xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ทำไมไม่แก้ กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ หรือกระทรวงพลังงานไม่จริงใจกับประชาชน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เดินหน้าพิทักษ์ผลประโยชน์ด้านพลังงานของชาติอย่างเต็มกำลัง ล่าสุด เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทบทวนร่างกฎหมายปิโตรเลียม ทั้ง 2 ฉบับ ของกระทรวงพลังงาน ที่เคลือบแฝงความไม่ชอบธรรม แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเห็นชอบให้ปรับแก้แต่ก็ไม่เป็นผล รวมทั้งกรณีการให้สัมภาษณ์ของ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้ประสานงาน คปพ. มาร่วมพูดคุยถึงการปฏิรูปพลังงานไทยโดยภาคประชาชน การต่อกรกับกลุ่มทุนพลังงานบนฐานข้อมูลและเหตุผล โดยมีผลประโยชน์มหาศาลของชาติเป็นเดิมพัน ร่วมทั้งท่าทีของท่านผู้นำประเทศต่อการเดินหน้าปฏิรูปพลังงานไทย

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามปฏิรูปพลังงานไทย แต่ทีท่าของกระทรวงพลังงานเองแล้วดูเหมือนยังย่ำอยู่ที่เดิม?

เพราะว่าเครือข่ายของกลุ่มทุนพลังงานมันมีอยู่หลายกลุ่มมาก ทำให้ข้อมูลนำเสนอของกระทรวงพลังงานถึงท่านนายกฯ เกิดความสับสน ผมยืนยันว่าถ้าคนไม่ได้ฟังข้อมูลจากภาคประชาชนอาจจะเคลิ้มจากการนำเสนอของข้าราชการบางคนในกระทรวงพลังงาน เพราะไม่เห็นข้อโต้แย้ง ถ้าไม่จับรายละเอียดจะไม่เห็นข้อโต้แย้งและอาจจะเถียงไม่ได้ เพราะไม่รู้เท่าทันจริงๆ ผมว่าน่าเห็นใจ สำหรับคนที่มีเจตนาดีในบ้านเมือง สำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมติดตามมาโดยตลอด ผมคิดว่าในช่วงแรกเขาไม่เข้าใจแล้วคิดว่าไฟฟ้าจะดับ ความที่ไฟฟ้าจะดับคนที่เป็นผู้นำประเทศต้องคิดเรื่องการมีไฟฟ้าให้พอไว้ก่อน แต่พอหลังจากมีข้อมูลว่าไฟฟ้าจะไม่ดับ ผมสังเกตเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เริ่มจะเงียบ แล้วก็จะพูดเรื่องไฟฟ้าดับน้อยลง

ผมคิดว่าเรายังมั่นใจท่านนายกฯ ได้อยู่ เพราะผมมีข้อสันนิษฐานการประชุมของคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง ดูเหมือนจะมีลักษณะของการสอดคล้องภาคประชาชนอยู่เหมือนกัน เช่น นัยยะสำคัญที่อกว่า อาจจะต้องให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาหาแนวทางว่าพื้นที่สัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ สัมปทานจะกลับมาดำเนินการของรัฐทั้งหมดทำได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีถึงขนาดเขียนสั่งการถึงให้ร่วมรับฟังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะให้ไปศึกษาข้อเรียกร้องของ คปพ.จริงๆ นายกไม่ต้องเขียนอย่างนี้เลยก็ได้ คือการเขียนอย่างนี้แสดงว่าตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่าคุณต้องคุยให้จบ หรือให้ไปศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ. ภาษีปิโตรเลียม2514 ทั้ง 2 ฉบับ ของ สนช. เพราะท่านมีธงมาเองว่าให้ไปศึกษาดูเสียว่าปัญหากฎหมาย 2 ฉบับมันมีอะไร

ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการเห็นคล้อยตามข้อเสนอของภาคประชาชน เพราะเป็นการศึกษาที่ครบเครื่องมาก ในเมื่อเกิดจากการสั่งการของนายกฯ แต่ทำไมกระทรวงพลังงานไม่แก้ไขตามข้อเสนอของ สนช. ซึ่งเป็นคำถามที่เรายังหาคำตอบไม่เจอ โดยเฉพาะเมื่อภาคประชาชน อย่าง คปพ. ไปพิสูจน์ว่าไม่มีเงื่อนไขการเร่งรีบแล้ว เพราะไฟฟ้าเราล้นเกิน ล้นเกินจนกระทั่ง ชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาพูดว่าไฟฟ้าที่ล้นเกินเราสามารถส่งออกขายไปยังต่างประเทศที่ประเทศเมียนมาร์ได้ การล้นเกินแสดงว่าเราไม่รีบ ไม่รีบแสดงว่าเรามีเวลาปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

