xs
xsm
sm
md
lg

“ประสงค์-รสนา-ธีระชัย” นำคณะบุคคลค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมลักหลับ ยื่นหนังสือถึง “ประยุทธ์” พรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะบุคคลแถลงเรียกร้องยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่กระทรวงพลังงานชง ครม. “น.ต.ประสงค์” ซัดร่างเองกินเอง-ซ่อนเงื่อน-ไม่ฟังความเห็นประชาชน เตือนอยากเป็นใหญ่ต้องรับฟังผู้อื่น ไม่เช่นนั้นเสียหายแน่ แนะเปิดหอประชุมทั้งสองฝ่ายเจอกัน “ธีระชัย” เตือนลิดรอนสิทธิรัฐบาลในอนาคต “รสนา” แฉกลุ่มทุนพลังงานดิ้นพล่าน หวั่นถูกเรียกสัมปทานคืน ซัดป้ายสีหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่มาเลเซียก็ไม่ใช่ แถมยังแถใส่คำว่า “แบ่งปันผลผลิต” จำแลง ถามกลับเคยให้กฤษฎีกาวินิจฉัยท่อก๊าซไปถึงไหนแล้ว ถ้าเป็นพวกกันจริงขอให้ฟังกันบ้าง ท้าประชามติไปเลย “กมล” อัดใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ รัฐเสียค่าโง่ซ้ำรอย “ทางด่วน-คลองด่าน”



วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท คณะบุคคลนำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน, น.ส.รสนา โตสิตระกูล, นายกมล กมลตระกูล และนายนพ สัตนาศัย แถลงข่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) ทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย น.ต.ประสงค์กล่าวว่า ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเรื่องพลังงาน ภาคประชาชนที่รวมตัวออกมาคัดค้านหลายอย่าง ที่คนที่กำลังจะเอาพลังงานซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เอาไปใช้หรือดำเนินการในลักษณะที่คนไทย หรือประเทศไทยเสียเปรียบมาตลอดหลายสิบปี ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 โดยได้ชี้แจงว่าเป็นกฎหมายที่ใช้มาหลายปี ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย มีการให้สัมปทานไปแล้ว ภาคประชาชนชี้แจงหลายครั้ง

ทั้งนี้ การประมูลรอบที่ 21 ได้คัดค้านมาแล้ว ทำให้ทางรัฐบาลต้องเลื่อนออกไป แต่กลับมีการประชุมโดยมีทีท่าว่าจะรับฟังระหว่างภาคราชการและประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้ง แต่ฝ่ายราชการส่งแต่ระดับเจ้าหน้าที่มา แต่รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงไม่มา ก็ได้ชี้แจงไปว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมจะแก้ไขอย่างไร คิดว่าจะนำไปเรียนให้ทราบ แต่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนสูญเปล่า ไม่ใส่ใจ เงียบหายไป แต่กระทรวงพลังงานกลับร่างกฎหมายกันเอง ซ่อนเงื่อน ไม่ชี้แจงให้ชัดเจน หลักการทั้งหมดไม่ได้นำเอาความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแก้ไขให้เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศ จึงเห็นว่าในเมื่อกระทรวงพลังงานเสนอกฎหมายออกมาแบบนี้ก็คงอยู่เฉยไม่ได้ จึงชี้แจงต่อประชาชนให้ทราบอีกครั้ง

“ขอฝากไปถึงรัฐบาลที่กำลังมีอำนาจบริหารประเทศด้วยว่า ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์นั้น เริ่มต้นมาจากการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และความเห็นที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงาน ที่เราเสียผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองมาหลายสิบปี ตาม พ.ร.บ.ฉบับเก่า ก็กลับเอาขึ้นมา และจะประมูลในรอบที่ 21 ภายใต้กฎหมายใหม่ของกระทรวงพลังงาน มันยังไม่ดี ไม่ถูกต้อง ยังไม่เป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ขอฝากว่าถ้าคิดอยากจะอยู่ในอำนาจ มีอำนาจ ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นมาจากการรู้จักรับฟัง แต่ถ้าไม่รู้จักรับฟัง หรือพูดว่าจะรับฟัง ไม่ใช่ความจริงใจ แต่เป็นความเสียหายหากสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่องชาติบ้านเมืองไม่รับฟัง” น.ต.ประสงค์กล่าว

