xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ = เหยื่อ เมื่อ “คุณชาย” ต้องการ “ล้ม” เมื่อ “คุณท่าน” ต้องการรุมโทรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เบื้องลึกเบื้องหลัง “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี โยนระเบิดเข้ากลางวงขวางตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ในนามของความรักชาติ มิใช่อะไรอื่นนอกเสียจากตั้งข้อสงสัยอย่างตรงไปตรงมาว่า หมากตานี้เพื่อ “กลุ่มทุนพลังงาน”

เป็นเกมตีปลาหน้าไซ ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประชุมพิจารณาลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในวัน ที่ 30 มีนาคม 2560 โดย “หม่อมอุ๋ย” เรียกร้องให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมัน แห่งชาติออกจากไป พร้อมกับลาก 6 บิ๊กทหาร ก๊วน “เพื่อนลุงตู่” ออกมาแฉว่าอยู่เบื้องหลังสอดไส้จัดตั้งบรรษัทพลังงาน แห่งชาติ

แถมย้อนยุคปลุกตรายี่ห้อ “สามทหาร” ขึ้นมาฮุบกิจการพลังงานของชาติเบ็ดเสร็จ เรียกความฮือฮาจากสังคมและรัฐบาลได้สมใจ ทั้งที่รู้ว่าการฟื้นชีพตรา “สามทหาร” และฟื้นบทบาททหารมาคุมพลังงานแบบเดิมๆ ในทางความเป็นจริงของประเทศไทยที่ก้าวหน้ามาไกล มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แต่นี่เป็นยุทธวิธีการต่อสู้ในมหาศึกปฏิรูปพลังงาน ที่ฟากฝั่งกลุ่มทุนพลังงาน ต้องการเบรกเกมเพราะไม่ต้องการให้ สนช. ทำคลอดกฎหมายใหม่ปิโตรเลียมฯ พ่วงด้วย “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม เพราะยิ่งช้ายิ่งได้กินหวานๆ กับขุมทรัพย์พลังงานหลายแสนล้านกันต่อไป และยิ่งกดดันให้รัฐบาลเดินเข้าสู่กับดักหลุมพรางที่วางเอาไว้ สอดรับกับนิทาน “ก๊าซฯจะขาดแคลน” เพราะแหล่งใหญ่ใกล้หมดสัมปทานที่เล่าเขย่าขวัญสังคมไทยกันมาโดยตลอด

ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าบรรดากองหนุนนอมินีกลุ่มทุนพลังงาน เปิดหน้ากันมาเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สืบทอดใช้ “ระบบสัมปทาน” แหล่งก๊าซฯ เอราวัณกับบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้านี้

เป็นปี่เป็นขลุ่ยกันกับบิ๊กข้าราชการอย่างรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่อวดโอ่ว่า เวลานี้โครงสร้างของการกำกับดูแลและดำเนินงานด้านพลังงาน ก็ถือเป็นรูปแบบของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ อยู่แล้วในตัวและเป็นรูปแบบที่มีศักยภาพ ทั้งที่เห็นโทนโท่ถ้าดีจริงประเทศชาติต้องได้ผลประโยชน์จากขุมทรัพย์พลังงานมากกว่านี้

การเลือก “หม่อมอุ๋ย” เป็นผู้เล่นบทรักชาติหน้าใหม่ของกลุ่มทุนพลังงานในนาทีนี้ ถือเป็นการเลือกตัว Player ได้ดี เพราะ “หม่อมอุ๋ย” นั้นมีต้นทุนพอควร หากเลือกบรรดาเทคโนแครตหน้าเดิมๆ หรือยิ่งเครือข่ายกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้วยแล้ว คงถูกโห่ฮาปารองเท้าไล่ลงเวทีตั้งแต่ยังไม่ทันได้อ้าปาก อีกทั้งการเลือกแถลงที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันจันทร์ต้นสัปดาห์ นั่นถือว่าเลือกวิกออกโรงได้ตรงใจกลางวงสื่อทุกแขนงเลยทีเดียว

