xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง...บังยี ปฏิบัติการล้างบางฟีฟ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องชื่นหัวใจสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทย 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ ทีมช้างศึกถล่มเวียดนามคาบ้าน 3-0 ในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกโซนเอเชีย

เรื่องที่สองคือ นายวรวีร์ มะกูดี หรือ บังยี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังจะลงชิงตำแหน่งสมัยที่ 4 ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ถูกคณะกรรมการจริยธรรมของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า สั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลทั้งใน และ ระหว่างประเทศ เป็นเวลา 90 วัน มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม เป็นต้นไป

คณะกรรมการจริยธรรมให้เหตุผลกว้าง ๆ ในการให้ “ใบเหลือง“ บังยีว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎว่าด้วยจรรยาบรรณของฟีฟ่า แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะฟีฟ่ามีกฎห้ามเปิดเผยความลับ

นายวรวีรํ เป็นกรรมการฟีฟ่ามานานถึง 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายเซปป์ แบลตเตอร์ เป็นประธานฟีฟ่าติดต่อกัน 4 สมัย เป็นเวลา 17 ปี เช่นกัน นายวรวีร่ เพิ่งจะพ่ายแพ้ ในการชิงชัยเป็นกรรมการฟีฟ่าจากเอเชีย 3 ตำแหน่ง เมื่อปลายเดือนเมษายนปีนี้ หลุดจากบอร์ดฟีฟ่าเป็นครั้งแรก แต่นายเซปป์ แบลตเตอร์ ปูนบำเหน็จ ในฐานะคนในระบอบ “ แบลตเตอร์” ยกให้เป็น กรรมการกิตติมศักดิ์ ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ ผลประโยชน์ตอบแทนเหมือนกรรมการทุกอย่าง

ตลอดเวลา ที่นายวรวีร์ เป็นบอร์ดฟีฟ่า ถูกกล่าวหาร้องเรียนหลายครั้งว่า มีพฤติกรรมที่ส่อว่า เรียกสินบน เช้นเดียวกับข้อครหา ทั้งในเรืองผลประโยชน์ทับซ้อน และในเรื่องผลงาน ในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลไทย ซึ่งทุกครั้ง นายวรวีร์ปฏิเสธ อ้างว่า ตัวเองบริสุทธิ์ และก็เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง ทั้งในเวทีฟีฟ่า และในประเทศไทย เพราะไม่มีใครเอาเรื่องให้ถึงทึ่สุด

ยกเว้น เมือปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ศาลอาญาตัดสินว่า นายวรวีร๋ มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ในการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยครั้งที่แล้ว ให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำให้รอลงอาญา ซึ่งนายวรวีร์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์

การถูกฟีฟ่าแบน ให้พักการทำหน้าที่นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และกรรมการฟีฟ่าครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ปฏิบัติการล้างบ้าน ล้างบาง องค์กรลูกหนังโลก ระลอกที่สอง หลังจากระลอกแรก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมปีนี้ ที่ตำรวจสวิส ถือหมายจับเอฟบีไอ บุกเข้าจับกุมผู้บริหารฟีฟ่าในอดีต และปัจจุบัน รวมทั้งเอกชนที่ทำธุรกิจกับฟีฟ่า รวม 14 คน ที่โรงแรมหรู ในซูริก ก่อนที่การประชุมใหญ่สมาชิกฟีฟ่า จะเริ่มขึ้นเพียงวันเดียว ด้วยข้อหา ทุจริต รับสินบน และฟอกเงิน

นางลอเร็ตตา ลินช์ อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ประกาศในครั้งนั้นว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ปฏิบัติการกวาดล้างการทุจริต คอร์รัปชั่น ในองค์กรลูกหนังโลกแห่งนี้

นายวรวีร์ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนที่ 6 ของฟัฟ่า ที่โดน “ใบเหลือง” และ “ใบแดง” จากฟีฟ่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ จากปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม

คนแรกคือ Jerome Valcke เลขาธิการฟีฟ่า ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ในฟีฟ่า รองจากแบลตเตอร์ ถูกใบเหลือง ให้ยุติการทำหน้าที่ไม่มีกำหนด หลังมีหลักฐานว่า ค้ากำไรจากการขายตั๋วฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่บราซิล

คนที่สองคือ แจ็ค วอร์เนอร์ อดีตรองประธานฟีฟ่า จากประเทศ ตรินิแด แอนด์ โตเบโก นายวอร์เนอร์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2511 หลังมีข่าวพัวพันกับการรับสินบน ในการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2018 และ 2022 และเป็นหนึ่งในเจ็ด ผู้บริหารฟีฟ่าที่ถูก กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ ออกหมายจับ แต่ในเช้าวันที่ตำรวจสวิสบุกเข้าไปจับที่โรงแรมในซูริก นายแจ๊คอยู่ที่ทรินิแดด ขณะนี้เขากำลังต่อสู้ คัดค้านคำขอของกระทรวงยุติธรรมให้ส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ

นายแจ็ค ถูกใบแดง ห้ามยุ่งเกียวกับวงการฟุตบอลตลอดชีวิต

คนที่สาม คือ นายชุง มุง จูน อดีตรองประธานฟีฟ่า และนายกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ เจ้าของกลุ่มบริษัทฮุนได ถูกฟีฟ่า แบน 15 ปี ด้วยข้อหา ให้สินบน เพื่อให้เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002

