xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นนายกฯ รื้อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ หยุดสัปทานรอบ 21 ทั้ง 29 แปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ทบทวนร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับของกระทรวงพลังงานที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชน และหยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง พร้อมสั่งการให้ รมว.พลังงานเปิดโอกาสให้ คปพ.เข้าพบเพื่อนำเสนอความเห็นปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้า ครม.พิจารณาอีกครั้ง

วันนี้ (15 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) พร้อมแกนนำ เช่น นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สำนักงาน กพร. เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอ โดยยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชนและหยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้ คปพ.ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นตัวแทนมารับหนังสือ

รายละเอียดหนังสือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ถึงนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์
แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
กรุงเทพ ๑๐๒๐๐

ที่ คปพ. ๐๒๙/๒๕๕๘

วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทบทวนการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชน และหยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ จำนวน ๒๙ แปลง และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

กราบเรียนฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผ่านหม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ในหัวข้อ “กระทรวงพลังงาน เตรียมลงทุน ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ๒ ฉบับเข้า ครม.เดือนนี้” (http://bit.ly/1P8L0Kj)

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ลงข่าวหัวข้อ “กระทรวงพลังงาน เตรียมลงทุน ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ๒ ฉบับเข้า ครม.เดือนนี้” (ตามสิ่งอ้างถึง ๑) ปรากฏคำสัมภาษณ์ของพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ความตอนหนึ่งว่า

“ทั้งนี้ เดือนตุลาคมนี้กระทรวงพลังงานจะส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากกระทรวงพลังงานแก้ไขรายละเอียดบางมาตราตามที่ได้หารือร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย อาทิ เรื่องการจัดภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง เพื่อให้ภาครัฐได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หาก ครม.อนุมัติจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ๓ วาระ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจาก สนช.ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นต้นปี ๒๕๕๙ จะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบ ๒๑ ซึ่งการเปิดสัมปทานดังกล่าวรวม ๒๙ แปลงทั้งบนบกและในทะเล ได้มีการแก้ไขให้เอกชนสามารถยื่นประมูลได้ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี

นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้ง ๒ ฉบับ ขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานจะไม่มีการตั้งหน่วยงานใหม่ คือ บรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้การควบคุมดูแลเรื่องพลังงานมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์ รับผิดชอบอยู่แล้ว
นั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดังกล่าว สะท้อนถึงการได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า จะเกิดความโปร่งใสและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ในประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ข้อความจากการสัมภาษณ์ที่ว่า ...กระทรวงพลังงานแก้ไขรายละเอียดบางมาตราตามที่ได้หารือร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย... นั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงพลังงานไม่เคยส่งตัวแทนผู้มีอำนาจในการเจรจาหรือตัดสินใจอย่างแท้จริงเข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หรือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการพูดคุยทุกครั้ง ไม่เคยได้ข้อยุติ เพราะผู้แทนกระทรวงพลังงานไม่เคยตอบโต้ หรือโต้แย้งในประเด็นข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และไม่เคยตอบเหตุผล ว่าเหตุใดจึงไม่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

โดยเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘ ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหากฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ ระหว่างผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมแจ้งว่านายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ประชุมกฎหมายที่มีข้อขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง และหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพื่อให้ได้ข้อสรุป รวมถึง ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีติดภารกิจกะทันหันจึงมอบให้ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการประชุมแทน

ในการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปที่ปราศจากข้อโต้แย้ง โดยให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ใน ๕ ประเด็นดังนี้

๑)ให้กระทรวงพลังงานศึกษากฎหมายทั้ง ๒ ฉบับของกระทรวงฯ ว่าไม่สอดคล้องกับ รายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด? และจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องและประเด็นของกฎหมายทั้งสองฉบับ ตามแนวทางของรายงานผลการศึกษานี้ได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?

๒)ให้ศึกษากฎหมายทั้ง ๒ ฉบับของกระทรวงพลังงานว่ามีความแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) หรือไม่ อย่างไร? และให้ศึกษารายมาตราว่ามาตราใดทำได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร?

