xs
xsm
sm
md
lg

29ม.ค.โชว์ร่างแรกรธน. สปท.ชงส.ส.เขต400ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24 พ.ย.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุมว่า ได้มีการวางกรอบการทำงานช่วงถัดไป โดยแบ่งออกเป็น 9 ขั้น ดังนี้
1. ภายในวันที่ 8 ม.ค.59 กรธ.จะพิจารณาความคิดเห็นของประชาชน และ ข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาร่างแต่ละหมวดให้แล้วเสร็จ
2. ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. เดินทางไปต่างจังหวัด พิจารณาร่างทั้งฉบับให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้การออกนอกสถานที่ไปทำงานนี้ ไม่ใช่เพื่อป้องกันการล็อบบี้ แต่เพื่อต้องการให้กรธ.มีสมาธิทำงานได้อย่างเต็มที่
3. ระหว่างวันที่ 18-26 ม.ค. จะทบทวนร่าง และถ้อยคำ บทเฉพาะกาล ตลอดจนสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับพิมพ์เผยแพร่
4. วันที่ 29 ม.ค ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ใหัหน่วยงานนำไปเผยแพร่ต่อประชาชาน เพื่อรับฟังความคิดเห็น
5. ภายในวันที่ 15 ก.พ.59 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และบุคคลทั่วไป จะต้องส่งความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อกรธ.
6. ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. - 20 มี.ค. ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะ
7. ระหว่างวันที่ 21-28 มี.ค. ตรวจสอบความสอดคล้องของถ้อยคำ
8. วันที่ 29 มี.ค. ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ
9. วันที่ 30 มี.ค. จะทำพิธีส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดให้ กรธ.ต้องยกร่างฯภายใน 180 วัน
หลังจากนั้น ทางรัฐบาลก็จะนำร่างส่งให้ กกต. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดออกเสียงประชามติในเดือนก.ค.59 ว่า จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้หรือไม่ ส่วนกรธ. และเครือข่าย ก็จะทำหน้าที่ชี้แจงเนื้อหา สาระสำคัญ ของร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน ตลอดระยะเวลา 3 - 4 เดือน ก่อนทำประชามติ เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะช่วยเราก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาประเทศเหมือนที่ผ่านมาอีก
นายชาติชาย กล่าวถึง การพิจารณาเนื้อหารายมาตรา ว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่ โดยจะให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจชี้ขาดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง หากพบว่าขัดคุณสมบัติ หรือประพฤติขัดจริยธรรม ส่วนองค์กรที่มีอำนาจส่งให้ศาลวินิจฉัย ก็น่าจะเป็นไปตามกลไกเดิม คือ ป.ป.ช. สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.- ส.ว. และบุคลทั่วไป อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาส่วนศาลเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหาร
" เราใช้เวลาพิจารณากับหมวดศาลรัฐธรรมนูญอยู่นานพอสมควร เพราะเราอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรายังหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นองค์กรที่พึ่งสุดท้าย ที่จะคอยวินิจฉัยข้อขัดแย้ง จากวิกฤติการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในวันข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่เรายืนยันมาตลอดว่า ไม่อยากสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมา" นายชาติชาย กล่าว

** สปท.ชงส.ส.เขต 400ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง แถลงข้อเสนอที่ได้มีการพิจารณา ศึกษามา ต่อกรธ. ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องทำให้สุจริตเที่ยงธรรมให้ได้ โดยทำรัฐธรรมนูญกฎหมายลูกให้เหมาะสมกับสังคมไทย การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ต้องปราศจากการซื้อขายเสียง หากทำไม่ได้ ถือว่า ไม่สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จได้ จึงเสนอว่า การลงโทษต่อการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ต้องรุนแรง รวดเร็ว ให้คนทำผิดรู้สึกเกรงกลัว เข็ดขยาด โดยไม่ควรมีโทษรอลงอาญา เว้นแต่การระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากจงใจเจตนา ต้องลงโทษจำคุกจริงจัง โทษปรับเรียกค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ ต้องเกิดผลจริง ปรับ ยึดทรัพย์จริง ในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ ส่วนโทษทางการเมืองต้องห้ามเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองตลอดชีวิต กกต. ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ต้องมีส่วนสำคัญในการควบคุมกำกับการเลือกตั้ง หากปล่อยให้มีการทุจริต ผู้มีอำนาจในการควบคุมการเลือกตั้ง ต้องถูลงโทษด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มี ส.ส.400 คน ไม่มีบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะต้องการให้ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ตัดอีแอบทางการเมือง และ ระบบเลือกตั้งควรให้เป็นวันแมนวันโหวต ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จังหวัดไหนใหญ่ให้ซอยเป็นเขต
ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี ควรจะมาจากความเห็นชอบกึ่งหนึ่งของ ส.ส. และหากจะต้องเป็นคนนอก จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของส.ส. หรือ 240 คน ส่วนการออกเสียงต้องเปิดเผย อิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง หากไม่สามารรถตั้งนายกฯได้ภาย 30 วัน ให้ยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ภายใน 30 วัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติว่า ควรให้มี ส.ว.เพื่อถ่วงดุล และตรวจสอบ ติดเบรกทางการเมือง ช่วยยับยั้งสถานการณ์ทางการเมือง และข้อกฎหมายบางกรณีได้ ส่วนจำนวนเท่าใด ยังไม่ตกผลึก แต่เห็นว่าควรมีระหว่าง 200 -260 คน และไม่ควรมีสิทธิ์ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนที่มาวิธีการ ยังมีความเห็นแตกกันหลายฝ่าย ยังต้องพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น