ไม่นับถ้อยแถลงที่เอาเรื่องตั้งแต่สมัยนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. มาเล่า ช่างเร้าใจเพราะเป็นอินไซด์จาก “คนวงใน” สมัยที่เคยรับผิดชอบเรื่องนี้ในช่วงตั้งไข่ว่ามีกลุ่มบุคคลเข้ามาผลักดันตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ตนเองไม่เล่นด้วย และยันร่างเดิมที่ไร้บรรษัทฯเข้า ครม. ก่อนตัวจะตกเก้าอี้ไป แต่ในที่สุดบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็โผล่เข้ามาใน ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ จนได้ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี พล.อ.สกนต์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน โดย “สอดไส้”เข้าไปทั้งที่ผ่านหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว

ไม้เด็ดและถือเป็นไฮไลท์ของหม่อมอุ๋ย อยู่ตรงที่ชู “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ให้ตกเป็นเป้า หรือเป็นเหยื่อล่อ ตามด้วยการเปิดโปงเบื้องหลังกลุ่มล็อบบี้ว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูง 6 คน ที่มีบารมีเหนือคณะรัฐมนตรี

ปั้นเรื่องให้สื่อไล่ตามงับ และหลายฝ่ายก็เข้ามาถล่มการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เข้าล็อกกลุ่มทุนพลังงานพอดิบพอดี
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขณะชุมนุมต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่หน้ารัฐสภา
ใครเป็นใครใน 6 บิ๊กทหาร ก็ถูกสื่อค่ายบางนาเปิดหน้าในวันถัดมา นั่นคือ พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คลังสมองด้านพลังงานของทหาร เพราะเติบโตมาจากกรมการพลังงานทหาร เคยนั่งเก้าอี้ ผอ.ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ดูแลการบ่อน้ำมัน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ก่อนขยับขึ้นเป็นรองเจ้ากรมการพลังงานทหาร จากนั้นขึ้นเป็นที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, เจ้ากรมการเงินกลาโหม,เจ้ากรมเสมียนตรา และเกษียณอายุที่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ตามมาด้วย รองประธานคณะกรรมาธิการฯ 4 คน คือ พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 2 ,พลโท อำพน ชูประทุม รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 3 , พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 4 และ พลอากาศเอก อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 5 ทั้งหมดล้วนเป็นเพื่อน “เตรียมทหารรุ่นที่ 12” (ตท.12) ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ถ้านับ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรรมาธิการพลังงานด้วย ก็รวมเป็น 6 คน ที่เป็น “เพื่อนลุงตู่” และได้เชิญ “หม่อมอุ๋ย” มาพูดคุยแลกเปลี่ยน อดีตบิ๊กทหาร 6 คน ยังเข้านายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นในการตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ก่อนจะบรรจุในร่างกฎหมาย มาตรา 10/1 ใช้คำว่า “ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม”

เจอหมัดหนักจาก “หม่อมอุ๋ย” ระดับ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกศึกรับหน้าแทนเพื่อนบิ๊กทหาร และโยนเรื่องไปให้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ว่า เป็นพวกที่ออกมากดดันรัฐบาลให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

นายกฯ สงสัยจะเมาหมัด เครียดจัดไป จึงร่ายยาวแต่สรุปใจความสำคัญได้ว่า กลุ่มคปพ. มาเรียกร้องให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เลยมีการรวบรวมเสนอและข้อคิดเห็นจากหลายส่วนให้ สนช.ไปพิจารณา โดยตนเองเห็นว่ายังไม่พร้อมและไม่มีความจำเป็น เพราะมีบริษัทเดิมอยู่ กระทรวงคลังถือหุ้นส่วนมากอยู่ แต่กลุ่มนี้กดดันมาก ทราบว่าไปกดดันคณะกรรมาธิการด้วย ถ้าไม่มีจะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบฯ ก่อนที่จะปิดปากไม่คุยเรื่องนี้แต่แจกเอกสารอธิบายที่มาที่ไปให้สื่อแทนในวันถัดมา

ทั้งที่ความจริงแล้วปมที่ กมธ. สนช. ขมวดเอาไว้ “ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม” นี่แหละที่ทำให้เป็นปัญหาใหญ่

แล้วเหตุไฉนนายกฯ ลุงตู่ จึงออกมาซัด คปพ. จนพาหลงประเด็น แถมยังอุ้ม “บริษัทเดิม” ที่มีคลังถือหุ้นใหญ่อยู่อีก ก็ชวนให้สังคมสงสัยอยู่ หรือว่าทหารอยากเข้าไปมีบทบาทจัดการในกิจการพลังงานของชาติ