เมื่ออ้างว่าการทำกฎหมายมันจะล้าช้าไม่ทันการณ์ เราก็อุตส่าห์ไปทำกฎหมายมา ร่างกฎหมายร้อยกว่ามาตราแก้ไข้ทั้งฉบับเลย ทำไมไม่เอา ไม่หยิบยกว่ามีข้อไหนต้องแก้ไข แต่ว่าที่เรามั่นว่านายกฯ ยังฟังประชาชนอยู่ เพราะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน การเปลี่ยน 2 คนนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า ท่านก็เห็นว่าแนวทางเดิมย่อมมีปัญหาไม่งั้นจะเปลี่ยนคนทำไม

ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนล่าสุด เป็นความหวังของภาคประชาชน

ก็ยังพูดไม่ได้เพราะยังไม่เจอ เราเลยไม่รู้ปฏิกิริยาที่แท้จริงว่าท่านจริงใจแค่ไหน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนล่าสุด พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ท่านก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ ท่านก็ต้องฟังคนอื่น ปรากฏว่าคนอื่นนี่แหละคือปัญหา ไม่ว่าข้าราชการในกระทรวงฯ หรือตัวแทนภาคต่างๆ ท่านต้องฟังจากภาพประชาชนโดยตรงบ้าง เพราะเราเริ่มมีข้อสงสัยว่าจะมีการตัดตอนข้อเท็จจริงข้อเสนอของภาคประชาชนออกไป

เช่น นับตั้งแต่เปลี่ยนคณะรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เชิญ คปพ. ไป 4 ท่าน ประกบกระทรวงพลังงานพร้อมกฤษฎีกา ผู้แทนกระทรวงการคลังมาพูดคุยกัน 1 ครั้ง ผลปรากฏว่านัดนั้นเหมือนเดิมอีก ไม่ว่านโยบายท่านนายกฯ จะเป็นอย่างไร สุดท้ายไม่เคยส่งตัวแทนผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาพูดคุย ส่งแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจไม่สามารถคุยภาพรวมยุทศาสตร์ใดได้เลย และไม่สามารถพูดคุยรับปากอะไร รับฟังแล้วก็เงียบหาย เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

เราก็กลัวว่าเดี๋ยวจะอ้างว่าคุยเรียบร้อยแล้ว เราไม่เห็นด้วยและเขาก็ไม่มีข้อโต้แย้งจะเดินหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะเหตุผลสำคัญที่สุด ไม่ทำตามเหตุผลหรือของเสนอของ คปพ. โอเค! ไม่เป็นไรหรอกเราเป็นภาคประชาชน แต่คุณไม่ทำการแก้ไขตามข้อเสนอ สนช. ที่เป็นรูปของรายงานของคณะกรรมาธิการ ทำไมถึงไม่ทำให้ครบทุกประเด็น ไม่ทำตามภาคประชาชนคุณไม่เชื่อถือไม่เป็นไร แต่คุณไม่ทำตาม สนช.ที่มีข้อเสนอเพราะอะไร?

