xs
xsm
sm
md
lg

ฟังชัด ๆ “บิ๊กตู่” ย้ำ ชะลอจ่ายค่าโง่คลองด่านไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี
ฟังชัด ๆ “บิ๊กตู่” ย้ำ ชะลอจ่ายค่าโง่คลองด่านไม่ได้ “ใครจะบอกให้ชะลอจ่ายค่าคลองด่าน จะชะลอได้อย่างไร ศาลปกครองสูงสูดเขาตัดสินไปแล้ว ใครที่เสนอให้ชะลอ ให้ส่งมาที่ตน แล้วไปรวมกันที่ศาล ศาลปกครองสูงสุดเขาจะตัดสินให้ใหม่ไหม อย่าพูดแต่อารมณ์อย่างเดียว”

วันนี้ (23 ธ.ค.) มีรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปี ถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ชะลอการจ่ายค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งได้แก่กิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ว่า

“ใครจะบอกให้ชะลอจ่ายค่าคลองด่าน จะชะลอได้อย่างไร ศาลปกครองสูงสูดเขาตัดสินไปแล้ว ใครที่เสนอให้ชะลอ ให้ส่งมาที่ตน แล้วไปรวมกันที่ศาล ศาลปกครองสูงสุดเขาจะตัดสินให้ใหม่ไหม อย่าพูดแต่อารมณ์อย่างเดียว”

มีรายงานว่า หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบงบประมาณกลางจำนวน 9,800 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ได้มีการชำระเงินงวดแรกให้กับเอกชนไปแล้ว จำนวน 3,934,706,491 บาท โดย ชำระไปในวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา “คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ทำไมต้องเสียค่าโง่” ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า อยากให้รัฐบาลชะลอการจ่ายเงินค่าโง่ จำนวน 9 พันกว่าล้านบาท ให้กับกิจการร่วมค้า กลุ่มบริษัท NVPSKG ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของอังกฤษ (ภายหลังได้ถอนตัวออกไป), บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท ประยูรวิศการช่าง จำกัด และบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ ไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ

1. รอคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวกระทำผิดหรือไม่

2. การพิจารณาความรับผิดทางละเมิดต่อเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่มีความชัดเจน เรื่องอยู่ที่ศาลปกครอง

3. กรณีที่กรมควบคุมมลพิษฟ้องบริษัทเอกชนที่หลอกนำที่ดินสาธารณะมาขายให้ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะชนะคดี

ดังนั้น จึงควรรอให้ประเด็นเหล่านี้ชัดเจนก่อน การให้จ่ายเงินให้บริษัทเอกชนเป็นเพียงมติ ครม. ไม่ถือเป็นกฎหมาย สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ด้าน น.ส.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐควรรอการจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในข้อกฎหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำลังฟ้องเอกชนที่นำที่ดินมาหลอกขายให้รัฐ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกาแล้ว คงรออีกไม่นาน สมมติถ้ารัฐบาลจ่ายค่าโง่ให้เอกชนไปแล้ว ต่อมาศาลฎีกาตัดสินใจฝ่ายรัฐชนะคดี จะไปทวงเงินคืนกลับมาจากเอกชนอย่างไร โครงการมีแต่ขาดทุน ตนเห็นว่า ควรให้ผู้กระทำผิดต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายทางสังคมที่เกิดขึ้นในฐานะที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เพราะโทษทางอาญา มักไม่ค่อยเกรงกลัวกัน

ขณะที่ น.ส.ดาวัลย์ จันทร์หัสดี ตัวแทนชาวบ้านผู้ปกป้องคลองด่าน กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันจะจ่ายค่าโง่ให้เอกชนเช่นเดิม แต่ต่อมาศาลฎีกาตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษเป็นฝ่ายชนะคดีเอกชนที่หลอกนำที่ดินสาธารณะมาหลอกขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อนำมาก่อสร้างโครงการ รัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบต่อเงินค่าโง่ที่จ่ายให้เอกชนไป และต้องไปนำเงินที่จ่ายไปคืนมาด้วย

