xs
xsm
sm
md
lg

โอ๋ข้าว-เมินยาง ระเบิดเวลาที่รอจุดชนวน! เสียงเตือนจาก “ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
 
การต่อสู้เรียกร้องของชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้มีการก่อตั้ง “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” ที่ขู่ว่าจะไปเคลื่อนไหวกดดันถึงทำเนียบรัฐบาล หากข้อเสนอต่างๆ ที่ยื่นไปได้รับการเพิกเฉย หนึ่งในนั้นคือ การพยุงราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท รวมทั้งยกเลิก พ.ร.บ.การยาง ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมทันที

ในการสัมมนาดังกล่าว รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่ร่วมให้คำปรึกษา และถือเป็นผู้หนึ่งซึ่งยืนอยู่เคียงข้างเกษตรกรมาโดยตลอด ในมุมมองของนักวิชาการผู้คร่ำหวอดต่อเศรษฐศาสตร์การเมืองมายาวนานมองว่า ปัญหาของเกษตรกรแก้ไขได้แต่เหตุใดจึงยังไม่สำเร็จ พบคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ และคลิปวิดีโอ



*** จากปัญหาเรื่องยางพาราราคาตกต่ำ หากยังคงตกต่ำอยู่ในลักษณะนี้จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง?

สถานการณ์ในเรื่องของประชากร และเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก การผลิตยางในปัจจุบันมีต้นทุนสูง แม้ชาวสวนยางรายย่อย 9-10 ไร่ ก็จะมีต้นทุนหลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือ 1.ต้นทุนการดูแลรักษา การบำรุง 2.ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการผลิตถือเป็นครึ่งหนึ่งของราคาที่ขายได้

ฉะนั้นชาวสวนยางในปัจจุบันจะต่างจากชาวสวนยางสมัยก่อน สมัยก่อนมีต้นทุนที่ต่ำจึงอยู่ได้ พอกินพอใช้ มักจะตัดยางกันเอง แต่ปัจจุบันส่วนน้อยที่จะตัดเอง ส่วนใหญ่จะไม่ใช้แรงงานในครัวเรือน อาศัยการจ้าง ดังนั้น ราคาที่ขายได้ครึ่งหนึ่งถือเป็นค่าจ้างแรงงานเหล่านั้น เช่น หากขายได้กิโลละ 100 บาท ค่าจ้างเท่ากับ 50 บาท เท่ากับเหลือ 50 ยังพออยู่ได้ แต่หากราคายางอยู่ที่ 40 บาทค่าจ้างก็ 20 บาท เหลือ 20 บาทก็อยู่ไม่ได้

เรื่องแบบนี้โทษใครไม่ได้ นอกจากการพัฒนาการของระบบ คนที่ควรจะรู้คือคนวางนโยบาย ที่ควรจะรู้ว่าสวนยางเป็นอย่างไร ธรรมชาติของสวนยางเป็นแบบไหน

การเพิ่มมูลค่ายางไม่สามารถเพิ่มด้วยราคายางอย่างเดียวได้ เพราะราคาจะเปลี่ยนแปลงตามตลาดมากเกินไป เพราะการที่เราส่งออกเป็นหลัก จะทำให้รายได้ของชาวบ้านแปรผันตามราคาส่งออกมากเกินไป การส่งออกจะไม่มีคู่แข่ง เพราะผู้ค้ายางจะรู้จักกัน หรือฮั้วกันหมด ดังนั้นโอกาสการต่อรองของชาวบ้านจะลำบากมาก

มีทางเลือกเดียวคือ ต้องทำให้ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวสวนมีทางเลือกจะขายภายใน หรือภายนอกก็ได้ ต้องทำให้ทั้งภายในและภายนอกมีขนาดเท่ากัน ที่ผ่านมา เมื่อมีการคิดที่จะริเริ่มแต่พอราคายางเพิ่มขึ้นก็ล้มเลิกหมด ทั้งชาวบ้าน และรัฐบาล

ผมเคยจะมาทำเมืองยางที่สงขลา เป็นต้นแบบว่าจะแปรรูปทุกชนิด และให้ได้มากที่สุด และลดการส่งออก 50% ขณะที่รัฐบาลภาคใต้จะเอาจริงแต่เมื่อมี ส.ส. อีสานมาก็มีความคิดที่จะไปปลูกที่อีกสานดีกว่า ตั้งเมืองยางทำไมปลูกยางขายจีนดีกว่า โดยที่ไม่คิดว่าจีนเค้าเป็นเมืองที่พึ่งตัวเองตลอดเวลา จีนเค้าไม่คิดซื้อจากเราหรอก เวลาจีนลงทุนปลูกยางที่ลาว พม่า และเขมรนั้น เค้าก็ซื้อจากที่นั่นเพราะปลูกเร็วกว่าเรามองข้ามประเด็นเหล่านี้

