xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิไลวรรณ แซ่เตีย “ประกันสังคมมันใหญ่นะ เงินมันเยอะนะ” “ต้องปราศจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิไลวรรณ แซ่เตีย
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การตัดสินใจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ การประกาศใช้ “มาตรา 44 รื้อบอร์ดประกันสังคม” หรือสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) หวังสางปัญหาที่สั่งสมมานาน พร้อมกับเดินหน้าปฏิรูปองค์กรหลักประกันสวัสดิการด้านการเงินและสุขภาพของประชาชนผู้ใช้แรงงาน กำลังเป็นประเด็นที่เครือข่ายแรงงานจับตาอย่างใกล้ชิด

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้พูดคุยกับ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เพื่อขยายปมปัญหาที่แก้ไม่ตกของ สปส. โดยเฉพาะในประเด็นคอร์รัปชั่นที่มักมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเอี่ยวด้วยเสมอ และเฝ้าสังเกตการณ์บอร์ด สปส. ชุดใหม่ เข้ามาปฏิรูปสัมฤทธิ์ผลดังใจท่านนายกฯ หรือเข้าอีหรอบเดิม?

การนำมาตรา 44 มาบังคับใช้เพื่อปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมมีนัยสำคัญอย่างไร อยากให้ช่วยขยายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรนี้

ในเรื่องของการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และสิ่งสำคัญมันก็ทำให้เกิดเรื่องของคอร์รัปชั่นในสำนักงานประกันสังคม ย้อนไปเมื่อปี 2549 ทางเรามีการยื่นข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบจัดจ้าง การซื้อคอมพิวเตอร์ในโรงงาน 2,894 ล้าน (กรณีการทำสัญญาเช่า จัดหา และดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานของ สปส. มูลค่า 2,894 ล้านบาท ขณะนายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ ตำแหน่งเลขาฯ สปส.) ได้ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ จนในที่สุดแล้ว ก็มีคำวินิจฉัยออกมาปี 2551 มีคำตัดสินของ ป.ป.ช. ว่า สปส. มีความพระพฤติมิชอบ นั่นก็คือการใช้เงินผิด ก็จะมีคำสั่งให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานดำเนินคดี แต่สุดท้ายเลขาฯ สปส. สิ้นสุด เมื่อสิ้นสุดแล้วเงิน 2,894 ล้านบาท มันก็ยังเป็นเรื่องคาราคาซัง มีความประพฤติมิชอบ มีความผิดจริง แต่การดำเนินการชั้นต่อไปไม่ได้ทำ

เหมือนกับกรณีการลงทุนของ สปส. เอาเงินไปซื้อหุ้นไทยธนาคาร กลายเป็นว่าซื้อมาแพงขายถูก ก็เกิดความเสียหาย 300 ล้าน มันมีปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะการไปดูงานต่างประเทศเอย จัดสัมมนาเฉพาะบางกลุ่มเอย หรือเรื่องของเอาเงินไปทำประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ ซึ่งมันไม่สามารถตรวจสอบได้และกรณีที่นายจ้างปิดกิจการ สปส. เสียหายเงินสูญกว่า 4,000 ล้านบาท (กรณีสถานประกอบการนายจ้าง ปี 2556 พบกว่า 33,000 แห่ง ปิดกิจการ และไม่จ่ายเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000 ล้านบาท) แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมกว่า 70,000 ล้าน

เราเห็นปัญหาเยอะว่าการบริหารงานของ สปส. ข้อจำกัด และทำให้เกิดประเด็นปัญหาที่ทำให้เราเห็นว่าการบริหารแบบนี้มันจะอยู่ไม่ได้ มันจะเกิดความไม่มั่นคง สปส. เท่ากับสถาบันการเงินเพราะมันใหญ่มาก เมื่อมันใหญ่เท่ากับสถาบันการเงินมันก็ควรมีมืออาชีพเข้ามาจัดการ โดยเหตุผลหลายๆ เหตุผลมันนำมาสู่การยกร่างของเครือข่ายแรงงาน (พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน)

