xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนเชียงใหม่ส่ง จม.เปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ จี้คืบหน้า “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” ต้านมูลนิธิองค์การศาสนาเข้าแทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาพปัจจุบันของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่(เดิม) พื้นที่โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาคประชาชนเชียงใหม่เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงผู้ว่าฯ ทวงถามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว และเรียกร้องให้ดำเนินการตามแนวทางที่เป็นข้อสรุปเวทีรับฟังความคิดเห็น หลังพบมีองค์กรศาสนาบางแห่งพยายามแทรกแซงบริหารจัดการแทน เผยหากมีการเปลี่ยนแปลงจะสู้ให้ถึงที่สุด

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้ภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ที่ประกอบด้วยเครือข่ายผู้หญิงเชียงใหม่ ชมรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิง กลุ่มจับตาเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก ชมรมคนช้างม่อย และอีกหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทำงานภาคประชาชน เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าและแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้ว หรือพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) กลางเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านบาทจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการพัฒนาตั้งแต่ปี 2556

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการมาโดยตลอด แม้ว่าทางจังหวัดเชียงใหม่จะมีการมอบหมายให้สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาในปี 2556 และมีการจัดประกวดออกแบบการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วในปี 2557 เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการดำเนินการ รวมทั้งมีความพยายามแทรกแซงจากมูลนิธิองค์กรทางศาสนาบางแห่งที่จะเข้าไปบริหารจัดการดูแลพื้นที่ดังกล่าวเองทั้งหมด

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวได้เรียกร้องให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ตามแนวทางการพัฒนาที่ได้ข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดทำไปและมีข้อตกลงร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนไว้ เพราะเป็นข้อสรุปที่ผ่านการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการออกแบบที่มีการประกวดจนได้ผลก็เป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผย ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และมีการตั้งคณะกรรมการที่จังหวัดแต่งตั้งอย่างเป็นทางการด้วย

ขณะเดียวกัน จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากบางกลุ่มที่จะแทรกแซงและล้มเลิกการดำเนินโครงการพัฒนาดังกล่าวของทางจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอดอย่างน้อย 2 ครั้ง ทั้งการยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ยกเลิกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ที่แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วชุดเดิม และขอตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ รวมทั้งล่าสุดทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีขอให้มีการแก้ข้อกฎหมายงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 150 ล้านบาทสำหรับดำเนินโครงการนี้ เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าไปดำเนินการโครงการนี้แทน ซึ่งภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่แสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจน

แหล่งข่าวจากภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า ภาคประชาชนเชียงใหม่มีการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องมากว่า 10 ปี แล้วเพื่อให้มีการย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ออกไป และทำการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวประมาณ 30 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ พร้อมทั้งเป็นจุดที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 700 ปี กระทั่งมีการย้าย ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ออกไป และรัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณ 150 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อทำการพัฒนาพื้นที่ แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบดูแล มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจนได้ข้อสรุปแนวทางพัฒนา และมีการประกวดออกแบบจนได้รูปแบบเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ในระหว่างที่โครงการมีความล่าช้าอยู่ พบด้วยว่ามีความพยายามจากมูลนิธิองค์กรทางศาสนาบางแห่ง และกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการจะแทรกแซงและเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วแทนจังหวัดเชียงใหม่ที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่ โดยต้องการจะพัฒนาตามรูปแบบของตัวเองซึ่งมุ่งแต่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ สร้างจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ละเลยการขุดค้นเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ดังกล่าว แล้วยกเลิกรูปแบบและแนวทางทั้งหมดที่ได้จากการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นและเป็นข้อตกลงร่วมกันของภาคประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาโดยตลอดไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่าแนวทางและรูปแบบที่เห็นชอบร่วมกันมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว ทั้งการขุดค้นเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ดังกล่าวตามหลักวิชาการ ก่อนที่จะเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงใหม่ ที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไม่มีปัจจัยอื่นใดมาเป็นข้อจำกัดความเป็นเจ้าของในพื้นที่นี้

สำหรับการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการนี้นั้น แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้บอกว่า ล่าสุดในเดือน ต.ค. 58 ทางภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประสานข้อมูลจากทางจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้งบประมาณ 150 ล้านบาทของโครงการดังกล่าวยังคงมีอยู่พร้อมที่จะทำการเบิกจ่ายดำเนินการได้ โดยทางฝ่ายยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการเร่งจัดทำ TOR ของโครงการนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้ทำการประกาศและจัดซื้อจัดจ้างต่อไปตามขั้นตอนราชการ ซึ่งในส่วนของภาคีเครือข่ายประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งยืนยันว่า การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วจะต้องเป็นไปตามแนวทางที่เป็นข้อตกลงร่วมกันจากเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเท่านั้น ไม่ให้มูลนิธิองค์กรหรือกลุ่มบุคคลอื่นเข้ามาแทรกแซงหรือรับไปดำเนินการแทน หากเป็นเช่นนั้นจะทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และจะเคลื่อนไหวต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อรักษาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วให้เป็นของชาวเชียงใหม่ทุกคน





กำลังโหลดความคิดเห็น