xs
xsm
sm
md
lg

คนวงในจวก"กกต.-เลขาฯ" ล้วนเป็นตัวปัญหาของสนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ธ.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.กล่าวถึงกรณี นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการกกต. ออกมาระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และมี กกต.เข้ามาล้วงลูก แทรกแซงการทำงาน ว่า ยิ่งเขาออกมาพูดมากก็เท่ากับเป็นการประจานตัวเอง กกต.เลิกจ้างเลขาฯ ก็พาลมาด่า กกต. ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในกกต.ที่ลงมติ เมื่อด่ามาก็เฉยๆ เพราะคนฟังจะรู้เอง ยิ่งเขาดิ้นมาก หลุมก็ยิ่งลึก ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ทั้งนี้ ตนไม่เคยไปล้วงลูก เพราะงานในหน้าที่ก็เยอะอยู่แล้ว จะไปล้วงลูกเลขาทำไม และที่ผ่านมาเลขาฯ ทำหน้าที่หรือไม่
"คนเราส่วนมากจะไม่ดูตัวเอง ตอนนี้ปล่อยให้เขาพูดไปก่อน แล้วค่อยมาสรุป ผมจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ หากเลขาฯพูดข้อความใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็จะฟ้องทันที ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ไปทะเลาะ และไม่ตอบโต้ด้วย ส่วนตัวไม่มีปัญหากับใคร และก็ไม่เคยก้าวก่ายการทำงาน เขาจะพูดอะไรก็แล้วแต่เขา คนโดนเลิกจ้าง มักจะหน้ามืดไม่คิดอะไร การพูดอะไรต้องคิดไม่ใช้ใช่แต่อารมณ์ เขาก็ออกมาด่าทุกคน ผมก็อโหสิกรรมให้ แต่ถ้าหากเลขาฯ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไปฟ้องศาลปกครองได้ ซึ่งผมไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างว่ากันไปตามหลักฐาน ใครคิดดี ทำดี ใครคิดไม่ดี คิดร้ายกับคนอื่น ก็เป็นทุกข์เอง และการทำหน้าที่ของผม สามารถตรวจสอบได้ หากสังคมและผู้ใหญ่เห็นว่าผมไปรังแกเลขาฯ ก็พร้อมที่จะลาออกทันที ไม่ยึดติดตำแหน่ง" ประธานกกต. กล่าว

