เซปป์แบลตเตอร์ ประธานคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังเพิ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกฟีฟ่า ให้เป็นประธานต่อเป็นสมัยที่5 เพียง 72 ชั่วโมง
แบลตเตอร์เป็นประธานฟีฟ่าสมัยแรก เมื่อปี 1998 ต่อจากโจอัว ฮาวาลังเก้ ซึ่งเป็นประธานฟีฟ่า 14ปี ตั้งแต่ปี1974 โดยมีแบลตเตอร์ เป็นเลขาธิการฟีฟ่าตั้งแต่ปี 1991
การลาออกจากตำแหน่งที่อยู่มานานถึง 17 ปี และเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกกีฬา แน่นอนว่าเป็นผลมาจากกรรมการฟีฟ่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน 7 คน ถูกตำรวจสวิตเซอร์แลนด์บุกเข้าจับกุมในโรงแรมห้าดาวที่เมืองซูริก เมื่อเช้าวันที่ 29 พฤษภาคม ก่อนการประชุมสมาชิกฟีฟ่า เพื่อเลือกประธานเพียงวันเดียว
ผู้บริหารฟีฟ่าทั้ง 7 คน และผู้บริหารบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและสิทธิด้านการตลาด การแข่งขันฟุตบอลโกลด์คัพ ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และหมู่เกาะแคริบเบียน หรือคอนคาเคฟ ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกหมายจับในข้อหารับสิบบน ฉ้อโกง อันเกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทอดสดและสิทธิด้านการตลาดของโกลด์คัพที่เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี คิดเป็นเงินมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้แบลตเตอร์จะปฏิเสธว่า ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกับทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องการคอร์รัปชันในฟีฟ่า แต่ครั้งนี้มีรองประธานฟีฟ่าสองคนโดนจับด้วย นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุถึงพฤติกรรมของผู้ถูกจับกุมอย่างละเอียดทางเว็บไซต์ ยากที่ผู้ดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ของฟีฟ่าจะลอยตัวตัดตอนไม่ให้ความผิดมาถึงตัวเหมือนที่ผ่านๆ มาได้
แรงกดดันที่มีน้ำหนักมากที่สุดอีกทางหนึ่งน่าจะมาจากบรรดาสปอนเซอร์หลัก ซึ่งหวั่นเกรงว่าภาพลักษณ์ของตนจะพลอยเสื่อมเสียไปด้วย
ลอเร็ตต้าลินช์ อัยการสูงสุดสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียงเดือนเดียว ประกาศว่าการจับกุมผู้บริหารฟีฟ่าทั้ง 7 คน เป็นเพียงการเริ่มต้นปฏิบัติการชำระสะสางเอาตัวผู้พัวพันกับการคอร์รัปชันในฟีฟ่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาลงโทษ
เป้าหมายต่อไปคือ การสอบสวนกรณีการคัดเลือกเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 และปี 2022 ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อเดือนธันวาคมปี 2010 โดยรัสเซียได้เป็นเจ้าภาพปี 2018 และ กาตาร์ เป็นเจ้าภาพปี 2022 ซึ่งมีข่าวคราวเรื่องการติดสินบนอย่างหนาหูตลอดมา
เอฟบีไอประกาศว่าจะขยายผลการสอบสวนไปถึงเรื่องนี้ด้วย และในวันเดียวกับที่ตำรวจสวิสบุกจับตัวผู้บริหารฟีฟ่า ตำรวจอีกชุดหนึ่งได้บุกค้นสำนักงานใหญ่ฟีฟ่าที่เมืองซูริกยึดคอมพิวเตอร์และเอกสารจำนวนมากไปตรวจสอบ พร้อบกับประกาศว่าจะสอบปากคำกรรมการบริหารฟีฟ่าสิบคน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022
หนึ่งใน 10 คนนั้นมีชื่อ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยด้วย
นายวรวีร์ หรือ บังยี ต้องถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการฟุตบอลไทย แม้ผลงานจะย่ำแย่ตลอดระยะเวลา8 ปีที่เป็นนายกสมาคม แม้จะมีข่าวคราวความไม่โปรง่ใสในสมาคมฟุตบอล แม้จะมีความพยายามที่จะโค่นเขาออกจากตำแหน่ง แต่นายวรวีร์ก็ยังยึดครองตำแหน่งนายกสมาคมไว้ได้
นายวรวีร์เป็นกรรมการบริหารฟีฟ่ามาตั้งแต่ปี 1997 และได้รับการคัดเลือกจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียให้เป็นกรรมการฟีฟ่ามาตลอดนานถึง 18 ปี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฟีฟ่าผู้ทรงอำนาจรุ่นเดียวกับแบลตเตอร์
เวลามา มาด้วยกัน ตอนไปก็ไปด้วยกัน นายวรวีร์พ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่งกรรมการฟีฟ่าจากเอเชียชนิดคาดไม่ถึงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในฐานะคนที่เคยเกื้อกูลกันมา แบลตเตอร์เลยมอบตำแหน่งกรรมการกิตติมศักดิ์ให้เป็นการสมนาคุณ