เวทีนั้นก็เงียบหายไปเป็นเดือนเลย จนกระทั่งมาอีกทีปรากฏว่ามีการเชิญ สนช. คณะกรรมาธิการ 4 คน มาประชุม เป็นกรรมาธิการชุดเดิมมีราชการเสียส่วนใหญ่ แล้วมีการพูดคุยว่าอย่าเอายศพลเอกมาหรือรุ่นพี่มา เดี๋ยวจะเกรงว่าผู้ที่เป็นตัวแทนพลังงานเป็นพลเอกเหมือนกันท่านหนึ่งจะเกิดความรู้สึกเกรงใจ และก็มีผู้แทนของกระทรวงพลังงาน อ้างว่าจะต้องให้จบภายใน 2 - 3 สัปดาห์ ผลการพูดคุยตลอดมาแม้กระทรวงพลังงานอาจจะยอมรับว่าต้องแก้บางมาตราเพื่ออุดรอยรั่ว แต่คนที่นั่งหัวโต๊ะที่เป็นผู้แทนรัฐมนตรีเนี่ย ที่เป็นทหารบอกว่าจะไม่แก้ไข้แม้แต่มาตราเดียว ไม่แก้ไขอะไรเลย โดยอ้างว่านโยบายที่รับมา เพื่อเพียงแค่ชี้แจ้งทำความเข้าใจ ไม่ได้ให้เข้ามาทบทวน เข้ามาแก้ไข มาฟังเฉยๆ ปรากฏว่าผู้แทนของ สนช. เกรงว่าตนเองจะตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในกระบวนการเลยเตรียมจดหมายมาชี้แจ้ง โดยได้รับความเห็นชอบจากกรรมาธิการยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน คือเมื่อคุณไม่แก้ไขสักมาตราเดียวเขาก็ต้องยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานทั้ง 2 ฉบับเลย เขาไม่เชิญ คปพ. นะ เชิญ สนช. แต่บังเอิญมี มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทำหน้าที่เป็น คปพ. ด้วย ก็ได้รับรู้เรื่องราวว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 4 คนนี้จึงขอให้ผู้แทนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ลงนามเซ็นรับว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานเป็นหลักฐาน เสร็จเขาแล้วแสดงอาการไม่พอใจ แล้วก็ไม่ยอมเซ็นด้วย ราวกับว่าการประชุมนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เซ็นรับว่ามีข้อโต้แย้งเนื่องจากเป็นการประชุมที่ไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ 4 คนของ สนช. ขอดูคำสั่งการแต่งตั้ง ไม่มีอะไรเลย คงหวังว่าถ้ามันจบก็อาจจะเสนอ เมื่อไม่จบต่างคนต่างแยกย้ายไป

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการการะทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์มีการพูดคุยที่ปรึกษาของท่านไปพูดคุยกับ สนช. แล้ว แล้ว สนช. มีตัวแทน คปพ. เห็นด้วยกับร่างของกระทรวงพลังงาน แล้วก็ให้สัมภาษณ์ต่อว่า จากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ส่วนแก้ไขเพิ่มเติมให้ไปแก้ตามกฎกระทรวงเพิ่มเติมทีหลังได้ ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิงเลย เราก็เลยเห็นว่าเป็นไปได้สูงว่าท่านรัฐมนตรีฯ จะได้รับข้อมูลไม่ครบ คือเรายังไม่รู้ว่าท่านรัฐมนตรีฯ รู้หรือเปล่า แต่ว่าเรายังต้องมองโลกในแง่ดีหน่อยว่ายังไม่รู้ หวังว่าเรายังฝากความหวังได้

เราได้ยื่นหนังสือเมื่อวันพุธ (25 พ.ย.58) ว่าที่ประชุมเป็นอย่างไร ซึ่งโชคดีมากที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อัดเทปไว้ในบทสนทนาทั้งหมดเลย จึงมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น ถ้าท่านรัฐมนตรีรับทราบแล้วไม่ทำอะไรกับที่ปรึกษาคนนี้ ก็แปลว่าท่านต้องเห็นพ้องต้องกันในวิธีการดังกล่าว แต่ถ้าท่านไม่เห็นด้วยท่านต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนคู่เจรจาเป็นตัวท่านเองท่านก็ต้องดำเนินการเปลี่ยนที่ปรึกษาถึงจะแสดงให้เห็นว่าท่านไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ ดังนั้น เราจะยื่นจดหมายเพื่อดูปฏิกิริยา เพื่อวัดว่าจริงๆ ท่านยืนอย่างไร

ทาง คปพ. มีโอกาสคุยโดยตรงกับ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บ้างไหม

ไม่มีโอกาสเลย เคยมีการจะทาบทามแต่ว่าไม่มีการพูดคุย เหมือนกับไม่กล้าเจอเหมือนกับไม่ยอมเจอ ผมเข้าใจว่า คนรอบข้างไม่ต้องการให้เจอ เพราะกลัวเจอแล้วอาจจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเห็นข้อเท็จจริงที่ คปพ. เสนอแล้วเถียงไม่ได้ เพราะกระทั่งข้าราชการเอง ผู้แทนกระทรวงพลังงานมาพูดคุยกี่ครั้งไม่เคยโต้แย้งข้อมูลของเราว่าไม่เห็นด้วยเพราอะไร มันยังไม่มีเลยตอนนี้