บรรดาคอลัมนิสต์ใหญ่เครือข่ายกลุ่มทุนพลังงาน ก็พลอยผสมโรงทำไขสือแกล้งโง่ว่า คปพ.เรียกร้องให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เมื่อรัฐบาลส่งลูกให้สนช.จัดให้แล้วทำไมยังมาค้านอีก จะเอาอะไรกันแน่ ทั้งที่รู้ว่าปัญหาที่ คปพ. คาใจอยู่ที่คำว่า “...เมื่อมีความพร้อม” เท่ากับไม่ตั้งใช่หรือไม่ ว่ามาให้ชัดๆ

นายกฯลุงตู่ ล่อ คปพ. แล้วยังสวน “หม่อมอุ๋ย” ที่มองว่าแอบจัดตั้งบรรษัทฯ เพื่อหวังให้ทหารเข้าไปดำเนินการนั้น ขอบอกมันทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาไปฝันเฟื่องขนาดนั้น ขีดความสามารถไม่ถึง ไม่ให้ทำอยู่แล้ว

“...ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรษัทน้ำมันถ้าตั้งมาแล้ว ใครจะเข้ามาเป็น และใครหวังเข้ามา ตนก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ตน แน่นอน หากคิดว่าเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง ก็จะใส่เข้าไป เพื่อเป็นการเริ่มต้นเมื่อพร้อม ซึ่งมันไม่พร้อมง่ายๆหรอก ต้องใช้ทุนมหาศาล แล้วจะเอาทุนที่ไหน รัฐบาลจะลงทุนอีกเหรอ ไม่มีเงินลงทุนหรอก ขุดเจาะน้ำมันไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่ 5 บาท 10 บาท...”

ขณะที่ “ป๋าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็โต้กลับเรื่องที่ว่าจะให้กรมพลังงานทหาร เข้ามาสวมบทบาทเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไปก่อนว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะทำได้อย่างไร ไม่คิดจะทำ และไม่มีปัญญาจะทำ

เว้ากันซื่อๆ จบป่ะ !

แต่ถึงจะเว้าซื่อๆ แบบนี้ ก็ยังน่าสงสัยอยู่นั่นแหละว่า ใช่หรือไม่ที่ทหารก็อยากเข้ามา เพียงแต่ว่าความแตกเสียก่อน ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพียงแต่ต้องมีกระบวนการคัดเลือกที่เหมาะสม โปร่งใส และอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม

ด้าน คปพ. ซึ่งปักหลักแลกหมัดกับกลุ่มทุนพลังงานมาเป็นระยะๆ และขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ไม่ให้รัฐบาลทำคลอดออกมาแบบหัวมังกรท้ายมังกุด โดยแถลงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ 2 ฉบับ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ที่มีปัญหาหมกเม็ดในสาระสำคัญหลายประเด็น ถึงแม้จะเจอเล่ห์เหลี่ยมทุนพลังงานส่ง “หม่อมอุ๋ย” มาชิงตัดหน้าโยนระเบิดเข้ากลางวง เบี่ยงประเด็น เบนความสนใจในสาระสำคัญหลัก สร้างความสับสนให้สังคมแล้ว ยังเจอศอกกลับจาก “นายกฯลุงตู่” เข้าไปอีก

แต่แกนนำ คปพ. อยู่สายสตรอง เจอมาเยอะ จิตไม่ตก ยังเดินหน้า “เปิดกะโหลก” ทุกๆ ฝ่ายให้ได้รู้ว่าประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาและไม่เอาในร่างกฎหมายปิโตรเลียม และความจำเป็นของการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ นั้นเพราะอะไร

สาระสำคัญหลักๆ ก็คือ สัญญาสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณกับบงกช ใกล้จะหมดอายุลงในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณก๊าซฯมากที่สุดของประเทศไทย สร้างรายได้ปีละประมาณ 2 แสนล้าน เมื่อหมดอายุสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดของผู้รับสัมปทาน คือ แท่นขุดเจาะและอุปกรณ์สำรวจและผลิต รวมทั้งปิโตรเลียมจากทั้งสองแหล่งจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ รัฐสามารถบริหารและขายสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