ในหลักการใหญ่ๆ เราต้องการให้ สปส. เป็นองค์ที่เป็นอิสระในการบริหารจัดการ ปราศจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง เวลาการเมืองเข้ามาแทรกแซงเห็นปัญหาเยอะนะ ทุกครั้งเลย เวลาการเมืองจะทำอะไรจะมุ่งมาที่ สปส. เหมือนอดีตไปตึกวัฏจักรก็เกี่ยวกับการเมือง ซื้อคอมพ์ก็เกี่ยวกับการเมือง แม้แต่การซื้อไทยธนาคารก็เอาเงินไปลงทุนก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นบทบาทที่ผ่านมาการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการบริหารจัดการทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา

เราพยายามยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระมีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนั้นเราคุยกันก็มองเป็นภาพใหญ่ๆ เลย น่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และประธานและเลขาฯ สปส. น่าจะเป็นมืออาชีพที่มีการสรรหามา ทั้งการบริหารจัดการการลงทุน เช่นในเรื่องของด้านสุขภาพ และก็เรื่องของการลงทุน การดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ เพราะเรามองว่าข้าราชการเขาเชี่ยวชาญการบริหารจัดการ แต่ว่าไม่ได้สามารถดูภาพรวมได้ทั้งหมด และก็มีคณะกรรมการในการตรวจสอบด้วย พวกเราอยากเห็นกระบวนการในการตรวจสอบ มีมืออาชีพบริหารจัดการเข้าใจในประเด็นปัญหาของคนยากคนจน เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ มีกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ บางส่วนมาจากการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างให้พี่น้องผู้ประกันตนมีสิทธิในการเลือกตั้ง เราเขียนร่างฯ ไว้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ดีเกินไปภาครัฐอาจจะไม่เห็นด้วย มันก็ไม่เกิดก็ตกไป

แต่พอทราบว่าท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ทำให้พวกเราเองก็รู้สึกว่าไม่สบายใจ ท่านฯ บอกว่ามันจำเป็นถึงเวลาต้องมีการปฏิรูปประกันสังคมซึ่งรอไม่ได้ มันเกิดความเสียหายมามากตามที่ท่านให้สัมภาษณ์นะค่ะ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็เกิดคำถามว่าสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด ร่าง พ.ร.บ. ของเครือข่ายแรงงาน ที่ภาคประชาชนพยายามอยากเห็นอยากให้เป็น การปฏิรูปกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดก็ยุติไป อีกประเด็นหนึ่ง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว คำว่า 'ชั่วคราว' มันน่าจะระยะเวลาตามกฎหมายก็ควรจะ 120 วันมีการเลือกตั้ง แต่ไม่มีระยะเวลาไม่มีพูดถึงกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สิน ก็ยุติไป

เชื่อมั่นต่อ บอร์ด สปส. ชุดใหม่ ที่คัดเลือกเข้ามาปฏิรูปองค์กรตามอำนาจมาตรา 44 มากน้อยเพียงใด

กระบวนการที่ได้มาของบอร์ด สปส. มีมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไปถึงการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง? เพราะมันขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม ส่วนการเปลี่ยนแปลงบอร์ด สปส. ชุดเก่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว เพียงแต่วิธีการ 1 คน 1 สหภาพ 1 เสียง มันไม่ตอบอยู่แล้ว มันก็คงจะต้องเปลี่ยน ถึงได้มีการเรียกร้องและกฎหมายออกมา ซึ่งเรานำเสนอมาตั้งหลายปีแต่ก็ถูกปัดตกไป การนำมาตรา 44 เข้ามาใช้ทำให้เราไม่มั่นใจกระบวนการเดินหน้าจะออกมารูปแบบใด

พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญกว่า มองว่าเป็นเรื่องการบริการจัดการของ สปส.

