xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก20ปี3อดีตบิ๊กขรก. เอื้อเอกชนสร้างบ่อบำบัดคลองด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17ธ.ค.) ที่ศาลอาญาถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หมายเลขดำ 1682/57 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นายปกิต กิระวานิช อายุ 79 ปี อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อายุ 64 ปี อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ นางยุวรี อินนา อายุ 54 ปี ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ,ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.57 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. 38-28 ก.พ.46 นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ได้รวบรวมเข้าชื่อซื้อที่ดินจากประชาชนย่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในนาม บริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด แล้วขายให้กับบริษัทปาล์มบีช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ใช้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทในเครือการก่อสร้างโครงการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE)ให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการ กับกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ผ่าคุณสมบัติในการประกวดราคา และเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มูลค่า 22,949,984,020 บาท เหตุเกิดที่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย ขณะที่พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสาม ซึ่งมีหน้าทีดำเนินการ และรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยินยอมให้บริษัท ปาล์มบีชฯ ที่บริษัท คลองด่าน มารีนฯ ถูกเชิดให้ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคาได้ยื่นข้อเสนอตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังปกปิดรูปแบบการการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มิได้เสนอให้ครม.พิจารณา เป็นการฝ่าฝืนมติครม. ที่ประกวดราคาแบบเหมารวม โดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534
การกระทำของจำเลยทั้งสาม เลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE)เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้าง
โครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่าชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้า
หน้าที่รัฐ ซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วย
เหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวี
พีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 อันเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 20 ปี
ภายหลังญาติของพวกจำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยทั้งสามประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดี ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท

** "วิชา"แนะรัฐชะลอจ่ายค่าโง่

ในวันเดียวกันนี้ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช.ได้ร่วมเสวนา "คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่" จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย โดยนายวิชาได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ควรมีการศึกษาอีกครั้งว่าจะต้องเสียเงินค่าโง่ดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หรือไม่ เนื่องจากยังมีเหตุผลที่จะต้องรอศาลตัดสินในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิด และความรับผิดทางละเมิดทางปกครอง รวมถึงกรณีการฉ้อโกง แต่ถ้าคิดว่าต้องจ่ายไปก่อน เพราะกลัวเสียดอกเบี้ยก็เท่ากับคิดแบบไม่บูรณาการ เนื่องจากการโกงก็เป็นโกงอย่างบูรณาการ ดังนั้นการปราบโกงก็ต้องทำแบบบูรณาการด้วย นอกจากนี้ คดีนี้บริษัทเอกชนยังถูกฟ้องร้องในคดีนี้อยู่ด้วย
นายวิชา ยังแนะนำรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ว่า กระบวนการยังไม่จบสิ้น สิ่งที่รัฐบาลตกลงเป็นเรื่องมติครม.ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงควรใช้มติครม. มาแก้ไขว่าจะจ่าย หรือไม่ เพราะมติครม.สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเห็นว่าของเดิมบกพร่อง แต่การตั้งกรรมการขึ้นมาในขณะนี้เหมือนการหลบเลี่ยงปัญหา จึงอยากให้เอาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจริงๆ เข้ามาดูแลว่าใครทำให้รัฐเสียเปรียบเอกชน ด้วยการเปิดช่องให้มีอนุญาโตตุลาการ ทำไมไม่มีการแก้ไข หรือยับยั้งตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่นำไปเจรจาในการจ่ายเงินชดเชยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงยังไม่มีคำตัดสิน อีกทั้งคดีที่บริษัทถูกกรมควบคุมมลพิษฟ้อง ก็ควรรอศาลฎีกาตัดสินก่อน จึงนำสิ่งเหล่านี้มาต่อรองเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย โดยเฉพาะปมเรื่องท่อที่มีการเปลี่ยนทิศทาง จนทำให้เหลือบริษัทประมูลรายเดียว เนื่องจากทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ประชาชนเสียประโยชน์ และคิดว่าควรมีกระบวนการเรียกค่าเสียหายในเชิงสังคมกับบริษัทเอกชนที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งบางประเทศรัฐได้เงินคืนกระทั่งบริษัทล้มละลายด้วยการแก้ไขกฎหมายให้ตรงกับหลักเกณฑ์การต่อต้านทุจริต ในหลักนิติเศรษฐศาสตร์ คือความคุ้มค่าที่ต้องจ่ายคืนในการบ่อนทำลายรัฐ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีนายวิชา มหาคุณ เสนอให้รัฐชะลอการจ่ายเงินค่าโง่คลองด่าน เพื่อรอความชัดเจนในศาลชั้นต้น ศาลปกครอง และศาลฎีกาฯ ก่อนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าได้มีการจ่ายเงินงวดแรกไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะชะลอไปทำไม เพราะแม้จะมีคดีความอยู่ในชั้นศาลอื่นๆ นั้นมันก็เป็นคนละส่วนกับที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐชำระค่าเสียหายภายใน 90 วัน เนื่องจากตรงนี้เป็นส่วนที่รัฐเป็นหนี้เขา แต่ส่วนความรับผิดทางอาญาในข้อหาฉ้อโกงนั้น เป็นคนละส่วนกัน เงินจะจ่ายหรือไม่จ่าย ก็เรื่องหนึ่ง จะติดคุกฐานฉ้อโกงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่ามีการติดคุกฐานฉ้อโกง แล้วจะมายกเลิกทางนี้ได้
อย่างไรก็ตาม หากจะชะลอก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปดู เพราะก่อนหน้านี้มีการตกลงกันระหว่างรัฐกับเอกชน ในการจ่าย 3 งวด ในเวลาที่กำหนด โดยจะไม่คิดดอกเบี้ย หากจะชะลอต้องตกลงกันใหม่ ว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น