แต่ร่างกฎหมายฯ ที่กำลังจะผ่าน สนช.กลับจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม เพราะไม่ระบุการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อใด เขียนแต่เพียงว่า “เมื่อพร้อม” ซึ่งอาจจะพร้อมชาติหน้าก็เป็นได้ ทำให้ไม่มีองค์กรใดมาบริหารทรัพย์สินและขายปิโตรเลียมที่จะตกเป็นของรัฐ ก็เท่ากับต้องมอบหน้าที่บริหารและขายปิโตรเลียมให้กับเอกชนคู่สัญญาเดิม

“คำตอบพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ระบุว่า มีเจตนาที่จะเปิดให้เอกชนได้รับสิทธิในการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชไปก่อนที่จะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการอำพรางกฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกช ให้มีโอกาสในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน....”

“.... เลวร้ายกว่านั้นคือจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ไม่ทันต่อการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21”

นั่นหมายถึงว่า แม้ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ จะเปิดให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต หรือรับจ้างสำรวจและผลิตหรือบริการอะไรก็ตาม แต่ในทางความเป็นจริงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีองค์กรของรัฐเข้ามาบริหารและขายปิโตรเลียมที่จะตกอยู่แก่รัฐทั้งหมด ก็เท่ากับเป็นระบบสัมปทานจำแลงเท่านั้น

อีกอย่างคือ ท่อก๊าซฯ ยังผูกขาดโดย ปตท. เหมือนเดิม เพราะเมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ก็จะไม่มีองค์กรของรัฐขึ้นมาถือครองกรรมสิทธิ์และบริหารกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเปิดให้เอกชนแข่งขันอย่างเสรี ฯลฯ



นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้แฉเบื้องลึกเบื้องหลังเหตุผลที่แท้จริงที่มีการยื้อเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น คือเรื่องผลประโยชน์หลายแสนล้านบาทแต่ละปีจากการผูกขาดรับซื้อก๊าซธรรมชาติ เพราะรัฐบาลไทยมีสิทธิกำหนดกติกาให้ผู้ที่ผลิตก๊าซในไทยต้องขายก๊าซให้แก่รัฐ ในราคาต่ำกว่าตลาดและในแต่ละปี ประเทศไทยผลิตก๊าซมูลค่า 4-5 แสนล้านบาท ผู้ใดที่ใช้สิทธินี้ย่อมทำกำไรได้มากมายทุกปี ถ้าเมื่อใดมีบรรษัทฯ สิทธิดังกล่าวย่อมต้องตกเป็นของบรรษัทฯ กำไรนี้ก็จะเป็นของประชาชนเต็มร้อย

ถ้าไม่มีบรรษัทฯ ถามว่าใครเป็นผู้ที่ได้กำไรก้อนใหญ่นี้? ใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์จากการมีบรรษัทฯ? คำตอบคงหนีไม่พ้นกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่รายนั้น

แต่การเรียกร้องหา “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” หรือ “บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ของ คปพ. ก็มีประเด็นข้อน่าห่วงกังวลอยู่เหมือนกันว่า จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา เปลี่ยนกลุ่มผลประโยชน์ใหม่เข้าสวมแทนกลุ่มทุนพลังงานเดิมหรือไม่

แต่ที่น่าห่วงมากยิ่งกว่าก็คือวิสัยทัศน์ของคณะผู้นำที่ออกตัวแล้วว่า รัฐบาลไม่มีปัญญาจะทำ

หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ. จึงทำความเข้าใจว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ได้ไปสำรวจขุด เจาะหรือขายปลีกแข่งกลุ่มทุนพลังงาน แต่จะเป็นองค์กรขนาดเล็กเพื่อรับสิทธิในปิโตรเลียมที่ผลิตได้ และถือสิทธิในอุปกรณ์ที่ได้จากสัมปทานที่หมดอายุลง โดยว่าจ้างเอกชนเข้ามาแข่งขันกันสำรวจหรือผลิต รัฐไม่เสียสิทธิในปิโตรเลียมเช่นที่เกิดขึ้นในระบบสัมปทาน

