xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แนะต้องทำการใช้ ม.7 หมดข้อสงสัยก่อนทูลเกล้าฯ หวั่นกระทบสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” แนะต้องเคลียร์การใช้มาตรา 7 ให้หมดข้อสงสัยว่าถูกต้องทั้งวิธีการใช้-ข้อกฎหมาย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ หวั่นกระทบเบื้องพระยุคลบาท ด้าน “ณรงค์” ชี้รัฐบาลได้เปรียบเรื่องกองกำลัง ทำให้ กปปส.ไม่ชนะ ฉะนั้นกองทัพจึงเป็นตัวชี้ขาดที่จะปรับดุลอำนาจได้

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ "คนเคาะข่าว"  

วันนี้ (14 พ.ค.) รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี

โดยนายณรงค์กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันมันคือภาวะสงคราม ทุกคนใช้ทุกอย่างเป็นอาวุธ มันไม่ใช่เรื่องของอะไรถูกอะไรผิด เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าอย่างนี้ถูกต้อง แต่มันทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบเขาก็ไม่เอา อย่างเช่นการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ชี้ขาดสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องก็ไม่จบ เพราะตราบใดที่แนวรบกองกำลังไม่เปลี่ยน

ตนมองว่าตอนนี้มันเป็น 1 สงคราม 4 สมรภูมิ คือ 1. รัฐสภา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชนะมาตลอด 2. ศาล เกือบทุกคดีรัฐบาลก็แพ้ 3.แนวรบมวลชน ฝ่ายต่อต้านหนาแน่นกว่า กปปส.ชนะ 3 สมรภูมิ แต่ทำไมถึงยังไม่ชนะ ก็เพราะสมรภูมิสุดท้ายคือ 4. กองกำลัง ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบมากกว่า กองกำลังที่ตนหมายถึงอาจไม่ใช่กองทัพ แต่ต้องประกอบด้วย 1. กำลังคน 2. อาวุธยุทโธปกรณ์ 3. ทุน ซึ่งรัฐบาลมีทั้งกองกำลังที่ถูกกฎหมายคือตำรวจ และไม่ถูกกฎหมาย ก็พวกชายชุดดำ

ฉะนั้น กองกำลังที่จะเหนือกว่าและเป็นตัวชี้ขาดก็คือ ทหาร แต่เขาเลือกที่จะอยู่เฉย รัฐบาลก็เลยได้เปรียบเรื่องกองกำลัง ด้วยการเอาไปรุกรานทั้งมวลชนและศาล ในสถานการณ์เช่นนี้ ตัวแปรมีตัวเดียวที่จะปรับดุลอำนาจได้คือกองทัพ ซึ่งจะเข้ามาโดยไม่ปฏิวัติก็ทำได้ แต่ไม่ทำ ทีนี้สังคมก็ถูกปลุกให้ตื่นกลัวคำว่าการนองเลือด เมื่อกลัวตรงนี้ อีกฝ่ายก็เอาเรื่องนี้มาข่มขู่ ฝ่ายต่างๆเลยไม่กล้าทำอะไร

ด้านนายปานเทพกล่าวว่า น่าเห็นใจประชาชนที่ชุมนุมยาวนานมาก ขณะเดียวกันก็เข้าใจวุฒิสภา เพราะสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ละเอียดอ่อนมาก มันไม่ใช่ภาวะปกติ แต่คือการทำสัประยุทธ์ต่อสู้กัน หรือการทำสงคราม เราไปหวังฉากบังหน้ามากกว่าดูเนื้อแท้ว่าทำอะไรกันไม่ได้

วุฒิสภาคิดหนักมาก ต้องเห็นใจ สมมติเราคิดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 มันไม่มีปัญหาถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน แต่ถ้าไม่สะอาดหมดจดสิ้นกระแสสงสัยว่าการกระทำนั้นถูกต้อง มันอาจมีปัญหา 2 แบบ คือ 1. วิธีการไม่ถูกต้อง 2. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากราบบังคมทูลฯขึ้นไป ปรากฏว่าไม่ทรงมีพระราชวินิจฉัยลงมา จะกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าตัดสินใจทางไหนก็ตาม แล้วถ้าทรงลงพระปรมาภิไธยท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้ ก็จะเท่ากับว่าสถาบันฯ ถูกดึงมาให้เลือกข้าง และหนักกว่านั้นอีก หากเกิดความไม่ถูกต้อง ยังไม่สิ้นกระแสความสงสัยในข้อกฎหมาย แล้วไม่ทรงมีพระราชวินิจฉัยลงมา ประชาชนจะรู้เหตุผลที่แท้จริงไหม ประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับสถาบันฯ ซึ่งหากต้องการต่อสู้ด้วยบริบทฉากหน้า ที่เอาเรื่องปฏิรูป เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้าง ตนมีความเห็นว่าการใช้มาตรา 7 ต้องสะอาดหมดจดก่อนทูลเกล้าฯ

