อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
ในห้วง 1 เดือนมานี้ สังคมได้เห็น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่กำลังจะถูกรัฐบาลใช้คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในอนาคตอันไม่ไกลนัก ออกมาฟ้องสังคมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยอ้างว่าควรรอให้คดีอาญาสิ้นสุดก่อน และควรฟ้องต่อศาลแพ่งมากกว่าใช้คำสั่งทางปกครอง แถมอ้างทำนองว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องของนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จะเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร ลองมาฟังมุมมองของนักกฎหมายดูว่ารู้สึกอย่างไรต่อข้อข้องใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : นักกฎหมาย ยัน คำสั่งทางปกครองบังคับชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว ไม่ได้กลั่นแกล้ง “ยิ่งลักษณ์” !!
เมื่อพูดถึงคดีจำนำข้าวที่เกี่ยวพันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ทราบดีว่า มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคดีอาญา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 7 : 0 ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2557 ว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เหตุผลที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้กำหนดนโยบายการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการรับจำนำข้าว ได้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาท้องตลาด มีลักษณะบิดเบือนกลไกตลาด ขณะที่การดำเนินโครงการได้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร, การสวมสิทธิเกษตรกร, โกงความชื้น, โกงตราชั่ง, นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ, การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง, การระบายข้าวที่รับจำนำมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย, เกิดระบบนายหน้าค้าข้าว, ไม่เปิดประมูลข้าวโดยเปิดเผย ฯลฯ ซึ่งการทุจริตดังกล่าวทำให้รัฐมีภาระรายจ่ายและขาดทุนจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริต และความเสียหาย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ
จากนั้น ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยการฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของสำนวนให้มากขึ้น ก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 58 ซึ่งศาลฎีกาฯ รับฟ้องเมื่อวันที่ 19 มี.ค. พร้อมนัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การจำเลยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 58 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี พร้อมขอศาลปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตโดยตีราคาประกัน 30 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล จากนั้นศาลฯ ได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 ก.ค. 58
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งศาลฎีกาฯ ยืนยันว่าคดีอาญานี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ต.ค. 58 โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ศาลฯ ได้อนุญาตให้ฝ่ายโจท์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากทั้งหมด 17 ปาก และอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก จากทั้งหมด 43 ปาก พร้อมนัดไต่สวนนัดแรก 15 ม.ค. 59 และนัดสุดท้าย 18 พ.ย. 59
นอกจากคดีอาญาแล้ว ป.ป.ช.ยังมีมติทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้ประเมินความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอน น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในข่ายต้องถูกเรียกค่าเสียหายด้วย โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ชี้แจงเหตุที่ ป.ป.ช.ต้องแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับค้ำประกันเงินงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายคืน โดยเป็นไปตามมาตรา 73/1 วรรคท้ายของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 สำหรับตัวเลขที่คาดว่า ต้องเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ นายกฯ ได้ลงนามและส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งแล้ว ส่วนผลสอบของกระทรวงการคลัง ยังไม่ออก โดยอยู่ระหว่างขยายเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงจนถึงวันที่ 30 พ.ย. นี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรัฐบาลออกมาส่งสัญญาณว่า จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองว่าด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 แทนการฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายจากคดีจำนำข้าว ซึ่งตามกระบวนการ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองที่บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหาย ก็สามารถร้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ โดยสามารถอุทธรณ์ได้ถึงศาลปกครองสูงสุด!
แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่พอใจที่รัฐบาลจะใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากเธอแทนการฟ้องแพ่ง โดยอ้างว่า เป็นการกลั่นแกล้ง ไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่รอให้คดีอาญาที่เธอถูกฟ้องในศาลฎีกาฯ จบสิ้นรู้ผลก่อนว่าเธอผิดหรือไม่ผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังพยายามชี้ด้วยว่า เธอเป็นนายกฯ คนแรกที่จะถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเธอที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ฯลฯ ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 16 พ.ย. โดยยืนยันว่าการเลือกใช้คำสั่งทางปกครองบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น ได้ผ่านการหารือจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แถมการออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ใช้มาตั้ง 19 ปี ดำเนินคดีมาแล้ว 5,000 คดี ไม่ได้ใช้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นรายแรก และบางคดีรัฐก็เป็นฝ่ายแพ้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายชนะ
ลองมาฟังมุมมองของนักกฎหมายกันบ้างว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองฯ บังคับเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แทนการฟ้องแพ่ง และวิธีนี้เป็นการกลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่?