*** เรื่องของตลาดการค้าวัตถุดิบถึงจุดอิ่มตัวแล้วเหรอ?

“คุณจะเอาชีวิตของชาวสวนเป็นล้านๆ คนมาขึ้นอยู่กับราคาส่งออกไม่ได้หรอก” ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว ไทยเราบ้าการส่งออก เมื่อปี 2504 การพึ่งการส่งออกควรหยุดตั้งแต่ปี 2540 แล้ว ตอนนั้นเต็มที่แล้ว ด้านตัวเลขจีดีพี ก็บอกว่าปัจจุบันไทยต้องพึ่งการบริโภคภายใน 55% แปลว่าเศรษฐกิจไทยลากจูงด้วยเศรษฐกิจภายใน

“แล้วทำไมคุณถึงไม่สร้าง และพัฒนาตลาดภายในให้แข็งแรงล่ะ?”

การแปรรูปภายในเป็นการบริโภคของการลงทุนของโรงงานควรจะพัฒนาไป เพราะตลาดภายในจะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจ ถือเป็นหลังอิงที่สำคัญ แต่เราไม่คิดที่จะพัฒนาตลาดภายในให้เป็นหลังอิงที่มั่นคง

*** ถ้าเริ่มทำตอนนี้ สายไปหรือไม่?

แม้จะสายก็ดีกว่าไม่ทำ อย่างไรก็ต้องทำ ลองดูตลาดหลักๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามองเพียงประเทศจีน ทั้งที่เขาก็คิดเรื่องพึ่งตัวเองมาตลอด ถ้าต่อไปมองไปที่ยุโรป อเมริกา แต่ถ้าเศรษฐกิจเกิดทรุดตัวแล้วคุณจะพึ่งใครแล้วเราเองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวเมื่อไหร่

ในทัศนะของผมที่เป็น “นักเศรษฐศาสตร์การเมือง” ผมเห็นสถานการณ์ทรุดทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า โลกควรมีการปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ หากไม่ปรับปรุงก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีก 5 หรือ 10 ปี จะฟื้นมาเท่าเดิมได้อีกหรือไม่

ในเมื่อปัจจัยภายนอกเราไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากเป็นปัจจัยภายในเราสามารถกำหนดได้ เช่น การก่อสร้างของรัฐบาลทุกปี ซึ่งการก่อสร้างถนน อาคาร บ้านเรือนของข้าราชการ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลยังสามารถกำหนดได้ เราสามารถกำหนดความต้องการของยางได้

“ทำไมเราไม่ทำตัวแปรที่กำหนดได้ มัวแต่หวังพึ่งตัวแปรที่กำหนดไม่ได้ คุณจะไปบังคับให้ใครมาซื้อยางเราเท่าไหร่ คุณสามารถบังคับเขาได้เหรอ?”

แต่รัฐบาลสามารถทำได้ ว่าเราจะซื้อยางมาสร้างถนนเท่าไหร่ เราสามารถบอกได้ พูดง่ายๆ ว่าตลาดภายในเป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้มากกว่า ดังนั้น มันคือตัวที่มั่นคงกว่า ทำไมเราไม่พัฒนาทำไมถึงต้องรอการส่งออก 90 กิโล หรือ 100 กิโล ผมคิดว่า

“ตราบใดที่ยางยังพึ่งการส่งออกมากขนาดนี้ ก็จะมองไม่เห็นอนาคตของชาวสวนยาง”

*** เมื่อมีหลายๆ คำถามที่ถามว่าทำไมรัฐถึงไม่ทำ จากการค้นคว้าอาจารย์เจอคำตอบเหล่านั้นหรือยังว่าทำไมเขาถึงไม่ทำ?

จากที่ผมสังเกตเห็นคือ กลุ่มทุน และผู้ส่งออกไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น เพราะกลุ่มเหล่านี้เขาฝังรากลึกมายาวนานมากในเรื่องยางพารา เขาสามารถเข้าถึงนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบายทุกคน

ในขณะที่ พ.ศ.2545-2546 ได้มีการตกลงแล้วเราจะสร้างเมืองยาง มีการออกแบบ วางเป้าหมาย และอนุมัติเงินกว่า 1 พันล้านเพื่อมาทำเมืองทดลอง แต่เมื่อนักการเมืองอีสานเข้ามาก็ยกเลิกเพื่อไปปลูกยางอีสาน งบพันล้านที่อนุมัติมาจึงพลิกเปลี่ยนไปปลูกยางอีสาน

และพบว่าผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่ของไทยมีสัมพันธ์กับสิงคโปร์อย่างใกล้ชิด บริษัทแม่อยู่ที่สิงคโปร์ เขาวิ่งมาหาผมทุกเดือนเพื่อให้เลิกโครงการแต่ผมไม่ยอม เมื่อเขาวิ่งไปหานักการเมือง จบเลย! “ผมถึงบอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ”

ถ้าคุณลงมือแก้ปัญหาตั้งแต่ปี 45-46 ลดการส่งออกให้เหลือ 50% ทำได้อยู่แล้วหรือหากเราจัดทำคอนดอมกับจีน เพราะจีนเค้าพึ่งคอนดอมเยอะ (การคุมกำเนิด) ทำสัญญาเจรจากับจีนไปเลย แต่สุดท้ายก็ยกเลิกหมดสรุปคือ ถ้าเราปรับโครงสร้างยางพารามาเป็นการผลิตภายในมากขึ้น กลุ่มทุนที่ส่งออกวัตถุดิบจะเสียประโยชน์ทันที แต่เขาไม่ยอม ดังนั้น ปัจจุบันการแปรรูปก็เป็นไปแบบธรรมชาติ

*** ดูหน้าตาของสภาปฏิรูปแล้ว ทราบมาว่ามีกลุ่มทุนส่งออกยางพาราอยู่ในสภานี้ด้วยใช่หรือไม่?

ในกลุ่มรัฐบาลเราแทบจะไม่เห็นคนที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวไร่ ชาวนา หรือคนจน แต่เราจะเห็นกลุ่มทุนทุกประเภทนั่งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โดยตรง โดยอ้อม ฯลฯ เครือข่ายเขามีเต็มไปหมดเมื่อเปรียบเทียบกับตัวแทนชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน เท่าที่ผมรู้จักอาจจะมีเพียงคนเดียว

*** แบบนี้แล้วอาจารย์คิดว่า หน้าตาการปฏิรูปจะออกมาเป็นแบบไหน?

แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ส่วนตัวผมคิดว่าคนในรัฐบาลชุดนี้จะมองเศรษฐกิจเป็นธุรกิจ คือ เศรษฐกิจต้องนำโดยธุรกิจ เขาจะพูดเรื่องการลงทุน การส่งออกเป็นหลัก มองว่าเศรษฐกิจต้องส่งออก ต้องลงทุนเป็นหลัก แต่มองข้ามตัวเลขจีดีพี ของไทยที่ว่ามันลากจูงด้วยการบริโภค 55% มาจากการบริโภคของครัวเรือน 22% มาจากการลงทุนของเอกชน 10% มาจากรายจ่ายของรัฐบาล 10% เศษๆ มาจากนำเข้า-ส่งออก

***การส่งออกจริงๆ แล้วมีกี่เปอร์เซ็นต์ครับ?

ไม่สามารถตอบได้ครับ เวลาพูดว่าส่งออก 60-70% นั่นคือการพูดแบบหยาบๆ แบบไม่เข้าใจ ตัวส่งออกล้วนๆ นั้นไม่ได้สร้างจีดีพีจริงๆ เพราะจีดีพีสร้างจากผลสุทธิของการส่งออก ผลสุทธิการส่งออกคือ การส่งออก 100 บาท นำเข้า 80 บาท ผลสุทธิคือ 20 บาท ไม่ใช่ส่งออก 100 บาท สร้างจีดีพี 100 บาท

*** การส่งออกให้ประโยชน์แก่ใคร?

ให้ผู้ส่งออกเป็นหลัก หรืออาจจะโยงถึงคนอื่นโยงต่อกันไป แต่ต้องหักด้วยการนำเข้า เพราะตัวสร้างจีดีพีคือส่งออกลบนำเข้า หลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ ผมถึงบอกว่า ตัวที่เป็นผลสุทธิของจีดีพีคือการบริโภคของครัวเรือน แล้วทำไมคุณถึงไม่ให้ความสำคัญของการบริโภคในครัวเรือน

