“ยิ่งลักษณ์” ดิ้นอีกเฮือก โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ขอโอกาสสู้คดีแพ่งเรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวอย่างเป็นธรรม อ้างคำสั่งให้ตั้ง คกก.เช็กความเสียหายให้เสร็จภายใน 120 วันเร็วไป หวั่น จนท.ตรวจสอบไม่รอบคอบ พร้อมยกข้อกฎหมายอ้างอายุความไม่ได้หมดใน 1 หรือ 2 ปีตามที่นายกฯ เข้าใจ แต่จะเริ่มนับอายุความตั้งแต่ตรวจสอบความเสียหายเสร็จ ที่สำคัญฟ้องทางแพ่งได้ไม่จำเป็นต้องใช้ช่องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 พ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีผ่านเฟซบุ๊ก ความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 อันเนื่องมาจาก ป.ป.ช.ได้ส่งความเห็นให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้ดิฉันหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความว่ามีการกระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และต้องรับผิดในผลละเมิดดังกล่าวหรือไม่ เป็นเงินจำนวนเท่าใด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 120 วัน ขยายระยะเวลาดำเนินการได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน 30 วันนั้น
“คดีนี้มีความสำคัญเพราะดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องตลอดจนวัตถุพยาน ได้แก่ ข้าวจำนวนหลายล้านตันที่เก็บรักษาในโกดังตั้งอยู่ทั่วราชอาณาจักร ระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพียง 120 วัน แม้จะต่ออายุได้ครั้งละ 30 วันก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การตรวจสอบมีความรอบคอบและเป็นธรรมกับดิฉันผู้ถูกกล่าวหา
ความเร่งรีบดังกล่าว ดิฉันเชื่อว่าน่าจะมาจากท่านนายกได้รับรายงานข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน 2 เรื่องสำคัญคือ (1) อายุความที่จะดำเนินคดีในทางแพ่งที่เข้าใจกันว่ามีอายุความ 1 ปี หากจะฟ้องร้องทางแพ่ง หรือ 2 ปี หากใช้วิธีเรียกให้รับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และ (2) เรื่องนี้ดำเนินการได้ทางเดียวคือออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดิฉันขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1. กรณีอายุความทางแพ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีความผิดทางละเมิด 1 ปี หรือ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต้องตั้งคำถามว่าเริ่มต้นนับอายุความเมื่อใด โดยหลักแล้วจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดและรู้ถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น แม้ทุกวันนี้อายุความก็ยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะมีข้อยุติจากหน่วยงานรับผิดชอบในสองประการที่กล่าวมา ซึ่งหมายความว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อยุติและมีความถูกต้อง เป็นธรรม ตราบใดที่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ
นอกจากนั้น ในคดีนี้อัยการสูงสุดได้ฟ้องดิฉันในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขดำ ที่ อม.22/2558 อายุความที่จะเรียกร้องให้ดิฉันรับผิดในทางแพ่ง จึงถือตามอายุความทางอาญาที่ยาวกว่า ตามมาตรา 448 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า “แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมาไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ” จึงไม่ได้มีอายุความเพียง 1 หรือ 2 ปี ตามที่ท่านนายกฯได้รับรายงานจนต้องมีการเร่งรัดดังกล่าว (กรณีฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อายุความคือ 15 ปี)
2. เท่าที่ดิฉันติดตามความเห็นในทางกฎหมาย การเรียกร้องให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง อาจดำเนินการได้สองวิธี คือ (1) โดยการฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องให้รับผิดในมูลละเมิดดังกล่าวแล้ว หรือ (2) ใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้ชดใช้ตามมาตรา 8 และ 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ซึ่งดิฉันมีข้อสังเกตว่า กรณีนายกรัฐมนตรีดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่น่าจะอยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ารัฐ มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการในทางใดทางหนึ่งก็ได้ไม่ใช่บทบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 ระหว่าง เทศบาลนครพิษณุโลก โจทก์ นางสาวสุภาวดี พิบูลสมบัติ จำเลย
3. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับดิฉันซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาและให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีเวลาอย่างเพียงพอที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเรียกร้องในมูลละเมิดทางแพ่ง ดิฉันเรียนเสนอให้ท่านนายกฯ ตรวจสอบข้อกฎหมายตามที่ได้นำเรียนมาทั้งสองประเด็นข้างต้นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล หากเป็นไปตามที่ดิฉันนำเรียนคือ มิได้มีปัญหาในประเด็นอายุความและสามารถฟ้องเป็นคดีแพ่งก็ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะมีเวลาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนรับฟังพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอไม่ต้องเร่งรีบรวบรัดจนเสียความเป็นธรรมเพราะฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาคือดิฉันไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
4. นอกจากเจ้าหน้าที่จะมีเวลาดำเนินการได้อย่างเพียงพอทำให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหาแล้ว หากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องให้ดิฉันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดต่อศาลแพ่ง ก็จะทำให้ความกังวลของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและดำเนินคดีทางแพ่งหมดไป หมดความจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช ที่ 39/2558 ที่มีปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ
ส่วนประเด็นข้ออ้างเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนั้น หากดิฉันเป็นฝ่ายแพ้คดีก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่รัฐบาลต้องใช้ไปในการดำเนินคดีอยู่แล้ว
สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องมาโดยตลอดคือความเป็นธรรม ด้วยการให้ศาลที่เป็นคนกลางเป็นผู้พิสูจน์ความเสียหายอันจะมีความสง่างามและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่า เนื่องจากฝ่ายบริหารเป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับดิฉัน แต่กลับมาออกคำสั่งทางปกครองแทนศาลเรียกร้องให้ดิฉันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่เป็นธรรม
5. ดิฉันขอเรียนยืนยันว่าดิฉันเป็นผู้บริสุทธิ์และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่กระบวนการที่เร่งรีบคือการไม่เปิดโอกาสให้ดิฉันได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ซึ่งขัดกับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
ดังนั้น สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องต่อท่านอีกครั้งในวันนี้จึงเป็นเพียงการขอโอกาสให้ดิฉันในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าดิฉันมิได้ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย เนื่องจากยังมีระยะเวลาเพียงพอที่จะทำให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับดิฉันได้
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
11 พฤศจิกายน 2558”