xs
xsm
sm
md
lg

CSR บนวิถีทาง ม.รังสิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๐ ติดตาม ม.รังสิต ขับเคลื่อนองค์กรด้วยซีเอสอาร์
๐ เริ่มจากการมีผู้นำเป็นต้นแบบและสร้างอุดมการณ์ สะท้อนผ่านการเปิดหลักสูตร-การสร้างวัฒนธรรมองค์กร-การยกย่องบุคคลตัวอย่าง
๐ สำคัญคือทั้งอาจารย์และนักศึกษาล้วนได้เรียนรู้และส่งต่อวิธีคิดและประสบการณ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
๐ ท้ายที่สุดคือการมีตัวอย่างเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต
ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการทำบุญหรือทำดี แต่ต้องมีหรือเริ่มที่อุดมการณ์เป็นหลักยึดหรือแนวปฏิบัติขององค์กร ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตมีความชัดเจนอย่างมากในเรื่องนี้ เนื่องจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กร เป็นผู้ก่อตั้ง สร้าง และขับเคลื่อนองค์กรมาถึงปัจจุบัน มีตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่การมีอุดมการณ์ คือการมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นอย่างเด่นชัดในการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคม โดยสะท้อนผ่านคำประกาศอุดมการณ์ของม.รังสิตว่า “ขุมพลังทางปัญญาของชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศ สู่สังคมธรรมาธิปไตย”


มีผู้นำเป็นต้นแบบและสร้างอุดมการณ์ สะท้อนผ่านการเปิดหลักสูตร-การสร้างวัฒนธรรมองค์กร–การยกย่องบุคคลตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติ อุดมการณ์หรือหลักปฏิบัติของม.รังสิตมี 3 ประการ เริ่มจาก “จุดยืน” หรือ Positioning ของมหาวิทยาลัยคือ “ขุมพลังทางปัญญา” ต่อจากนั้นคือ “ทำอะไร” หรือ Process ของมหาวิทยาลัยคือ “เพื่อการปฏิรูปประเทศ” โดยดูว่าอะไรเป็นปัญหาของบ้านเมืองและต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น พลังงานซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศมีปัญหาและจำเป็นต้องปฏิรูป สื่อซึ่งมีปัญหาเรื่องการตกอยู่ภายใต้อำนาจทุนจึงต้องมีการปฏิรูป เป็นต้น

และสุดท้ายคือ “จุดมุ่งหมาย” หรือ Goal ของมหาวิทยาลัยคือ “เพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย” หมายถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งมี 3 ระดับ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ระดับแรก-อัตตาธิปไตย โดยการที่ผู้นำเป็นใหญ่ซึ่งหลายประเทศเติบโตมาได้ด้วยแนวทางนี้ เช่น สิงคโปร์ จีน เป็นต้น ระดับสอง-ประชาธิปไตย โดยเสียงส่วนใหญ่เป็นใหญ่ แต่ปัญหาคือต้องการเสียงส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพ ระดับสาม-ธรรมาธิปไตย คือสังคมที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ความดีงาม ไม่ได้สนใจเสียงส่วนใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า หลายหลักสูตรที่ ม.รังสิต เปิดสอนไม่สามารถทำให้อยู่รอดหรือสร้างผลกำไรทางธุรกิจ แต่เพื่อเป็นพลังความรู้และปัญญาให้กับประเทศ เช่น หลักสูตรปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งยากที่จะมีนักศึกษาให้ความสนใจ เพราะหางานทำยาก นอกจากคนที่มีเป้าหมายจะเป็นผู้นำทางการเมืองหรือสังคม เพราะเรียนเพื่อเป็นนักคิดและนักวิชาการ หรือหลักสูตรดนตรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวเท่านั้นที่เปิดสอน เพราะมองว่าเป็นเรื่องสุนทรียะของชาติ เพื่อให้นักศึกษาหรือบุคลากรของชาติมีสิ่งนี้ หรือหลักสูตรการแพทย์แผนตะวันออก เพื่อให้องค์ความรู้หรือภูมิปัญญาทางการแพทย์ของท้องถิ่นซึ่งมีคุณค่าได้คงอยู่และพัฒนาต่อไป

ด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และต้องการจะเป็นนักการทูต ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แต่หักเหเมื่อได้ทุน ก.พ. ไปเรียนต่อต่างประเทศและเห็นว่าประเทศไทยมีความขาดแคลนในหลายๆ ส่วน เช่น แพทย์ที่มีไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ จึงเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอน ฯลฯ โดยมีหลักคิดคือ “อะไรขาดหรือยังมีไม่พอ” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ม.รังสิต สามารถสร้างสมดุลได้อย่างมากระหว่างการทำธุรกิจกับการทำเพื่ออุดมการณ์ โดยสามารถเปิดคณะที่มีนักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาเรียนและสามารถสร้างผลกำไรทางธุรกิจ กับคณะที่มีนักศึกษาจำนวนน้อยแต่ช่วยหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ให้คงอยู่ต่อไป



