xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ย้ำเดี๋ยวรู้! “5 อดีต รมต.” ใครเงินงอกจากจำนำข้าว - “โต้ง-วัฒนา” ดาหน้าถล่ม “วิษณุ” ย้ำ 5 พันคดีปกครองต่างกรณี “ปู” โดยสิ้นเชิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณรงค์ รัฐอมฤต  กรรมการ ป.ป.ช.
1-2 เดือนรู้ “5 อดีตรัฐมนตรี” ใครเงินงอกจากโครงการจำนำข้าว เผย ป.ป.ช.สรุปสอบทรัพย์สิน-หนี้สินโยงโครงการจำนำข้าว-จีทูจีข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้านสองอดีตรัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าถล่ม “วิษณุ” ส่วน “โต้ง” อัดรัฐบาลจากการรัฐประหารย่อมขาดความชอบธรรม ใช้อำนาจเรียกร้องให้นายกฯ ที่ถูกรัฐประหารชดใช้ทรัพย์สิน ขณะที่ “วัฒนา” ร่อนจดหมาย 6 ข้อ ย้ำกรณี “ยิ่งลักษณ์” มีความแตกต่างกับคดีทางปกครอง 5 พันคดีโดยสิ้นเชิง

วันนี้ (17 พ.ย.) มีรายงานว่า นายณรงค์ รัฐอมฤต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ความเห็นต่อกรณีการเข้าตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว 5 ราย ว่าขณะนี้การตรวจสอบทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว 2-3 ราย และกำลังที่จะสรุปสำนวนเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้น่าจะสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวได้

มีรายงานว่า อดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 5 รายที่ถูกตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์, นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์

วันเดียวกัน มีรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายโดยเอกสารระบุถึงกรณีที่รัฐบาลออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ว่า นายวิษณุให้เหตุผลว่าเป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมายที่บังคับใช้มาแล้วกว่า 19 ปี ดำเนินการมากว่า 5,000 คดี ที่สำคัญคือรัฐไม่ใช่คู่กรณี หรือมีอคติ หรือมีส่วนได้เสีย เงินค่าสินไหมคดีนี้ไม่ได้เข้ากระเป๋านายวิษณุ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากใช้วิธีฟ้องคดีแพ่งธรรมดา รัฐบาลจะเสียเปรียบรูปคดีนั้น ตนขอใช้ความรู้ที่นายวิษณุซึ่งเคยเป็นอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนตนมาตั้งแต่เป็นนิสิตจนแม้ทุกวันนี้เมื่อติดขัดปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ก็ยังได้รับความเมตตาจากนายวิษณุให้ความรู้มาตลอด จึงขอเห็นแย้งด้วยความเคารพ ดังนี้

“1. เจตนารมณ์หรือเหตุผลในการออกพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ คือ ต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลภายนอกในมูลละเมิด ดังปรากฏความตอนหนึ่งในหมายเหตุว่า “เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใดก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น”

2. จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องประกอบด้วยคู่กรณีสามฝ่าย คือ (1) เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำความเสียหายให้กับบุคคลภายนอก (2) หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอก และ (3) รัฐใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนหากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ตามมาตรา 8) แต่กรณีของนายกยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์โดยมีข้อกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศชาติเสียหาย แบบนี้อาจารย์ยังบอกว่าไม่ใช่คู่กรณี ไม่มีอคติ หรือไม่มีส่วนได้เสียอีกหรือครับ การมีส่วนได้เสียไม่ได้หมายความว่าเงินค่าสินไหมทดแทนต้องเข้ากระเป๋าใคร แค่การที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ถือเป็นคู่กรณีที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองและมีส่วนได้เสียแล้วตามกฎหมาย

3. ส่วนที่นายวิษณุบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ใช้มากว่า 19 ปี ดำเนินการมากว่า 5,000 คดี พร้อมกับยกตัวอย่างคดีสำคัญ เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง คดีจัดหาเรือขุดเอลลิคอต คดีคลองด่าน หรือคดีที่ดินสถานีขนส่งหมอชิตนั้น จำนวน 5,000 กว่าคดีรวมถึงคดีที่ยกตัวอย่างมาล้วนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวในข้อ 2 ทั้งสิ้น คือมีคู่กรณี 3 ฝ่าย ดังเช่น กรณีรถและเรือดับเพลิง เป็นกรณีที่รัฐได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกแล้วจึงเอาจำนวนที่รัฐต้องจ่ายไปนั้นมาเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้คืน ส่วนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีบุคคลภายนอก แต่ถูกดำเนินคดีจากการกำกับนโยบายในโครงการช่วยเหลือชาวนาที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและแถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาแล้ว

4. หลักการสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของ “หลักนิติธรรม” คือ ความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย (fairness in the application of the law) จากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียอันเป็นหลักการสำคัญที่กฎหมายไทยให้การยอมรับมาช้านาน แม้ในการพิจารณาคดีผู้พิพากษาอาจถูกคัดค้านจากคู่ความหรือมีสิทธิขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้หากมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น ตามมาตรา 11 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และเป็นคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะมาใช้คำสั่งทางปกครองจึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม

5. อาจารย์ก็บอกเองว่าเรื่องนี้รัฐมีทางดำเนินการได้สองทาง คือ การฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมซึ่งกระทำได้และเคยทำมาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2345/2548 ซึ่งผมเห็นว่าหากรัฐเลือกดำเนินการในทางนี้จะไม่ขัดกับหลักการที่เคยทำมา เพราะการใช้คำสั่งทางปกครองที่ผ่านมามีบุคคลภายนอกมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความแตกต่างกับคดีที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง การให้ศาลยุติธรรมที่เป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณาความเสียหายจะมีความชอบธรรมกว่าการใช้บุคคลในรัฐบาลที่ไปยึดอำนาจจากรัฐบาลก่อนมาเป็นผู้กำหนดความเสียหายและออกคำสั่งทางปกครองเสียเอง การฟ้องคดีแพ่งไม่ทำให้ส่วนรวมเสียประโยชน์ รัฐไม่ต้องตกเป็นจำเลยและไม่ทำให้ถูกถอดถอนรวมทั้งไม่อาจถูกผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่งทางปกครอง 5,000 คดี มาร้องขอความเป็นธรรมให้ไปฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาได้เนื่องจากคดีเหล่านั้นดำเนินการไปแล้วหรือสิ้นสุดไปแล้ว อีกทั้งเป็นดุลพินิจของรัฐที่จะเลือกดำเนินการทางใดทางหนึ่งได้ดังที่เคยปฏิบัติมาแล้วตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ยกเว้นจะเป็นไปตามที่นายวิษณุบอกคือรัฐบาลกลัวเสียเปรียบรูปคดีเลยเลือกวิธีเอาเปรียบ น.ส.ยิ่งลักษณ์แทน

6. เหตุผลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกผมต่อสู้ในเรื่องนี้เพื่อต้องการผดุงหลักนิติธรรมที่เป็นหลักการสำคัญในการปกครองประเทศ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำตามคำสั่งในโครงการรับจำนำข้าว ยังไม่ทำให้นายวิษณุเห็นหรือครับว่ากระบวนการในเรื่องนี้มีความผิดปกติและไม่ชอบธรรมจึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทางแก้ในเรื่องนี้มีอยู่แล้วคือการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องเป็นคดีแพ่งในมูลละเมิด นอกจากจะลดข้อครหาในทุกเรื่องแล้วความจำเป็นที่ต้องพึ่งคำสั่งที่ 39/2558 ก็ไม่มีอีกต่อไป

ผมดีใจที่ได้ยินอาจารย์กล่าวว่าในชั้นนี้รัฐบาลจะเลือกการออกคำสั่งทางปกครองเว้นแต่จะมีเหตุผลที่ดีกว่า ผมจึงกราบเรียนเหตุผลข้างต้นมาประกอบกับหลักการที่เคยถูกสอนมาว่า “ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายเราเรียกสังคมนั้นว่านิติรัฐ หรือ legal state แต่กฎหมายจะต้องอยู่บนหลักนิติธรรม (rule of law) จึงจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายรวมถึงฝ่ายที่ถูกบังคับตามกฎหมายนั้นด้วย หาไม่แล้วการบังคับตามกฎหมายดังกล่าวจะไม่สร้างการยอมรับในกระบวนยุติธรรมเพราะแม้จะเป็นไปตามกฎหมาย (legality) แต่ยังขาดหัวใจสำคัญคือ “ความชอบธรรม” (legitimacy) อันจะกลายเป็นสังคมที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย (rule by law) แต่ปราศจากหลักนิติธรรม (rule of law)” ขอให้อาจารย์พิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้งครับ” นายวัฒนาระบุ

ขณะที่วานนี้ (16 พ.ย.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “จากอดีตรองนายกฯ กิตติรัตน์ ถึงรองนายกฯ วิษณุ...รัฐบาลจากการรัฐประหาร ย่อมขาดความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจบริหารที่ครอบครองอยู่ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารชดใช้ทรัพย์สิน จาก “การกระทำอันเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือชาวนา” ทั้งๆ ที่ก็ทราบดีและยอมรับแล้วว่าสามารถเลือกใช้ช่องทางของศาลยุติธรรมก็ได้”


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว
นายวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น