*** การจัดการของการบริโภคในครัวเรือน ต้องทำอย่างไร?

การบริโภคของครัวเรือนมาจากรายได้ การที่จะดูรายได้รวมๆ ก็ดูจากรายได้ประชาชาติ คือ รายได้ของทุกคนรวมกัน 41% มาจากค่าจ้าง 37% มาจากอาชีพอิสระ ที่ใหญ่ที่สุดคือเกษตรกร นำ 2 ตัวใหญ่ๆ บวกกับค่าจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการทั้งหลาย เป็น 78% ของรายได้ประชาชาติ แปลว่าเป็นตัวหลักของการบริโภค หากเรารู้ตัวหลักทำไมเราไม่คิดว่าจะทำอย่างไรรายได้จากอาชีพอิสระถึงจะเพิ่มขึ้น เพราะ 2 ตัวนี้คือ ตัวหลักของการลากจูงเศรษฐกิจ การลงทุนก็สำคัญแต่เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขจะสำคัญน้อยกว่า แต่ทำไมไม่มีการตั้งโจทย์กันเลยว่าทำอย่างไรรายได้ถึงจะเพิ่ม

*** 78% มาจากกลุ่มอาชีพที่แทบจะไม่มีการพูดถึงเลยในสังคม

คุณเคยเห็นไหมกลุ่มอาชีพนี้ไม่เคยเห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐบาล หรือกลุ่มอื่น แทบจะไม่เห็น แล้วคุณจะปฏิรูปอะไร เมื่อคุณจะปฏิรูปอะไรฟังเสียงของเขาหน่อยว่าเขาต้องการอะไร และมีปัญหาอะไรอยู่ สิ่งไหนที่เขามีอำนาจคุณก็ไม่ยอมให้เขาแสดงความคิดเห็นเลย แล้วคุณจะปฏิรูปอะไร ผมเลยไม่เข้าใจว่าปฏิรูปคืออะไร ความหมายของการปฏิรูปของเขาคืออะไร

ขณะมีการชูธงปฏิรูป แต่คนมานั่งปฏิรูปชูธงทั้งนั้น ผมมองไม่เห็นว่าคุณจะปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ในเมื่อคนที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำเขาไม่มีโอกาสพูดเลย มีแค่คนที่ได้เปรียบเท่านั้นที่ออกมาพูด

*** เป็นห่วงไหมครับว่ายิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไข?

ผมไม่หวังว่าจะปฏิรูปได้หรือไม่ คุณบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในเมื่อคนที่ได้เปรียบทั้งนั้นที่นั่งที่ออกมาพูดล้วนเป็นคนที่ได้เปรียบทั้งนั้น คนที่ได้เปรียบเขาจะยอมลดความได้เปรียบมาหรือ ถ้าเขายอมลดเราคงต้องกราบเพราะความใจดี แต่ต้องถามว่าจริงหรือเปล่า

*** กรณีเรื่องยาง ถ้ามองเรื่องการทูตการค้าระหว่างประเทศ เรายังพอที่จะไปพูดกับจีนให้มาช่วยซื้อยางจากประเทศไทยได้อยู่หรือไม่?

ถ้าจีนมียางเพียงพอก็จะซื้อทำไมอีก ประเทศจีนคนปลูกยางจีนเขาคงจะว่าเอาได้ ว่าของเราก็มีล้นตลาดทำไมต้องไปซื้อมาอีก ภายใน 10 ปี เผลอๆ ประเทศจีนจะล้นตลาด

เพราะว่าการปลูกในลาว พม่า เขมร จะได้รับผลดี แม้กระทั่งเวียดนาม เพราะส่วนใหญ่เป็นการปลูกยางในลาว เขมร พม่า เวียดนาม เป็นยางจีน และยางของคนพื้นที่ ต่อไป 4 ประเทศนี้หากร่วมกันจะปลูกได้มากกว่าเรา

*** เมื่อเป็นแบบนี้ควรจะให้ความสำคัญต่อการแปรรูป อย่างที่อาจารย์ก็เคยพูดมาทุกครั้ง

เพราะการแปรรูปนั้นเรารู้แล้วว่า ความต้องการยางในหลายประเภทรัฐบาลกำหนดได้ เช่น สนามฟุตลบอลต้องการยางธรรมชาติ แล้วทำไมคุณไม่กำหนด อ้างแข่งขันเสรี แล้วเสรีเพื่อใคร เสรีเพื่อนำเข้ายางมะตอย เพื่อทุนผูกขาดพลังงานนั้นหรือ?

