xs
xsm
sm
md
lg

คนดังเพียบ ร่วมลงนามจดหมายเปิดผนึกถึง “บิ๊กตู่” ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีตนักการเมือง นักวิชาการ และกูรูด้านพลังงาน เล็งยื่นจดหมายเปิดผนึก ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้บิ๊กตู่ พิจารณา วันที่ 16 ก.พ. ประตู 4 ทำเนียบฯ ชี้ควรชะลอไปก่อน แนะทางที่ดีควรแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 56 ก่อน เนื่องจากเสียผลประโยชน์มหาศาล เตือนอย่าฟังความข้างเดียวน้ำมันโลกภาวะล้นตลาดไม่มีทางหมดภายใน 5 ปี เปิดดีเบตหาข้อสรุป หาทางออกไม่ได้ควรทำประชามติให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทรัพยากรของประเทศ

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่โรงแรมเอเชีย มีการแถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 พร้อมผู้เข้าชื่อซึ่งมีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองและวิชาการหลายคน อาทิ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต รมว.ต่างประเทศ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ดร.นพ สัตยาสัย วิศวกรอาวุโส นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกมล กมลตระกูล คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เปิดเผยว่า จดหมายเปิดผนึกจะเป็นลักษณะความรู้และข้อคิดเห็นทางวิชาการ เนื่องจากการที่รัฐบาลกำลังจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยกระทรวงพลังงานจะปิดยื่นประมูลในวันที่ 18 ก.พ. นี้ กำลังสร้างความขัดแย้งที่อาจมีแนวโน้มขยายออกไป ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจ ก่อให้เกิดปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น คณะผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตข้าราชการ และบุคคลที่เคยทำคุณงามความดีแก่ประเทศ ร่วมกันลงนามขอให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานออกไป โดยให้มีการสำรวจแหล่งผลิตในประเทศพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ขอเรียกว่ารัฐบาลเฉพาะกาล เมื่อเข้ามายึดอำนาจแล้ว ต้องเข้ามาช่วยประชาชน ควรใช้อำนาจในทางที่ดีเพื่อให้ประชาชนดีใจ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มีบุคคลปรับเปลี่ยนปิโตเลียมให้กลายเป็นบริษัท มีการถือหุ้นมูลค่ามากทำให้เกิดประโยชน์กับคนบางกลุ่มทั้งที่เป็นสมบัติของชาติ จึงขอให้แแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ในมาตรา 56 ที่ว่าสัมปทานเป็นของผู้ขุดเจาะ การขาย การขุดพบเป็นสิทธิ์ของผู้ได้รับสัมปทาน ทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง จึงขอร้องให้ระบบสัมปทานต้องถูกแก้ไขเสียใหม่ มาเป็นระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เงินเข้ารัฐ ที่สำคัญอำนาจการแก้กฎหมายอยู่ในมือ สนช.ควรจะต้องแก้ไขก่อนเปิดสัมปทาน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ที่มีน้ำมันถูกขุดไปแล้วจำนวน 1 ส่วน 5 ยังเหลืออีกจำนวนมาก แต่ประชาชนกลับต้องใช้พลังงานในราคาที่ไม่เป็นธรรม ถูกอ้างว่าน้ำมันจะหมดไปต่างๆ นานา จึงมีข้อเสนอหลักให้ 1. ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม 2. เปิดการสัมมนาให้ฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายไม่เห็นด้วยมาถกเถียงข้อดี ข้อเสียหาข้อสรุปกัน 3. ถ้ายังหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ควรต้องจบลงที่การทำประชามติ

ดร.นพ สัตยาสัย วิศวกรอาวุโส กล่าวว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมสามารถแยกออกได้เป็นสองส่วน คือ การสำรวจและการผลิต จึงสามารถที่จะแยกทำไปทีละส่วนก่อนเช่น ให้สำรวจลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนที่จะมาต่อในส่วนของการผลิต จึงเป็นการไม่เสียเปรียบทั้งเจ้าของ คือ ประเทศไทยและบริษัทต่างชาติ ว่าพอสำรวจแล้วสัญญาต่างๆจะเป็นอย่างไรบ้าง

