได้ และคนโกงชาติจะลงโทษอย่างไรเพราะคดียังค้างคาอยู่มีอายุความอยู่ถ้ามีประเด็นอื่นๆ เพิ่มก็เปิดประเด็นเป็นคดีใหม่ได้อีก ซึ่งต้องลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องถ้าเอาโทษทางกฎหมายไม่ได้ก็อยากให้มีการลงโทษทางสังคมด้วยการตีแผ่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้กรรมสนองโกง

ทั้งนี้ พฤติกรรมการโกงยังคงดำรงอยู่ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ไม่มีหลักประกันว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้น หรือออกกฎหมายอะไรก็จะถูกคนโกงหาทางเอาชนะสิ่งเหล่านี้ ประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบการดำเนินการของอำนาจรัฐ มีกลไกบังคับว่าการกำหนดนโยบายสาธารณะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ และการแก้ปัญหาต้องทำอย่างเด็ดขาดและเฉียบพลัน มีมาตรการแรงในการปราบปรามจึงหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะหยิบยกขึ้นมาทำให้เด็ดขาดรวดเร็วอย่างเอาจริงเอาจังในกรณีทุจริตด้วยการนำกรณีคลองด่านมาเป็นตัวอย่างว่าจะหยุดความเสียหายและลงโทษคนผิดอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเชื่อใจว่ารัฐบาลกล้าแก้ปัญหาคอร์รัปชันและจะเป็นบทเรียนสำคัญกับคนโกงชาติว่าลอยนวลได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถรอดพ้นกรรมสนองโกงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น