“บรรษัทฯ จึงมิได้ต้องการคนมากอย่างที่ท่านนายกฯเข้าใจ โดยเงินทุนก็มิได้ต้องมาจากรัฐ เนื่องจากเพียงแค่แหล่งบงกชและเอราวัณ เมื่อได้กลับคืนมา บรรษัทก็จะมีรายได้ 2 แสนล้านบาทต่อปีทันที เรื่องเงินทุนจัดตั้งบรรษัทจึงไม่น่ากังวลใจ”

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้แล้ว กลุ่มทุนพลังงาน คงกำลังบวกลบคูณหารว่าการวางแผนลงทุนไปทัวร์เม็กซิโกเพื่อดูความล้มเหลวของบรรษัทพลังงานแห่งรัฐเม็กซิโก เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเติมเต็มข้อมูลและ “ปรับทัศนคติ” ตามมาด้วยปฏิบัติการของ “หม่อมอุ๋ย” วางระเบิดถล่มบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และ “ก๊วนบิ๊กทหาร” เพื่อให้สั่นสะเทือนถึงนายกฯลุงตู่ และ สนช. คราวนี้ ได้ผลคุ้มค่าหรือไม่

หลังจากที่ค่อนข้างล้มเหลวกับการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ที่กลุ่มทุนพลังงานเคยรวมตัวตั้ง “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด ปตท.ในเวลานี้ เป็นผู้ก่อตั้ง ร่วมกับกลุ่มอดีตข้าราชการสายพลังงาน และนักวิชาการด้านพลังงาน

อย่างที่รู้กัน กลุ่มของนายปิยสวัสดิ์ เล่นบทคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ รวมทั้งการจัดทำร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ ที่เปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบอื่นที่รัฐได้ประโยชน์มากกว่า และเร่งรัดให้รัฐบาลเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ รอบที่ 21 โดยเร็วที่สุดภายใต้กติกาเดิมโดยอ้างเพื่อความต่อเนื่อง และก๊าซฯจะได้ไม่ขาดแคลน

สวนทางกับการผลักดันของ คปพ. ที่มีแกนนำสำคัญ คือ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่ผลักดันร่างกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ กำหนดกติกาใหม่ และให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ตลอดสองสามปีที่ผ่านมา สองกลุ่มนี้แลกกันหลายหมัด ซัดกันมาหลายยก กระทั่งบทบาทและพลังของ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ของนายปิยสวัสดิ์ ค่อยๆ จางหายไป อาจเป็นเพราะมุกเดิมไม่ขลัง คนฟังไม่เชื่อ แต่ คปพ. ก็หืดจับแต่ยังยืนระยะมาจนถึงโค้งสุดท้ายของร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปพลังงาน

นัดหมาย 30 มีนาฯ 60 เจอกันหน้าสภาฯ จึงเป็นนัดสำคัญ ชี้เป็นชี้ตาย และเชื่อว่าจะทำให้การประชุมของ สนช. เพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ร้อนทะลุองศาเดือดทั้งนอกและในสภา

และสุดท้าย “กลุ่มทุนพลังงาน” ก็ได้รับชัยชนะไปอย่างงดงาม เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติท่วมท้น 227 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในวาระ 3 พร้อมทั้งยอมถอนมาตรา 10/1 เรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติออกไปเป็นที่เรียบร้อย โดยนำไปบัญญัติไว้ในข้อสังเกตของร่างกฎหมายแทนว่า ให้ครม.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาภายใน 60 วันเพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี

คำถามก็คือ การนำมาตรา 10/1 ไปไว้ซุกในข้อสังเกตจะมีผลอันใดในทางกฎหมาย
คำตอบก็คือ ไม่มีผล และเป็นเพียงการซื้อเวลาออกไปเท่านั้น

หรือแปลไทยเป็นไทยว่า หลังจากตั้งคณะกรรมการและศึกษาวิธีการจัดตั้งแล้วเสร็จ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะมีการจัดตั้งจริงหรือไม่ ส่วนการต่ออายุสัมปทานหรือเปิดสำรวจและผลิตใหม่ รอบที่ 21 ก็จะยังเหมือนเดิมทุกประการคืออยู่ในมือกลุ่มทุนพลังงานหน้าเดิม

วันนี้ ประเทศไทยวังเวงเสียจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น