พ.ร.บ.ตัวใหม่ ก็มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นมาบ้าง ทีนี้ สิทธิก็ว่ากันไป แต่ว่าหัวใจที่สำคัญอยากเห็นการบริหารจัดการที่มีความเป็นอิสระ ที่ไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการ เมือการเมืองเข้ามาแทรกแซง การบริหารจัดการทุกครั้งที่ผ่านมามันเกิดความเสียหายมาโดยตลอด มันเหมือนกับมีผลประโยชน์ที่ ทับซ้อน เกิดปัญหามาตลอด ต้องไปแก้ไขตรงนั้น

ทราบมาว่า รัฐบาลเองนอกจากค้างเงินแล้วยังมีแนวคิดเอาไปลงทุนเยอะแยะไปหมด ได้ข่าวแว่วว่าจะเอาเงินประกันสังคมไปทำอะไรอีก ดิฉันกำลังมองว่าถ้าเงินประกันสังคมไปทำนู้นทำนี่ ก็อาจจะต้องมาช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์สร้างความโปร่งใสแก่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงิน คือใน สปส. รัฐบาลแทบจะไม่ได้สนับสนุนอะไรมาก มันเป็นเงินของลูกจ้างนายจ้าง เจ้าของเงินคือ ลูกจ้าง นายจ้างจ่ายเข้ามาเพื่อที่จะให้ลูกจ้างมีความมั่นคงเป็นสวัสดิการที่นายจ้างที่จ่ายให้ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญการตัดสินใจต้องมองภาพให้มันครบถ้วน

ในเรื่องการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม กรณีการนำเงินไปลงทุนหุ้นมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

กระบวนการน่าเป็นห่วง การซื้อหุ้น ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ลงทุนเท่าไหร่ ผลกำไรตอบแทนหลักๆ แล้ว เราได้เท่าไหร่แทบจะไม่รู้เลย ไม่สามารถเข้าไปดูได้เลย รายละเอียดก็เห็นแต่ภาพรวมหลายปี แต่ไม่เห็นเงินเราเป็นแสนล้านของเราไปลงทุนที่ไหนบ้าง ถ้าไปดูจำแนกรายละเอียดของกองทุน กองทุนไหนไปลงเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ปีหนึ่งได้เท่าไหร่ ข้อมูลตรงนี้ไม่ได้รับการเปิดเผย ไม่มีเวทีนำเสนอ แต่ละปีควรจะต้องมีเวที เพื่อที่จะพูดถึงว่าเอาความจริงมาคุยในฐานะที่เราเป็นเจ้าของเงินเรามีสิทธิรู้ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาตรวจสอบ นอกจากการเคลื่อนไหวของ คสรท. หรือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ตรวจสอบผลกำไรงบดุลทั่วไป แต่ในเชิงรายละเอียดไม่มีใครตรวจสอบ

ประกันสังคมมันใหญ่นะ เงินมันเยอะนะ เยอะมาก ถึงได้น่าเป็นห่วงไง เข้ามาทุกเดือนๆ หนึ่งไมใช่น้อยๆ นะ เราถูกหักทุกเดือน ผู้ประกันตนตั้งกี่ล้านคน ในระบบแน่นอน 10 กว่าล้าน แต่ว่านอกระบบที่เขาจ่ายมากกว่า 1 ล้านคน จ่ายมาตั้งเท่าไหร่ เงินเข้า สปส. เข้าเดือนหนึ่งไม่ใช่น้อยๆ นะ ปีนึงก็เยอะ ถึงได้บอกว่าประเด็นปัญหาหลักเรื่องการบริหารจัดการ ในเรื่องของการเฝ้าระวัง กระบวนการตรวจสอบเป็นเรื่องที่สำคัญ

ภาพโดย พลภัทร วรรณดี




กำลังโหลดความคิดเห็น