ด้านนายธีระชัยกล่าวว่า ตนได้อ่านข่าวที่ปรากฎในสื่อ ปรากฎว่า รมว.พลังงานจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย แม้จะยังมีจุดอ่อน แต่จะปรับระเบียบอะไรก็ให้ออกประกาศเป็นคณะกรรมการปิโตรเลียม กระบวนการแบบนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เพราะการที่กระทรวงพลังงานจะผลักดันกฎหมาย ทั้งที่กฎกติกามารยาทในวิธีการทำงานยังไม่ตกผลึก และเป็นการทำงานที่ไม่รอบคอบ ส่วนการร่าง พ.ร.บ.ใช้วิธีการอ้อมๆ โดยใช้ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมในการออกกฎกติกา เป็นการมอบอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร เหมือนเป็นการมอบเช็คเปล่าไปให้กับฝ่ายบริหาร กระบวนการทำงานแบบนี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ว่า คสช.ต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญป้องกันการทุจริต แต่การออกเช็คเปล่าให้ผู้บริหารไม่สอดคล้องกับข้อสัญญาของ คสช.ที่จะมีการออกกติกาป้องกันการทุจริต

ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านรัฐสภา มีกระบวนการกลั่นกรอง ถ่วงดุล ตรวจสอบอย่างละเอียด แต่พอไปใส่ไว้ให้ดำเนินการ ผ่านประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม หรือกฎกระทรวง ไม่เหมือนกับการกำหนดติกาไว้ในชั้นพระราชบัญญัติ แต่เป็นการออกกฎหมายลูกซึ่งเปลี่ยนกติกาได้ง่าย เป็นการเปิดประตูที่ไม่ป้องกันการทุจริตอย่างเหมาะสม และร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยรัฐได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมเป็นของ ทั้งที่วิธีการบริหารจัดการมีหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างอื่น จำเป็นต้องตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ จึงเหลือทางเลือกเดียว คือ ให้เอกชนขายโดยทันที

“การยกร่างแบบนี้เป็นการรอนสิทธิของรัฐบาลในอนาคตที่จะมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการขายทันที ลักษณะของการยกร่างกฎหมายที่มีการรอนสิทธิ์อย่างนี้ ผมคิดว่ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนไว้ว่าจะกำหนดกติกาบริหารบ้านเมืองที่เหมาะสมส่งมอบให้กับรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป วันนี้ผมได้ทำจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับหนึ่งแจ้งให้นายกรัฐมนตรี และสำเนาไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทราบว่า การที่รัฐบาลซึ่งมีรากเหง้ามาจาก คสช.จะผ่านร่างกฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามสิ่งที่ คสช. สัญยาไว้กับประชาชนในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เป็นเรื่องที่ประชาชนตกอกตกใจพอสมควร" นายธีระชัยกล่าว

พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี แลัะคณะรัฐมนตรีว่า พลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติที่หาได้ในประเทศไทย เป็นทรัพย์สินของประชาชนไทยทุกคน จึงมีสิทธิ์ที่จะรักษาและหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาไปทำตามที่ชอบใจ ไปเลือก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ทั้งที่ตั้งคณะปฏิรูปพลังงานเอง โดยให้เหตุผลว่าใช้เส้นทางเลี้ยวรถ ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็น้อยลงไป เวลานี้ไม่ใช่เวลาขุดเอาพลังงานไปใช้ ขายออกต่างประเทศทั้งหมด เราไม่มีสิทธิ์ใช้ ทำไมไม่เก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน จะมาขายอะไรตอนนี้ และน้ำมันจากสหรัฐฯ สกัดจากชั้นหินได้ ราคาถูกบาร์เรลละ 40 เหรียญเท่านั้นเอง เราเอาไปจะขายออกคุ้มหรือเปล่า และยังไม่รู้เลยว่าเขาขุดอะไรได้เท่าไหร่ บริษัทน้ำมันต่างชาติแห่งหนึ่งทุเรศที่สุด จึงวิงวอนให้เจ้าของประเทศช่วยดู เพราะประชาชนจะเดือดร้อนไปอีก 39 ปี

น.ส.รสนากล่าวว่า อยากให้มีการแก้ไขให้ดีกว่านี้เสียก่อน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน แต่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานเป็นหลัก โดยปกติ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 ในการให้สัมปทานเป็นการแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การสำรวจ สูงสุด 9 ปี การผลิตครั้งที่ 1 จำนวน 20 ปี และครั้งที่ 2 จำนวน 10 ปี รวม 39 ปี แต่การแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้รวดเดียว 39 ปี ถ้ารัฐบาลจะเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมจะต้องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ ปิดช่องทางการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในโอกาสหน้า กลายเป็นว่ากลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานพยายามผลักดันรัฐบาลให้ผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ในช่วง คสช.มีอำนาจอยู่ หลังจากนั้นรัฐบาลต่อไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งที่เขากลัวที่สุด คือ การเรียกสัมปทานคืน