*** คสช.ปล่อยให้เกิดวิกฤตต่อชาวสวนยางต่อเกษตรกรหลายสาขา จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้?

ผมไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพของชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนได้ เพราะเปรียบเสมือนโดนตัดแขน-ขา จนอ่อนล้าไปหมดแล้ว ผมคิดว่าในสังคมไทยมีอะไรที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ คือคนไทยจะฮึดสู้เป็นพักๆ พอหน้ามืดขึ้นมาก็จะลืมความกลัวไปชั่วขณะ ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่สามารถประมาณได้ว่ารัฐบาลไหนก็ตามที่ไม่ใส่ใจคนชั้นล่างซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ยอมทุกเรื่องราว สรุปคือ โอกาสที่จะเกิดการระส่ำระสายมี เมื่อสะสมอุณหภูมินั้นเยอะๆ จะเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งในขณะนี้ก็มี เช่น สาวสวนยางเรียกร้องว่าทำไมชาวนาได้เท่านู้น เราได้เท่านี้ เป็นต้น

เพราะอารมณ์ของคนไทยสามารถพลุ่งพล่านออกมาได้ทันที ยิ่งเราไม่ตอบคำถามหรือตอบไม่ได้ก็เหมือนจุดอารมณ์นั้นขึ้นมาทันที ปัจจุบันสามารถจุดระเบิดอารมณ์ทางการเมืองได้โดยง่ายเพียงคำพูดไม่กี่คำ เพราะคนอยู่กับการตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์

*** จากสถานการณ์ในตอนนี้ อาจารย์มีความคิดที่จะแนะนำชาวสวนยางอย่างไรบ้าง?

1.ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ 2.หากมีลูกหลานในครอบครัวให้ชวนมากรีดยาง ลดต้นทุนการจ้าง

*** ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล สิ่งไหนที่รัฐบาลควรลงมือทำทันที?

1.รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเลือกช่วยคนกลุ่มหนึ่งทันที และไม่สนใจคนอีกกลุ่มหนึ่งทันที เช่น เวทีชาวนาคุณใส่เงินในมือเขา แต่ของเราบางครั้งขอกระดาษใส่มือคุณยังไม่ให้เลย บางครั้งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นการจุดอารมณ์เขาหากตอบไม่ดี ขอแนะนำว่าอย่าจุดอารมณ์ปัญหาด้านการเมือง 2.อย่าทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าต่างกัน เช่น การแบ่งแยกภาคใต้-ภาคอีสาน เป็นต้น 3.รัฐบาลควรประกาศชัดเจนว่าจะเดินแผนปฏิรูปแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องการแรรูป เรื่องการเกิดเมืองยาง ทำขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างพร้อมยกตัวอย่างให้ละเอียด ให้สนใจการแปรรูป และลงมือทำจริงๆ

*** การมุ่งไปทำผลิตภัณฑ์ ยางคอมปาวด์ พอจะช่วยได้ไหม?

ผลิตภัณฑ์นี่ที่เราเห็นมาจากยางคอมปาวด์ เช่น ยางรถยนต์ ยางยานยนต์ทุกชนิดก็นิยมใช้ยางแบบนี้ มันยากอย่างไรที่คุณจะทำ เมื่อบอกว่าตั้งงบหมื่นล้านนำร่องให้ชาวบ้าน คุณบอกว่าตั้งงบเอาไว้หมื่นล้านให้ชาวบ้านแปรรูป ก็ให้เริ่มนำร่องซะเลย นำหมื่นล้านนั้นมาลงทุนให้ประชาชนเห็น แล้วค่อยมาแปรเป็นของชุมชน ทำให้เห็นก่อนคนอื่นถึงจะเชื่อว่าคุณทำจริง เช่น รัฐวิสาหกิจนำร่อง เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุน รัฐบาลจึงริเริ่มนำร่อง เช่น น้ำตาล โรงงานกระดาษ

เมื่อนำร่องแล้วเห็นผลจะมีคนมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นเมื่อลงทุนทำให้เขาเห็นต่อมาก็ประกาศขายหุ้นให้ชาวบ้านช่วยมาถือหุ้น 10-20 บาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าฉันทำให้แล้ว ฉันต้องการให้พวกคุณนำมาขาย ถ้าอยากส่งออกก็ส่งไป ถ้าไม่ก็นำมาขายที่นี่ จะเพิ่มทางเลือกของคนมากขึ้น

***ตลาดยางคอมปาวด์ ตอนนี้กว้างไหม?

ตลาดกว้างเพราะมีการนำมาแปรรูปได้หลายชนิด สามารถนำมาปั๊มที่บ้านชาวบ้านได้ด้วย เพิ่มงานอีกแบบหนึ่งให้ชาวบ้านเป็นการกระจายงานให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น