๓)ให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาปัจจัยด้านเวลา ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้นำเสนอว่าสามารถบริหารจัดการได้ เพื่อทำให้มีเวลามากพอ และมีแหล่งพลังงานเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพียงพอ จนไม่เกิดวิกฤติไฟฟ้าขาดแคลน โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกทั้งสามารถแก้ไขปัญหาช่วงการหมดอายุสัมปทาน ของแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ ได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

๔)ในภาวะที่ปิโตรเลียมทั่วโลกมีราคาลดลง และมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำอีกนาน โดยเฉพาะก๊าซหุงต้มที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าก๊าซหุงต้มในประเทศ ราคาปิโตรเลียมลดลงในภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลทำให้การแข่งขันหรือแรงจูงใจ ที่จะให้ผลตอบแทนแก่รัฐในการผลิตปิโตรเลียมลดลงไปด้วย สมควรหรือไม่ที่ประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าเปิดสัมปทาน หรือผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ในบรรยากาศเช่นนี้? ควรเก็บปิโตรเลียมให้คงเป็นทรัพยากรของชาติใต้ธรณีเอาไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนมาใช้นโยบายการนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศแทนการผลิตในประเทศ เพื่อรอเวลาให้ราคาปิโตรเลียมสูงกว่านี้ในอนาคต ดีกว่าหรือไม่? ในระหว่างการรอจังหวะเวลานี้ ควรทำการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียม ให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุดก่อนหรือไม่?

๕)ในที่ประชุมสรุปว่า จะมีการนัดให้มีการประชุมครั้งถัดไป หรือ อาจมีหลายครั้ง อาจให้มีผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพิ่มเติม เช่น กระทรวงการคลัง ฯลฯ เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงและหาข้อยุติให้ชัดเจนขึ้น


ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ ๔ ฝ่าย เข้าร่วมเพื่อพูดคุยให้เสร็จสิ้นในหลักการเสียก่อน แล้วจึงทำการร่างกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ เดือน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน และผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐในที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุมเพิ่มเติมด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า ตัวแทนฝ่ายรัฐมิได้ปฏิเสธในข้อเสนอของ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

อย่างไรก็ตาม นับจากวันประชุมดังกล่าวจนถึงปัจจุบันผ่านไปประมาณ ๑ เดือนเศษแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากกระทรวงพลังงานอีกเช่นเคย อีกทั้งยังไม่ได้มีการนัดหมายการประชุมตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นแต่ประการใด จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามผลของการประชุมดังกล่าว และยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจได้ข้อมูลด้านเดียว หรืออาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนจากผู้แทนกระทรวงพลังงานที่เข้าร่วมประชุมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตลอดมาหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรจะได้รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการประชุมร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยตรง เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่สำคัญระดับชาติเช่นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกฎหมายที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างสร้างสรรค์และจริงใจต่อประชาชน

ประเด็นที่สอง ข้อความจากการสัมภาษณ์ที่ว่า …ต้นปี ๒๕๕๙ จะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบ ๒๑ ซึ่งการเปิดสัมปทานดังกล่าวรวม ๒๙ แปลงทั้งบนบกและในทะเล ได้มีการแก้ไขให้เอกชนสารสามารถยื่นประมูลได้ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี… นั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน หน้าที่ ๓๒ ระบุไว้ความตอนหนึ่งว่า

“...ควรชะลอการเปิดสัมปทานไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบธุรกรรมที่ยังไม่บัญญัตินี้ให้เรียบร้อยก่อนทำสัญญา ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องเปิดประมูลแปลงปิโตรเลียมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในด้านพลังงานของประเทศ คณะกรรมาธิการวิสามัญ เห็นควรให้ทำการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต คราวละ ๔-๕ แปลง ในแปลงที่มีข้อมูลมากพอสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและรัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงขึ้น หรือดำเนินการสำรวจในเบื้องต้นในแปลงที่มีศักยภาพสูง โดยเป็นการสำรวจเพื่อความมั่นคง... ”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าความโปร่งใสนั้นไม่ได้อยู่แค่การสร้างภาพว่ามีการประกาศเชิญชวน เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่น “ข้อเสนอ” ที่ดีที่สุด แต่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันเสรีได้จริงในทางปฏิบัติ และต้องการให้ “ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด” ด้วยวิธีการแข่งขันโดยปราศจากการใช้ดุลพินิจส่วนตัวหรือคณะบุคคลใดๆ ด้วยการให้คะแนน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยทั้งประเทศไม่เคยได้เห็นและได้ทราบวิธีและหลักเกณฑ์การเลือกผู้ได้รับสัมปทาน ตลอดจนไม่เคยทราบถึงการเจรจาตกลงกัน ตลอดจนเงื่อนไขการลงนามสัญญาตลอดระยะเวลา ๔๔ ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