**ทั้ง"กกต.-เลขาฯ"ล้วนตัวปัญหาของสนง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายภุชงค์ ทาง กกต.ได้มีการสั่งการให้ นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ในฐานะรักษาการ เลขาธิการกกต.และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวบรวม และวิเคราะห์คำให้สัมภาษณ์ว่า กระทบต่อส่วนงานใด และอาจจำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงต่อสาธารณะ หรือดำเนินการอย่างไรต่อไป
ส่วนที่ นายภุชงค์ ระบุว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อกกต. ภายใน 15 วัน มีรายงานว่า ตามระเบียบว่าด้วยสัญญาจ้างเลขาธิการกกต.นั้นระบุชัดเจนว่า มติกกต. ถือเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นการยื่นอุทธรณ์ของนายภุชงค์ ไม่น่าจะสามารถทำได้ หากจะยื่นก็น่าจะเป็นการยื่นถึงตัวประธาน กกต.ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาจ้างเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีผลการในเรื่องการทบทวนมติกกต. และสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เนื่องจากตามระเบียบถือว่าคำสั่ง หรือมติกกต. เป็นคำสั่งทางปกครอง โดยการยื่นฟ้องศาลนั้น คาดว่าประเด็นที่นายภุชงค์ จะใช้เป็นข้อต่อสู้ คือ หลักเกณฑ์การประเมินไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการกกต. นายภุชงค์ เคยมีหนังสือถึง กกต.ท้วงติงในประเด็นดังกล่าวหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับ นายภุชงค์ แหล่งข่าวจาก กกต.ให้ความเห็นว่า ทั้งกกต.และนายภุชงค์ ต่างก็เป็นปัญหาของสำนักงานในปัจจุบัน โดยนายภุชงค์ ที่ผ่านมาการทำงานขาดการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน การทำงานตามภารกิจที่ได้ชูเป็นนโยบายไว้ตอนรับตำแหน่ง ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความสำเร็จ การแต่งตั้งโยกย้าย พนักงาน ก็มีการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการสนับสนุนแต่คนใกล้ชิดให้ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ หรือเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ในยุคของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน กกต. ไม่เป็นปัญหา ก็เพราะสามารถทำงานได้เข้าขากับตัวประธานกกต. ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีปัญหากับ กกต.คนอื่นเช่นกัน
ขณะที่ในส่วนของ กกต.ชุดปัจจุบันการปฏิบัติงานก็มีการล้วงลูกจริง บางกรณีเป็นเพราะเลขาไม่ดำเนินการ กรรมการก็ต้องส่งคนของตนเองเข้าไปดำเนินการ โดยจะเป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปล้วงลูกในแต่ละด้านกิจการที่กรรมการของตนรับผิดชอบ ในการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ อาทิ การกลั่นกรองบุคคลากรเข้าสู่ตำแหน่ง ก็จะมีการแต่งตั้งให้ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของ กกต. แต่ละคนเข้าไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งแม้จะมีการวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่ง แต่การแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานหรือผู้บริหารระดับสูง ก็ยังเป็นลักษณะวางคนใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่ง ขณะที่การแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานประจำกกต. แต่ละคน ก็ไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น อย่างที่ นายภุชงค์ ออกมาให้ข้อมูลว่า ทำใหต้องเสียงบประมาณถึงปีละ 24 ล้าน โดยเมื่อ กกต. ชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็พยายามเร่งรัดให้ทางสำนักงานดำเนินการออกระเบียบฯ ทั้งที่ขณะนั้นกกต.กำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 อีกทั้งยังมีการผลักดันให้มีการกำหนดจำนวนตำแหน่งที่มากขึ้น และอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าที่ กกต.ชุดก่อนในอดีตเคยปฏิบัติ โดยในกกต.ชุดก่อนๆ จะกำหนดให้มี กกต.หนึ่งคนมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ เท่านั้น โดยที่ปรึกษาละได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 3 หมื่นบาท ส่วนตำแหน่งอื่นนั้น ก็จะให้ทางสำนักงานคัดสรรพนักงานที่ปฏิบัติงานดีขึ้นไปทำหน้าที่
แต่ในกกต.ชุดปัจจุบัน กลับมีการกำหนดให้ กกต.หนึ่งคนมีที่ปรึกษา 1-2 คน รับค่าตอบแทน 6 หมื่นบาท ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 4 หมื่นบาท เลขานุการ 1 คน ค่าตอบแทน 45,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 2 คน ค่าตอบแทน 23,000 คนขับรถ 15,000 และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 25,000 บาท และยังมีเงินเพิ่ม และสวัสดิการประจำเดือนให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของแต่ละคนอีกคนละ 5 พันบาท เบี้ยประกันสุขภาพของทุกคนปีละไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยต่างทั้งจำนวนคน และจำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งกกต.อ้างว่า ที่ต้องให้มีการจ้าง เลขานุการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และคนขับรถส่วนตัว ก็เพราะไม่ไว้ใจ โดยบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งบางคน เป็นเครือญาติ หรือผู้มีพระคุณขอมา ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้ ความสามารถที่เป็นประโยชน์กับงาน กกต. และสำนักงาน ขณะที่บางคนก็เข้ามาในลักษณะก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานประจำ กลายเป็นปัญหาสำนักงาน
ดังนั้นจึงมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร และอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร กกต. แต่ก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปฏิรูปองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น

**"วิษณุ"ชี้"ภุชงค์"ร้องรัฐบาลไม่ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายภุชงค์ จะร้องความเป็นธรรม กรณีถูกเลิกจ้างว่า ตามกฎหมายไม่สามารถมาร้องขอความเป็นธรรมกับรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารได้ เพราะนายภุชงค์ เป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายขององค์กรอิสระนั้น เรื่องเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะเลขาธิการ กกต. เลขาธิการขององค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน เข้าใจว่าเขาคงมีมาตรการในการอุทธรณ์อยู่ แต่ถ้าจะดำเนินการนอกมาตรการดังกล่าว เช่น ฟ้องต่อศาล นายภุชงค์ คงคิดออกว่าจะทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบเรื่องที่นายภุชงค์ ออกมาระบุว่า ในช่วงที่ กกต.เตรียมจะทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการล็อกให้ใช้โรงพิมพ์เดียวในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะให้โรงพิมพ์ของรัฐและเอกชนร่วมกัน หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพิ่งได้ยินที่มีการเปิดเผยเมื่อวันสองวันนี้ และระหว่างที่เคยประชุมร่วมกันตอนนั้นทราบเพียงแต่ว่า กกต.จะเป็นผู้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และ ได้ถามว่าจะใช้โรงพิมพ์ไหน วิธีการอย่างไร เพราะเป็นห่วงจำนวนกระดาษที่จะใช้ เนื่องจากต้องใช้กระดาษจำนวนมาก เกรงจะไม่ทันในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทางกกต.ชี้แจงว่า จะกระจายหลายโรงพิมพ์ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของ กกต.
ทั้งนี้ ในการทำประชามติครั้งต่อไป คงจะต้องมีการหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกัน เพราะเรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องกกต. แต่รัฐบาลในฐานะเป็นผู้อนุมัติงบ ก็ต้องสอบถามเรื่องเหล่านี้ ส่วนครั้งที่แล้วเนื่องจากยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์ รัฐบาลจึงไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบอะไร แต่ครั้งต่อไปต้องมีการประชุมและคุยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น