อย่างที่บอกว่ายังไม่มีโอกาสได้เจอท่าน เราเลยไม่รู้ปฏิกิริยาที่แท้จริงว่าท่านจริงใจแค่ไหน แต่เรามองโลกในแง่ดีว่าท่านอาจจะยังไม่รู้เพราะท่านไม่ใช่คนในวงการ แต่ว่าถ้าท่านนำเข้า ครม. เมื่อไหร่ ก็แปลว่าท่านไม่ฟังประชาชนจริง คือจดหมายที่เรายื่นทุกครั้งมันเป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ว่าท่านสุจริตใจไหม ท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไหม ใช้ข้อมูลเท็จแอบอ้างภาคประชาชนจริงไหม เราก็หวังว่าสื่ออาจจะลงผิดหรือท่านอาจให้สัมภาษณ์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ แต่ก็ต้องดูปฏิกิริยาว่าเป็นอย่างไร

การที่ทางกระทรวงพลังงานออกมารับแล้วว่ากระแสไฟฟ้าสำรองในประไทยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ที่ภาคประชาชนมองว่าไฟฟ้าสำรองเกินนั้นต้องมีคนฟัง จนกระทั่งรองปลัดกระทรวงพลังงานต้องเปลี่ยนเหตุผลใหม่ว่าไฟฟ้าเกินจากเดิมบอกต้องเร่งสัมปทานฯ ต้องเร่งโรงไฟฟ้าถ่ายหินเพราะไฟฟ้าขาด จะเกิดวิกฤติไฟฟ้าดับ ต้องมาเปลี่ยนเหตุผลใหม่ว่าไฟฟ้าสำรองรองเกินจะแก้ด้วยการส่งออกไปต่างประเทศ จะได้หาความชอบธรรมในการสร้างโรงไฟฟ้า หรือเร่งเปิดสัมปทาน ซึ่งนี่มันไม่ใช่ความมั่นคงแล้ว นี่มันเกินคำว่าพอเพียงไปเยอะ กระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าที่สร้างเพิ่มขึ้น มันเป็นต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายพวกเรา ต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้าจะถูกบวกเข้ามาในค่าไฟของเราที่เกินความเป็นจริงอยู่เสมอ ดังนั้น การบอกว่าไฟฟ้าส่งออกได้ก็คือปัญหาครั้งใหญ่ แล้วการที่ท่านรัฐมนตรีออกมาพูดว่าถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไปใช้ก๊าซ LNG ในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อ้าว! ไปอ้างเหตุผลประเภทโรงงานไฟฟ้าทั้งที่โรงไฟฟ้าผลิตเกิน จริงๆ ต้องชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถึงจะถูกต้อง ถ้าใช้เหตุผล เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเหตุผลมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมามันเลยทำให้น้ำหนักดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน เหมือนกับว่ามีธงอยากสร้างโรงไฟฟ้า อยากเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่เหตุผล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดไม่มั่นคง ก็แสดงว่าไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล มันอยู่บนพื้นฐานของความอยากทำในยุคมือตัวเองหรือเปล่า?

การที่ กระทรวงพลังงาน - ปตท. ดำเนินการฟ้องร้องภาคประชาชน เท่ากับพยายามปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้ตรวจสอบใช่ไหม

กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ฟ้องร้องประชาชน ลองสังเกตดูสิครับมีกระทรวงไหนฟ้องร้องประชาชนบ้าง? ทุกวันนี้ไม่ว่าคนบ่นเรื่องของแพงจากกระทรวงพาณิชย์ หรือว่าสงสัยเรื่องการทุจริตกองทัพ เป็นต้น เคยได้ยินไหมครับว่ามีกระทรวงไหนฟ้องประชาชนที่มาตรวจสอบตัวเอง ผมเพิ่งเห็นที่ชัดเจนและเยอะมากก็คือกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ท่านเป็นหน่วยงานของรัฐ ประชาชนที่เขาจะตรวจสอบบ้างอย่างเขาไม่พอใจเขารู้สึกเขาเห็น บางอย่างเป็นเรื่องที่ฟรีทีวีลงแล้วเขามาลงต่อแชร์ถูกฟ้องร้องแล้ว ถามว่าเป็นธรรมหรือเปล่า? ประชาชนบ้างคนเขาพร้อมสู้คดีนะครับ แต่หาทนายไม่ได้ ไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่มีเงินประกันตัวจะไปสู้อะไร พวกคุณไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนิ มีเงินจ้างทนายก็จบแล้ว แต่ชาวบ้านเขาไม่มีเงินแม้แต่จ้างทนายเลยแค่ประกันตัวก็จบแล้ว แต่คุณไปฟ้องอาญาเขา

รัฐเมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ถ้าอยากครองใจประชาชนต้องตอบคำถามเขา อธิบายให้เขาเข้าใจไม่ใช่ไปไล่ฟ้องเขา เพราะชาวบ้านมีหลายระดับ มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์เพราะรู้ บางคนก็ไม่รู้ทั้งหมดจริงหรอกแต่ว่าห่วงใยประเทศ ถ้ามองที่เจตนาแล้วรัฐต้องส่งเสริมให้คนรับรู้ข้อเท็จจริงได้รับคำชี้แจ้งข้อเท็จจริง ต้องรับการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปฟ้องประชาชนไปฟ้องสื่อ มันไม่ใช่บรรยากาศการปรองดองเพื่อการปฏิรูป การปฏิรูปต้องมีการถกเถียง จะตำหนิต่อว่าก็อยู่บนเนื้อหาที่เขาสงสัย เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติควรที่จะต้องยอมรับการตรวจสอบ ต้องชี้แจ้งการตรวจสอบให้ได้

ประเด็นนี้เราเห็นว่าท่านนายกฯ ควรให้นโยบายเปลี่ยนบุคลากรเถอะ คนที่ไม่คิดปรองดองคิดอยากจะฟ้องร้องประชาชนอย่างเดียว เอาคนที่พร้อมคุยเหตุผลเข้ามา ไม่ใช่ คปพ. ไม่คุยเหตุผลเราคุยแต่พวกเขาไม่ยอมคุยด้วยไม่มาชี้แจ้งไม่มาตอบคำถามไม่มาตอบข้อสงสัยว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ เดี๋ยวหาว่าเราค้านอย่างเดียวเราก็มีข้อเสนอด้วยทำไมถึงไม่เอา และข้อเสนอเราก็สอดคล้องกับ สนช. ด้วยทำไมถึงไม่เอา

ทางฝั่งกระทรวงพลังงานแย้งว่าข้อมูลภาคประชาชนไม่ตรงทั้งยังดื้อดึง

ข้อมูลไม่ตรงมีจริง แต่ว่าเป็นประชาชนกลุ่มไหน? เป็นประชาชนที่มีการแชร์ข้อมูลปกติตามเฟซบุ๊ก? แต่ข้อมูลของภาคประชาชนที่บอกไม่ตรงคือข้อไหนจดหมายฉบับใด เรามีการลงลายลักษณ์อักษรมีการอ้างอิงตัวเลขจากกระทรวงพลังงานและ ปตท.ทั้งนั้น แล้วอะไรที่มันไม่จริง

ประเด็นถัดมา สมมุติ คปพ.ไม่จริง แล้วอะไรที่ สนช. โดยกรรมาธิการศึกษาว่ามีปัญหาเยอะแยะไปหมดกับกฎหมายของปิโตรเลียม ทำไมไม่แก้ตามเขา ถึงชั่วโมงนี้วินาทีนี้ ยังไม่เคยมีคำตอบเลยว่าทำไมถึงไม่ยอมแก้ตาม อ้างว่าเวลาก็ไม่ได้นะ เพราะกระแสไฟฟ้าเราล้นเกิน จะเร่งทำอะไรในเวลานี้นักหนา แล้วราคาก็ตกต่ำไม่สร้าง บรรยากาศการแข่งขันจะเร่งไปทำไมมันไม่มีเหตุผล

มาว่าประชาชนดื้อ ผมว่าภาครัฐดันทุรัง ที่เราดื้อเพราะเราดื้ออยู่บนฐานของข้อมูล แต่เวลานี้กระทรวงพลังงานไม่ได้ให้เหตุผลนอกจากดันทุรังอย่างเดียว มีอย่างที่ไหน ในวันที่ สนช. ยังไม่สรุปผลโดยกรรมาธิการว่าจะแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมอย่างไร กระทรวงพลังงานดันชิงตัดหน้าเสนอก่อนโดยไม่ฟังเสียงเขา ก็แปลว่าตัวเองไม่คิดจะฟังเขา ตรงนี้แหละทำให้เรารู้สึกว่ากระทรวงพลังงานยังไม่มีความจริงใจมากพอ