“ประเทศรอบบ้านเราทั้งหมดเขาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวยืนหยัดว่าต้องเป็นระบบสัมปทาน แต่เขาอ้างว่าเขาได้แก้แล้ว ให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่เขาเพิ่มเข้ามาต้องเรียกว่าสักแต่เพิ่มเข้ามา ถ้าคุณจะกำหนดรูปแบบอะไรสักอย่างขึ้นมา คุณจะต้องมีกลไกและโครงสร้างมารองรับ ซึ่งโครงสร้างของการที่จะมีระบบแบ่งปันผลผลิตก็จะต้องมีบรรษัทพลังงานของประเทศ แต่พวกนี้กลัวมากที่สุดที่จะมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็จะอ้างว่าจะทำให้ประเทศชาติกลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กลายเป็นพวกชาตินิยมพลังงาน ลองไปดูประเทศมาเลเซีย เขาเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แล้วมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ชื่อ ปิโตรนาส ตั้งแต่ปี 2517 เขาเป็นสังคมนิยมหรือเปล่า ชาตินิยมพลังงานหรือเปล่า ยึดทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐหรือเปล่า เปล่าทั้งสิ้น แต่กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้จะพยายามวาดภาพที่น่ากลัวว่าบรรษัทพลังงานจะมีนักการเมืองมาล้วงลูก มาเอาประโยชน์ มาทำให้เจ๊ง เป็นการจงใจปิดบังสาระที่แท้จริงของระบบแบ่งปันผลผลิต” น.ส.รสนากล่าว

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า หัวใจของระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ต่างกันเรื่องกรรมสิทธิ์ โดยระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศ ขายเป็นงบประมาณแผ่นดิน จึงต้องจัดการโดยการมีบรรษัทของตัวเอง แต่ถ้าเป็นระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์จะเป็นของเอกชน จ่ายเงินให้รัฐเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย อยู่อย่างนี้มา 44 ปีแล้ว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง ส่วน พ.ร.บ.อีกฉบับ คือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมแทบจะไม่ได้แก้อะไรเลย แก้อย่างเดียวคือ จากเดิมต้องจ่าย 50% ให้รัฐ ลดลงมาเป็น 20% นอกนั้นไม่แก้อะไรเลย เช่น ค่าใช้จ่ายของบริษัทต่างชาติ เอาค่าใช้จ่ายนอกประเทศมาหักได้ก็สามารถสร้างตัวเลขเทียมแล้วมาหักค่าใช้จ่ายในประเทศ และบริษัทกระดาษในประเทศนั้นจะไม่เปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรม กฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์แล้วหรือที่รัฐบาลจะผ่าน เราต้องทำกฎหมายให้ดีก่อนเข้าไปสู่ สนช.

ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มทุนพลังงานผูกขาด ที่มีอิทธิพลต่อข้าราชการ แล้วยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา แม้จะมีระบบแบ่งปันผลผลิต แต่เรียกว่าเป็นสัมปทานจำแลง อีกประการหนึ่งที่สังคมต้องรู้ คือ โรดแมปที่สำคัญของกลุ่มทุนพลังงานมี 2 ส่วน คือ ยึดทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำให้เป็นของเอกชนต่อไป และยึดอุปกรณ์ คือท่อก๊าซ ผ่านมาแล้ว 1 ปีกว่า ยังไม่มีคำตัดสินจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้วินิจฉัยว่า ท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของเอกชน ต้องถามว่าใช้เวลานานขนาดนี้เลยหรือ หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดสินแล้วแต่นายกรัฐมนตรีไม่เปิดเผย อาจเป็นเพราะไม่เป็นคุณกับกลุ่มทุนพลังงานผูกขาดใช่หรือไม่ ที่จ่อจะตั้งบริษัทท่อก๊าซเป็นบริษัทลูกขึ้นมา เป็นวิธีการผ่องถ่ายสาธารณสมบัติจากของรัฐไปเป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์

