ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลยุทธ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดทบทวนการออกกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ มาถึงจุดไฮไลท์สำคัญที่จะชี้ชะตาว่ารัฐบาลยังจะเดินหน้าต่อหรือว่าจะต้องหยุดยั้งลง เมื่อบรรดา “ขาใหญ่” ในระดับ “บิ๊กเนม” ซึ่งเคยมีบทบาทสกัดไม่ให้รัฐบาลเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่มาแล้วครั้งหนึ่งได้เวลาออกโรงกันอีกแล้ว ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำไขสือไม่ได้ยินเสียงของเครือข่ายประชาชนก่อนหน้านี้ จำต้องหันมาชำเลืองพร้อมๆ กับออกอาการคล้ายกับอยากจะสบถว่า “ยุ่งฉิบ....” ก่อนจะเตะลูกออกถ่วงเวลาเหมือนเคย
อารมณ์ของ “บิ๊กตู่” ที่สะท้อนออกมาใน “วันอารมณ์เสียแห่งชาติ” 8 ธันวาคม 2558 เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ซึ่งยืนบนโพเดียมแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เป็นห่วงเรื่องการสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ฉบับใดก็ตามที่รัฐบาลเสนอไป เท่าที่ได้ตรวจสอบกับกระทรวง ทบวง กรม เขาร่างออกมาจากปัญหาเดิมๆ ที่มีความขัดแย้งในเรื่องของการทำงาน เรื่องที่เดินหน้าไม่ได้ เขาก็เสนอขึ้นมา ส่วน ครม.ก็มีหน้าที่พิจารณาในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะไปพิจารณาอีก 3 วาระ ซึ่งจะผ่านหรือไม่ผ่านยังไม่รู้เลย
“....เรื่องพลังงานต่างๆ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสิ้น เป็นเรื่องการเสนอเพื่อรับทราบ เขาต้องไปปรับแก้อีก ในหลักการและเหตุผลให้กว้างขึ้น อยากเสนออะไรก็เสนอมา เราก็เอาไปใส่ในหลักการและเหตุผลเพิ่ม แล้วส่งไป สนช.โน่น ฉะนั้นจะออกหรือไม่ออกก็ไม่รู้ .... สิ่งที่เป็นกังวลคือ ถ้ามันทำไม่ได้ ทำไม่ทันทั้งหมด แล้วเรามีปัญหาพลังงานใน 5-6 ปีข้างหน้า แล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้นต้องมีการรับผิดชอบกัน กระทั่งมันทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง มันต้องรับผิดชอบกันแล้ว ต้องมีสัญญากันให้ชัดเจน ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่อย่างนั้นตนก็รับอยู่คนเดียว ไม่ไหว เพราะไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร ทำเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติในอนาคตทั้งสิ้นในเรื่องพลังงาน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พิจารณาใคร่ครวญดูแล้ว เรื่องการสร้างความเข้าใจน่าเป็นห่วงจริงๆ คนแรกๆ ที่น่าห่วงไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะแต่ละประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ กังวลนั้นเครือข่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอมีทางออกเพื่อแก้ไขปัญหามาแล้วทั้งสิ้นและสามารถทำได้จริงหากรัฐบาลตั้งใจจะทำและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปนำร่องให้ประชาชนได้เห็น ดังเช่นเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดลงในอีก 5 - 6 ปีข้างหน้าจะทำอย่างไร พลังงานจะขาดแคลนดังที่กลุ่มทุนพลังงานกับหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานเอาเงินภาษีของประชาชนไปซื้อโฆษณาและโพนทะนาเขย่าขวัญกันทุกวี่วันหรือไม่ ล้วนแล้วแต่มีข้อเสนอและรัฐบาลก็รับไปศึกษาแล้วทั้งสิ้น แต่มาวันนี้ความเข้าใจในเรื่องนี้ของท่านผู้นำก็ยังวนๆ เวียนๆ อยู่เหมือนเดิม
ประเด็นการเคลื่อนไหวให้พิจารณาทบทวนและยุติร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ รอบนี้ นอกจากเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานแล้ว กระทรวงพลังงาน ยังละเลยเนื้อหาสาระสำคัญโดยร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีรายละเอียดตามที่มีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้มีการปรับแก้กว่า 50 มาตรา นี่จึงเป็นชนวนให้การยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยมีรายชื่อของ “บิ๊กเนม” ที่มีบทบาทสำคัญชนิดที่ว่า “บิ๊กตู่” จะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด
คณะบุคคลระดับบิ๊กเนมที่ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ล้วนแต่คุ้นเคยกันดี เช่น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และประธานมูลนิธิไทยทริบูน, น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์), นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสภากรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน และดร.นพ สัตนาศัย วิศวกรอาวุโส และประธานชมรมจามจุรีและเพื่อนปฏิรูปประเทศไทย, นายอัมรินทร์ คอมันต์ นักธุรกิจ และรศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์อาวุโส คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นต้น
แน่นอน คนระดับนี้ย่อมมองทะลุปรุโปร่งว่าสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน กำลังกระทำนั้นเพื่อใคร เพื่อประเทศชาติ ประชาชน หรือเพื่อกลุ่มทุนพลังงาน และสอนมวยด้วยว่ารัฐบาลที่มีอำนาจนั้นควรประพฤติปฏิบัติเช่นใดต่อเสียงของมวลมหาประชาชน
“ขอฝากไปถึงรัฐบาลที่กำลังมีอำนาจบริหารประเทศด้วยว่า ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์นั้น เริ่มต้นมาจากการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และความเห็นที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงาน ที่เราเสียผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองมาหลายสิบปี ตาม พ.ร.บ.ฉบับเก่า ก็กลับเอาขึ้นมา และจะประมูลในรอบที่ 21 ภายใต้กฎหมายใหม่ของกระทรวงพลังงาน มันยังไม่ดี ไม่ถูกต้อง ยังไม่เป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ขอฝากว่าถ้าคิดอยากจะอยู่ในอำนาจ มีอำนาจ ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นมาจากการรู้จักรับฟัง แต่ถ้าไม่รู้จักรับฟัง หรือพูดว่าจะรับฟัง ไม่ใช่ความจริงใจ แต่เป็นความเสียหายหากสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองไม่รับฟัง” น.ต.ประสงค์ กล่าวในวันที่คณะบุคคลแถลงเรียกร้องยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา
น.ต.ประสงค์ ยังสรุปรวบรัดแต่ชัดเจนเสียยิ่งกว่าชัดว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการนำพลังงานขึ้นมาใช้ครั้งใหม่ ควรจะเกิดประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ เพราะที่ผ่านมา 40 กว่าปี คนไทยเสียผลประโยชน์ไปมหาศาล การที่ภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคราวนี้ ขอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ท่านต้องการความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ขณะนี้เรื่องสำคัญที่ขัดแย้งกัน อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติบ้านเมือง ระหว่างประชาชนกับฝ่ายคนบางกลุ่มบางพวกในเรื่องพลังงาน ความขัดแย้งกันนี้ขอให้นายกรัฐมนตรีหาทางหากอยากเห็นความปรองดองด้วยดีต้องให้เรื่องเหล่านี้จบลงด้วยดี ไม่ใช่จบลงด้วยคำสั่งที่ไม่มีเหตุผล เอาแต่อำนาจมาใช้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว
การใช้อำนาจฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่ฉายผ่านปรากฏการณ์คราวที่ภาคประชาชนรวมตัวกันออกมาคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบใหม่ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการเปิดประมูลออกไป และทำทีว่าเหมือนจะรับฟังความเห็นของประชาชน โดยมีการประชุมร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาลสองครั้ง ซึ่ง น.ต.ประสงค์ บอกว่า การประชุมร่วมฝ่ายราชการส่งเพียงระดับเจ้าหน้าที่มา ปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีไม่มา ก็ชี้แจงไปว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมจะแก้อย่างไร แต่ความร่วมมือสุดท้ายก็สูญเปล่า ไม่ใส่ใจ เงียบหายไป จากนั้นกระทรวงพลังงาน กลับร่างกฎหมายกันเอง ซ่อนเงื่อน ไม่ชี้แจงให้ชัดเจน หลักการทั้งหมดไม่ได้นำเอาความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแก้ไขให้เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศ
ทำไมคนระดับบิ๊กเนมทั้งหลายจึงเรียงหน้าออกมาเรียกร้องให้หยุดยั้ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับปะผุ ลักหลับ 2 ฉบับดังกล่าว คือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นายธีระชัย อธิบายเหตุผลว่า เป็นเพราะร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ยังมีจุดอ่อนไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 กล่าวคือ การร่าง พ.ร.บ.ใช้วิธีการอ้อมๆ โดยใช้ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ในการออกกฎกติกา เป็นการมอบอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร เหมือนเป็นการมอบเช็คเปล่าไปให้กับฝ่ายบริหาร กระบวนการทำงานแบบนี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ว่า คสช.ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญป้องกันการทุจริต แต่การออกเช็คเปล่าให้ผู้บริหารไม่สอดคล้องกับข้อสัญญาของ คสช.ที่จะมีการออกกติกาป้องกันการทุจริต
“..... ผมคิดว่ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนไว้ว่าจะกำหนดกติกาบริหารบ้านเมืองที่เหมาะสมส่งมอบให้กับรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป .....” นายธีระชัย กล่าว
ขณะที่ น.ส.รสนา ให้รายละเอียดว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน แต่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานเป็นหลัก โดยปกติ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ปี 2514 ในการให้สัมปทานเป็นการแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การสำรวจ สูงสุด 9 ปี การผลิตครั้งที่ 1 จำนวน 20 ปี และครั้งที่ 2 จำนวน 10 ปี รวม 39 ปี แต่การแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้รวดเดียว 39 ปี ถ้ารัฐบาลจะเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมจะต้องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ปิดช่องทางการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในโอกาสหน้า กลายเป็นว่ากลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานพยายามผลักดันรัฐบาลให้ผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ในช่วง คสช.มีอำนาจอยู่ หลังจากนั้นรัฐบาลต่อไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งที่เขากลัวที่สุด คือ การเรียกสัมปทานคืน
“ประเทศรอบบ้านเราทั้งหมดเขาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวยืนหยัดว่าต้องเป็นระบบสัมปทาน แต่เขาอ้างว่าเขาได้แก้แล้ว ให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่เขาเพิ่มเข้ามาต้องเรียกว่าสักแต่เพิ่มเข้ามา ถ้าคุณจะกำหนดรูปแบบอะไรสักอย่างขึ้นมา คุณจะต้องมีกลไกและโครงสร้างมารองรับ ซึ่งโครงสร้างของการที่จะมีระบบแบ่งปันผลผลิตก็จะต้องมีบรรษัทพลังงานของประเทศ แต่พวกนี้กลัวมากที่สุดที่จะมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็จะอ้างว่าจะทำให้ประเทศชาติกลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กลายเป็นพวกชาตินิยมพลังงาน ลองไปดูประเทศมาเลเซีย เขาเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แล้วมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ชื่อ ปิโตรนาส ตั้งแต่ปี 2517 เขาเป็นสังคมนิยมหรือเปล่า ชาตินิยมพลังงานหรือเปล่า ยึดทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐหรือเปล่า เปล่าทั้งสิ้น แต่กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้จะพยายามวาดภาพที่น่ากลัวว่าบรรษัทพลังงานจะมีนักการเมืองมาล้วงลูก มาเอาประโยชน์ มาทำให้เจ๊ง เป็นการจงใจปิดบังสาระที่แท้จริงของระบบแบ่งปันผลผลิต”
น.ส.รสนายังเน้นย้ำอีกครั้งถึงหัวใจของระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ต่างกันเรื่องกรรมสิทธิ์ โดยระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศ ขายเป็นงบประมาณแผ่นดิน จึงต้องจัดการโดยการมีบรรษัทของตัวเอง แต่ถ้าเป็นระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์จะเป็นของเอกชน จ่ายเงินให้รัฐเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย อยู่อย่างนี้มา 44 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ส่วน พ.ร.บ.อีกฉบับ คือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมแทบจะไม่ได้แก้อะไรเลย แก้อย่างเดียวคือ จากเดิมต้องจ่าย 50% ให้รัฐ ลดลงมาเป็น 20% นอกนั้นไม่แก้อะไรเลย เช่น ค่าใช้จ่ายของบริษัทต่างชาติ เอาค่าใช้จ่ายนอกประเทศมาหักได้ก็สามารถสร้างตัวเลขเทียมแล้วมาหักค่าใช้จ่ายในประเทศ และบริษัทกระดาษในประเทศนั้นจะไม่เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรม กฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์แล้วหรือที่รัฐบาลจะผ่าน เราต้องทำกฎหมายให้ดีก่อนเข้าไปสู่ สนช.
