xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"โวยอย่าหวังปรองดอง ชดใช้จำนำข้าวยาว5-10ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"วิษณุ" แจงใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว"ปู" ไม่ใช่นวัตกรรมกฎหมายใหม่ ยันทำเพื่อเรียกเงินคืนแผ่นดิน อาจต้องใช้เวลา 5-10ปี ชี้ถ้าไม่ทำถูกละเว้นปฏิบติหน้าที่ โดน ม.157 ชี้หนังสือร้องความเป็นธรรมนายกฯ อ่านแล้ว ย้ำรัฐบาลมีเมตตาธรรม แต่กฎหมายต้องมาก่อน ขณะที่นายกฯ ระบุตัวเลขความเสียหายจำนำข้าวยังไม่ชัด เพราะต้องตรวจสอบมากกว่าแค่เรื่องขาดทุน ด้าน”ยิ่งลักษณ์”โพสต์ซัด วิษณุ ทำแบบนี้อย่าหวังปรองดอง

วานนี้ (16พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเรียกรับผิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายวิษณุ กล่าวว่า การดำเนินการเรียกรับผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการโดยจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มี 2 วิธี คือ การฟ้องศาลแพ่งตามปกติ และการออกคำสั่งทางปกครอง ว่าด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เห็นควรใช้คำสั่งทางปกครอง ซึ่งการใช้คำสั่งดังกล่าว สุดท้ายจบที่ศาลเช่นเดียวกัน รวมถึงคดีความใช้เวลา 5-10 ปี จึงไม่ใช่เป็นการเร่งรัด

โดยขั้นตอนการดำเนินการ หลังจากป.ป.ช. ส่งเรื่องมากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์แล้ว ทั้ง 2 กระทรวง ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผลสอบกระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้นายกฯ ลงนามส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งแล้ว ส่วนการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง ยังต้องรอเนื่องจากได้ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้าสืบ ถึงวันที่ 30 พ.ย. เท่าที่ทราบยังมีพยานรอเข้าให้ข้อมูล และหากพยานไม่ว่าง ทางคณะกรรมการฯ สามารถขอขยายเวลาได้อีก แต่ต้องเหลือเวลาให้คณะกรรมการเรียกรับผิดทางแพ่งทำงานให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ.60 และเมื่อมีผลออกมาอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ศาลปกครองได้ ใน 15 วันขอเพิกถอนคำสั่งได้ หากผลออกมา ยืนยันต้องจ่ายค่าความเสียหาย ผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วย ยังอุทธรณ์อีกครั้งกับศาลปกครองสูงสุดได้

อีกทั้ง หากศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธชดใช้ ศาลจะมีคำสั่งทำการยึดทรัพย์ โดยมีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งใน 10 ปี ยึดทรัพย์ได้ มีเท่าไรก็เท่านั้น หลังจากนั้นจะไปยึดทรัพย์เขาไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันในชั้นศาลปกครอง ผู้ขอให้ยกเลิกคำสั่งทางปกครอง สามารถไม่ไปศาลเลยก็ได้ มอบหมายให้ทนายดำเนินการแทนได้ รวมถึงจะไปต่างประเทศก็ได้ ยกเว้นกรณีมีคำสั่งอย่าอื่นห้ามออกนอกประเทศ

" ทั้ง 2 วิธี เป็นตามกฎหมาย ไม่ใช่วิธีเถื่อน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่วิธีพิเศษที่ปฏิบัติเฉพาะกิจในช่วง คสช.รัฐบาลไม่ได้มีอคติ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำเพื่อผลประโยชน์โดยรวม เงินไม่ได้เข้ากระเป๋าผม หรือกระเป๋านายกฯ และตระหนักดีว่า ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเป็นธรรม ที่ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมา นายกฯได้รับหนังสือแล้ว ก็จะเอามาพิจารณาให้ รัฐบาลไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจผิดรัฐบาล ก็ไม่สามารถปล่อยหรือให้ถูกมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องชี้แจง ยืนยันอยู่บนหลักนิติธรรม ไม่ได้เป็นการกลั้นแกล้ง เรื่องของเมตตาธรรม ต้องมองอยู่แล้ว แต่ในแง่กฎหมาย ความเมตตาธรรมต้องมาที่หลัง กฎหมายต้องเป็นตัวตั้ง และถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการก็อาจมีความผิด มาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่" นายวิษณุ กล่าว

ยังสรุปตัวเลขความเสียหายไม่ได้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงความคืบหน้าการประเมินตัวเลขความเสียหายคดีจำนำข้าวว่า คณะกรรมการกำลังประเมินอยู่ ตอนนี้อย่าไปพูดว่า เท่าไหร่ ตนไม่อยากพูด เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ จะพูดไปทำไม เดี๋ยวพอออกมาว่า เท่านี้ แล้วไม่ตรง ก็หาว่าปกปิด ซ่อนเร้นอีก ต้องรอให้คณะกรรมการชี้แจงก่อน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเสียอยู่แล้ว ตามเหตุผลที่เขาว่า แต่ส่วนที่สอง คือ เสียไปแล้วมีการทุจริตหรือไม่ ทำให้กลไกข้าว และการผลิตเสียหายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ต้องดูมิติตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ขายได้เท่าไหร่ หรือขาดทุนเท่าไหร่ คนละเรื่องกัน

ยิ่งลักษณ์ลั่น อย่าหวังปรองดอง

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โต้ตอบคำแถลงของนายวิษณุ เครืองาม ว่า การกระทำแบบนี้หรือ ที่คสช. อ้างว่า ยึดอำนาจแล้วจะสร้างความปรองดอง ความเป็นธรรม และหลักนิติธรรมในประเทศนี้ได้ ดังนี้

1. รัฐบาลใช้วิธีให้กระทรวงการคลัง ออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล และยังใช้ มาตรา 44 คุ้มครองรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนข้อเท็จจริง ให้พ้นจากการถูกฟ้องร้องใดๆ จากดิฉันใช่หรือไม่

2. ที่อ้างว่าพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น ใช้มานานกว่า 19 ปี และกว่า 5,000 คดี ดิฉันเห็นว่าเวลา และจำนวนคดีไม่ใช่สาระสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะเชื่อว่ายังไม่มีคดีไหนเหมือนดิฉัน ซึ่งเป็นคดีแรกที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี จากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อช่วยเหลือประชาชน จะเป็นเรื่องของการที่ทำให้รัฐต้องเสียหาย และต้องรับผิดชอบทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น

3. รัฐบาลต้องตอบกับพี่น้องประชาชนด้วยว่า การที่เลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลัง ออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และจะรับประกันได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำ แม้รัฐบาลพยายามที่จะพูดว่า ขั้นตอนยังไม่เป็นที่สิ้นสุด และสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่กลับไม่มีคำตอบว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ให้กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามขั้นตอนของศาลยุติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันแห่งการอำนวยความยุติธรรม แทนการใช้วิธี ออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหาย

4. อะไรที่เรียกว่าสร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง

5. การเพิ่มประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็น “พยานล่วงหน้า” ในคดีอาญา ถือเป็นข้อสังเกตที่เป็นนัยยะสำคัญว่า อาจนำผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติมาทำให้เป็นผลร้ายกับดิฉันในคดีอาญาหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น