“ระบบท่อส่งก๊าซทั้งหมดเป็นเส้นเลือดในระบบเศรษฐกิจด้านพลังงาน ส่วนปิโตรเลียมก็คือเลือด เวลานี้เอกชนที่ผูกขาดนั้นกะเลือกทั้งโครงข่ายเส้นเลือดและเลือด ถ้ายึดได้หมดจะเหลืออะไร ไหนว่ารัฐบาลจะมาคืนความสุขให้ประชาชน รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนต้องใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เพราะอำนาจไม่เป็นธรรมจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ นายกรัฐมนตรีวันหนึ่งเคยพบกับดิฉันในช่วงที่ สปช.มีการแถลงผลงานและยื่นงาน ท่านเดินมาตบไหล่ดิฉัน บอกเบาๆ ว่าพวกกัน ถ้าเป็นพวกกันขอให้ฟังกันบ้าง แต่ถ้าไม่ฟังกันขอให้ทำประชามติไหม เพื่อที่จะให้ตัดสินกันให้เด็ดขาดไปเลยว่าประชาชนทั้ง 66 ล้านคนต้องการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นของประเทศ หรือเป็นของบริษัทผูกขาดพลังงานเหล่านี้” น.ส.รสนากล่าว

นายกมลกล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ขายชาติ เพราะขาดระบบถ่วงดุลตรวจสอบ รัฐมนตรีคนเดียวมีอำนาจตัดสินใจ ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ แต่ตกอยู่ในมือของคนสอง-สามคน, ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ที่ใช้ตัดสินความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน ทำให้ประเทศเสียค่าโง่มาแล้ว ทั้งทางด่วน และบ่อบำบัดน้ำเสียนับหมื่นล้านบาท, ยังคงระบบสัมปทานไว้ แต่เล่นคำให้ระบบแบ่งปันผลผลิต และจะมีสัญญาสัมปทานมากถึง 39 ปี หมายความว่าเราต้องใช้น้ำมันแพงขึ้นไปอีก 39 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน หรือรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน แต่เป็นของกลุ่มทุนพลังงานทั้งของไทยและต่างชาติ

นายนพกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้ สนช. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อยู่ๆ กระทรวงพลังงานก็ลักไก่เสนอขอแก้ไข โดยไม่มองว่า สนช. ศึกษาอะไรมาบ้าง ทั้งที่ศึกษาอย่างละเอียด ปิดหูปิดตาประชาชน และไม่ฟังความเห็น ดื้อดึง ดึงดัน เร่งรีบที่จะเอาเรื่อง พ.ร.บ.ผ่านคณะรัฐมนตรี พฤติกรรมเช่นนี้แหกตานายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ โดยบอกว่าหนึ่งในธรรมาภิบาลของ รมว.พลังงานอ้างว่าปรึกษาหารือกับภาคประชาชนแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยปรึกษาหารือกับ สนช. พูดคำเดียวว่าแก้ไม่ได้ ต้องทำตาม พ.ร.บ.นี้ แล้วไปแก้ในกฎกระทรวง เหมือนกับการเซ็นเช็คเปล่า ให้มองดูพฤติกรรมว่าไม่ชอบมาพากลอย่างไร พยายามผ่านกฎหมายสองฉบับนี้ออกมาให้ได้

น.ต.ประสงค์กล่าวสรุปว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการนำพลังงานขึ้นมาใช้ครั้งใหม่ควรจะเกิดประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ เพราะที่ผ่านมา 40 กว่าปี คนไทยเสียผลประโยชน์ไปมหาศาล จากการที่ภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคราวนี้ ขอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ท่านต้องการความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ขณะนี้เรื่องสำคัญที่ขัดแย้งกัน อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติบ้านเมือง ระหว่างประชาชนกับฝ่ายคนบางกลุ่มบางพวกในเรื่องพลังงาน ความขัดแย้งกันนี้ขอให้นายกรัฐมนตรีหาทางหากอยากเห็นความปรองดองด้วยดีต้องให้เรื่องเหล่านี้จบลงด้วยดี แต่ไม่ใช่จบลงด้วยคำสั่งที่ไม่มีเหตุผล เอาแต่อำนาจมาใช้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว

ตนอยากเสนอว่าในขณะนี้ภาคประชาชนเสนอขึ้นมาแล้ว ภาคราชการคือกระทรวงพลังงานเสนอขึ้นมาแล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกัน ถ้าอยากเห็นความปรองดอง ขอแนะนำว่าเปิดหอประชุมใหญ่ของราชการ หอประชุมกองทัพบกยิ่งดี แล้วเอาทั้งสองฝ่ายพบกัน พูดจากัน โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังเป็นคนกลาง อันไหนถูกอันไหนผิดเห็นได้จากมติที่ออกมา ต้องชี้ให้เห็นก่อนว่าอะไรถูกหรือไม่ถูกสำหรับผลประโยชน์ส่วนรวม ถ้าชี้ตรงนี้ได้จากการฟังทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นด้วยการรู้จักฟัง ถ้าหากว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วเดินหน้าอย่างเดียว หลายสิ่งหลายอย่างจะวอดวายถ้าไม่คิดให้ถูกผูกให้เป็น