นอกจากนี้ การเปิดแปลงสัมปทานจำนวนแปลงมากๆ ในแต่ละครั้ง เพียงพอหรือเกินพอที่จะทำให้เกิดการจัดสรรในหมู่ผู้รับสัมปทานโดยไม่ต้องมีการแข่งขัน ด้วยเหตุผลนี้การเปิดสัมปทานที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีการแข่งขันกันได้จริงตามที่กล่าวอ้างแม้แต่ครั้งเดียว และไม่สามารถจะยืนยันได้ว่าภายหลังจากการแก้ไขกฎหมายตามแนวทางของกระทรวงพลังงานแล้ว จะเกิดการแข่งขันได้จริง ซึ่งต่างจากร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ... ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่กำหนดจำนวนแปลงปิโตรเลียมในแต่ละรอบให้น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าแข่งขัน และกำหนดจำนวนผู้เข้าแข่งขันขั้นต่ำในการประมูลในแต่ละแปลงและในแต่ละรอบ เพื่อป้องกันการสมยอมหรือการฮั้วการเปิดสัมปทานระหว่างเอกชน หรือป้องกันการจัดสรรแปลงปิโตรเลียมเพื่อมิให้มีการแข่งขันการประมูลที่แท้จริง ซึ่งข้อเสนอของภาคประชาชนนี้ก็สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคราวการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้เคยมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยว่าไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ เช่น

กรณีการเจรจาปรับแก้ไขให้ผู้ที่เสนอรับสัมปทานมีคะแนนเพิ่มขึ้นในรอบการเจรจาโดยไม่มีการแข่งขัน

กรณีการเจรจาปรับแก้ไขย้ายรายการ โดยไม่เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินโดยรวมแต่เป็นผลทำให้ผู้เสนอเข้ารับสัมปทานมีคะแนนเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนจากตกคุณสมบัติกลายเป็นผ่านคุณสมบัติและได้แปลงสัมปทานในที่สุด

กรณีที่เดิมผู้รับสัมปทานไม่มีการกรอกผลประโยชน์พิเศษจึงไม่มีคะแนนในหมวดดังกล่าว แต่กลับมีการเจรจาเพิ่มภายหลังด้วยจำนวนเงินเพียงประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ บาท ทำให้ได้คะแนนเต็มในส่วนดังกล่าว

กรณีมีข้อสังเกตว่าผลตอบแทนพิเศษบางรายใส่ประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท กลับได้คะแนน ๑๘.๕ จากคะแนนเต็ม ๒๐ แต่บางรายใส่ผลตอบแทนพิเศษประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ บาท กลับได้คะแนนเต็ม ๒๐

กรณีที่เข้าร่วมประมูลบางรายเพิ่งจดทะเบียน ๒ เดือนเศษ ภายหลังจากประกาศเชิญชวนเข้าร่วมเสนอการสัมปทานและได้เป็นผู้รับสัมปทาน

กรณีมีบริษัททุนจดทะเบียน ๑๐ ล้านบาท และ ๑ ล้านบาท ซึ่งต่ำมากแต่กลับมีสิทธิ์ได้รับสัมปทานที่มีมูลค่ามหาศาล

กรณีตัวอย่างข้างต้นนี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หากดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในคราวเดียวจำนวน ๒๙ แปลงทั้งหมดตามคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็อาจจะเป็นช่องโหว่ทำให้ประวัติศาสตร์หวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีก เหมือนกับตลอดระยะเวลา ๔๔ ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าจะมีการประมูลแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมต่อประชาชนได้จริง

หากให้เอกชนผู้ที่ต้องการผลิตปิโตรเลียมเลือกได้ว่าจะใช้ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตก็ได้ จะเป็นการยกอำนาจรัฐให้เอกชนเลือกเสนอตามอำเภอใจ ซึ่งแน่นอนว่า เอกชนจะมุ่งแต่ผลประโยชน์ และกำไรสูงสุดของเอกชนเท่านั้น เป็นการปิดกั้นโอกาสของประเทศที่จะได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเต็มที่ เสมือนเอกชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐเสียเอง ซึ่งจะนำมาสู่การใช้ดุลพินิจในการพิจารณาหรือให้คะแนนอยู่ดี เพราะในระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบสัมปทานนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องกรรมสิทธิ์และการแบ่งผลผลิตจากปริมาณปิโตรเลียมหรือแบ่งจากรายได้ และมีความแตกต่างว่า ใครเป็นผู้มีหน้าที่หรือมีสิทธิในการขายปิโตรเลียม ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย จึงไม่ใช่การบริหารจัดการที่โปร่งใสแต่ประการใด

