ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คดีฆาตกรรมสองแม่ลูกตระกูล “ศรีธนะขัณฑ์”เมื่อปี 2537 ถือว่าเป็นเรื่องราวที่สะเทือนขวัญสุจริตชนมากที่สุดคดีหนึ่งนั่นเพราะนอกจากเหยื่อจะเป็นเด็กผู้บริสุทธิ์และสตรีที่ไม่มีทางสู้รบปรบมืออะไรได้แล้ว กลุ่มผู้ต้องหา หรือตัวผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ยังเป็นตำรวจอันหมายถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จึงเพิ่มความเข้มข้น จนไม่น่าเชื่อว่าความโหดเหี้ยมทารุณอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย
เรื่องราวสะท้านความรู้สึกครั้งนั้น แม้จะผ่านมานานถึง 20 ปี แต่ข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เคลื่อนย้ายรถเบนซ์ รุ่น 230 อี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 ฉ 3237 กทม. ซึ่งเป็นรถของกลางคดีอุ้มฆ่านางดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยา-ลูกชาย นายสันติ ศรีธนะขันธ์ เจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ ตัวละครสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ พร้อมกับขอให้นายสันติ เจ้าของมารับกลับคืนเนื่องจากคดีความหมดอายุไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ไม่อาจแบกภาระให้ต่อไปได้
ข่าวถูกนำเสนอในแนวชวนขนลุก ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าแม้แต่ผู้สื่อข่าวประจำกองปราบเอง หากไม่เป็นรุ่นเก่าทำงานมานานก็อาจจะทราบความเป็นไปเพียงคร่าวๆ หรือไม่ทราบอะไรเลย หากไม่มีใครมาบอก แต่ถ้าย้อนหลังเก็บแง่มุมในรายละเอียดต่างๆ คดีฆาตกรรมนางดาราวดี กับ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ นอกจากมีความโหดเหี้ยม น่าสะพรึงกลัวเป็นความรู้สึกแรกแล้ว ยังมีความเศร้าสลดใจต่อเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับตระกูลศรีธนะขันธ์ เพียงแค่ นายสันติ ผู้เป็นสามีและบิดาเห็นผิดเป็นชอบ เห็นความร่ำรวยแบบทันตา แต่ไม่เฉลียวว่าจะมีความเลวร้ายค่อยๆ คืบคลานเข้ามาจนพรากชีวิตของลูกเมียไปอย่างไม่มีวันกลับ
ปฐมบทคดีเปื้อนเลือดและน้ำตาของบุคคลในตระกูล”ศรีธนะขันธ์”เริ่มต้นจากผลกรรมของ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยที่มีโอกาสเข้าไปทำงานในวังเจ้าชายไฟซาล บินฟาฮัต ราชวงศ์ของซาอุดิอาระเบีย เมื่อประมาณ ปี 2533 และ 2 ครั้ง ที่นายเกรียงไกร ขออนุญาตเจ้านาย กลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิดก็ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เจ้านายมีต่อเขา ขโมยเครื่องเพชรเครื่องทองกลับมายังประเทศไทยคราวละมากๆ จนที่สุดเมื่อเรื่องแดงขึ้น ทางการซาอุฯประสานมายังทางการไทยให้ติดตามจับกุมเกรียงไกร เพื่อนำเครื่องเพชร กลับคืนมา ซึ่งในสมัยนั้นมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรมว.มหาดไทย ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ กระทรวงมหาดไทย ติดตามหาตัว นายเกรียงไกร
การตัดสินใจของนักการเมือง มอบหมายภารกิจสำคัญในครั้งนี้ ไม่มีใครคิดว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศชาติในอนาคต เพียงเพราะทีมงานของ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ไม่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