ตำแหน่งกรรมการฟีฟ่าทั้งตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งและตำแหน่งกิตติมศักดิ์ใครได้เป็นก็เหมือนมีห่านที่ออกไข่ทองคำไว้ในครอบครอง เพราะจะได้รับทั้งเงินเดือนโบนัสค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง สำหรับความเป็นอยู่อย่างหรูหรา ยังไม่นับการใช้ตำแหน่งไปแสวงหาผลประโยชน์ที่เดียวกับวงการฟุตบอล
ในยุคที่แบลตเตอร์เป็นประธานฟีฟ่านั้น สมาคมฟุตบอลในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้จะได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาฟุตบอลในประเทศ ทั้งด้านบุคลากร และการให้เงินสนับสนุนเพื่อสร้างสนามฟุตบอล และโครงการพัฒนาต่างๆ เป็นมูลค่าหลายสิบถึงหลักร้อยล้านบาท
ด้วยเหตุนี้เอง แบลตเตอร์จึงได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลในประเทศเหล่านี้เป็นฐานคะแนนหลักที่ทำาให้เขาได้เป็นประธานฟีฟ่าติดต่อกันมา 4 สมัย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สมาคมฟุตบอลในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ต่างเทคะแนนเสียงให้เขา เอาชนะคู่แข่งจากจอร์แดน โดยไม่นำเรื่องที่มีการจับผู้บริหารฟีฟ่า มาประกอบการตัดสินใจเลยเพราะได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของแบลตเตอร์
เมื่อแบลตเตอร์จำใจลาออกจากตำแหน่งผลประโยชน์ที่กรรมการฟีฟ่า และสมาคมฟุตบอลแต่ละประเทศเคยได้รับจากฟีฟ่าจะได้รับความกระทบกระเทือนหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้แต่เรื่องหนึ่งที่จะมีผลต่อนายวรวีร์คือ การสอบสวนเรื่อง การคอร์รัปชันในการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 จะถูกขุดขึ้นมาโดยเอฟบีไอ และทางการสวิส
นายวรวีร์เคยถูก ลอร์ด เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ กล่าวหาในระหว่างให้การกับคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ว่าขอค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติไทยแลกกับการโหวตให้อังกฤษ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี2018 แข่งกับรัสเซีย
นอกจากนายวรวีร์แล้ว ลอร์ดทรีสแมน ยังระบุรายชื่อกรรมการฟีฟ่าอีก 3 คน ที่เรียกร้องผลประโยชน์แลกกับการโหวตให้อังกกฤษเป็นเจ้าภาพ หนึ่งในามคนนั้นคือ นายแจ็ก วอร์เนอร์ รองประธานฟีฟ่าชาวตรินิแดด แอนด์ โตเบโก ที่ขอเงินประมาณ 2.5 ล้านปอนด์ เพื่อนำไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ในบ้านเกิด และอีก 500,000 ปอนด์สำหรับการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศเฮติ
นายแจ็ก วอร์เนอร์คนนี้เป็นคนเดียวกับ นายแจ็ก วอร์เนอร์ ที่โดนทางการสหรัฐฯ ออกหมายจับ แต่เขาถูกจับที่บ้านเกิดและได้รับการประกันตัวออกมา พร้อมกับประกาศว่าจะแฉทุกอย่างเกี่ยวกับฟีฟ่า
นายวรวีร์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของลอร์ดทรีสแมน และได้ฟ้องลอร์ดทรีสแมน เป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทต่อศาลอังกฤษ ซึ่งศาลได้ยกฟ้องในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน นายไมเคิล การ์เซีย อดีตอัยการสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายสอบสวนของคณะกรรมการจริยธรรมของฟีฟ่าได้ทำการสอบสวนในเรื่องนี้ ทั้งยังได้สอบปากคำนายวรวีร์รวมทั้งกรรมการฟีฟ่าคนอื่นๆ ที่ถูกพาดพิงด้วยรายงานการสอบสวนซึ่งยาว 300 กว่าหน้า เสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ไม่สามารถนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะได้เพราะติดขัดข้อกฎหมายบางประการ มีเพียงกรรมการฟีฟ่า 6 คนที่ได้เห็นรายงานนี้
ต่อมาในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายโจซิม เอ็คเคิร์ท อดีตผู้พิพากษาชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นกรรมการฝ่ายวินิจฉัยความผิดของคณะกรรมการจริยธรรม ได้สรุปผลสอบสวนนี้ว่าการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีความผิดปกติแต่นายกราเซียร์ผู้สอบสวนและเจ้าของรายงานไม่เห็นด้วยกับข้อสรุป เพราะมีการ “ตีความ”ข้อเท็จจริงในรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และต่อมานายกราเซียร์ได้ลาออกจากคณะกรรมการจริยธรรม
ปัจจุบันรายงานฉบับเต็มยังไม่ได้รับการเผยแพร่ แต่ทางการสวิสประกาศว่ามีรายงานฉบับเต็มนี้ไว้ในความครอบครองแล้ว
นี่คือ ผลสะเทือนที่จะมีต่อนายวรวีร์ อันเป็นผลพวงจากปฏิบัติการกวาดล้างมาเฟียในฟีฟ่า อย่าแปลกใจหากในช่วงนี้นายวรวีร์จะไม่กล้าไปสหรัฐอเมริกา เหมือนกับนายแบลตเตอร์ ที่พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด