xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับกฎหมายปิโตรเลียม ที่ต้องทำให้ใครบางคน “เงิบ”ไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มาเป็นปราการด่านสุดท้ายจริงๆในการออกมาการเสนอกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ส่งต่อให้กฤษฎีกาไปพิจารณาทบทวน 26 ประเด็น เพื่อเพิ่มในกฎหมายให้มีความชัดเจนกว่านี้

ไม่อยากจะไล่เรียงคำสัมภาษณ์และบทความว่ามีใครให้สัมภาษณ์และเขียนบทความกันเอาไว้อย่างไรบ้าง เพราะระหว่างสัปดาห์ที่แล้วที่กลุ่มทุนพลังงานต่างเข้ามารุมใช้สื่อในการโจมตีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กันอย่างหนักหน่วง เพื่อสนับสนุนให้คณะรัฐมนตรีรีบเห็นชอบร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน โดยไม่ต้องฟังเสียงใครทั้งสิ้น

แต่ภารกิจดังกล่าวไม่สำเร็จ จึงกลับกลายเป็นว่าจากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเสนอเพื่อขอความเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ก็กลับกลายเป็นวาระจร “รายงานเพื่อทราบ” ถึงความเห็นที่แตกต่างกันของกลุ่มต่างๆเท่านั้น

แตกต่างจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เคยให้สัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้ว่าได้ข้อยุติและเห็นด้วยจากกลุ่มต่างๆแล้วว่าไม่ต้องแก้ไขกฎหมายใดๆ แต่ไปแก้กฎกระทรวงหรือระเบียบต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงทั้งภาคประชาชน และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่างไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวทางของกระทรวงพลังงานเลย

ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมาฝ่ายสนับสนุนกลุ่มทุนพลังงานต้องมีอันหน้าแตกและ “เงิบ” ไป (อีกครั้งหนึ่ง) !!!

ปัจจุบันนี้ได้มีขบวนการขยายผลไปโจมตีถึงกรรมาธิการวิสามัญศึกษากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าไม่รู้จริงบ้าง หรืออ้างว่าเพราะมีตัวแทนภาคประชาชนหรือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)เข้าไปนั่งในกรรมาธิการฯด้วย ผลลัพธ์จึงสอดคล้องกับแนวทางของภาคประชาชน

คนมันจะเขียนและพูดเท็จก็ต้องหาเรื่องพูดความจริงครึ่งเดียวอยู่ร่ำไป เพราะในความเป็นจริงมีตัวแทนภาคประชาชนที่อยู่ในกรรมาธิการฯวิสามัญชุดดังกล่าวเพียงส่วนน้อยแค่ 4 คน จาก 21 คนเท่านั้น

และข้อสำคัญในกรรมาธิการฯชุดนั้นก็มีตัวแทนทั้งจากกระทรวงพลังงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ตัวแทนอดีตผู้บริหารกิจการพลังงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย ฯลฯ การที่กรรมาธิการฯมีความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับภาคประชาชน ทั้งๆที่ภาคประชาชนมีเสียงส่วนน้อยนั้น ก็เพราะเหตุว่า... กรรมาธิการฯเหล่านั้นเขามีความเป็นวิญญูชนที่จะพิจารณาด้วยเกียรติหลังจากฟังการถกเถียงกันอย่างเผชิญหน้า จึงได้รู้ว่าอะไรถูกและอะไรผิด และสิ่งใดเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่างหาก

และนี่คือเหตุผลที่แท้จริงใช่หรือไม่ที่ว่า ทำไมในการพูดคุยระหว่างกระทรวงพลังงาน กับภาคประชาชน ที่ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล เป็นประธาน หรือมี นายวิษณุ เครืองาม กระทรวงพลังงานจึงไม่เคยจะส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาพูดคุยเลย มีแต่ส่งข้าราชการที่ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แถมยังโต้แย้งอะไรภาคประชาชนไม่ได้ด้วย ได้แต่รับฟังเฉยๆเหมือนไม่แยแส แต่ไม่ตอบคำถาม หรือหาทางออกให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

แต่คนในกระทรวงพลังงานหรือกลุ่มทุนพลังงานบางคนกลับชอบวิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ชวนเชื่อ) ฝ่ายเดียว ไม่ต้องการเวทีโต้แย้ง ก็เพราะไม่สามารถโต้แย้งข้อมูลของภาคประชาชนในทางสาธารณะได้ ใช่หรือไม่?

แม้ดูเหมือนน้ำหนักของภาคประชาชนจะชนะในยกนี้ แต่ต้องไม่ลืมน้ำหนักที่แท้จริงและน่ายกย่อง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ยืนหยัดอยู่บนความจริงและความถูกต้องมาโดยตลอด ทั้งๆที่กลุ่มทุนพลังงานมีเงินมากมายมหาศาล และมีอิทธิพลทางการเมืองสูงต่อทุกรัฐบาล ตรงนี้ต่างหากที่ประชาชนไม่ควรมองข้ามไปโดยเด็ดขาด

โดยเฉพาะน้ำหนักของคณะบุคคลที่มาร่วมลงนามคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ดักทางก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารเพียง 1 วัน นั้น มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนใจอยู่อย่างแน่นอน

เพราะคณะบุคคลที่มาร่วมลงนามนั้น ล้วนเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเคารพเชื่อถืออย่างสูงและมีน้ำหนักทางการเมืองสูงด้วย อาทิ เช่น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีต
ประธานสภาผู้แทนราษฎร, น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุลชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก, นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, พล.ร.อ.บรรวิทย์ เก่งเรียน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ดร.นพ สัตยาศัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจ, นายอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจ, นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายสุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์ อดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, พร้อมด้วยรายชื่อผู้ที่ขับเคลื่อนอยู่ในเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)ครบทีม

คนเหล่านี้มีน้ำหนักพอไหมที่จะยับยั้งให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนกฎหมายปิโตรเลียมเสียใหม่ !?

อีกทั้งยังมีประชาชนยังมาเข้าร่วมลงนามรายชื่อแบบฉุกเฉินอีกกว่า 400 คน

ดังนั้นการที่กรรมาธิการฯวิสามัญของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณะบุคคลที่สังคมให้ความเคารพนับถือ, เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พร้อมด้วยพี่น้องประชาชนที่ห่วงใยชาติบ้านเมืองมาเห็นด้วยในสิ่งเดียวกัน และโดดเดี่ยวกลุ่มทุนพลังงานและกระทรวงพลังงานนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า “กฎหมายของกระทรวงพลังงานทั้ง 2 ฉบับ” มีปัญหาจนคนเหล่านี้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด


แต่การเก็บตกคำสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีจึงทำให้เห็นว่าน่าจะมีการรายงานข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงต่อคณะรัฐมนตรีอีกหลายประเด็นหรือไม่ เช่น

1.ประเด็นที่อ้างว่าเรื่องการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้นผู้ที่คัดค้านไม่มีรายละเอียด และตอบไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เสนอรูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการ และเสนอเป็นร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว ในนาม พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม

2.มีการอ้างว่าข้อมูลภาคประชาชนที่อ้างว่าประเทศไทยมีน้ำมันมากนั้นไม่เป็นความจริง แต่ในความเป็นจริงคำว่าภาคประชาชนไม่รู้ว่าหมายถึงใคร และคนไหน แต่สำหรับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการซึ่งระบุข้อมูลตัวเลขของกระทรวงพลังงานที่ว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติมาก และมากพอสำหรับคนทั้งประเทศหากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปนำเข้าก๊าซมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตปิโตรเคมีเอาเอง

3.มีการอ้างว่าถ้าอีก 5-6 ปีประเทศเกิดพลังงานไม่พอ ประชาชนที่ออกมาคัดค้านต้องออกมารับผิดชอบด้วย ประเด็นนี้จะให้ประชาชนรับผิดชอบก็ได้ถ้าให้อำนาจภาคประชาชนไปบริหารและรัฐบาลยอมทำตามข้อเสนอของภาคประชาชนทั้งหมด ประเทศไทยจะไม่มีทางขาดไฟฟ้าได้เลย แม้จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนิวเคลียร์แห่งใหม่เลยก็ตาม อีกทั้งยังทำให้กฎหมายปิโตรเลียมเป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย แต่ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉยและไม่ทำตามนายกรัฐมนตรีต่างหากที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่มาให้ประชาชนมารับผิดชอบ

จากบุคคลที่ปรากฏที่มาร่วมลงนามในการคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีประสบการณ์สูงหลายด้าน อยู่ในระดับการบริหารจัดการ และมีคุณวุฒิทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คัดค้านเท่านั้น แต่ยังมีทางออกอีกด้วยรวมไปถึงการเสนอเป็นร่างกฎหมายของภาคประชาชนอีกด้วย

ซึ่งหากแม้กระทรวงพลังงานจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นอะไร แต่กระทรวงพลังงานจะต้องให้เหตุผลให้ได้ว่า ทำไมจึงไม่ร่างกฎหมายให้ครอบคลุมจุดอ่อนทั้งปวงที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษาปัญหาการบังคับกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับที่มีมากกว่า 50 ประเด็น?