ในทางกลับกัน รัฐควรกำหนดระบบที่เหมาะสมสำหรับแหล่งปิโตรเลียมแต่ละประเภท และความต้องการของรัฐในขณะนั้น ว่าต้องการใช้ทรัพยากรเอง และต้องการควบคุมทรัพยากรเองหรือไม่ รัฐจึงควรกำหนดระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียวในแต่ละแปลงปิโตรเลียม แล้วเปิดการแข่งขันด้วยวิธีการประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดโดยไม่ใช้ดุลพินิจ และต้องเปิดประมูลครั้งละน้อยแปลงให้จำนวนแปลงน้อยกว่าจำนวนผู้ที่คาดว่าจะเข้าแข่งขันในระบบเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันเสนอผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะยกเลิกการประมูลหากไม่มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง


ประเด็นที่สาม ข้อความจากการสัมภาษณ์ที่ว่า …กระทรวงพลังงานจะไม่มีการตั้งหน่วยงานใหม่ คือ บรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้การควบคุมดูแลเรื่องพลังงานมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรคกูเลเตอร์ รับผิดชอบอยู่แล้ว… นั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน หน้าที่ ๖ ได้สรุปผลการศึกษาว่า

เห็นควรให้จัดตั้ง National Oil Company ในรูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียม รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม โดยการตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ มีสภาพเป็นนิติบุคคล และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายเป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐ (Resource holder) ในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ควบคุมดูแลระบบการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหลาย และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาการจ้าง รวมถึงสัมปทานที่หมดอายุ”

ตามคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จะส่งผลทำให้ประเทศไทยล้าหลังและขาดโอกาสสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชาติและประชาชน ตามผลการศึกษา World Bank Working Paper No.218 (2011) ของธนาคารโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งระบุว่า การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จะส่งผลดีดังต่อไปนี้

๑.ทำให้รัฐมีข้อมูลปฐมภูมิด้านปิโตรเลียมของทั้งประเทศ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ (ข้อมูลของรัฐในปัจจุบันเป็นข้อมูลทุติยภูมิที่ได้รับจากผู้รับสัมปทานอีกทอดหนึ่ง)

๒.ลดความเสี่ยง เรื่องการสำรวจแหล่งพลังงาน และสามารถเร่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยรัฐยังสามารถควบคุมกิจกรรมต่างๆ ได้

๓.รัฐเกิดการเรียนรู้ในเส้นทางลัด (Fast Track) จากการทำงานร่วมกันกับบริษัทพลังงานเอกชน

ทั้งนี้เกือบทุกประเทศในอาเซียนที่มีทรัพยากรปิโตรเลียม ได้มีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติทั้งสิ้นเนื่องจากมีความคล่องตัวกว่าระบบราชการ และเป็นการป้องกันสมองไหลของบุคลากรที่มีคุณภาพ และที่สำคัญหน้าที่ของบรรษัทจะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว จากเอกสารรายงานด้านนโยบายสาธารณะหมายเลข ๓๕ (Policy Report No.35) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ของ สถาบันเบเกอร์ (Baker Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) สหรัฐอเมริกา ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติดังนี้

๑.เป็นเครื่องมือของรัฐ ในการตัดสินใจลงทุนในเรื่องพลังงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ สร้างความมั่นคง และมั่งคั่งของชาติ

๒.สามารถนำปริมาณสำรองปิโตรเลียมใต้ดินของชาติมาลงบัญชี เพื่อ สร้างเครดิตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเช่นเดียวกับการมีทองคำสำรองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

๓.สร้างประสิทธิภาพในการจัดการปิโตรเลียมของชาติ ลดโอกาสการคอรัปชั่นและการลงทุนที่สิ้นเปลือง

๔.สามารถร่วมในการดำเนินงานด้านพลังงานและสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติควรมีหน้าที่เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

