xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมใหม่ "อาคารลอยน้ำ" ฝีมือออกแบบสถาปนิก ม.รังสิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาวิทยาลัยรังสิต ฉวยวิกฤตเป็นโอกาสจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ผุดแนวคิดด้านการออกแบบอาคาร ชูคอนเซ็ปต์นวัตกรรมอาคารลอยน้ำ สร้างศาลากวนอิม (Guanyin Pavillion) เชื่อมสัมพันธ์จีน-ไทย
อาจารย์อรพรรณ สาระศาลิน เชฟเฟอร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาปนิกผู้ดูแลการออกแบบอาคารศาลากวนอิม เปิดเผยว่า ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต มีนโยบายที่จะสร้างอาคารหลังใหม่ให้แก่สถาบันจีน-ไทย (Chinese - Thai Institute of Rangsit University) พร้อมประดิษฐานรูปปั้นจำลองเจ้าแม่กวนอิม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน หน่วยงานดังกล่าวดูแลด้านความสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันต่างๆ ภายในประเทศจีน อีกทั้งยังถือเป็นสัญลักษณ์ระหว่างความร่วมมือระหว่างเมืองจีนและเมืองไทย ซึ่งการออกแบบโดยการนำสถาปัตยกรรมของไทยและจีนมาเชื่อมโยงรวมอยู่ในอาคารเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กำลังออกแบบการสร้างศาลากวนอิม เมื่อช่วงปี 2554 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มหาวิทยาลัยรังสิตประสบภาวะมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย อาคารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยถูกน้ำท่วมอย่างหนัก เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปทางมหาวิทยาลัยรังสิตจึงมีแนวคิดในการสร้างอาคารที่สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ผ่านมา
ในเบื้องต้นทีมสถาปนิกได้หารือเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา เช่น การยกอาคารให้สูงเหนือกว่าระดับน้ำและสร้างลานจอดรถบริเวณพื้นที่ชั้นล่าง แต่เป็นวิธีที่ไม่สร้างสรรค์เท่าใดนัก เนื่องจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมภายนอกอาคารเมื่อมองในระดับสายตาแล้ว จะเห็นเพียงแต่โรงจอดรถเท่านั้น ดังนั้น จึงหาวิธีแก้ปัญหาทางอื่นๆ จนในที่สุดมาพบกับการสร้างอาคารหรือสถาปัตยกรรมลอยน้ำ
“ทางทีมสถาปนิกได้ทำการสำรวจและศึกษาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำให้สิ่งก่อสร้างสามารถลอยน้ำได้ ซึ่งประเทศที่เก่งและเป็นที่ยอมรับในเรื่องนี้ คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านไทยในด้านนี้ก็มีอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างในช่วงที่น้ำท่วมนั้นวิธีที่นิยมทำคือ การนำถังน้ำมันไว้ข้างใต้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งทำได้ในสเกลที่ไม่ใหญ่มาก แต่ถ้าเป็นอาคารใหญ่จะมีข้อเสียในเรื่องการดูแลและการซ่อมบำรุง เราจึงหาสเกลที่ใหญ่ขึ้นโดยลองหันมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับโป๊ะตามท่าเรือต่างๆ ที่สร้างขึ้นจากหลากหลายวัสดุ อาทิ ไม้ เหล็ก คอนกรีต หรือปูน ซึ่งเราโฟกัสโป๊ะที่สร้างจากคอนกรีตนำมาประยุกต์กับแปลนของอาคารเดิมที่เรามีอยู่จนออกมาเป็นข้อสรุปในเรื่องนวัตกรรมอาคารลอยน้ำที่ใช้หลักการเดียวกับโป๊ะ โดยจะมีพื้นที่ส่วนที่ลอยน้ำได้อยู่ 2 ฝั่ง คือ พื้นที่ส่วนออฟฟิศและพื้นที่ในส่วนของโถงนิทรรศการ โดยที่เสาตามจุดต่างๆ ของอาคารและหลังไม่ได้ลอยน้ำตามไปด้วยแต่จะถูกยึดติดกับคานคอดิน ซึ่งโครงสร้างที่ลอยน้ำจะเป็นพื้นที่ในบริเวณส่วนโถงของพื้นอาคารที่ถูกออกแบบให้อยู่ในลักษณะรูปถ้วย สามารถลอยตัวขึ้นมาหากน้ำท่วมสูงถึงระดับ 1.20 เมตร ในรูปแบบของการลอยขึ้น-ลง ผ่านการควบคุมจากล้อเลื่อนที่ติดอยู่ระหว่างเสาแต่ละต้น” อาจารย์อรพรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น