xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงยิบ! ยันคำสั่งทางปกครองใช้นานแล้ว สุดท้ายจบที่ศาล ให้เวลายึดทรัพย์ 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ พร้อมโฆษกรัฐบาลตั้งโต๊ะแจงเรียกรับผิดโครงการรับจำนำข้าวชั่วโมงครึ่ง ยันคำสั่งทางปกครองไม่ได้รวบรัด สุดท้ายจบที่ศาล ใช้เวลาดำเนินคดี 5-10 ปี เผยนายกฯ ลงนามผลสอบกระทรวงพาณิชย์แล้ว ส่วนของคลังยังรอสรุปผลแล้วเสร็จใน ก.พ. 60 แล้วยังอุทธรณ์ได้ใน 15 วัน แถมถ้าโดนยึดทรัพย์ก็มีระยะเวลา 10 ปี บอกคดีรถและเรือดับเพลิงก็ใช้วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีเถื่อน พร้อมนำจดหมายยิ่งลักษณ์พิจารณา ป้องเงินไม่ได้เข้ากระเป๋านายกฯ ระบุเมตตาธรรมต้องตามกฎหมาย ปัด “ประยุทธ์” ขี้ขลาดให้ รมต.เซ็น ส่วน ม.44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่หลังรัฐประหาร

วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเรียกรับผิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายวิษณุกล่าวว่า การดำเนินการเรียกรับผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการโดยจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มี 2 วิธีด้วยกัน คือการฟ้องศาลแพ่งตามปกติ และการออกคำสั่งทางปกครอง ว่าด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 และจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เห็นควรใช้คำสั่งทางปกครอง ซึ่งการใช้คำสั่งดังกล่าวสุดท้ายจบที่ศาลเช่นเดียวกัน รวมถึงคดีความใช้เวลา 5-10 ปี จึงไม่ใช่เป็นการเร่งรัด

นายวิษณุกล่าวว่า โดยขั้นตอนการดำเนินการหลัง ป.ป.ช.ส่งเรื่องมากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ทั้งสองกระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งผลสอบกระทรวงพาณิชย์ขณะนี้นายกฯ ลงนามส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งแล้ว ส่วนการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง ยังต้องรอ เนื่องจากได้ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงวันที่ 30 พ.ย. เท่าที่ทราบยังมีพยานรอเข้าให้ข้อมูล และหากพยานไม่ว่าง ทางคณะกรรมการฯ สามารถขอขยายเวลาได้อีก แต่ต้องเหลือเวลาให้คณะกรรมการเรียกรับผิดทางแพ่งทำงานให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ. 60 และเมื่อมีผลออกมาอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์ศาลปกครองได้ใน 15 วัน เพิกถอนคำสั่งได้ หากผลออกยืนยันต้องจ่ายค่าความเสียหาย ผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยยังอุทธรณ์อีกครั้งกับศาลปกครองสูงสุดได้

นายวิษณุกล่าวว่า อีกทั้งหากศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธชดใช้ ศาลจะมีคำสั่งทำการยึดทรัพย์ โดยมีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งใน 10 ปี ยึดทรัพย์ได้มีเท่าไรก็เท่านั้น แต่เมื่อถึงปีที่ 11 เกิดถูกหวย 2-3 งวดติดกัน ตอนนั้นก็ไปยึดทรัพย์เขาไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกัน ในชั้นศาลปกครองผู้ขอให้ยกเลิกคำสั่งทางปกครอง สามารถไม่ไปศาลเลยก็ได้ มอบหมายให้ทนายดำเนินการแทนได้ รวมถึงจะไปต่างประเทศก็ได้ ยกเว้นกรณีมีคำสั่งอย่างอื่นห้ามออกนอกประเทศ

รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ วิธีการออกคำสั่งทางปกครองใช้กันมา 19 ปี ดำเนินคดีมาแล้วกว่า 5,000 คดี เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง เรือขุดเอลลิคอต คดีคลองด่าน และคดีที่ดินสถานีขนส่งหมอชิต เป็นต้น ซึ่งใน 5,000 คดีมีทั้งที่รัฐเป็นฝ่ายแพ้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายชนะ ที่สำคัญหากให้กลับไปใช้วิธีฟ้องแพ่งธรรมดาก็จะมีคำถามตามว่า ทำไมไปใช้วิธีการนั้น เพราะโดยรูปคดีรัฐบาลจะเสียเปรียบ และอาจถูกผู้ที่ถูกดำเนินคดีใน 5,000 คดี มาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปใช้วิธีฟ้องแพ่งธรรมดาได้

“ทั้ง 2 วิธีเป็นตามกฎหมาย ไม่ใช่วิธีเถื่อน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ไม่ใช่วิธีพิเศษที่ปฏิบัติเฉพาะกิจในช่วง คสช. รัฐบาลไม่ได้มีอคติ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำเพื่อผลประโยชน์โดยรวม เงินไม่ได้เข้ากระเป๋าผม กระเป๋านายกฯ และตระหนักดีว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเป็นธรรม ที่ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมา นายกฯ ได้รับหนังสือแล้วก็จะเอามาพิจารณาให้ รัฐบาลไม่ได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจผิดรัฐบาล ก็ไม่สามารถปล่อยหรือให้ถูกมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องชี้แจง ยืนยันอยู่บนหลักนิติธรรม ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง หรือจ้องล้างจองผลาญ เพราะมีคนพูดว่าไปจองล้างแล้วในคดีอาญา ให้ติดคุกแล้ว ทำไมต้องจองผลาญเรียกเงินเรียกทองอีกมากมาย เรื่องของเมตตาธรรมต้องมองอยู่แล้ว แต่ในแง่กฎหมายความเมตตาธรรมต้องมาที่หลัง กฎหมายต้องเป็นตัวตั้ง และถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการก็อาจมีความผิดมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยว่านายกฯ สังกัดหน่วยงานใดนั้น ความเป็นจริงหากมองทุกรัฐบาล เวลางานพิธีการอยากให้สังเกตชุดปกติขาวที่ต้องเต็มยศ ไม่ว่าปลัดกระทรวง รัฐมนตรี และนายกฯ ช่วยดูที่ปกเสื้อสองข้าง ติดตราอะไร โดยรัฐมนตรีและนายกฯ ติดตราสัญลักษณ์สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุผลที่นายกฯ ต้องลงนามในคำสั่งแรกในฐานะหัวหน้าหน่วยงานร่วมกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ขณะที่คำสั่งทางปกครองกฎหมายกำหนดลงนามเพียงรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องว่ากันนายกฯ ออกจากเรื่องนี้ หรือเพราะความขี้ขลาด ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริหารจัดการข้าว เป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่เฉพาะที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังวันที่ 22 พ.ค. 57 เท่านั้น

ทั้งนี้ การแถลงข่าวครั้งนี้ นายวิษณุได้ใช้เวลาชี้แจง 1 ชั่วโมง 35 นาที พร้อมกับการฉายเพาเวอร์พอยต์แสดงขั้นตอนการดำเนินการการเรียกค่าเสียหายประกอบการชี้แจง ขณะที่ตลอดการชี้แจง ผู้ที่รัฐบาลจะดำเนินการคำสั่งทางปกครองเรียกค่าความเสียหายนายวิษณุ ได้ใช้อักษรย่อแทนทั้งหมด อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายวิษณุใช้อักษรย่อ “ย.”








กำลังโหลดความคิดเห็น