๑.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติ ทั้งใต้ดิน และที่ผลิตแล้ว แต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งมีอำนาจในการจัดการผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดของรัฐ และจัดสรรผลผลิตปิโตรเลียมให้เอกชนตามสัญญา

๒.เป็นผู้ค้าน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ และ มีหน้าที่รับโอน/ จัดหา/ บริหารทรัพย์สิน และถือหุ้นในกิจการพลังงาน

๓.สร้างความมั่งคั่ง และอธิปไตยของชาติ ในทรัพยากรพลังงาน ทั้งนี้เพราะ ผลประโยชน์ของบรรษัทฯ และของรัฐเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่มุ่งเน้นการให้สัมปทานแก่เอกชนอย่างเต็มที่ ด้วยการใช้ดุลพินิจสร้างเงื่อนไขลดหย่อน ที่ไม่เหมาะสม (ตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดปัจจุบัน)

๔.เป็นผู้จัดการคลังสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ

จากหน้าที่ของบรรษัทพลังงานแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รับข้อมูลมา แล้วให้สัมภาษณ์แต่ประการใด

เงื่อนไขอันสำคัญของบรรษัทพลังงานแห่งชาติคือ รัฐต้องถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ และอันที่จริง การตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติไม่ใช่ความคิดแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะก่อนที่ประเทศไทยจะทำการแปรรูป ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้น ก็ได้เคยได้ตั้งบริษัทลูก เป็น ปตท.สผ. ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยรัฐถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ เพื่อทำหน้าที่สำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมแทนรัฐ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติเดิมอยู่แล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าภายหลังจากการแปรรูป ปตท.สผ. ให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ ปตท.สผ.เปลี่ยนวัตถุประสงค์มาเป็นการแสวงหาผลกำไรสูงสุดเพื่อผู้ถือหุ้น ขาดคุณสมบัติที่รัฐต้องถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ จึงขาดความชอบธรรมในการถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมแทนรัฐ เพราะเท่ากับนำทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติมาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นเอกชนเพียงไม่กี่คน ถือเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ดังนั้น ในปัจจุบันถือได้ว่ารัฐบาลไม่มีองค์กรผู้ถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมแทนรัฐ (Resource Holder) ในขณะเดียวกันภายใต้กฎระเบียบและระบบราชการทำให้หน่วยงานราชการไม่มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจปิโตรเลียมที่มีพลวัตรในทางธุรกิจสูงได้จริง อีกทั้งการไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์และขายปิโตรเลียมแทนรัฐ จึงทำให้ต้องพึ่งพาบริษัทเอกชนหรือผู้รับสัมปทานทำหน้าที่ขายปิโตรเลียมแทนรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เสียประโยชน์หรือเกิดช่องโหว่ เกิดการทุจริตหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่าย และเสียโอกาสที่จะมีบรรษัทฯ ของรัฐดำเนินการขายปิโตรเลียมในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของคนในประเทศโดยบรรษัทฯ จะมีกำไรน้อยหรือไม่มีกำไรก็ได้

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยังมีประเด็นเพิ่มเติมที่เป็นปัญหาหรือข้อถกเถียงดังนี้

ประเด็นที่สี่ หากแหล่งผลิตปิโตรเลียม เอราวัณ และ บงกช ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ พ.ศ.๒๕๖๖ ตามลำดับ โดยไม่มีการต่อสัญญาให้ผู้ผลิตรายเดิม จะส่งผลให้ขาดก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า และทำให้ไฟฟ้าดับในที่สุดจริงหรือไม่

จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2015 ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงพลังงานพบว่า หากดำเนินการตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แล้ว ก็จะสามารถทำให้ไม่ขาดไฟฟ้า แม้จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ต่อสัญญาสัมปทานให้กับผู้ผลิตในแหล่งเอราวัณและบงกช ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้มากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมาตรฐาน ร้อยละ ๑๕ ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีได้ โดยมีมาตรการดังนี้

มาตรการที่ ๑ นำก๊าซธรรมชาติเฉพาะในส่วนของ ปตท. ที่จัดสรรให้แก่อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี เปลี่ยนมาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๘ จะทำให้ได้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ๕,๔๑๐ เมกะวัตต์ โดยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี นำเข้าโพรเพนและแนฟทาจากต่างประเทศเพื่อมาเป็นวัตถุดิบเอาเอง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่นๆ ทั้งหมดนอกเครือ ปตท. ซึ่งปัจจุบันมีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศ จึงเท่ากับสมประโยชน์ในการจัดสรรก๊าซทั้งสองฝ่าย