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มองว่า รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และหากดูตัวบทกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มีหลักกฎหมายเฉพาะ ที่ต้องการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเท่านั้น ถ้าผิดพลาดแค่เล็กน้อยไม่เป็นไร นอกจากนี้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ยังมีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมมากกว่ากฎหมายแพ่ง จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าใจว่า ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมรับระบบ มาคร่ำครวญใส่ร้ายรัฐบาลอยู่ได้
“รัฐบาลไม่มีทางเลือก ยังไงรัฐบาลก็ต้องใช้กฎหมายนี้ อันแรกยิ่งลักษณ์เคยบอกว่า มันเป็นดุลพินิจเป็นทางเลือกอะไรเนี่ย มันไม่จริง อันนี้เป็นความรับผิดทางละเมิดทางปกครอง ก็คือไปปฏิบัติราชการ และเป็นที่เสียหาย ซึ่งตรงนี้เขาต้องการให้มีหลักกฎหมายเฉพาะ และกระบวนการเฉพาะ หลักกฎหมายเฉพาะ ก็คือ 1. ถ้าไม่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเนี่ย จะไม่ผิด 2. เขาไม่ยึดหลักว่าต้องชดใช้เต็มความเสียหาย เพราะถ้ามีส่วนที่รัฐบกพร่อง มีส่วนที่น่าเห็นใจจากภารกิจการงาน ตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหมดทุกส่วน เขาจะเอาเฉพาะร้ายแรงเท่านั้น เขาต้องการให้ราชการมันสบายใจ ไม่ใช่มานั่งเสียวเดี๋ยวชดใช้ฉิบหาย จนไม่กล้าสั่งการสั่งอะไร เขาบอกว่าห้ามเลินเล่อร้ายแรงละกัน ผิดพลาดอะไรบ้างก็ใม่เป็นไร ซึ่งอันนี้กฎหมายแพ่งมันไม่มี หลักข้อนี้ และอีกข้อหนึ่งก็คือ เขาไม่ต้องการให้ใช้หลักลูกหนี้ร่วม คือสมมติว่าทำผิด 5 คนเนี่ย เสียหาย 100 ล้าน หลักลูกหนี้ร่วมเนี่ย ฟ้องนาย ก เต็ม 100 ล้านเลยก็ได้ แต่ในกฎหมายนี้เขาไม่ต้องการให้โยนกันแบบนั้น ให้แบ่งส่วนกันรับผิดไป มันมีขึ้นมาเพื่อให้การปฏิบัติราชการ มันมีการตรวจสอบการรับผิดที่ยืดหยุ่นและเป็นธรรมกว่ากฎหมายแพ่ง”
“และที่สำคัญก็คือ เขาไม่ต้องการให้ใช้วิธีหน้าที่นำสืบ มึงยกพยานนี้มา กูยกพยานนี้มา สู้กันอยู่นั่นล่ะ แล้วศาลนั่งเฉยๆ คดีก็ยืดยาด ประเด็นก็ไม่ตรงประเด็น ยิ่งคดีเป็นพันล้านหมื่นล้าน แสนล้าน ลากกันเป็น 100 ปี 10 ปี 20-30 ปี ก็ยังได้ แต่พอใช้วิธี พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดเนี่ย มันเป็นการไต่สวนทั้งนั้น มันเป็นการไต่สวนของผู้รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้คือนายกรัฐนตรี คุณยิ่งลักษณ์ เห็นว่า ไม่ผิดตรงไหน อย่างไร ก็แจ้งเขาไปเท่านั้น แล้วก็นั่งรอฟังผล ไม่ต้องมาครวญคราง ถ้าเขาตัดสินมา ให้เหตุผลมา ถ้ามันไม่ตรงกับที่ตัวเองเข้าใจ มันไม่มีเหตุผล คุณถึงไปฟ้องศาลปกครอง ถ้าไปฟ้องศาลปกครองเนี่ย ลักษณะมันก็เป็นการไต่สวนเหมือนกัน แต่เป็นการไต่สวน 2 ฝ่ายโดยศาล คุณมีพยานหลักฐาน มีประเด็นอะไร ก็เสนอไป ฝ่ายกระทรวงการคลังมีหลักฐาน มีเหตุผลอะไรก็เสนอไป ศาลก็จับประเด็นจับพยานมาไต่สวนเอง ตัดพยาน เอาคนโน้นคนนี้ คดีมันก็รวดเร็วได้ มันไม่จำเป็นต้องใช้ประมวลแพ่ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง มันเป็นเรื่องระบบทางกฎหมายที่มันมีเฉพาะต่างหาก เฉพาะเรื่อง มันไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างเอไอเอส ขับรถบริษัทไปชนเด็กตาย แล้วเขาฟ้องบริษัท เอไอเอสเสียหาย แล้วบริษัท เอไอเอสมาไล่กับลูกจ้าง นั่นมันความสัมพันธ์ในทางลูกจ้าง ทางเอกชน นี่เป็นการปฏิบัติราชการ มีเหตุมีผล มีสิ่งแวดล้อม มีความลำบาก มีความยืดหยุ่น มีความเร่งรัดอยู่ทั้งนั้น มันต้องเป็นอีกระบบหนึ่ง มาคร่ำครวญใส่ร้ายอะไรเขาอยู่ ไม่ยอมรับระบบอะไรเลย”