ถึงวันนี้กระทรวงพลังงานก็ยังให้คำตอบที่กระจ่างชัดไม่ได้ นอกจากคำสัมภาษณ์ล่าสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปรยว่าอาจทำให้ “ไม่ยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว” ซึ่งคำว่าไม่ยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว ก็ย่อมหมายถึงการลดการใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจให้น้อยลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผลประโยชน์แห่งชาติที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลขนาดนี้ การใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลมากหรือคณะบุคคลมากนอกจากจะถูกครหาได้ง่ายถึงความไม่โปร่งใสแล้ว ยังมีโอกาสถูกซื้อดุลยพินิจได้ด้วยจริงหรือไม่?

ในทางตรงกันข้ามถ้าเราสร้างกฎหมายกลไกที่บังคับให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลขั้นต่ำ การใช้ดุลยพินิจจะอยู่เพียงแค่การกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูลเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ที่เสนอผลตอบแทนรัฐสูงสุดก็จะเป็นผู้มีสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมไม่ดีกว่าหรอกหรือ?

ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)นั้นเป็นสามัญสำนึกธรรมดามากในการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศด้วยการสร้างกลไกที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีอย่างแท้จริง ในขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านนั้นกลับกลับพยายามรักษาการผูกขาดโดยไม่ต้องให้มีการประมูลแข่งขันให้เกิดได้จริงใช่หรือไม่?

คนจึงมักโจมตีว่าพวกเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นั้นเป็นพวกสังคมนิยม หรือ พวกอนุรักษ์นิยม แต่ในความเป็นจริงข้อเสนอของ คปพ.คือการขจัดการผูกขาดของทุนสามานย์และสร้างการแข่งขันเสรีให้เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดต่างหาก

แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทกลุ่มทุนพลังงาน เพราะสิ่งที่ยังต้องจับตาหลังจากนี้ยังมีอีก 4 ประเด็นสำคัญ

1.ที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะต้องกฤษฎีกามีการพิจารณากฎหมายใน 26 ประเด็นนั้น 26 ประเด็นที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง รัฐบาลควรจะต้องเปิดเผยอย่างโปร่งใส่ และจะต้องพิจารณาด้วยว่าครอบคลุม 50 กว่าประเด็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติครบถ้วนแล้วหรือไม่? ถ้าไม่ครบถ้วนเพราะเหตุผลใด? ซึ่งรัฐบาลถ้ามีความจริงใจควรให้มีการพิจารณาร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกระทรวงพลังงาน และ ฝ่ายคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และฝ่ายเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เพื่อให้ครบประเด็นก่อนส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

2.เนื่องจากมีกฤษฎีกาบางท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ที่ร่างกฎหมายที่มีปัญหานี้ขึ้นมาเอง กฤษฎีกาในฐานะองค์กรที่รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิก็ไม่ควรให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในอดีตและปัจจุบันมาวินิจฉัยกฎหมายที่มีข้อขัดแย้งอยู่ในขณะนี้

3.เนื่องจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อกฎหมายฉบับนี้ได้เคยสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้ระบุว่า “ให้ศึกษาประเด็นข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยด้วย” ดังนั้นเมื่อกฤษฎีการมีหน้าที่รับเรื่องต่อจากคณะรัฐมนตรีก็ต้องศึกษาประเด็นข้อร้องเรียนทั้งปวงของภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรให้โอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ชี้แจงต่อกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดการบันทึกถึงการตัดสินใจของกฤษฎีกามีความสมบูรณ์ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

4.เนื่องจากมีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมาธิการ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แต่จะเพิ่มจำนวนจาก 15 คน เป็น 30-35 คน ทำให้เปลี่ยนโครงสร้างจำนวนในกรรมาธิการใหม่ คำถามจึงมีอยู่ว่าการเพิ่มจำนวนกรรมาธิการดังกล่าวนั้นมีเจตนาลดสัดส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานหรือไม่ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติควรแสดงความจริงใจด้วยการงดเว้นการตั้งผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพื่อไม่ให้รัฐบาลเกิดความเสื่อมเสียว่าที่ต้องการเพิ่มจำนวนกรรมาธิการฯนั้นเพื่อให้ผลของคณะกรรมาธิการเป็นไปตามธงของกระทรวงพลังงานอยู่เช่นเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นความขัดแย้งนอกสภาก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี

และไม่ว่าเรื่องการต่อสู้เรื่องพลังงานจะเป็นไปต่อไปอย่างไร แต่อย่างน้อยเราก็จะผ่านไปได้อีกปีหนึ่ง ที่เหล่าสาวกกลุ่มทุนพลังงานไม่สามารถ “งาบ”ได้ง่ายๆเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และต้อง “เงิบ” ไปอีกยกหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น