คนที่สี่และคนที่ห้าคือ นายเซปป์ แบลตเตอร์ และมิเชล พลาตินี่ กรรมการฟีฟ่าประธานสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป อดีตนักเตะดาวดังชาวฝรั่งเศส นายแบลตเตอร์ถูกข้อหา จ่ายเงินที่ส่อว่า ไม่สุจริต มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้มิเชล พลาตินี่ เมือเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011

พลาตินี่ ยอมรับว่า รับเงินจริง โดยอ้างว่า เป็นค่าจ้างในฐานะที่ปรึกษาฟีฟ่า ระหว่างปี 1998- 2002

คำถามคือ ทำงานเสร็จไปแล้ว 9 ปี ทำไมแบลตเตอร์เพิ่งมาจ่ายเงิน

แบลตเตอร์อ้างว่า ตอนนั้น ฟีฟ่า ไม่มีเงิน จึงติดไว้ก่อน

ต้นปี 2011 พลาตินี่ ประกาศลงชิงชัย เป็นประธานฟีฟ่า แข่งกับแบลตเตอร์ หลังแบลตเตอร์จ่ายเงิน 2 ล้านเหรียณที่อ้างว่าเป็นค่าที่ปรึกษาให้พลาตินี่ สามเดือน พลาตินี่ ก็ประกาศถอนตัว ทำให้แบลตเตอร์ได้เป็นประธานสมัยที่ 4 โดยไม่มีคู่แข่ง

แบลตเตอร์และพลาตินี่ โดนใบเหลือง พักงาน 90 วัน เช่นเดียวกับนายวรวีร์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า โดนเรื่องอะไร

ทั้ง 6 คนนี้ ล้วนเป็นกรรมการ และผู้บริหาร ในช่วงเวลาที่แบลตเตอร์ เป็นผู้นำสูงสุดของฟีฟ่า 17 ปี

หลังแบลตเตอร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานฟีฟ่า และนาย Valcke หยุดการทำหน้าที่เลขาธิการ การบริหารงานประจำวันในฟีฟ่า อยู่ในความรับผิดชอบของที่ปรึกษาฟีฟ่าชื่อ มารโก้ วิลลิเจอร์ ในฟีฟ่าเอง มีความรู้สึกว่า ต้องแยกระหว่าง องค์กร กับตัวบุคคลที่เป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมทุจริต มาเป็นเวลายาวนาน บรรดาสปอนเซอร์ใหญ่ๆ ต่างกดดันให้ฟีฟ่า ปฏิรูปตัวเองให้โปร่งใส

วิลลิเจอร์ ว่าจ้าง บริษัทกฎหมายจากวอชิงตัน ดีซี ชื่อ Quinn Emmanuel Urguhart & Sullivan ให้ตรวจสอบ การดำเนินงานของฟีฟ่า โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อรักษาฟีฟ่าให้คงอยู่ต่อไป

นายวิลเลี่ยม เบิร์ก อดีตอัยการกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ และเป็นหุ้นส่วน Quinn Emmanuel Urguhart & Sullivan ประกาศว่า จะตรววจสอบ อีเมล์ และสอบปากคำกรรมการฟีฟ่า 22 คน ที่โหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 ทุกคน

นายวรวีร์ เป็นหนึ่งในนั้น และก่อนหน้านี้เคยถูกผู้บริหารสมาคมฟุตบอลอังกฤษกล่าวหาว่า ขอลิขสิทธ์การถ่ายทอดสด แลกกับการลงคะแนนให้อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก ฟีฟ่า เคยตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ แต่ผลสอบถูกปกปิด มีเพียงบทสรุปที่สรุปว่า ไม่มีใครรับสินบน ถูกเผยแพร่ออกมา ซึ่งถูกผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนในตอนนั้นร้องเรียนว่า เป็นบทสรุปที่คลาดเคลื่อนกับข้อมูลที่ได้จากการสอบสวน

ขณะเดียวกัน อัยการสวิส ได้เข้าตรวจค้นสำนักงานใหญ่ฟีฟ่าที่ซูริก ยึดเอกสารจำนวนมาก และเซิร์ฟเวอร์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งบันทึกข้อมูลการติดต่อของกรรมการฟีฟ่า ย้อนหลังไปกว่าสิบปี รวมทั้งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าหลายคน

ทางการสวิสกำลังตรวจสอบ บัญชีเงินฝากในธนาคารสวิส 53 บัญชี และได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในประเทศต่างๆ ในการตรวจสอบบัญชีเงินฝาก 104 บัญชี ในธนาคารต่างประเทศ ซึ่งอาจะเกี่ยวกับ การฟอกเงินสินบนที่ได้จากการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2018 และ 2022

อาณาจักรมาเฟียของ เซปป์ แบลตเตอร์ กำลังพังทลายอย่างรวดเร็ว โดยการร่วมมือกันระหว่างอัยการสวิส กระทรงยุติธรรม สหรัฐ ฯ และทีมตรวจสอบภายในของฟีฟ่า เวลาของ วรวีร์ มะกูดี หมดแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น