ประธาน กกต.สวนอดีตเลขาฯ ยิ่งพูดยิ่งประจานตัวเอง ยันไม่เคยล้วงลูก งานตัวเองก็เยอะอยู่แล้ว ปล่อยให้จ้อไปก่อน ลั่นเก็บทุกเม็ดถ้าเข้าข่ายหมิ่นก็ฟ้อง บอกไม่มีปัญหากับใคร คาดโดนเลิกจ้างเลยหน้ามืด ระบุอโหสิกรรมให้ ไล่ไปฟ้องศาลปกครอง หากผู้ใหญ่เห็นว่าตนรังแกก็พร้อมลาออก ด้านอดีต กกต.ป้อง “ภุชงค์” งานดี ขยันมาก ไม่คิดจะเจอแบบนี้ คาดคงเข้าใจผิด บี้ปฏิรูปองค์กร ด้านแหล่งข่าวเผย กกต.สั่งรักษาการเลขาฯ ดูควรแจงหรือไม่ ชี้อุทธรณ์ไม่ได้แล้ว ระบุงานไม่คืบจริง แถมมีปัญหาไปทั่วจนต้องล้วงลูก แต่ก็เพิ่มตำแหน่งเพียบแถมเอาคนของตัวเองนั่ง
วันนี้ (10 ธ.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ออกมาระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และมี กกต.เข้ามาแทรกแซงการทำงานว่า ยิ่งเขาออกมาพูดมากเขาก็ยิ่งเสียเอง เท่ากับเป็นการประจานตัวเอง กกต.เลิกจ้างเลขาฯ ก็พาลมาด่า กกต. ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งใน กกต.ที่ลงมติ เมื่อด่ามาก็เฉยๆ เพราะคนฟังจะรู้เอง ยิ่งเขาดิ้นมากหลุมก็ยิ่งลึก ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ทั้งนี้ ตนไม่เคยไปล้วงลูก เพราะงานในหน้าที่ก็เยอะอยู่แล้วจะไปล้วงลูกเลขาฯ ทำไม และที่ผ่านมาเลขาฯ ทำหน้าที่หรือไม่
“คนเราส่วนมากจะไม่ดูตัวเอง ตอนนี้ปล่อยให้เขาพูดไปก่อน แล้วค่อยมาสรุป โดยผมจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ หากเลขาฯ พูดข้อความใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็จะฟ้องหมิ่นประมาททันที ผมเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ไปทะเลาะและไม่ตอบโต้ด้วย ส่วนตัวไม่มีปัญหากับใคร และก็ไม่เคยก้าวก่ายการทำงาน เขาจะพูดอะไรก็แล้วแต่เขา คนโดนเลิกจ้างมักจะหน้ามืดไม่คิดอะไร การพูดอะไรต้องคิดไม่ใช้ใช่แต่อารมณ์ เขาก็ออกมาด่าทุกคน ผมก็อโหสิกรรมให้ แต่ถ้าหากเลขาฯ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไปฟ้องศาลปกครองได้ ซึ่งผมไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างว่ากันไปตามหลักฐาน ใครคิดดีทำดี ใครคิดไม่ดีคิดร้ายกับคนอื่นก็เป็นทุกข์เอง และการทำหน้าที่ของตนสามารถตรวจสอบได้ หากสังคมและผู้ใหญ่เห็นว่าผมไปรังแกเลขาก็พร้อมที่จะลาออกทันทีไม่ยึดติดตำแหน่ง” นายศุภชัยกล่าว
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.กล่าวว่า นายภุชงค์อาจเสียใจจึงออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะนั้น ซึ่งเขาถือเป็นลูกหม้อของ กกต.เพราะเป็นพนักงานตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง ซึ่งการทำงานระหว่าง กกต.ชุดที่แล้วกับนายภุชงค์ไม่มีปัญหา นายภุชงค์ทำงานได้ดี เป็นคนขยันมาก อ่อนน้อมมีสัมมาคารวะต่อผู้บังคับบัญชา เป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา และทราบว่ายังได้รางวัลเป็นข้าราชการดีเด่นของปีที่แล้ว ที่นายภุชงค์เข้าไปดำเนินการเรื่องการสมัครเข้ารับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งมีผู้สมัครถึง 7,000 คน การดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยถือว่าเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้ส่วนตัวยังคิดว่าจะอยู่เป็นเลขาฯ ได้จนครบวาระ 5 ปี ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้
ทั้งนี้ นางสดศรีไม่ขอวิจารณ์กรณีที่นายภุชงค์ระบุว่า กกต.มีการล้วงลูกการทำงาน แต่คิดว่าทั้ง กกต.และนายภุชงค์ต่างก็เป็นผู้ใหญ่ขององค์กร ส่วนตัวมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดกัน ที่น่าจะมีการพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจกันก่อน ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อองค์กร กกต.
“ก่อนหน้านี้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้วก็มีแนวคิดที่จะลิดรอนอำนาจของ กกต.อยู่แล้ว โดยจะให้มีคณะกรรมการขึ้นมาจัดการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ถ้าต่างฝ่ายยิ่งพูด ยิ่งสาวกันไปมากกว่านี้จะกระทบองค์กร ไม่ใช่บุคคล และจริงๆ แล้วกว่าที่องค์กร กกต.จะผ่านมาได้จนถึงวันนี้ เกิดวิกฤตการณ์หลายครั้งแต่ก็เป็นวิกฤติที่เกิดจากกภายนอก แต่ครั้งนี้น่าเสียดายเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากภายในของ กกต.เอง ซึ่ง กกต.ต้องไตร่ตรองกันเองว่าจากปัญหาเรื่องนี้จะทำอย่างไรถึงจะเอาองค์กรไว้อยู่ รวมทั้งจากปัญหานี้ก็สมควรที่จะต้องมีการปฏิรูป กกต.องค์กร กกต.ด้วย” นางสดศรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายภุชงค์ ทาง กกต.ได้มีการสั่งการให้นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กกต. และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวบรวมและวิเคราะห์คำให้สัมภาษณ์ว่ากระทบต่อส่วนงานใด และอาจจำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงต่อสาธารณะหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนที่นายภุชงค์ระบุว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต.ภายใน 15 วัน มีรายงานว่า ตามระเบียบว่าด้วยสัญญาจ้างเลขาธิการ กกต.นั้น ระบุชัดเจนว่า มติ กกต.ถือเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นการยื่นอุทธรณ์ของนายภุชงค์ไม่น่าจะสามารถทำได้ หากจะยื่นก็น่าจะเป็นการยื่นถึงตัวประธานกกต.ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาจ้างเท่านั้นซึ่งก็ไม่มีผลการในเรื่องการทบทวนมติ กกต. และสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เนื่องจากตามระเบียบถือว่าคำสั่งหรือมติกกต.เป็นคำสั่งทางปกครอง โดยการยื่นฟ้องศาลนั้น คาดว่าประเด็นที่นายภุชงค์จะใช้เป็นข้อต่อสู้ คือ หลักเกณฑ์การประเมินไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง เนื่องจากก่อนหน้านี้ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. นายภุชงค์เคยมีหนังสือถึง กกต.ท้วงติงในประเด็นดังกล่าวหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับนายภุชงค์ แหล่งข่าวจาก กกต.ให้ความเห็นว่า ทั้ง กกต.และนายภุชงค์ต่างก็เป็นปัญหาของสำนักงานในปัจจุบัน โดยนายภุชงค์ที่ผ่านมาการทำงานขาดการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน การทำงานตามภารกิจที่ได้ชูเป็นนโยบายไว้ตอนรับตำแหน่งไม่ก้าวหน้า ไม่มีความสำเร็จ การแต่งตั้งโยกย้าย พนักงานก็มีการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการสนับสนุนแต่คนใกล้ชิดให้ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ หรือเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ในยุคของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน กกต. ไม่เป็นปัญหา ก็เพราะสามารถทำงานได้เข้าขากับตัวประธาน กกต.ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีปัญหากับ กกต.คนอื่นเช่นกัน
ขณะที่ในส่วนของ กกต.ชุดปัจจุบันการปฏิบัติงานก็มีการล้วงลูกจริง บางกรณีเป็นเพราะเลขาฯ ไม่ดำเนินการ กรรมการก็ต้องส่งคนของตนเองเข้าไปดำเนินการ โดยจะเป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปล้วงลูกในแต่ละด้านกิจการที่กรรมการของตนรับผิดชอบ ในการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ อาทิ การกลั่นกรองบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งก็จะมีการแต่งตั้งให้ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญของ กกต.แต่ละคนเข้าไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งแม้จะมีการวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่ง แต่การแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานหรือผู้บริหารระดับสูงก็ยังเป็นลักษณะวางคนใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่ง ขณะที่การแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ และทีมงานประจำ กกต.แต่ละคนก็ไม่เหมาะสม เกิดความจำเป็น อย่างที่นายภุชงค์ออกมาให้ข้อมูลว่าทำใหต้องเสียงบประมาณถึงปีละ 24 ล้าน
โดยเมื่อ กกต.ชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็พยายามเร่งรัดให้ทางสำนักงานดำเนินการออกระเบียบฯ ทั้งที่ขณะนั้น กกต.กำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 อีกทั้งยังมีการผลักดันให้มีการกำหนดจำนวนตำแหน่งที่มากขึ้น และอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าที่ กกต.ชุดก่อนในอดีตเคยปฏิบัติ โดยใน กกต.ชุดก่อนๆ จะกำหนดให้มี กกต.1 คนมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยที่ปรึกษาละได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 3 หมื่นบาท ส่วนตำแหน่งอื่นนั้นก็จะให้ทางสำนักงานคัดสรรพนักงานที่ปฏิบัติงานดีขึ้นไปทำหน้าที่
แต่ใน กกต.ชุดปัจจุบัน กลับมีการกำหนดให้ กกต.1 คนมีที่ปรึกษา 1-2 คนรับค่าตอบแทน 6 หมื่นบาท ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 4 หมื่นบาท เลขานุการ 1 คนค่าตอบแทน 45,000 บาท ผู้ช่วยเลขานุการ 2 คน ค่าตอบแทน 23,000 บาท คนขับรถ 15,000 บาท และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 25,000 บาท และยังมีเงินเพิ่มและสวัสดิการประจำเดือนให้เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของแต่ละคนอีกคนละ 5 พัน เบี้ยประกันสุขภาพของทุกคนปีละไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยต่างทั้งจำนวนคน และจำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่ง กกต.อ้างว่าที่ต้องให้มีการจ้าง เลขานุการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และคนขับรถส่วนตัว ก็เพราะไม่ไว้ใจ โดยบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งบางคน เป็นเครือญาติ หรือผู้มีพระคุณเข้ามา ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์กับงาน กกต.และสำนักงาน ขณะที่บางคนก็เข้ามาในลักษณะก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานประจำกลายเป็นปัญหาสำนักงาน ดังนั้นจึงมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร และอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร กกต. แต่ก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปฏิรูปองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น