มาตรการที่ ๒ เปิดประมูลระบบแบ่งปันผลผลิตแหล่งก๊าซใหม่ที่มีศักยภาพ จำนวน ๕ แปลงในอ่าวไทย เพื่อนำก๊าซมาชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้า จำนวน ๗๔๐ เมกะวัตต์ให้ได้ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๔

มาตรการที่ ๓ ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวน ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ ให้ได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ หรือเฉลี่ยปีละ ๒๐๐ เมกะวัตต์

ทั้ง ๓ มาตรการดังกล่าวเมื่อดำเนินการแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้มากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมาตรฐาน ร้อยละ ๑๕ ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี แม้จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ต่อสัญญาสัมปทานให้กับผู้ผลิตในแหล่งเอราวัณและบงกช ตามแผนภูมิที่แสดงด้านล่างนี้




นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยังมีมาตรการสำรองเพิ่มเติม เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมดังนี้

มาตรการที่ ๔ ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015) โดยปรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามข้อมูลปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือ ปรับการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่สูงเกินความเป็นจริงในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดตลอด ๒๐ ปีข้างหน้า

โดยจากเดิมในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ของกระทรวงพลังงาน คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ไว้ที่ ๒๙,๐๕๑ เมกะวัตต์ แต่จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกลับพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริงของปี ๒๕๕๘ อยู่เพียงแค่ ๒๗,๓๔๖ เมกะวัตต์ โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ (ซึ่งได้เลยฤดูร้อนไปแล้ว) จึงเท่ากับว่า ฐานเริ่มต้นในการคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ควรลดลงไป ๑,๗๐๕ เมกะวัตต์

เมื่อปรับลดฐานความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลทำให้ การพยากรณ์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีต่างๆ ลดลง โดยเฉพาะในปีที่มีความสำคัญดังนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนสัมปทานในแหล่งเอราวัณจะหมดลง ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงไป ๒,๑๐๐ เมกะวัตต์ เทียบเท่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ประมาณ ๒.๕ โรง หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประมาณ ๒ โรง

ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ประมาณการว่าจะเป็นปีที่มีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติลดต่ำสุดหากแหล่งเอราวัณและบงกช ไม่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงไป ๒,๒๑๕ เมกะวัตต์

ปี พ.ศ. ๒๕๗๙ ซึ่งเป็นปีที่ ๒๐ อันเป็นปีสุดท้าย ของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงไป ๒,๙๑๕ เมกะวัตต์ เทียบเท่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ประมาณ ๓.๕ โรง หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประมาณ ๓ โรง

จากผลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การพยากรณ์ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการปรับปรุง และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงเจตนาว่ามีความไม่โปร่งใส หรือมุ่งมั่นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่

มาตรการที่ ๕
เพื่อสร้างความต่อเนื่องในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทย ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานลง ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ รัฐควรเปิดประมูลใน “ระบบแบ่งปันผลผลิต” สำหรับแปลงปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในอ่าวไทย จำนวน ๕ แปลง โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้มีสิทธิเข้าประมูลที่มีสัญญาสัมปทานเดิมกับรัฐ ต้องยอมแก้ไขสัญญาให้รัฐเข้าศึกษาเพื่อถ่ายโอนการผลิตก่อนหมดอายุสัญญาสัมปทาน และยอมยกเลิกสัญญาสัมปทานที่อยู่ในพื้นที่ที่อ้างว่า ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ผู้รับสัมปทานไม่เคยเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่เริ่มสัญญาสัมปทานกว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา

ส่วนแหล่งเอราวัณและบงกช ใช้เงื่อนไขเดียวกันเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการประมูลใน “ระบบจ้างผลิต” เพื่อให้แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ซึ่งมีศักยภาพปิโตรเลียมมากที่สุดในอ่าวไทยกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย

มาตรการดังกล่าวจะเป็นผลทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณและบงกช เป็นไปอย่างต่อเนื่องมากขึ้นกว่าเดิมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

