พท.ร่วมวางพวงมาลาวันรัฐธรรมนูญ “สามารถ” นำอ่าน จม.เปิดผนึกถึง “มีชัย” จี้ทำตามพระราชปณิธานรัชกาลที่ 7 อย่าร่าง รธน.กีดกันบางฝ่าย เปิดช่องสืบทอดอำนาจ ให้ตอบตัวเองร่างเป็น ปชต.หรือมีเป้าของผู้มีอำนาจ ชี้ควรให้ ปชช.เต็มใจรับร่าง อย่ารณรงค์เอาเป็นเอาตายจนขัดแย้ง คุ้มครองพลเมืองอาเซียน ติงให้ญาตินักการเมืองแจงทรัพย์สิน เกินจำเป็น อคติห้าม ส.ส.แปรงบเพื่อประโยชน์พื้นที่ตัวเอง
วันนี้ (10 ธ.ค.) พ.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมคณะเดินทางมาวางพวงมาลาเพื่อสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา หลังจากนั้นเวลา 10.00 น. นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคฯ อ่านจดหมายเปิดผนึกเรื่องขอให้ยึดหลักการประชาธิปไตยและน้อมนำพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 7 มาใช้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายสามารถอ่านจดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 83 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ปวงชนชาวไทย ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับเป็นเวลายาวนานที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทย ต่อมาทางการได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้เพราะมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องยัง กรธ.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. กรธ.ควรน้อมรำลึกและตระหนักถึงพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 7 การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้อำนาจทางการเมืองและอำนาจในการตรวจสอบไปตกอยู่กับคณะบุคคลหรือองค์กรซึ่งมาจากการแต่งตั้ง อาทิ การกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง การให้สมาชิก ส.ว.มาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา การให้องค์กรหรือคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การกำหนดวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แปลกพิสดารและยุ่งยากสับสน การให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารและประธานรัฐสภาซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดความขัดแย้งทางการเมืองหรือ “ผ่าทางตันทางการเมือง” ซึ่งผิดแปลกไปจากหน้าที่ตามปกติของศาลรัฐธรรมนูญที่ยึดถือเป็นสากลว่าไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
“การกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา ที่ดูเหมือนจะเป็นการกีดกันบุคคลบางฝ่ายโดยเฉพาะเจาะจง และการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะเปิดโอกาสให้มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นการสวนทางและขัดแย้งกับพระราชปณิธานอันปรากฏในพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 7 อย่างชัดเจน” นายสามารถระบุ
2. การรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศไปจากรัฐบาลประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ และตั้ง กรธ.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หลายครั้งนั้น กรธ.ต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า แม้ไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงแต่เมื่อมีโอกาสแล้วน่าจะร่างรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สร้างดุลยภาพ ระบบตรวจสอบที่เหมาะสมและความรับผิดชอบของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ให้การเคารพในอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของรัฐของประชาชน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งต้องไตร่ตรองว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยหรือจะร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ
3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปจัดทำประชามติ เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งถือได้ให้ความสำคัญและเคารพความเห็น การตัดสินใจของประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงขอให้กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญตระหนักว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำให้ประชาชนรู้สึกสะดวกใจและเต็มใจที่จะรับร่าง การร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่รู้อยู่แล้วว่าจะไม่ผ่านการออกเสียงประชามติหรือหากผ่านก็ต้องไปรณรงค์ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายจนกลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติย่อมเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนั้นในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นขั้นตอนสำคัญในการคืนอำนาจและคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่ “คืนการเลือกตั้ง” เท่านั้น อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ถูกยกเลิกไป
4. กรธ.ควรตระหนักว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อที่จะปกป้องสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยจะพึงได้รับเท่านั้น แต่ต้องมีหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและผลประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนทั้ง 600 กว่าล้านคนตามกฎบัตรอาเซียน
ภายหลังอ่านจดหมายเปิดผนึก อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ระบุให้ญาติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินด้วยว่า ตนคิดว่าเกินความจำเป็น และจะไม่ได้ผลอะไร ซึ่งคนที่ตั้งใจทุจริตก็คงฉลาดพอที่จะทำให้ไม่มีปัญหา ในทางกลับกันจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับคนดีๆที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เพราะหากได้เป็นรัฐมนตรีแล้วก็คงไม่อยากให้พี่น้องเดือดร้อน ดังนั้น ในหลักการแล้วควรจะตรวจสอบในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เพราะมีองค์กรทั้ง สตง. ป.ป.ช. ฯลฯ ที่สามารถเข้ามาตรวจสอบว่าตรงไหนส่อเจตนาทุจริตได้อยู่แล้ว ควรเน้นหาวิธีตรวจสอบตรงจุดนี้จะดีกว่า
เมื่อถามถึงกรณีที่ กรธ.วางหลักเกณฑ์ห้าม ส.ส.ใช้งบแปรญัตติเพื่อประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง นายสามารถกล่าวว่า กรธ.ตั้งหลักการร่างรัฐธรรมนูญโดยมีอคติ มองนักการเมืองเป็นผู้ร้ายเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ อย่าลืมว่า ส.ส.เป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชน รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร และสามารถจัดสรรงบไปแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ ควรให้เขาเข้ามาแปรญัตติอย่างเปิดเผยเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ อย่างไปเขียนอะไรที่มีอคติต่อนักการเมืองมากไป อย่างไรก็ตาม หากนำงบประมาณดังกล่าวไปให้ฝ่ายประจำจะเป็นการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างผิดทิศผิดทาง ตรวจสอบก็ไม่ได้ อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้