ดูเหมือนกลุ่มทุนพลังงานครอบงำองค์กรเหนียวแน่น

ผมคิดว่าหลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะบางคนก็นั่งเป็นทั้งกรรมการนั่งทั้งในกิจการบริษัทมหาชน มันจะไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างไร แค่ผลประโยชน์การรับโบนัสก็เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว มันจะไปปกป้องอะไรได้

คปพ. มีแนวทางการจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ เอราวัณ-บงกช ที่กำลังจะหมดสัมปทาน

คปพ. ทำกราฟตัวเลขขึ้นมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่าไหร่บวกไป 15 เปอร์เซ็นต์ เราพบว่าถ้าทำ 3 อย่างต่อไปนี้ ต่อให้แหล่ง เอราวัณ - บงกช หมดอายุไฟฟ้าสำรองก็จะไม่ขาด 1.ย้ายจากส่วนที่ ปตท. เอาก๊าซธรรมชาติไปจ่ายให้กลุ่มปิโตรเคมีมาผลิตไฟฟ้า 2.เปิดประมูลแข่งขันในแหล่งปิโตรเลียมที่ศักยภาพ 5 แปลงใหม่ ที่ไม่ใช่สัมปทานรอบที่ 21 และเปิดการแข่งขันด้วยการประมูล และ3. เร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ทำเพียง3 อย่างพอ ต่อให้แหล่ง เอราวัณ - บงกช หมดอายุก็ไม่ต้องแคร์ความต่อเนื่อง

แต่เราทำได้ดีกว่านั้นอีกคือ ปรับแผน PDP ใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จะทำให้เรามีไฟฟ้าเหลือพอแม้แหล่ง เอราวัณ - บงกช จะหมดอายุ ก็ไม่มีปัญหา ต่อให้ขาดช่วงก็จะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าสำรองขาด แปลว่าเรามีศักยภาพและมีความสามารถที่จะดึงแหล่ง เอราวัณ - บงกช กลับมาเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ มาผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังนั้น มันเป็นโอกาสทองครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทำได้

มีคนถามอีกว่าทำได้ไหมไม่ให้มีรอยต่อ? ทำได้ ในระหว่างเปิดสัมปทาน 5 แปลงที่มีศักยภาพ หรือจะแปลงต่อไปในอนาคต แปลงที่ไม่เคยมีสำคัญไม่เคยรู้ศักยภาพแต่รู้ว่าจะมีศักยภาพสูงแต่ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ เปิดประมูลแบบแบ่งปันผลผลิต 5 แปลงในทะเล การเปิดประมูลแบ่งปันผลผลิต 5 แปลงให้แลกด้วยเงื่อนไขการประมูลว่า ถ้าใครมีสัมปทานเดิมอยู่จากเดิมที่รัฐห้ามโอนถ่ายโอนการผลิต ให้เอกชนทุกรายยอมแก้ไขสัญญากับรัฐให้รัฐมีสิทธิ์ในการโอนถ่ายการผลิตไม่ให้ขาดตอน ถ้าไม่แก้ไขไม่มีสิทธิประมูล ต่อมา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย ซึ่ง 40 กว่าปีแล้วบริษัทผู้รับสัมปทานไม่เคยเข้า ต่อให้เจรจาไทยกัมพูชาก็ตกเป็นของเขาโดยที่เราไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ใครมีสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนอยู่ให้คืนรัฐจึงจะมีสิทธิประมูล 5 แปลง