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่นายวิชาเสนอให้รัฐชะลอการจ่ายเงินคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านออกไปก่อนนั้น ตนเข้าใจว่าได้มีการจ่ายเงินงวดแรกไปแล้ว ไม่ทราบว่าจะชะลอไปทำไม เพราะแม้จะมีคดีความทางอาญาอยู่ในชั้นศาลต่าง ๆ ความผิดฐานฉ้อโกงก็เป็นคนละส่วนกับที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐชำระค่าเสียหายภายใน 90 วัน เนื่องจากตรงนี้เป็นส่วนที่รัฐเป็นหนี้เขา จะจ่ายหรือไม่จ่ายก็เรื่องหนึ่ง จะติดคุกฐานฉ้อโกง หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่ามีการติดคุกฐานฉ้อโกงแล้วจะมายกเลิกทางนี้ แต่ถ้าหากจะชะลอ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปดู เพราะก่อนหน้านี้มีการตกลงกันระหว่างรัฐกับเอกชน ในการจ่าย 3 งวดตามเวลาที่กำหนด โดยจะไม่คิดดอกเบี้ย หากจะชะลอการจ่ายเงินออกไป ต้องตกลงกันใหม่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร สำหรับความคืบหน้าคดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส หลบเลี่ยงภาษีบุหรี่นั้น เท่าที่ทราบอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว แต่ยังไม่ยื่นฟ้อง และหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะต้องไปสู้กันอีก 3 ศาล ไม่ใช่จะได้เงินเลย ต้องใช้เวลาอีกนาน

อีกด้านหนึ่ง สืบเนื่องจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 17 ธ.ค. 58 ให้จำคุกอดีตอธิบดีกรม ควบคุมมลพิษกับพวกรวม 3 คน คนละ 20 ปี ฐานทุจริตต่อหน้าที่โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ เนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่โดยเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้างโดยมิชอบ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหาย ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจำนวน 9,000 ล้านบาทเศษ นั้น

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า การที่อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกทุจริตต่อหน้าที่โดยกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์และ ช่วยเหลือกิจการร่วมค้า ให้เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยมิชอบ และ กิจการร่วมค้า ขาดคุณสมบัติตาม TOR ของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขอถอนตัวจาก กิจการร่วมค้าก่อนมีการลงนามในสัญญาจ้าง ย่อมเข้าข่ายการกระทำละเมิดต่อกรมควบคุมมลพิษ ทำให้กรมควบคุมมลพิษเสียหายอย่างร้ายแรง 23,700 ล้านบาท ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท และ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกับพวกจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ 23,700 ล้านบาท แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ร่วม ค้าทั้ง 5 บริษัทกว่า 9,000 ล้านบาท กรมควบคุมมลพิษก็ขอหักกลบลบหนี้ได้ ทำให้ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท ต้องจ่ายเงินให้กรมควบคุมมลพิษ 14,700 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แม้รัฐบาลจะตกลง กับผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัท ขอผ่อนชำระแล้ว รัฐบาลก็ขอหักลบกลบหนี้ได้ เพราะหนี้ละเมิดผิดนัด ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบในการใช้งบกลางจ่ายเงิน ให้ผู้ร่วมค้าทั้ง 5 บริษัทกว่า 9,000 ล้านบาท

“ก่อนคดีค่าโง่คลองด่าน ก็มีคดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา-บางพลี-สมุทรปราการเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จ่ายค่าเสียหายให้กิจการร่วมค้า BBCD 6,000 ล้านบาท แต่ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาที่ 7277/2549 ให้ กทพ. ไม่ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแม้แต่บาทเดียว เพราะผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยทำสัญญากับกิจการร่วมค้า BBCD ผู้รับจ้าง โดยเอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้าง สัญญาจ้างจึงเกิดจากกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลผูกพันกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกันกับคดีค่าโง่คลองด่านนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เอื้อประโยชน์และช่วยเหลือผู้รับจ้างเช่นเดียวกัน ผลคดีน่าจะไม่ต่างกัน คือ รัฐไม่ควรจ่ายค่าโง่เหมือนกัน แต่เมื่อคดีค่าโง่คลองด่าน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่าย รัฐบาลก็ควรแก้ด้วยการขอหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่ผู้รับจ้างต้องร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้รัฐบาลไม่ต้องจ่าย และยังเรียกร้องให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าเสียหายอีก 14,700 บาทได้ด้วย” นายชัยสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น