ช่วงนั้นสามารถติดตามเครื่องเพชรกลับมาได้จำนวนมาก มีการเปิดแถลงข่าวอย่างใหญ่โต ทั้งตำรวจน้อยใหญ่ นักการเมืองต่างได้หน้ากันทั่ว แต่ก็มีบางคนที่มองเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะเกิดข่าวซุบซิบในวงการนักสืบว่า มีการยักยอกเครื่องเพชร เครื่องทอง และนาฬิการาคาแพง แจกจ่ายกันในหมู่คนทำงาน หรือพวกตามล่าหาสมบัติ ส่วนระดับหัวหน้าก็เอาไปขายกับพ่อค้าเพชร สร้างความร่ำรวยกันถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนกระตุกเตือนอยู่บ้าง แต่กระแสมือปราบ “ชลอ เกิดเทศ”ที่ทำงานด้วยความรวดเร็ว สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ทำให้ทางการซาอุฯ รู้สึกยินดีถึงกับเอ่ยปากเชื้อเชิญ พล.ต.ท.ชลอ เดินทางไปรับคำขอบคุณถึงประเทศซาอุดิอาระเบีย ในฐานะ“ชีคชลอ” เยี่ยงวีระบุรุษของเขา
แต่วันเวลาแห่งความสุขมีได้เพียงระยะสั้นๆ ความทั้งหลายมาแตกเมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้นไปเยือนประเทศซาอุฯ เพื่อขอโอกาสให้กับแรงงานไทยกลับไปขายแรงงานกันอีกครั้ง ปรากฏว่าไม่มีคำชมอีกต่อไป มีแต่คำตำหนิที่เขาพบว่า เครื่องเพชรทองที่เอาไปคืนนั้น ส่วนใหญ่เป็นของเก๊ หาค่าหาราคาไม่ได้ อาการหน้าแตกของนักการเมืองไทย ครั้งนั้นพอเดินทางกลับถึงประเทศไทย หายนะของ พล.ต.ท.ชลอ ก็เริ่มส่อแววขึ้น
ทางการซาอุฯกดดันอย่างหนัก รัฐบาลไทยจากเคยได้หน้าสถานการณ์พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ
พล.ต.ท.ชลอ กับสมัครพรรคพวกตกเป็นจำเลยสังคม กระนั้นนายตำรวจมือปราบชื่อดัง ก็ยังคงทำหน้าที่ติดตามหาเพชรซาอุฯ ต่อไป และเริ่มมีข่าวทำนองว่า มีการบังคับนายสันติ หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้คายความลับถึงที่ซ่อนเพชร แต่ทุกครั้งจะได้คำตอบกลับมาว่า เขาได้ให้และคืนกับตำรวจไปจนหมดแล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์ที่บีบคั้น ทีมงานพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ซึ่งตกเป็นจำเลยสังคมเกี่ยวกับการอมเพชร วันที่ 1 สิงหาคม 2537 ประชาชนคนไทยก็ต้องช็อกกันทั้งประเทศ เมื่อปรากฏข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับนำเสนอคดีอุบัติเหตุที่มีเงื่อนงำชวนสงสัยว่า อาจจะเป็นการฆาตกรรม นางดารวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขันธ์ และถัดมาอีกเพียงวันเดียว คือวันที่ 2 สิงหาคม หนังสือพิมพ์พากันรายงานอย่างชัดเจนว่า เป็นการฆาตกรรมที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยมีรายละเอียดพอสังเขปว่า หลังจากที่ทีมงาน พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ พยายามบีบให้ นายสันติ บอกที่ซ่อนเพชรในทุกวิถีทางแล้ว แต่ไม่มีข้อมูลใดๆ สนองตอบตำรวจชุดดังกล่าว จึงใช้วิธีโจรด้วยการลักพาตัว 2 แม่ลูกขณะเดินทางไปทำธุระนอกบ้าน