หลังจากจบการแถลงข่าวแล้ว คณะบุคคลที่ร่วมแถลงข่าวในวันนี้ จะยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. โดยคณะบุคคลได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ โดยในหนังสือสำคัญนี้นอกจากคณะบุคคลที่ร่วมแถลงข่าวแล้วยังมีบุคคลสำคัญลงนามร่วมด้วยหลายคน เช่น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานรัฐสภา, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และประธานมูลนิธิไทยทริบูนร่วมด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงาน สามารถลงชื่อเพิ่มเติมได้ ก่อนการยื่นหนังสือในตอนเช้าวันพรุ่งนี้






ลายเซ็นบุคคลสำคัญ ท้ายหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน (รายชื่อที่ยังว่างอยู่จะลงนามในวันพรุ่งนี้)




ร่างจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง ขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ... ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้วยคณะบุคคลต่อไปนี้อันประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ บุคคลผู้ทำคุณงามความดีแก่ประเทศ และประชาชนทั่วไปต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะนำร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 ธันวาคมนี้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอให้ปรับแก้กว่า 50 มาตรา หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงพลังงาน และหากผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้วนำไปบังคับใช้ ให้เอกชนเข้ายื่นขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ความเดิมในการดำเนินการแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา และจากภาคประชาชน ดังนั้น การจัดทำรายงานผลการศึกษาจึงมีข้อมูลและความเห็นที่ครบถ้วนและรอบด้าน

แต่ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รอเสนอรายงานผลการศึกษาปัญหาพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่นั้น กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ….และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ….ชิงตัดหน้าส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยไม่รอรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่อย่างใด จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงพลังงานเสนอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีรายละเอียดไม่ครบถ้วน โดยขาดเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากรายงานผลการศึกษาปัญหาของพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สาระสำคัญในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ได้เพิ่มคำว่า “แบ่งปันผลผลิต” เข้ามา แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกจริง ร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด จึงนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่แท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ปรับปรุงจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ดังนั้น หากนำไปใช้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ระบุถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับปรากฏในส่วนท้ายบทสรุปผู้บริหาร หน้า (10) ความตอนหนึ่งว่า :

“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม มีระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่จำกัด ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบต่อประชาชนตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ชัดเจน สมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และบทบัญญัติในการจัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมประสิทธิภาพสูงสุดบนพื้นฐานความโปร่งใส และเป็นธรรม มีความคล่องตัวในการดำเนินการ และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

และในบทที่ 2 หน้า 3 ว่า

“ศักยภาพของแหล่งทรัพยากรอาจจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่ศักยภาพของคนนั้นมีอย่างไม่จำกัด การออกกฎหมายที่เปิดกว้างจะส่งเสริมศักยภาพของรัฐ ส่งเสริมศักยภาพของคนที่มีความคิดก้าวหน้าให้ร่วมพัฒนาประเทศ ปิดกั้นโอกาสของคนไม่สุจริตให้เข้ามาหาช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ เพราะการเปิดกว้างของกฎหมายจะส่งผลให้แข่งขันกันสร้างประโยชน์โดยรวม ผู้ใดมีความรู้ความสามารถก็สามารถเข้าถึงได้ ผิดกับกฎหมายที่ปิดกั้น จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจหน้าที่อยู่ที่กลุ่มคนบางกลุ่มองค์การบางองค์การ การพัฒนาใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญ ยิ่งนานวันเพียงใดความเข้มแข็งของกลุ่มจะยิ่งมีอิทธิพลจนยากจะเปลี่ยนแปลง และในท้ายที่สุดประเทศเทศชาติจะสูญเสียอิสรภาพในด้านนั้นไป

ดังนั้น ข้อจำกัดของการพึ่งพาผู้อื่นจะส่งผลให้กฎหมายมีลักษณะที่ปิดกั้น สร้างการผูกขาด ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเร็ว จะเป็นการลดการสร้างโอกาสในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐลง และสูญเสียผลประโยชน์ของทรัพยากรของรัฐเพื่อประเทศชาติไปให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่สร้างการผูกขาดนั้น”


จึงกราบเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ขอแสดงความนับถือ



กำลังโหลดความคิดเห็น