แต่ถ้าใช้การต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริงว่านี่คือสงคราม อย่างข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เสนอโมเดลที่ฉลาด กระทบพระมหากษัตริย์น้อยที่สุด คือเอาหัวข้อการปฏิรูปไปลงประชามติ แล้วมีนายกฯ คนกลางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องมาทำเฉพาะเรื่องที่ลงประชามติ จากนั้นให้ กกต.ผูกมัดพรรคการเมืองให้ทำการปฏิรูป และนำสู่กระบวนการทูลเกล้าฯที่ทุกฝ่ายตกลงกันได้ สถาบันฯ ไม่กระทบจริง แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อหาที่แท้จริงของการทำสงครามครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการปฏิรูป แต่เขาต้องการเอาชนะอย่างเดียว อำนาจคือเดิมพัน พ.ต.ท.ทักษิณต้องการอำนาจ อิสรภาพ ต้องการทรัพย์สินกลับคืน ส่วน กปปส.ต้องการโค่นระบอบทักษิณเพื่อไม่ให้กลับมาอีก

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ที่บอกว่าจำเป็นต้องหมดจดก่อนทูลเกล้าฯ เช่นตกลงรองนายกฯ มีอำนาจรับสนองพระบรมราชโองการฯ ได้หรือไม่ รองประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการฯ แทนได้หรือไม่ แล้วถ้าผู้ปฏิบัติการแทนนายกฯไม่มีอำนาจ แล้วใครจะนำชื่อนายสุรชัยทูลเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งนายสุรชัยจะกล้าอาศัยตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาและว่าที่ประธานวุฒิฯ เสนอนายกฯ มาตรา 7 หรือ นอกจากนี้หากปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯไม่มีอำนาจจริงๆ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาก็ต้องไม่มีอำนาจด้วย แล้วถ้าได้ก็ต้องได้ทั้งคู่

นายปานเทพกล่าวอีกว่า มาตรา 7 มีอุปสรรคสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ยังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งคาอยู่ แปลว่าบรรยากาศขณะนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทำให้วุฒิสภาคิดหนัก ว่าจะไปสู่มาตรา 7 ได้อย่างไร แม้อ้างว่าต้องหานายกฯ ใหม่หลังจากนายกฯ เดิมพ้นสภาพตามมาตรา 180 วรรค 2 แต่อีกฝ่ายก็จะอ้างว่าในเมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งอยู่ ก็เพียงแต่กำหนดวันเลือกตั้งเพื่อได้นายกฯใหม่ 2. ปัจจุบันนายนิวัฒน์ธำรง และครม.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ คำถามคือมีผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ รองประธานวุฒิสภากล้าเสนอรัฐบาลชุดใหม่ซ้อนกับผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลชุดนี้หรือไม่ แล้วได้ปรึกษาหารือกับสำนักราชเลขาธิการ หรือคณะองคมนตรีแล้วหรือยัง เพราะถ้าดำเนินการไปแล้วมีพระราชวินิจฉัยทางใดทางหนึ่ง หรือไม่มี ก็จะกระทบเบื้องพระยุคลบาทโดยไม่จำเป็น

นายปานเทพยังกล่าวด้วยว่า วันที่ 15 พ.ค. นายสุเทพจะไปพบ กกต. ถ้าไปแล้วมีปฏิบัติการเพื่อไม่ให้ กกต.อยู่ในฐานะจัดเลือกตั้งได้ ทำให้นายนิวัฒน์ธำรงไม่อยู่ในสภาพที่รับสนองพระบรมราชโองการได้ เมื่อนั้นมาตรา 7 ที่วุฒิสภารออยู่มันจะสมบูรณ์ทันที เช่น กกต. ครม.ลาออกทั้งหมด อันนั้นเกิดมาตรา 7 เลย แต่ตนไม่คิดว่าจะเกิดได้ อย่างที่ย้ำจุดชี้ขาดจึงอยู่ที่กองกำลัง ซึ่งนายสุเทพกดดันวุฒิสภาอย่างหนัก แต่ไม่เคยมีท่าทีอย่างนี้กับกองทัพเลย





กำลังโหลดความคิดเห็น