ครม.เปิดรายชื่อคณะทำงานร่วมพิจารณาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 หลังมีมติให้ชะลอเปิดสัมปทาน ตามกำหนดเดิมวันที่ 16 มี.ค.นี้ออกไปก่อน ด้านภาคประชาชนขอบคุณนายกฯ รับฟังพร้อมให้ข้อมูลเพิ่ม “รสนา” ชี้ไม่ควรกำหนดเวลา เพราะไม่รู้ ใน 3 เดือน กม.จะแก้เสร็จหรือไม่
วันนี้ (24 ก.พ.) ภายหลังการหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่ามีมติให้ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ตามกำหนดเดิมวันที่ 16 มี.ค.นี้ออกไปก่อนจนกว่าจะแก้กฏหมายปิโตรเลียมแล้วเสร็จ โดยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก้ไขภายใน 3 เดือน แล้วค่อยเดินหน้าต่อไป
ขณะที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รายชื่อคณะกรรมการร่วมในการพิจารณาการเปิดทาง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาคเอกชนที่มีความสนใจยื่นขอสำรวจที่จะปิดรับในวันที่ 16 มีนาคมนี้ โดยทางกระทรวงพลังงาน ยังคงย้ำจุดยืนเดิมในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ”
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้โพตส์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีนี้ว่า “ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ ประกาศเลื่อนสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ออกไปเพื่อแก้ไขกฎหมายก่อน
“ผมต้องขอขอบคุณท่านนายกฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่รับฟังข้อทักท้วงของภาคประชาชน และโดยส่วนตัวผมยินดีจะให้ข้อมูลที่จะใช้พิจารณาแก้ไขกฎหมายและกติกาต่างๆ เต็มที่ ขอขอบคุณ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี บรรดาอาจารย์และผู้อื่นที่ได้ช่วยกลั่นกรองจดหมายเปิดผนึก และผมขอขอบคุณ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และภาคประชาชนผู้อื่นอีกจำนวนมากที่ได้ช่วยให้ข้อมูลและนำการเคลื่อนไหว ประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ”
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า การเลื่อนครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงข้างน้อยของประชาชนมาโดยตลอด เรายอมรับได้แต่ต้องดูก่อนว่ากฎหมายจะแก้ออกมาอย่างไร เพราะการแก้กฎหมายนั้นหัวใจสำคัญคือทำอย่างไรให้ทรัพยากรของประเทศ เมื่อมีการสำรวจ ขุด เจาะ ผลิตออกมาใช้แล้วจะทำให้ประเทศได้รับผลตอบแทนและเป็นธรรมที่สุด
ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องมาตลอด คือ การแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพราะไม่ทันสมัย หากมีการแก้ไขต่อไปข้างหน้าจะมีความโปร่งใส ประชาชนจะคัดค้านน้อยลง เราดีใจที่นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยและยอมรับฟังประชาชนเสียงข้างน้อย เพราะเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันไม่จบในหลายรัฐบาล การที่เลื่อนเปิดสัมปทานออกไปถือว่านายกฯ ทำด้วยใจบริสุทธิ์ และถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปพลังงาน
มีรายงานว่า ครม.ได้หารือถึงข้อเสนอเบื้องต้นของภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่ได้มีการเสนอเงื่อนไขตั้งคณะทำงาน (เพิ่มเติม) เรื่องการแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย จำนวนคณะทำงานหรือคณะกรรมการ ต้องยึดหลักความเท่าเทียม
นอกจากนี้ คณะทำงานร่วมฯ จะไม่มีการลงคะแนนใดๆ ทั้งสิ้น และข้าราชการในคณะทำงานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกรณีหากนายณรงค์ชัยไม่มาประชุมในฝ่ายรัฐ ต้องมอบหมายตัวแทนรัฐมนตรีที่สามารถตัดสินใจได้ เพราะหากตัดสินใจไม่ได้ก็ไม่ประโยชน์และเสียเวลาด้วยกันทุกฝ่าย ขณะที่ฝ่ายมวลชนกลุ่มต่างๆ ได้ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ เข้าสังเกตการณ์และฟังการเจรจา เพื่อความโปร่งใส
มีรายงานว่า สำหรับรายชื่อเบื้องต้นของฝ่ายประชาชนที่จะเข้าร่วมกับคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เนื่องจากฝ่ายรัฐยังไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน จึงอาจมีการประกาศเพิ่มเติมในภายหลัง
สำหรับคณะกรรมการร่วมในส่วนของรัฐบาล เช่น นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการคลัง นายมนูญ ศิริวรรณ สปช.ด้านพลังงาน นายไกฤทธิ์ นิลคูหา
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เคลื่อนไหวเรื่องขอให้รัฐบาลชะลอการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่รับฟังเสียงของภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับข้าราชการกระทรวงพลังงานที่ไม่ไว้ใจกัน การเปิดโอกาสให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมทั้งหมด เพื่อเปิดช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด โดยการเลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ 21 จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเสร็จ เป็นก้าวแรกสู่การปฏิรูปพลังงานที่แท้จริง และขอให้ข้าราชการอย่าติดยึดคิดว่าประชาชนเป็นคู่ปรปักษ์ แต่ควรร่วมหารือเพื่อแก้ไขปิดช่องว่างเพื่อให้ประโยชน์ในกรณีนี้ตกกับประชาชนและชาติมากที่สุด