ถ้าเขาไม่ยอมไม่เป็นไร ประมูลแหล่งที่กำลังจะหมดอายุด้วยระบบจ้างผลิต ทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ถ้าไม่ยอมแก้ไขให้รัฐเข้าโอนถ่ายคุณก็หมดสิทธิเข้าประมูลในระบบการจ้างผลิต แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงสุดและมีอยู่จริง หมดสิทธิ์ทันทีก็แปลว่าแหล่งใหม่ก็ไม่ได้ แหล่งเก่าก็ไม่ได้ นี่ไม่ใช่การบีบบังคับแต่สร้างแรงจูงใจให้คุณแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ วิธีนี้ก็จะไม่ขาดตอนเลย ต่อให้ขาดตอนก็ไม่เกิดปัญหา แต่เราสามารถทำให้เกิดการผลิตโดยไม่ขาดตอนได้เพราะมีการศึกษามาแล้ว คุณรจนา โฆษิตตระกูล ไปค้นพบมาว่าแหล่งที่กำลังจะหมดอายุลงแหล่งเอราวัณ - บงกช ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นต่างชาติแต่ก็คนไทยทั้งนั้นแหละครับ เราจ้างบุคลากรต่อเนื่องได้ทันที ไม่ใช่ปัญหามันอยู่ที่การบริหารจัดการ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ไม่จำเป็นแน่นอน เพราะเหตุผลว่า หนึ่ง - ไฟฟ้าเกิน ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไฟฟ้าอะไรก็เกินแล้ว สอง - ไฟฟ้าเราผลิตเกินล้นมากมายมหาศาลแล้วเราจะโชคดีมากเพราะเรามีเวลา ทั้งโลกกำลังจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีใหม่ สะอาดขึ้น ถูกลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำไมเราไม่คิดจะรอบ้าง ทำไมจะรีบตะครุบแหล่งพลังงานสกปรก สร้างมลพิษมาก

โดยเฉพาะล่าสุด ผลการศึกขอมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรีนพีซ ระบุชัดเจนเลยว่าการสร้างโรงฟ้าถ่านหินจะทำให้คนไทยตายเพิ่มขึ้นปีละ 5,000 กว่าคน ตายก่อนวัยอันควร คือต้นทุนที่รัฐไม่เคยมองคือต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายทางสังคมที่ต้องแบกรับจากโรงไฟฟ้าถ่ายหิน รัฐบาลมักจะคิดแต่ต้นทุนวัตถุดิบ ไม่คำนึงถึงต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับ คุณตีมูลค่าเท่าไหร่ต่อคน?

สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21ประเด็นใดบ้างที่รัฐบาลต้องตระหนักเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติให้ได้มากที่สุด

ประการแรก สมควรปรับปรุงที่สุดเลย ก็คือ ในเวลานี้กฎหมายของกระทรวงพลังงานไม่มีเรื่องระบบการจ้างผลิต หมายถึงว่าความคิดจะเอาแหล่งปิโตรเลียมของรัฐ แหล่งเอราวัณ - บงกช กลับมาเป็นของไทยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ยกเว้นจะมีระบบจ้างผลิตแล้วรัฐเป็นผู้ถือครองเอง

ประการที่สอง กฎหมายทั้งหลายที่เกิดขึ้นต้องเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดความโปร่งใส่และประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งวันนี้ยังไม่ทำอ้างว่ารีบก็ไม่ได้แล้วเพราะว่าไฟฟ้าเราเหลือล้น ไม่มีเหตุผลอื่นต้องทำให้เสร็จครับ ทำไมกฎหมายกระทรวงพลังงานที่ไม่มีใครเห็นด้วย ทำไมเป็นกฎหมายที่หละหลวมไม่มีใครเห็นด้วย ตรรกะมันไปด้วยกันไม่ได้ขัดแย้งกันเองอยู่ตลอดเวลา ผมก็เลยคิดว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย ก่อนการใช้สัมปทานรอบที่ 21 ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรใช้สัมปทานด้วย 2 แหล่งสำคัญที่รู้กำลังรู้กระบวนการผลิตแล้ว ต้องยึดกลับมาเป็นของรัฐและจ้างผลิต แหล่งไหนที่มีประสิทธิภาพใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แหล่งไหนไม่มีเบาะแสเลยไม่มีแม้กระทั่งภาพถ่ายทางอากาศจะให้สัมปานเขาก็ไม่ว่า แต่มักจะมีคนบอกว่าความคิดของภาคประชาชนเป็นพวกอนุรักษ์นิยมรวมศูนย์ ผมอยากจะบอกว่าไม่ใช่หรอก เรานี่แหละผู้ที่ส่งเสริมการแข่งขันเสรีอย่างเป็นทางการ เราไมได้เป็นอนุรักษ์นิยมเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรในประเทศให้คนในประเทศใช้ก่อน เหลือพอค่อยไปทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศ





กำลังโหลดความคิดเห็น