ทีมตำรวจน้ำดี อันประกอบด้วย พล.ต.ต.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผบก.ป.ในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย พ.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ ผกก. 2 ป. พ.ต.ท.เมธี กุศลสร้าง รองผกก.1 ป. และพ.ต.ต.ทวี สอดส่อง สว.ผ.4 กก.2 ป. ร่วมกันคลี่คลาย เริ่มจากการชันสูตรศพ 2 แม่ลูกอย่างละเอียด ก็พบว่ามีร่องรอยถูกทุบด้วยของแข็งที่ศรีษะ ส่วนรอยฟกช้ำตามร่างกายแตกต่างกับอุบัติเหตุทั่วไป เพียงแต่ทีมตำรวจน้ำดีไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการชันสูตรศพมากนัก เพราะแพทย์นิติเวชฯ รพ.ตำรวจ คือ พล.ต.ต.ทัศนัย สุวรรณจูฑะ ผบก.สถาบันนิติเวช ในขณะนั้น มีความเห็นไปคนละทางโดยยืนยันว่า เป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งมีการจำลองเหตุการณ์ถึง 2 ครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นแรงเหวี่ยงแรงกระแทกต่างๆ แต่ในที่สุดด้วยพยานหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งก่อนหน้าพบศพ นายสันติ ได้ร้องเรียนไปยัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ทีมตำรวจน้ำดี จึงเดินหน้าค้นหาความจริงต่อไป
ในที่สุดก็พบหลักฐานชิ้นสำคัญ เป็นถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้าเล็กๆ แห่งหนึ่ง ใส่ผ้าอนามัยของนางดารวดี ตกอยู่ในรถ เมื่อตรวจสอบก็พบว่า เป็นร้านค้าตั้งอยู่ใน จ.สระแก้ว ตำรวจทีมน้ำดีจึงจำลองเหตุการณ์ตั้งแต่สถานที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่บนถนนมิตรภาพ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อันเป็นรอยต่อสามารถเดินทางด้วยระยะเวลาไม่นานนัก และทีมอุ้มฆ่าในละแวกนี้เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "พ.ต.ท.พันธ์ศักดิ์ มงคลศิลป์" สว.สส.สภ.อ.เมืองปราจีนบุรี ลูกน้องคนสนิท พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ และเมื่อตรวจเช็คการใช้โทรศัพท์ก็ปรากฏชัดว่า ในห้วงเวลาเกิดเหตุมีการติดต่อระหว่างกัน อีกทั้งยังทราบถึงเซฟเฮ้าส์ ที่ซ่อนตัวนางดารวดี กับ ด.ช.เสรี ด้วย จึงเดินทางไปตรวจสอบเก็บหลักฐานต่างๆไว้ ก่อนควบคุมตัว พ.ต.ท.พันธ์ศักดิ์ มาสอบสวน และรับสารภาพซัดทอดไปทั้งขบวนการอุ้มฆ่า
แม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 20 ปี จนผู้ต้องหาบางรายจบชีวิตไปแล้ว ส่วนพล.ต.ท.ชลอ ถูกถอดยศ เปลี่ยนชื่อเป็น นายธัชพล เกิดเทศ แต่เหตุการณ์ต่างๆ ยังไม่อาจเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนที่รับรู้เหตุการณ์ไปได้ บนเส้นทางมนุษย์ที่ยังคงโลดแล่นไปนั้น กรรมดี และกรรมชั่วยังคงวนเวียนเป็นวัฎจักร ผู้ต้องหาสำคัญอีกคนหนึ่งคือ พ.ต.ท.พันธ์ศักดิ์ มงคลศิลป์ หลังถูกจองจำนานถึง 18 ปี เมื่อพ้นโทษออกมา แทนที่จะหลาบจำกลับเนื้อกลับตัว แต่ตกเป็นผู้ต้องหาอุ้มฆ่า นายชัยชนะ หรือ เสี่ยอ้วน หมายงาน อายุ 67 ปี ผู้กว้างขวางแห่งตลาดโรงเกลือ ต้องกลับเข้าคุกเข้าตะรางรอการตัดสินโทษอีกครั้ง
ทุกตัวละครที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยต่างคนต่างมาพบ ต่างคนต่างหน้าที่ และต่างคนต่างอยู่คนละทิศแต่ “กรรม”เพียงอย่างเดียว ที่นำพาให้มาพบ สิ่งเหล่านี้ย่อมพิสูจน์ให้เห็นหลักธรรมะ ของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า กมมุนา วตตตีโลโก “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”