ภาคประชาชนตบเท้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง"บิ๊กตู่" 16 ก.พ.นี้ เรียกร้องให้ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 ออกไปอย่างน้อย 2ปี เพื่อปรับปรุงกฏหมายล้าสมัยป้องเป็นทาสยาวต่ออีก39 ปี โดยมีอดีตบิ๊กร่วมลงนามทั้งประสงค์ สุ่นศิริ -ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ- อาทิตย์ อุไรรัตน์ "ประสงค์"กรีดยับเล็งแต่งเพลง "ทหารยังจำได้ไหม" ทวงถามคืนความสุขประชาชน ส่วนสนช. ตั้งกมธ.ศึกษาปัญหาพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วันที่ 16 ก.พ.นี้ตนและประชาชนจะนำหนังสือเปิดผนึกยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 โดยคาดว่าประชาชนจะปักหลักอยู่เพื่อรอคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนและแม้ว่าจะมีกฏอัยการศึก แต่ประชาชนทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้มาประท้วงเรื่องการเมืองแต่อย่างใดและหากเป็นไปได้ต้องการให้รัฐเปิดเวทีรับฟังเสียงจากประชาชนและรัฐโดยมีนายกฯเป็นประธานรับฟัง
ทั้งนี้หนังสือเปิดผนึกมีการลงนามจากคณะบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตราชการ และนักวิชาการ ได้แก่ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรมว.กระทรวงต่างประเทศ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.กระทรวงการคลัง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดร.นพ สัตยาศัย วิศวกรอาวุโส รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อ.คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. วิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารณ์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ นายกล กมลตระกูล คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตน
"หนังสือดังกล่าวจะมีประชาชนร่วมลงนามอีกส่วน โดยสาระสำคัญจะได้เสนอแนะให้รัฐชะลอการเปิดสัมปทานฯไว้ก่อนเป็นเวลาไม่เกิน2 ปีโดยให้เร่งให้เกิดการว่าจ้างสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมในแหล่งเหล่านี้ พร้อมแก้กฏหมายเพื่อให้รัฐได้รับผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียม เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือPSC และการจ้างผลิต โดยแหล่งใหม่ให้ใช้ PSC แต่แหล่งที่จะหมดอายุให้ใช้ระบบการจ้างผลิต"
นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ร่วมลงนามทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีโดยต้องการเรียกร้อง 1.ให้มีการชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ออกไปก่อน 2.ให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและ3. หากที่สุดยังตัดสินใจไม่ได้ ขอให้ทำประชามติในเรื่องดังกล่าว
"เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะสีไหน ในอดีตเราเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลมีการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมาใช้สมัยพล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจต่อมาปี 2544 ก็มีมนุษย์ตนหนึ่งมาแปรรูปเป็นบมจ.ปตท. จึงเป็นปัญหามาทุกวันนี้ ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรแผ่นดินไม่ใช่แบ่งให้กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นขอให้ชะลอไว้ก่อน ทหารที่เคยสาบานตนไว้เช่นไรขอให้นึกถึง"นาวาอากาศตรีประสงค์กล่าว
ทั้งนี้ภายใต้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปัจจุบันมาตรา56กำหนดให้ทรัพยากรปิโตรเลียมที่พบ เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้ได้รับสัมปทาน รัฐได้เพียงค่าภาคหลวง และเงินโบนัส จึงเห็นว่าเหตุใดรัฐไม่แก้ไขมาตรานี้ที่เสียเปรียบเสียก่อนแต่ที่ต้องยุ่งยากทุกวันนี้เป็นเพราะมีคนขาดผลประโยชน์ จึงเห็นว่าควรจะเปิดเวทีรับฟังประชาชนถ่ายทอดสดไปเลยจะดีกว่าที่รัฐมาเปิดเพลงให้ฟังตอน 6โมงเย็นว่าปู่ย่าตายายจำได้ไหม ต่อไปผมคงต้องแต่งเพลงว่า "ทหารจำได้ไหม"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงานคือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แต่กระบวนการของรัฐบาลในขณะนี้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่ายึดหลักการนี้ จึงต้องแก้ไข เพราะในปัจจุบันกำลังเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงทั้งจากภาคประชาชน และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง ๆ ที่ การจะเปิดสัมปทานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนแต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ
“ผมหวังว่า คสช.และรัฐบาลจะรับฟัง เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่ความพยายามสร้างปัญหาทางการเมือง แต่เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นศรัทธาในนโยบายพลังงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการขึ้นราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน จึงอยากให้ฟังข้อมูลทุกด้าน เมื่อได้รับทราบจดหมายเปิดผนึกนี้แล้วก็อยากให้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพราะกระบวนการที่จะทำไม่น่าใช้เวลาเกิน 2 ปี ทั้งการแก้กฎหมาย และ จ้างสำรวจแหล่งทรัพยากร ทำให้ประเทศมีทางเลือกและไม่คิดว่าจะกระทบความมั่นคงทางพลังงาน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า การรวมตัวของคณะบุคคลครั้งนี้เกิดจากแนวคิดที่จะทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ และนำไปปรึกษาหารือกับนายอาทิตย์ ซึ่งทุกคนที่มีชื่อในจดหมายเป็นกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ทั้งสิ้น และอยากให้นายกฯ ตัดสินใจยกเลิกสัมปทานก่อนจะสายเกินไป ถ้าเป็นไปได้น่าจะยกเลิกก่อนหมดเขตให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพราะหากล่าช้า เอกชนจะมีค่าใช้จ่าย เมื่อมีการยกเลิกภายหลังเอกชนที่ยื่นสัมปทานอาจมาเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงพลังงานได้
เครือข่ายประชาชนฯนัดรวมพล 16 ก.พ.นี้
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดแถลงการณ์ภายใต้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย วานนี้ (12 ก.ย.) ว่า ในวันที่ 16 ก.พ. ทางเครือข่ายฯและประชาชนจะเดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือทวงคำตอบจากรัฐบาลถึงความคืบหน้าที่ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน
นอกจากจะนำรายชื่อของประชาชนที่ร่วมลงนามคัดค้านการเปิดสัมปทานฯ 3,000 รายชื่อส่งให้กับรัฐบาลแล้ว ก็จะทำหนังสือเพิ่มเติมถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เพื่อให้มีคำสั่งถึงกระทรวงพลังงานในการหยุดประกาศกรมเชื้อเพลิงที่เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาใช้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ.นี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของประวัติศาสตร์ในการปกป้องปิโตรเลียมของชาติ โดยภาคประชาชนจะยื่นเอกสารเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจสูงสุดในปัจจุบันให้ยุติการเปิดสัมปทานฯออกไปก่อน เพราะระบบดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ถึงประโยชน์จะตกถึงประชาชนได้อย่างไร ไม่ตอบโจทย์ความโปร่งใส ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ตอบโจทย์ว่าจะเกิดการแข่งขันได้อย่างไรด้วยวิธีอย่างนี้ เป็นต้น
“สัญญาสัมปทานครั้งนี้จะมีอายุถึง 39 ปีถ้าเราไม่แก้ไขวันนี้จะลำบากไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งท่านนายกฯได้ระบุไว้เมื่อ 28 ต.ค.57 ว่าจะทำตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงข้างมากที่ค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ท่านผิดคำพูดเราจึงห่วงว่าหากท่านไม่รักษาคำพูดแล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะสามารถคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง”นายปานเทพกล่าว
นายศตวรรษ เศรษฐกร เครือข่ายประชาชนฯ กล่าวว่า ในอดีต ไทยถูกกฎหมายที่ทำให้ต้องตกเป็นทาสทุนพลังงานต่างชาติแต่ปัจจุบันไทยมีกำลังที่จะเปลี่ยนแปลงและพร้อมสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการปฏิรูปต้องการบอกท่านนายกฯว่าท่านจะไม่โดดเดี่ยวเพียงแค่ท่านตัดสินใจเพียง 2 ทางเลือกเท่านั้นคือ 1. ให้สัมปทานต่อกับ 2.ยุติสัมปทานเท่านั้น หากท่านเดินหน้าต่อก็จะเป็นตราบาปติดตัวท่านไป แต่ถ้าท่านยุติท่านก็จะเป็นวีรบุรุษ
สนช.ตั้งกมธ.ศึกษาปัญหาพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
เมื่อวานนี้ (12ก.พ.) พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวภายหลังการประชุมสนช.ว่า ได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้มีการขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของการใช้ปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จนส่งผลให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวาง
ทางคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกระบบสัมปทาน และเอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ
ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว อย่างรอบด้าน ตนและคณะจึงเสนอญัตติตามนัยของข้อบังคับฯ ข้อ 38 เพื่อให้ที่ประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยมีกำหนดเวลาทำงาน 90 วัน ซึ่งทางที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วย ที่จะตั้งคณะกรรมาธิการ ดังกล่าว โดยมีจำนวนทั้งหมด 21 คน
หอการค้าขอเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเคลียร์ปัญหาสัมปทานฯ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวหลังการเสวนาโต๊ะกลม “ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากราคาพลังงานที่ผันผวน” วานนี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสรุปความชัดเจนในการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่งคงทางพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเตรียมรองรับกับปริมาณสำรองที่ลดลง และการเปิดสัมปทานพลังงานรอบใหม่จะต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม 5-7 ปี หากรัฐบาลไม่เร่งตัดสินใจจะกระทบต่อการบริหารต้นทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งหอการค้าพร้อมเป็นเจ้าภาพในการเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 โดยเร็วที่สุด