มาตรการที่ ๖ กรณีที่ เชฟรอน เจ้าของสัมปทานในแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมตามเงื่อนไขในมาตรการที่ ๕ ย่อมหมายความว่า เชฟรอนสละสิทธิ์การประมูลในแหล่งเอราวัณเอง ก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะมีหลักประกันหลายมาตรการตามที่กล่าวมาข้างต้นอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่เกิดวิกฤตการณ์ขาดพลังงานไฟฟ้าอย่างแน่นอน และรัฐบาลสามารถใช้บรรษัทพลังงานแห่งชาติที่จัดตั้งไว้ก่อนแล้ว เข้าดำเนินการผลิตแทน ทั้งในรูปแบบของการจ้างคนไทย ซึ่งทำงานอยู่ในแท่นผลิตในอ่าวไทยเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว หรือดำเนินการเปิดประมูลจ้างผลิตล่วงหน้า เพื่อเข้าดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณเมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทานเดิมโดยทันที

จากมาตรการดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการที่เสนอโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เมื่อผนวกรวมกันกับการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จะกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างอำนาจต่อรองให้กับรัฐบาลอยู่เหนือเอกชนผู้รับสัญญาสัมปทาน และสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศไทยจัดสมดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้ในที่สุด

ประเด็นที่ห้า
มีข้อกล่าวอ้างว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ ช่วงนี้จึงต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเราชะลอมานานแล้ว อีกทั้งราคาปิโตรเลียมก็อยู่ในระดับต่ำไม่ควรตั้งเงื่อนไขมากเพราะเกรงว่าจะไม่มีคนมาประมูล” นั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าว เพราะการลงทุนเพื่อผลิตปิโตรเลียมไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ไม่สามารถส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในทันที เพราะต้องรอผลการสำรวจอีกหลายปี ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลทันทีในขณะนี้ คือการนำเข้าปิโตรเลียมที่มีราคาถูกกว่าปิโตรเลียมที่ได้จากแหล่งสัมปทานในประเทศ เช่น ก๊าซหุงต้มในตลาดโลกราคา ๑๒.๘๘ บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาหน้าโรงแยกก๊าซในประเทศไทยถูกกำหนดไว้ที่ ๑๕.๑๑ บาทต่อกิโลกรัม และก๊าซธรรมชาติ จากอินโดนีเซียไปญี่ปุ่น มีราคาเพียง ๗.๗ เหรียญต่อล้านบีทียู หรือ ๙.๘๔ บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลทำให้

๑.ราคาพลังงานในประเทศถูกลงทันที ทำให้ค่าครองชีพของคนในประเทศลดลงได้ และมีกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางตรง

๒.ค่าเงินบาทอ่อนลงจากการนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศที่ถูกกว่า ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการส่งออกและการท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของคนในประเทศให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

๓.ในช่วงที่ปิโตรเลียมราคาต่ำ ไม่ควรเปิดประมูลทรัพยากรของชาติ เพราะปิโตรเลียมนำเข้าราคาถูกกว่า โดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม ดังนั้นรัฐควรใช้เวลานี้ในการสำรวจเอง ในภาวะที่อุปกรณ์เครื่องจักรในการสำรวจราคาถูกลง เพื่อรอจังหวะราคาปิโตรเลียมที่สูงขึ้น จนเพียงพอต่อการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันราคาแล้วจึงค่อยเปิดประมูลขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งที่มีศักยภาพแล้ว

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าจากบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแสดงถึงความเข้าใจที่ยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่เป็นอันมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรจะได้รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการประชุมร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยตรง เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่สำคัญระดับชาติเช่นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกฎหมายที่มีความขัดแย้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างสร้างสรรค์และจริงใจต่อประชาชน จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาให้ความเห็นชอบดังนี้

๑.สั่งการหรือมีนโยบายให้หยุดร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน ที่ยังไม่ตอบข้อสงสัยของภาคประชาชนหรือคำถามของภาคประชาชนในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ครบถ้วนตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

๒.ให้หยุดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ในครั้งเดียวจำนวน ๒๙ แปลง ซึ่งมีจำนวนแปลงปิโตรเลียมมากเกินไป ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันการประมูลเสนอผลตอบแทนแก่รัฐได้สูงสุดจริงในทางปฏิบัติ

๓.สั่งการหรือมีนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนที่จะนำเสนอร่างแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาชองคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
































กำลังโหลดความคิดเห็น