xs
xsm
sm
md
lg

ยังยุ่งเหยิง! เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ประจานการศึกษาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังจากสร้างปรากฏการณ์สะเทือนแวดวงการศึกษา เมื่อครั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติปรับเวลาการเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับสากล และปฏิทินของอาเซียน ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาระยะหนึ่ง ล่าสุดมีการเสนอปัญหาในที่ประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง "รัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปประเทศไทยอนาคตใหม่ทางการศึกษา"และการประชุม ทปสท. สมัยสามัญ ประจำปี 2558 เมื่อเร็วๆ นี้

โดยในที่ประชุม ได้มีการเสนอให้ยกเลิกการเปิด-ปิด ภาคเรียนตามประเทศในกลุ่มอาเซียน (ภาคเรียนที่ 1 สิงหาคม-ธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 มกราคม-พฤษภาคม และปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม) และเห็นควรเสนอให้มหาวิทยาลัยกลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนเหมือนเดิมจนกว่าจะมีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับเหตุผลในการเสนอให้ยกเลิกนั้น นอกจากปัญหาในจัดการการศึกษาและคุณภาพการศึกษาแล้ว การเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 2 ตามปฏิทินอาเซียน (เดือนมกราคมยาวไปจบที่กลางเดือนพฤษภาคม) อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งหลายฝ่ายในที่ประชุมมองว่า ไม่เหมาะกับการเรียนการสอนในประเทศไทย เพราะเป็นช่วงหน้าร้อนถึงร้อนมาก แถมยังเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ทำให้การเรียนการสอนได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่ได้เปิด-ปิดตรงกัน จึงส่งผลกระทบกับนักศึกษาปี 5 สาขาการศึกษาที่ต้องออกฝึกสอน

ต่างกับแบบเดิมที่จะกำหนดการเปิด-ปิดเทอมโดยอาศัยฤดูกาล และวัฒนธรรมประเพณีไทยเป็นหลัก การให้เทอม 2 มาจบมีนาคม และปิดยาวจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้เด็กได้หยุดพักผ่อนโดยไม่ต้องเดินทางตากแดดร้อนๆ ออกมานั่งกดเลกเชอร์ที่มหาวิทยาลัย

สอดรับผลวิจัยกลุ่มนิสิตครู ป.เอก ที่เคยสะท้อนการเลื่อนเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียนไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ไม่สอดคล้องตามฤดูกาล ระวังเด็กต้องเรียนทั้งที่น้ำท่วม

ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นของคณะนิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารการศึกษา (ในเวลาราชการ) รุ่นที่ 23 คณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลกระทบทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน" ซึ่งวิเคราะห์เป็น 2 แผน ได้แก่


1.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานคงปฏิทินเดิม เลื่อนเฉพาะระดับอุดมศึกษา ชี้ว่า การเปิด-ปิดของโรงเรียนสอดคล้องกับฤดูกาล วิถีชีวิตคนไทย และฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งยังทำให้มีเวลาเตรียมระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะการสอบโอเน็ตม.6 ได้หลังศึกษาจบชั้นม.6 แล้ว และสามารถทำกิจกรรมรับน้องได้เสร็จสิ้นก่อนเปิดภาคเรียน ขณะเดียวกันช่วงระยะเวลารอยต่อก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่มากขึ้นนั้น เด็กอาจใช้เวลาว่างเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ เกิดการมั่วสุมหากไม่ได้รับการบริหารจัดการและส่งเสริมที่ดีจากภาครัฐ ซึ่งแผนนี้กระทบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 และนิสิต/นักศึกษา


2. เลื่อนทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา ชี้ว่า โรงเรียนจะเปิดสอนไม่เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะการเรียนการสอนจะอยู่ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คือเดือนเมษายน และช่วงสอบและศึกษาจบในฤดูฝน อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งแผนนี้จะกระทบนักเรียนทุกระดับชั้น และนิสิต/ศึกษา


ด้านความเคลื่อนไหว หลังมีการเสนอให้ยกเลิกเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ทางมหาวิทยาลัยรังสิต นำโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊ก Arthit Ourairat เพื่อขอให้ประชาคมรังสิตช่วยกันพิจารณา และทบทวนการเปิด-ปิดภาคเรียนกันใหม่


"มหาวิทยาลัยรังสิตจะทบทวนใหม่ ไม่จำเป็นต้องตามอะไรที่ไม่มีเหตุผล เพราะการศึกษา ประถม มัธยม ก็ยังไม่เปลี่ยน 
ไม่รู้อุดมศึกษาเปลี่ยนเพราะอะไร ต้องใช้ปัญญาและเหตุผล ถ้ามีขอให้ประชาคมรังสิตช่วยกันพิจารณาเรื่องนี้" ก่อนจะโพสต์ข้อความต่ออีกว่า "ขอให้ประชาคมรังสิตช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบ แล้วช่วยกันตัดสินว่าปีการศึกษา 2559 เราจะเริ่มเปิดเทอม 1 กันเมื่อไร เราควรสรุปได้ ไม่เกินตุลาคมปีนี้"

สุดท้ายแล้ว ทางออกของปัญหาจะเป็นอย่างไรคงต้องมานั่งหารือกัน โดยเฉพาะปฏิทินการศึกษาที่ยังยุ่งเหยิง สร้างปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น