Goal ของมหาวิทยาลัยคือ “เพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย”
ในมุมมองของมหาวิทยาลัยรังสิต ถ้าถามเรื่องซีเอสอาร์กับสถาบันอุดมศึกษาสามารถมองจาก 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ การเลือกเปิดหลักสูตร เพราะเป็นหัวใจหลักของการหารายได้ของมหาวิทยาลัย แต่สำหรับ ม.รังสิต มีความชัดเจนว่าเลือกเปิดสาขาเพราะความขาดแคลนของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ใช้ความอยู่รอดทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง แต่เลือกอุดมการณ์ที่มุ่งประโยชน์เพื่อสังคมเป็นหลัก

เรื่องที่สอง คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งปลูกฝังให้มีความคิดว่าเมื่อมองว่าถูกต้องก็ไม่ต้องกลัว เช่น การที่ผู้นำออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือรายได้ขององค์กร ทำให้ปัจจุบันมีนักวิชาการที่มีอุดมการณ์และบทบาทในสังคมมาเป็นผู้บริหารและอาจารย์ประจำ อย่าง ศ.ดร.ธีรยุทธ บุญมี, รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์, ศ.ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์, ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ และ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

หรือเมื่อไม่นานมานี้ มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตยื่นข้อเรียกร้องให้ศูนย์ดำรงธรรมออกกฎหมายห้ามร้านสะดวกซื้อในละแวกใกล้กับสถาบันการศึกษาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่นักศึกษา เพราะมองว่าไม่ต้องการให้เยาวชนอยู่ใกล้หรือเข้าถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดเหตุหรือการสร้างปัญหาในสังคมง่ายเกินไป ขณะเดียวกันต้องการสร้างค่านิยมใหม่ให้เยาวชนตระหนักว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือต้นเหตุของการเกิดปัญหาต่างๆ ทั้งต่อตนเองและสังคม

เรื่องที่สาม คือ การยกย่องหรือให้ความสำคัญกับบุคคลตัวอย่างที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เช่น การมอบรางวัลฐานันดร 4 ทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ผลิตผลงานสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยจะมอบให้ในพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551- ปัจจุบัน เช่น รายการสู้เพื่อสิทธิ์ ทางช่องThai PBS รายการมองโลกมองเรา ทางช่อง NEWS 1 รายการหอมแผ่นดิน ทางช่อง MCOT 4 และเว็บไซต์ www.thaileak.com เป็นต้น เพื่อเป็นการเชิดชูหรือยกย่องและเป็นกำลังใจ

รวมทั้ง ยังมีการมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะไม่เน้นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ แต่เน้นบุคคลที่ทำคุณความดีต่อสังคม โดยคัดเลือกบุคคลหรือนักต่อสู้ตัวเล็กๆ เช่น ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง แด่ นายเฉลา ทิมทอง และนางดาวัลย์ จันทรหัสดี ซึ่งมีบทบาทในการต่อสู้คัดค้านโครงการบ่อบำบัดนํ้าเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ หรือปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง แด่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่ช่วยปลูกฝัง พัฒนาและหล่อหลอมคนในองค์กร ซึ่งรวมทั้งอาจารย์และนักศึกษาให้มีความคิดความเข้าใจในเรื่องของสังคมธรรมาธิปไตยหรือการรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีวิชาสังคมธรรมาธิปไตย รหัสวิชา rsu101 เป็นวิชาบังคับที่นักศึกษาทุกคนต้องเรียน เป็นการเรียนแบบยกตัวอย่างปัญหา (problem based learning) เพื่อให้เกิดการขบคิดและเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงตัวปัญหาและพยายามหาทางออกอันหลากหลาย ด้วยการอภิปรายแล้วจึงหาข้อสรุป ซึ่งในหลายๆ เรื่องไม่มีคำตอบแบบถูกหรือผิด
เช่น ตำรวจมาจับนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ซื้อบริการจากเด็กสาววัยรุ่น ถามว่าใครผิด? ข้อแรก เด็ก เพราะมีงานอีกมากมายให้เลือกทำเพื่อหาเงิน ข้อสอง ผู้ซื้อบริการเพราะการค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หรือข้อสาม ตำรวจ เพราะควรจะห้ามปรามก่อนที่ผู้ซื้อบริการจะกระทำผิด แต่กลับรอจนการกระทำผิดสำเร็จ ฯลฯ นักศึกษาจะอภิปรายเหตุผลในมุมมองของตนและจะช่วยกันโหวตออกเสียงว่าเหตุผลของใครได้รับการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียน

“อยากย้ำว่าสิ่งสำคัญคือความกล้าแสดงออกในจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจน กับเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งในมุมหนึ่งเป็นเรื่องของอุดมการณ์ บุคลิกพิเศษของคนในองค์กร ซึ่งเป็นเหมือนการส่องกระจกเห็นตนเอง แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการต้องหันไปถามสังคมว่าเห็นอย่างไร หรืออีกมุมหนึ่งเมื่อนักศึกษาหรืออาจารย์ได้ทำก็จะเป็นเรื่องของการได้เรียนรู้ในสิ่งที่ทำและเกิดการส่งต่อ”
กำลังโหลดความคิดเห็น