นายกมล กมลตระกูล คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลซื้อหุ้นคืนจาก ปตท. 100% แล้วนำมาตั้งบริษัทของประเทศ ต้องการให้ศาลไทยตัดสินคดีพิพาทระหว่างไทยกับเอกชน แก้กฎหมาย ต้องการให้ยกเลิกอนุญาโตทั้งหมด ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตเลียม 2514 ต้องการให้แบ่งปันทรัพยากรทั้งหมด เช่น ทองคำ แร่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการด้านทรัพยากร ให้มีการลงประชามติก่อนเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และให้มีการจัดการรายได้จากทรัพยากรที่มีกำไรไปละ 2 แสนล้าน เพื่อนำรายได้มาอุดหนุนการศึกษา การแพทย์ นำมาสร้างระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า มีข้อเสนอ 5. ข้อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาก่อน คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เกิดขึ้นในช่วงภาวะสงครามเย็นซึ่งผู้ได้ประโยชน์ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ควรยกเลิกมาตรา 56 เพื่อนับหนึ่งใหม่ ในการจัดสรรเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ควรจ้างบริษัทมาสำรวจพื้นที่ให้ทราบว่าแหล่งไหนมีน้ำมันและก็าซมากหรือน้อยแค่ไหน ขอให้เชื่อมั่นว่าภายในอีก 5 ปี พลังงานจะไม่มีทางหมดไปตามคำกล่างอ้างของบางกลุ่ม ดุได้จากภาวะน้ำมันล้นตลาดโลก ถ้า พ.ร.บ. 2514 ยังคงอยู่เราจะยังต้องใช้ราคาน้ำมันแพงตามราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออกเราก็ยังต้องใช้ราคาต่างชาติจากบริษัทข้ามชาติหรืออ้างอิงจากสิงคโปรอยู่ดี ฉะนั้น ควรกลับมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ข้อเรียกร้องของคณะ ต้องการให้ 1. รัฐบาลได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยคณะเนื่องจากประเทศไทยมีการขุดพบน้ำมันดิบและคอนเดนเสตอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก ทำให้ขณะนี้ประเทศมีอำนาจในการการต่อรองกับนานาชาติมากขึ้น อีกทั้งไม่มีวิธีการเลือกผู้รับสัมปทานอย่างเป็นธรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขผลประโยชน์ของรัฐ เงื่อนไขในการควบคุมการผลิต เงื่อนไขด้านภาษีและการคลัง ทำให้มีจุดอ่อนหลายประการที่ต้องมีการแก้ไขก่อน 2. รัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานในประเทศไทยที่จัดทำข้อมูลที่เป็นกลางอย่างแท้จริงทำได้ยาก โดยบริษัทพลังงานมีการให้ทุนอุดหนุนหลายองค์กร รวมทั้งหน่วยงานของทางราชการจึงทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานด้วย ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องได้

3. รัฐบาลบริหารจัดการความมั่นคงทางพลังอย่างถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่ โดยคณะฯเห็นว่าด้วยกับหลักการความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้น จึงควรมีทางเลือกในระบบจัดการพรัพยากรที่รัฐได้ผลตอบแทนปิโตรเลียม แทนการให้สัมปทานที่ผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดจะตกเป็นของเอกชน ส่วนในด้านการใช้ทรัพยากรนั้น ปรากฏว่า ปริมาณก๊าซที่ผลิตในประเทศไทยใช้ผลิตไฟฟ้าเพียง 67% ก๊าซที่เหลือส่วนใหญ่เปิดห้บริษัทอุตสาหรกรรมปิโตรเลียมมีสิทธิ์ใช้ก่อน แต่เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องช่วยตัวเองในการจัดหาแหล่งนำเข้าปิโตรเลียม โดยเก็บก๊าซในประเทศเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนไว้ใช้ยามจำเป็นให้มากที่สุด สอดคล้องกับนโยบายบริหารยุทธปัจจัยที่ดี ประชาชนจึงประสงค์จะให้รัฐบาลนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดมาเปิดเผยให้ทราบ และ 4. รัฐบาลจัดการทรัพยากรด้วยความรอบคอบและเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เคยสำรวจแหล่ปิโตรเลียมที่มีอยู่ในประเทศว่ามีศักยภาพแท้จริงมากเท่าใด ก่อนเปิดให้สัมปทานกับเอกชน ระบบนี้จึงมีลักษณะเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้มีการแข่งขันน้อย ผู้รับสมัปทานรายเก่าได้เปรียบ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทำการสำรวจก่อน เพื่อความเป็นธรรมกับเอกชนอย่างเท่าเทียม

ขอให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ไว้ก่อนเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยให้รัฐเร่งดำเนินการควบคู่กันระหว่างการสำรวจ พร้อมทั้งแก้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในรูปแบบอื่นที่รัฐได้รับผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียม เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต การจ้างผลิต เพื่อให้ประชาชนจัดการทรัพยากรปิโตเลียมได้อย่างเหมาะสม โดยควรพิจารณาใช้ระบบจ้างผลิตเพราะมีอุปกรณ์พร้อม และมีความเสี่ยงต่ำ เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช เป็นต้น

ทั้งนี้ จดหมายลงนามจะถูกยื่นให้รัฐบาลในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4 เพื่อให้ข้อเสนอได้รับการแก้ไขเพื่อเป็นทางออกในด้านพลังงานไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น