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ข้องใจว่า ทำไมรัฐบาลไม่รอให้รู้ผลทางคดีอาญาก่อนค่อยเรียกค่าเสียหายจากตนนั้น นายแก้วสรรกล่าวว่า เป็นคนละเรื่อง ถ้ารัฐบาลใช้วิธีฟ้องศาลแพ่ง ศาลแพ่งก็ต้องรอผลทางคดีอาญาก่อน แต่กรณีที่ใช้คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เรื่องจะไปถึงศาลปกครอง ศาลปกครองไม่จำเป็นต้องรอผลทางคดีอาญา เพราะความรับผิดทางละเมิดเป็นเรื่องของการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหาย ไม่ใช่เรื่องของการทุจริตในคดีอาญา ดังนั้นอย่ามั่ว
ด้าน ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การที่รัฐบาลใช้คำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกต้องแล้ว เพราะถ้าใช้วิธีฟ้องต่อศาลแพ่ง อาจถูกมองว่าช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ เพราะทำให้คดีช้าออกไป เนื่องจากการฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งจะให้รอคดีอาญาสิ้นสุดก่อน ซึ่งจะทำให้คดีที่ศาลแพ่งช้ามาก
“ถ้าหากจะฟ้องเป็นคดีแพ่ง ต้องรอให้คดีอาญาจบก่อน ตามกฎหมายที่เขาจะขอให้ฟ้องแพ่ง เพราะหลักของการฟ้องแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กฎหมายจะกำหนดว่า อายุความให้เป็นไปตามอายุความอาญา ทีนี้ในทางวิธีพิจารณาความเนี่ย เวลาที่ฟ้องแพ่งแล้ว ศาลก็จะสั่งให้รอผลจากการพิจารณาคดีอาญาก่อน ซึ่งก็จะทำให้ทุกอย่างรอเนิ่นนานไปอีกยาว ซึ่งถ้าหากว่าใช้วิธีการบังคับทางปกครอง ก็บังคับได้เลยเท่านั้นเอง ถ้าเขาไม่อยากบังคับ เขาก็ไปร้องคัดค้านกับศาลปกครอง (ถาม-ก็คือ รัฐไม่อยากให้คดีมันเนิ่นนานเกิน ถ้าฟ้องศาลแพ่ง?) คือ ความผิดทางอาญากับทางแพ่งไม่เหมือนกัน ความผิดทางอาญาเนี่ย ติดคุก แต่ความผิดทางแพ่งเนี่ย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การที่ผิดอาญาเนี่ย จะผิดแพ่งด้วยเสมอ แต่การไม่ผิดอาญาเนี่ย ไม่ได้แปลว่าจะไม่ผิดแพ่ง อันนี้เป็นเรื่องหลักทั่วไป ทีนี้ ถ้าหากว่าไปรอให้คดีอาญาสิ้นสุดเนี่ย ใช้เวลานาน เพราะจะมีการตรวจสอบว่า ผิดอาญาหรือไม่ ด้วยการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่าได้ทำผิดอย่างสิ้นสงสัยหรือไม่ แต่ถ้าในทางแพ่งเนี่ยพิจารณาเพียงว่า ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รัฐเสียหายหรือไม่ ก็ไม่เหมือนกัน”
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าตนกำลังถูกดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลตนที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ว่า ความผิดไม่ได้อยู่ที่นโยบาย แต่อยู่ที่การดำเนินนโยบายว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่
“กรณีนี้มันไม่ใช่เป็นกรณีที่เอาผิดเขาในฐานนโยบาย เอาผิดในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ เพราะนายกรัฐมนตรีเนี่ย มี 2 หน้าที่ 1. คือ หน้าที่ผู้กำหนดนโยบาย และ 2. มีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ตอนที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และเขามาบอกว่า มีลูกน้องทำผิดนะ พูดง่าย ๆ ลูกน้องลืมปิดประตูนะ รู้แล้ว มีเหตุผลสงสัยไม่ได้สั่งให้ปิดประตูเสีย หรือไม่ได้สั่งให้ตรวจสอบ ผิดในฐานะเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ผิดในฐานะผู้ดำเนินนโยบาย… การวางนโยบายมันไม่ผิดหรอก ถ้าหากว่าการดำเนินนโยบายนั้น เขาดำเนินนโยบายไปโดยไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย แต่ตอนที่เขาจะผิดมาผิดตอนดำเนินนโยบาย เป็นเพราะเขากำหนดนโยบาย... แยกกันระหว่างการกำหนดนโยบายกับการดำเนินงานทางธุรการคนละเรื่องกัน เราอยากจะซื้ออันนี้ ยังไงมันก็ไม่ผิด อยากจะซื้อเครื่องบิน แต่ตอนซื้อแล้ว ไปปล่อยให้มีการคอร์รัปชัน ตอนนี้ผิด”
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ยังเชื่อด้วยว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลทบทวนการใช้คำสั่งปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วใช้การฟ้องต่อศาลแพ่งแทนนั้น ไม่ได้หวังผลในแง่ของกฎหมาย แต่ต้องการทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า!!