xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"ยันเดินถูกทางคดีจำนำข้าว"ปู" แจงบังคับใช้คำสั่งทางปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากที่รัฐบาลจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางปกครองว่า ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะให้ทนายมายื่นหนังสือถึงนายกฯในวันที่ 13 ตุลาคม และจะได้รู้ว่ามีการร้องเรียนอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งหมดไม่มีอะไรลับลวงพราง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีโดยทั่วไป ซึ่งเรามักนึกว่าการที่รัฐเป็นโจทก์ฟ้องผู้ถูกกล่าวหา แต่การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อเตรียมเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวดำเนินการไปตามที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 ไม่สามารถดำเนินการทางอื่นได้และไม่ใช่เพราะกังวลกรณีค่าธรรมเนียมศาลอย่างที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามมีกระบวนการพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคู่กันมาตั้งแต่ปี 2539 ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติในกฎหมายไว้เป็นพิเศษว่า 1. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิด แต่ไม่ใช่การทำผิดอาญา และ 2. การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่จงใจ ไม่ประมาท เลินเล่อ กรณีอย่างนี้ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำความผิด หรือ ประมาทเลินเล่อ แต่การกระทำนั้นไม่ได้จงใจกระทำความผิด หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้อยแรง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ได้ฟ้องร้องแต่ต้องการจะช่วยเจ้าหน้าที่ จึงให้ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ ซึ่งหน่วยราชการต้องจ่ายค่าเสียหายแทน แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต้องฟ้องเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ แต่ในมาตรา 10 ของกฎหมายนี้ ให้มีการออกคำสั่งทางปกครองภายในอายุความ 2 ปี หากผู้ถูกฟ้องไม่พอใจก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งได้

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายปกติ ซึ่งใช้มาแล้ว 20 ปี ดำเนินคดีมามากกว่า 300 เรื่อง และในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อาจเคยใช้มาแล้วเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่เพียงว่าในกรณีนี้เข้าข่ายตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานว่าเข้าข่ายเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ไปกระทำความผิดส่วนตัวแต่เป็นการกระทำความผิดขณะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการประมาท เป็นการกระทำที่จงใจเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องมาให้รัฐบาล จึงเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติกรรมตามปกติ

ส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการให้คดีอาญาเสร็จสิ้นก่อนนายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้เพราะการเรียกค่าเสียหายมีอายุความเพียง 2 ปี ซึ่งล่าสุด 1 ใน 2 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ส่งเรื่องมาแล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ส่งมอบให้นายกรัฐมนตรี

ส่วนการที่รัฐดำเนินการด้วยวิธีการนี้เป็นการหลีกเลี่ยงวิธีการฟ้องต่อศาลแพ่ง ที่รัฐต้องมีเงินวางศาลจำนวนมากจนเป็นข้อกังวลหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยง เพียงแต่รัฐไม่สามารถใช้กระบวนการอื่นดำเนินการ กฎหมายได้สร้างกระบวนการนี้เพื่อให้ใช้ตั้งแต่ปี 2539 เป็นไปตามหลักกฎหมายไม่ใช่รัฐมีทางเลือก 2 ทางแล้วเลือกทางนี้ เพราะไม่มีกฎหมายอื่นให้เลือก

“ถ้าหากจะฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเหมือนตอนแรกที่คิดไว้อย่างนั้นเราต้องลดราวาศอก ตั้งข้อหาลงมาว่าประมาทจิ๊บจ๊อย มันถึงจะไปฟ้องธรรมดา แต่เมื่อ ป.ป.ช.ส่งรายงานเอกสารยืนยันว่า เป็นเรื่องประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ต้องมาใช้ขั้นตอนนี้ มันจึงถูกบังคับโดยกระบวนการของมัน ไม่ใช่เลือกได้ตามใจชอบ” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า นายกฯซึ่งจะเป็นผู้ลงนามทางปกครองถือเป็นผู้ส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เป็นกลางที่จะออกคำสั่ง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจริงๆแล้ว นายกฯมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรบ้าง แต่ขั้นตอนที่จะดำเนินการนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถฟ้องร้องเพิกถอนคำสั่งหรืออุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม คดีนี้จะเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่มีคำสั่งทางปกครองที่นายกฯได้ลงนามออกมา

เมื่อถามว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่าการที่รัฐบาลใช้วิธีการนี้ทางจำเลยถือว่าได้รับการเป็นธรรม นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้องตามความเป็นธรรมตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวใช้มาแล้วหลายกรณี รัฐแพ้บ้างชนะบ้าง เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว เพราะอาจเข้าใจผิดบางประเด็นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่วิจารณ์ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจเข้าใจถูก

“แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้ ไหนๆจะพูดแล้วชี้ช่องให้เลยก็ได้ คือที่ผมบอกว่า มันมี 2 กระบวนการสำหรับดำเนินคดี แต่ไม่ใช่เลือกเอาอันใดอันหนึ่ง ถ้าเข้าล็อกอย่างนี้ก็ต้องใช้กระบวนการ ก. แต่ถ้าเข้าล็อกอย่างโน้นก็ต้องใช้กระบวนการ ข. ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้จะใช้ ก.ก็ได้ ข.ก็ได้ จึงต้องมาเถียงกันว่า จงใจหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่ และถ้าไม่พอใจคำสั่งทางปกครองแล้วไปฟ้องศาลก็มีสิทธิ์ยกคำอ้างว่าเรื่องนี้ไม่ควรใช้กระบวนการรับผิดทางละเมิดเพราะไม่ได้ละเมิดอย่างร้ายแรงก็ต้องพิสูจน์กัน นั่นแปลว่าคุณต้องเถียงกับ ป.ป.ช.ไม่ใช่เถียงกับรัฐบาล” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้ได้รับรายงานข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อความรับผิดทางแพ่ง กรณีจำนำข้าวที่เหลืออีก 1 คณะ แล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้ส่งมา ส่วนรายงานข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการฯชุดแรก ตนยังไม่ได้ส่งให้กับนายกฯ เพื่อพิจารณา ส่วนตัวเลขความเสียหายในรายงานดังกล่าวไม่ได้มีการระบุเพียง จะระบุเพียงสูตรวิธีคิด ซึ่งตัวเลขไม่คงที่ในแต่ละวัน ซึ่งตัวเลขความเสียหายจะต้องระบุให้ชัดเจนในขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครอง ว่าให้ใครรับผิด

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถนำตัวเลขความเสียหายจากรายงานข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ที่มีกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบมารวมกันได้ เพราะเป็นคนละข้อหา เพราะกระทรวงการคลังสรุปข้อมูลในเรื่องของจำนำข้าว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สรุปข้อมูลการขายข้าวแบบจีทูจี
กำลังโหลดความคิดเห็น