อีกทั้งยังแฉเบื้องหลังของกลุ่มทุนพลังงานผูกขาดที่มีอิทธิพลต่อข้าราชการที่ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาว่า เรื่องประการหนึ่งที่สังคมต้องรู้ คือ โรดแมปสำคัญของกลุ่มทุนพลังงานมี 2 ส่วน คือ ยึดทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำให้เป็นของเอกชนต่อไป และยึดอุปกรณ์ คือท่อก๊าซ ผ่านมาแล้ว 1 ปีกว่า ยังไม่มีคำตัดสินจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้วินิจฉัยว่า ท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของเอกชน ต้องถามว่าใช้เวลานานขนาดนี้เลยหรือ หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดสินแล้วแต่นายกรัฐมนตรีไม่เปิดเผย อาจเป็นเพราะไม่เป็นคุณกับกลุ่มทุนพลังงานผูกขาดใช่หรือไม่ ที่จ่อจะตั้งบริษัทท่อก๊าซเป็นบริษัทลูกขึ้นมา เป็นวิธีการผ่องถ่ายสาธารณสมบัติจากของรัฐไปเป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์
“ระบบท่อส่งก๊าซทั้งหมดเป็นเส้นเลือดในระบบเศรษฐกิจด้านพลังงาน ส่วนปิโตรเลียมก็คือเลือด เวลานี้เอกชนที่ผูกขาดนั้นกะเลือกทั้งโครงข่ายเส้นเลือดและเลือด ถ้ายึดได้หมดจะเหลืออะไร ไหนว่ารัฐบาลจะมาคืนความสุขให้ประชาชน รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนต้องใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เพราะอำนาจไม่เป็นธรรมจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ นายกรัฐมนตรีวันหนึ่งเคยพบกับดิฉันในช่วงที่ สปช.มีการแถลงผลงานและยื่นงาน ท่านเดินมาตบไหล่ดิฉัน บอกเบาๆ ว่าพวกกัน ถ้าเป็นพวกกันขอให้ฟังกันบ้าง แต่ถ้าไม่ฟังกันขอให้ทำประชามติไหม เพื่อที่จะให้ตัดสินกันให้เด็ดขาดไปเลยว่าประชาชนทั้ง 66 ล้านคนต้องการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของประเทศ หรือเป็นของบริษัทผูกขาดพลังงานเหล่านี้” น.ส.รสนา กล่าว
อีกหนึ่งในคณะบุคคล คือ ดร.นพ สัตนาศัย ได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้ สนช. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จู่ ๆ กระทรวงพลังงาน ก็ลักไก่เสนอขอแก้ไข โดยไม่มองว่า สนช. ศึกษาอะไรมาบ้าง ไม่ฟังความเห็น ดื้อดึง ดึงดัน เร่งรีบที่จะเอาเรื่อง พ.ร.บ.ผ่านคณะรัฐมนตรี พฤติกรรมเช่นนี้แหกตานายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ รมว.พลังงานอ้างว่าปรึกษาหารือกับภาคประชาชนแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยปรึกษาหารือกับ สนช. พูดคำเดียวว่าแก้ไม่ได้ ต้องทำตาม พ.ร.บ.นี้ แล้วไปแก้ในกฎกระทรวง เหมือนกับการเซ็นเช็คเปล่า ให้มองดูพฤติกรรมว่าไม่ชอบมาพากลอย่างไร พยายามผ่านกฎหมายสองฉบับนี้ออกมาให้ได้
ในที่สุด ก็เป็นไปดังคาด เมื่อบรรดาบิ๊กเนมออกโรง คณะรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ ก็จำต้องหยุดร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ชั่วครู่ ดังที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า วันนี้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แต่ครม.ให้ไปหาข้อยุติให้ลงตัว ได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้วให้นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาผ่านความเห็นชอบของ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ไปสู่ขั้นตอนของกฤษฎีกาดูในรายละเอียด นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่าถ้าสมมติผ่านกฤษฎีกาแล้วผ่านไปชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องที่ยังไม่ชัดเจนคุยยังไงก็ไม่จบ ฉะนั้นให้กระทรวงพลังงานไปหารายละเอียดในประเด็นที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ แล้วทำความเข้าใจหาข้อยุติและตกลงกันให้ได้ เพราะนายกฯเชื่อว่าจุดประสงค์เหมือนกันคือได้ผลประโยชน์สูงสุดกับชาติบ้านเมือง ไม่ต้องการให้ภาคการเมืองที่ไม่แน่ใจในวันข้างหน้าจะล้วงลูกขนาดไหนให้มีอิทธิพลน้อยที่สุด
ทางเนติบริกรประจำคณะรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเคยนำเข้าที่ประชุม ครม. มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ครม.ก็ได้รับหลักการเหมือนกฎหมายทั่วไป ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนนำเสนอเข้าสภาฯ อีกครั้ง ซึ่งวันเดียวกันนี้กฤษฎีกาได้รายงานมายัง ครม. ว่าตรวจสอบเสร็จแล้ว รวมถึงได้พิจารณาในประเด็นที่ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเท่าที่จะทำได้ แต่ยังมีผู้ที่ยังไม่พอใจอยู่ จึงกลายเป็นว่ายังมีผู้ที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ 1. กรรมาธิการของ สนช.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ล่วงหน้า 2. กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และ 3. กลุ่มเอ็นจีโอ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 อาจมีความเห็นสอดคล้องกันอยู่มาก แต่กระทรวงพลังงาน ก็ยังมีความเห็นขัดแย้งในหลายประเด็น จึงหารือกับ ครม. ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อ ครม.ได้พิจารณาแล้วได้แบ่งประเด็นขัดแย้งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 อยากให้เขียนบางเรื่องลงไป แต่กระทรวงพลังงาน เห็นว่าไม่สามารถเขียนได้เพราะไม่ทราบว่าสิ่งที่ต้องการให้เขียนคืออะไร ครม.ได้เห็นชอบกับฝ่ายที่ต้องการให้เขียนบางเรื่องลงไป แล้วค่อยไปลงรายละเอียดอีกครั้งในกฎหมายลูก
2. กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 เห็นตรงกันว่ามีบางเรื่องที่ควรจะเขียนในกฎหมาย แต่กระทรวงพลังงานระบุว่าไม่จำเป็นต้องเขียนก็สามารถปฏิบัติอย่างที่ต้องการได้ในทางนโยบาย ซึ่ง ครม.ไม่แน่ใจว่าความเห็นใครถูกใครผิด แต่ถ้ากระทรวงพลังงานแน่ใจว่าไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมายก็ให้ไปชี้แจงประชาชนให้เข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการมัดตัวเองเสียเอง และ 3. กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ต้องการให้เขียนบางเรื่องแต่ติดที่กระทรวงพลังงานระบุว่าเรื่องดังกล่าวหลักการได้มัดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถเขียนได้ ครม.จึงมีมติให้ไปทลายข้อผูกมัดให้สามารถยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้สามารถเขียนไปในกฎหมายได้ หลังจากนี้คงต้องนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ก่อนนำเข้า สนช. ซึ่งจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่ประกอบด้วยคนจากทุกฝ่าย
“สิ่งที่ดีที่กลุ่มคนซึ่งต่อต้านคัดค้านจะได้รับ คือ แต่เดิมหลักการได้เขียนมัดไว้จริง แต่พอทลายข้อจำกัดนี้ออกไป ก็แปลว่ามาตราไหนที่ไม่เคยคิดแก้ แต่กลุ่มต่อต้านคิดแก้ ก็สามารถไปเติมเอาได้ เทคนิคของสภาฯ พอเสนอกฎหมายแล้วในขั้นรับหลักการไประบุมาตรา ไม่สามารถไปแตะมาตราอื่นได้ แต่พอถูกทลายก็มาสามารถทำได้หมด” นายวิษณุ กล่าว
เป้าหมายสูงสุดของการผลักดันร่างกฎหมายปิโตรเลียมให้สำเร็จโดยเร็ว อยู่ตรงนี้ ตรงที่นายวิษณุ บอกว่า หากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับผ่านการเห็นชอบจากสภาฯ ก็จะนำไปสู่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ทว่าแม้แต่นายวิษณุ ก็ยังไม่มั่นใจ “จะทำได้เมื่อไหร่ อย่างไร ยังไม่รู้”
ถ้า ครม.พล.อ.ประยุทธ์ อยากจะก้าวพ้นจากวิกฤตความเห็นที่ขัดแย้งในเรื่องพลังงาน ก็โปรดฟังอีกครั้ง “.... ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์นั้น เริ่มต้นมาจากการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และความเห็นที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงานที่เราเสียผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองมาหลายสิบปี ... ถ้าคิดอยากจะอยู่ในอำนาจ มีอำนาจ ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นมาจากการรู้จักรับฟัง” ดังที่บิ๊กเนมนาม น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ฝากถึงรัฐบาล
ล้อมกรอบ
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ลุงตู่
สาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกจากคณะบุคคลถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เรื่อง ขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ... ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“..... ความเดิมในการดำเนินการแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา และจากภาคประชาชน ดังนั้น การจัดทำรายงานผลการศึกษาจึงมีข้อมูลและความเห็นที่ครบถ้วนและรอบด้าน
“แต่ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รอเสนอรายงานผลการศึกษาปัญหาพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่นั้น กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ….และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ….ชิงตัดหน้าส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยไม่รอรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่อย่างใด จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงพลังงานเสนอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีรายละเอียดไม่ครบถ้วน โดยขาดเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากรายงานผลการศึกษาปัญหาของพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“สาระสำคัญในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ได้เพิ่มคำว่า “แบ่งปันผลผลิต” เข้ามา แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกจริง ร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด จึงนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่แท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ปรับปรุงจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ดังนั้น หากนำไปใช้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ระบุถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับปรากฏในส่วนท้ายบทสรุปผู้บริหาร หน้า (10) ความตอนหนึ่งว่า :
“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม มีระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่จำกัด ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบต่อประชาชนตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ชัดเจน สมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และบทบัญญัติในการจัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมประสิทธิภาพสูงสุดบนพื้นฐานความโปร่งใส และเป็นธรรม มีความคล่องตัวในการดำเนินการ และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”
และในบทที่ 2 หน้า 3 ว่า
“ศักยภาพของแหล่งทรัพยากรอาจจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่ศักยภาพของคนนั้นมีอย่างไม่จำกัด การออกกฎหมายที่เปิดกว้างจะส่งเสริมศักยภาพของรัฐ ส่งเสริมศักยภาพของคนที่มีความคิดก้าวหน้าให้ร่วมพัฒนาประเทศ ปิดกั้นโอกาสของคนไม่สุจริตให้เข้ามาหาช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ เพราะการเปิดกว้างของกฎหมายจะส่งผลให้แข่งขันกันสร้างประโยชน์โดยรวม ผู้ใดมีความรู้ความสามารถก็สามารถเข้าถึงได้ ผิดกับกฎหมายที่ปิดกั้น จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจหน้าที่อยู่ที่กลุ่มคนบางกลุ่มองค์การบางองค์การ การพัฒนาใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญ ยิ่งนานวันเพียงใดความเข้มแข็งของกลุ่มจะยิ่งมีอิทธิพลจนยากจะเปลี่ยนแปลง และในท้ายที่สุดประเทศเทศชาติจะสูญเสียอิสรภาพในด้านนั้นไป
“ดังนั้น ข้อจำกัดของการพึ่งพาผู้อื่นจะส่งผลให้กฎหมายมีลักษณะที่ปิดกั้น สร้างการผูกขาด ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเร็ว จะเป็นการลดการสร้างโอกาสในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐลง และสูญเสียผลประโยชน์ของทรัพยากรของรัฐเพื่อประเทศชาติไปให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่สร้างการผูกขาดนั้น” จึงกราบเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